Skip to main content
sharethis

2 ก.ค. 2564 ทำเนียบรัฐบาล ในการชุมนุมของราษฎรขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ ที่ไม่สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ระบาดของโควิดได้ส่งผลกระทบให้คนต้องตกงาน ธุรกิจร้านค้าต้องปิดกิจการจากมาตรการล็อคดาวน์ แต่ไม่มีการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เข้ามาให้ประชาชน

'กี่ศพแล้ว' #ม็อบ2กรกฎา เดินขบวนสู่ทำเนียบไล่ประยุทธ์ จัดการโควิดล้มเหลว กระทบกิจการรายย่อย

ในการชุมนุมครั้งนี้ยังมีตลาด "เปิดท้ายวันศุกร์ ลุกไล่เผด็จการ" ที่ให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า วงดนตรี ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลมาร่วมขายของในงานไปจนถึงการแสดงดนตรีของนักดนตรีกลางคืนที่ไม่ได้เล่นมาตั้งแต่ผับบาร์ถูกสั่งปิด จนก่อนหน้านี้ก็เกิดแคมเปญ "กูจะเปิดมึงจะทำไม" ที่ให้ร้านค้าแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อมาตรการของรัฐบาลขึ้นมาและยังไม่มีมาตรการเยียวยาอะไรพวกเขาอีกด้วย

ประชาไทไปชวนคนเหล่านี้คุยถึงสิ่งที่เขาเผชิญ แผนที่ต้องล้มเลิกไป และความรู้สึกที่พวกเขามีต่อรัฐบาลในตอนนี้ จนทำให้พวกเขาออกมาเปิดร้านกันบนถนน 

พนักงานร้านบัตเตอร์อัพคาเฟ่

เบนซ์ เจ้าของร้านบัตเตอร์อัพคาเฟ่ที่มาพร้อมกับพนักงานในร้านมาร่วมแคมเปญ “กูจะเปิดมึงจะทำไม” บอกว่าเปิดร้านมาเกือบ 5 ปีแล้วตอนนี้มีสองสาขาอยู่ที่ริมทะเลสาบเมืองทองกับปากเกร็ด เขาบอกว่าทางร้านปกติคนมาเช็คอินแล้วก็ถ่ายรูปได้ แล้วตั้งแต่โควิด-19 ระบาดทางร้านก็มีขายผ่านแกร๊บหรือไลน์บ้างแต่ก็ไม่ได้พอเลี้ยงพนักงาน เขาเห็นว่าเป็นแค่ช่องทางการตลาดเพื่อให้ลูกค้าเห็นร้านเท่านั้นเพราะว่ามีส่วนที่ต้องจ่ายให้แพลตฟอร์มเยอะ แล้วคาเฟ่ของเขาก็ไม่ได้ขายแต่ของอย่างเดียวแต่ขายบรรยากาศร้านให้คนมานั่งด้วย แต่พอโดนมาตรการล็อกดาวน์กระทันหันก็ทำให้เกิดปัญหาในการจัดการสต็อกสินค้า กระทบยอดขายและการจ่ายเงินเดือนพนักงาน ทำให้ต้องหาทางดิ้นรนคิดโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อให้อยู่อยู่รอดได้

“แต่ละคนก็มีแนวทางการเมืองเดียวกันทั้งร้านเลย เราเลยไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะออกมาเลย ก็โชคดีครับทั้งหุ้นส่วนทั้งลูกน้อง 10 กว่าชีวิตก็มีวิธีคิดเดียวกันก็เลยแฮปปี้ที่มาออกงานครั้งนี้ครับ” เบนซ์พูดถึงคนในร้านของเขาที่มาช่วยกันขายของในงาน

เบนซ์บอกว่าเคยร่วมชุมนุมมาก่อนแล้วเพราะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของม็อบ ที่มาเปิดร้านขายแบบนี้เป็นครั้งแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะมีกำไรอะไรเยอะแยะแค่มีเงินจ่ายให้พนักงานของร้านได้ก็พอ แต่ที่พวกเขามากันเพราะไม่ต้องการให้รัฐบาลเผด็จการนี้อยู่ต่อไปอีกแล้วก็เป็นการแก้ปัญหาที่ระบบ เขาเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาให้ประชาชนจริงๆ แล้วรัฐก็ไม่ฟังเสียงผู้ประกอบการเลยเขาก็จะขอไม่ฟังรัฐเหมือนกัน คนในรัฐบาลยังไปนั่งริมทะเลกินได้ดื่มได้มีความสุขแต่ประชาชนล้มตายอยู่เรื่อยๆ ก็คงต้องมีอะไรแลกเปลี่ยนกันบ้าง แม้ส่วนหนึ่งจะไม่เกี่ยวกับรัฐแต่ส่วนที่เป็นนโยบายของรัฐเองที่มากระทบกับการใช้ชีวิตการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนด้วย


เต้อ เจ้าของรถตู้ขายกาแฟ

เต้อ อายุ 25 ปี เจ้าของรถตู้ขายกาแฟสดที่มีอีกอาชีพเป็นฟรีแลนซ์รับวาดภาพประกอบวาดผนัง บอกว่าปกติขายอยู่ย่านใกล้กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกับวิทยาลัยช่างศิลปลาดกระบัง ลูกค้าประจำก็เป็นคนทำงานกับนักศึกษาแถวนั้น ตอนที่เขาลงทุนซื้อรถตู้มาเปิดร้านกาแฟเมื่อ 2 ปีก่อนก็คิดว่าจะตระเวณขึ้นเหนือล่องใต้ไปขายตามที่ต่างๆ พร้อมกับรับงานฟรีแลนซ์ขายงานศิลปะไปด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่เขาฝันเอาไว้ แต่พอโควิด-19 มาแผนก็สะดุดไป

เต้อบอกว่าก่อนหน้านี้เขาก็เคยมาชุมนุมแล้ว ครั้งแรกคือการชุมนุมที่สยามเมื่อ 16 ต.ค.2563 ที่ม็อบถูกตำรวจสลายการชุมนุมไป ตอนแรกเขาก็กังวลว่ามาชุมนุมจะกลายเป็นข้ออ้างให้กับรัฐบาลหรือไม่ถ้าเกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อในที่ชุมนุม แต่เขาก็รู้สึกทนไม่ไหวแล้วก็มาขายกาแฟด้วยไล่รัฐบาลด้วย

“แม่งไปตายเถอะ” เต้อสบถออกมาเมื่อถูกถามถึงมาตรการของรัฐในการจัดการโควิด-19 เขาบอกว่าเขาทำร้านกาแฟคนเดียวแล้วก็ไม่ได้มีค่าเช่าที่ที่ต้องจ่ายก็ยังลำบากแล้วร้านอื่นที่ต้องจ่ายค่าเช่าจะรู้สึกอย่างไร เขาคิดว่ารัฐบาลจะไม่สามารถรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หมด

เต้อเล่าสถานการณ์ของร้านว่าพอรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ทั้งลูกค้าขาจรก็หายขาประจำก็หาย เพราะนักศึกษาก็เรียนออนไลน์ คนทำงานก็ตกงานไปแล้ว อีกทั้งย่านที่ตั้งร้านก็มีคนติดโควิดกันเยอะ ส่วนงานวาดภาพก็มีลูกค้าจองมาตอนก่อนประกาศล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดก็มีคุยงานกันแล้วผ่านไปไม่ถึงอาทิตย์เขาก็ยกเลิกงานไป

เต้อบอกว่าแม้ตัวเขาเองจะมีบ้านที่อยู่กับครอบครัวแต่ก็ยังมีรายจ่ายประจำค่าน้ำค่าไฟค่าอินเตอร์เนตอยู่ ตอนนี้ก็กาแฟก็ยังขายอยู่ก็มีทำขนมมาขายเพิ่มด้วย แล้วก็ตอนนี้ก็ยังรับเขียนคอลัมน์ในนิตยาสารดนตรีก็น่าจะพอช่วยได้บ้างแล้วก็พยายามประหยัด

ณรงค์ฤทธิ์ อิทธิพลนาวากุล นักดนตรีวง “Hope The Flower”

ณรงค์ฤทธิ์ อิทธิพลนาวากุล หรือฮอน นักดนตรีจากวงโพสต์ร็อค “Hope The Flower” มากับมือเบสของวงมาตั้งแผงขายซีดีเพลงขอวงในงาน ช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรกก็ปล่อยอัลบั้มของวงในจังหวะที่คนไม่กล้าปล่อยเพลงหรือทำงานดนตรีกันกลัวไม่มีคนฟังเพราะตอนนั้นสถานการณ์ตึงเครียดมาก แต่อัลบั้มของวงที่ออกมาตอนั้นก็ยังมีเสียงตอบรับจากต่างประเทศดีมากแล้วก็กลับมามีงานแสดงหลายงานในปีนี้ตอนปลดล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดก็มีรายได้จากการเล่นดนตรี เปิดคาเฟ่ของตัวเองได้ขายซีดีได้ แต่พอล็อกดาวน์ครั้งล่าสุดแล้วรัฐบาลก็ยังเลื่อนเปิดออกไปเรื่อยๆ อีก ก็ทำให้งานแสดงที่มีคิวอยู่ค่อยๆ ยกเลิกไปทีละงานจนหมดทางวงก็ไม่รู้จะทำยังไงสมาชิกเกือบทั้งหมดก็ไปทำงานประจำกัน ตอนนี้เขาก็เลยทั้งต้องทำทั้งขายของมือสองไปจนถึงงานเดลิเวอรี่

ฮอนบอกว่าเขารู้สึกไม่มีทางเลือกเพราะไม่ได้มีวัคซีนที่ดีพอให้คนมั่นใจพอที่จะทำให้กลับมามีงานอีเวนท์หรือเปิดร้านได้ เพราะงานหลักของวงคือการแสดงสดทั้งตามผับบาร์ คอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรี

“วงดนตรีที่ทำมาเหมือนถูกฟรีซไปเลย สิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็ถูกหยุดเพราะหางานไม่ได้หาเงินไม่ได้”

ฮอนบอกว่าวงดนตรีอินดี้ของไทยก็มักจะไปเล่นตามผับบาร์ พอผับบาร์ถูกสั่งปิดทำให้วงดนตรีกลางคืนแรงงานกลางคืน แล้วก็อย่างวงของเขาที่มีงานอีเวนท์ทุกเดือนก็หยุดไป คนก็ไม่มีแรงจ่ายก็ไม่กล้าซื้อสินค้าจากวงดนตรีอีก

แต่การมาตั้งขายของครั้งนี้ก็ไม่ใช่การมาร่วมกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกของฮอน เขาบอกว่าก่อนหน้านี้ก็ไปชุมนุม

“ถ้าเราไม่ได้มีการขับเคลื่อนไม่ได้มีการกดดันที่เห็นเป็นรูปธรรม เราก็เป็นเครื่องด่าในอินเตอร์เนตแต่เราไม่ได้กดดันเขา(รัฐบาล) มันมีเอฟเฟคต์มากกว่าในการต่อสู้หรือการเป็นข่าวหรือส่งสารไปถึงต่างประเทศ” ฮอนมองว่าการออกมาชุมนุมจะเป็นการช่วยขับเคลื่อนการชุมมนุมในการต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการได้มากกว่า

ฮอนย้อนกลับไปถึงช่วงหลังรัฐประหาร 57ว่าเขาก็มีส่วนร่วมทางการเมืองมาตั้งแต่ตอนนั้นทั้งไปร่วมกิจกรรมของพลเมืองโต้กลับที่ไป “ยืนเฉยๆ” ไปจนถึงการทำเพลงแต่แค่ไม่ได้ออกมาในนามของวงแต่ทำไปในฐานะประชาชนคนหนึ่ง วงดนตรีเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป็นเพียงกระบอกเสียงเพราะมีคนติดตามแล้วพอวงแสดงจุดยืนทางการเมืองชัดเจน คนที่ติดตามวงก็เชื่อว่าทางวงเองก็เห็นภาพรวมที่ทุกคนก็เดือดร้อนไปกันหมด

“เราก็อยากให้วงดนตรีใหญ่ๆ หรือวงที่เล่นดนตรีกลางคืน ผับบาร์ออกมาลงถนนออกมาสู้กันซึ่งหน้าแบบบนี้ก็ดี” ฮอนทิ้งท้าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net