Skip to main content
sharethis

รังสิมันต์ โรม ชี้กรณีสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัทรถยนต์ติดสินบนผู้พิพากษาระดับสูงในศาลยุติธรรมไทย ย้ำความอ่อนแอระบบตรวจสอบ ผู้พิพากษาที่ถูกพาดพิงรายหนึ่งยันตัดสินให้บริษัทรถยนต์แพ้คดี ขณะที่สำนักงานศาลยุติธรรมประสานกระทรวงการต่างประเทศ ขอข้อมูลเพิ่มจากสหรัฐฯ

28 พ.ค. 2564 ตามที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเกี่ยวกับการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรม ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Justice) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (U.S. Securities and Exchange Commission) กรณีการจ่ายสินบนของบริษัทรถยนต์ให้แก่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไทย เพื่อให้ช่วยเหลือในการตัดสินคดีเกี่ยวกับภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ คิดเป็นจำนวนเงินถึง 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11,000 ล้านบาท ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นฎีกา

ก้าวไกลชี้ข่าวผู้พิพากษารับสินบนตอกย้ำระบบตรวจสอบอ่อนแอ

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นว่า กรณีดังกล่าวเคยเป็นข่าวใหญ่ในประเทศไทย ช่วงเดือน เม.ย. 2564 เพียงแต่ครั้งนี้มีการเปิดเผยชื่อของผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องในการรับสินบนหรือเป็นเป้าหมายในการเจรจาต่อรองอย่างน้อย 3 คน ซึ่งล้วนมีตำแหน่งระดับสูง คนหนึ่งเป็นอดีตประธานศาลฎีกา คนหนึ่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และอีกคนหนึ่งเคยเป็นประธานศาลฎีกาอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ

"ข่าวที่รายงานออกมานี้ถือเป็นการตบหน้าฉาดใหญ่แก่หน่วยงานและองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันของไทยทุกหน่วยงาน องค์กร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภายในศาลเอง หรือหน่วยงานองค์กรภายนอก เป็นไปได้อย่างไรที่เรื่องใหญ่ขนาดนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศแท้ๆ แต่สังคมไทยกลับล่วงรู้ได้จากผลพวงของการสอบสวนโดยหน่วยงานของประเทศอื่น นี่น่าจะเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าหน่วยงาน องค์กรตรวจสอบของบ้านเรานั้นอ่อนแอ ด้อยประสิทธิภาพ ไร้มาตรฐานเพียงใด" รังสิมันต์กล่าว

ส.ส.ก้าวไกล ยังระบุอีกว่า กรณีนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า ศาลและสถาบันตุลาการหาได้เป็นสิ่งอันบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียจนแตะต้องไม่ได้เสมอไป เพราะถึงที่สุดแล้วผู้พิพากษาและตุลาการก็ยังคงเป็นมนุษย์ที่ยังคงมีอคติ และอาจมีวาระซ่อนเร้นเป็นของตนเอง มนุษย์เหล่านี้อาจหวั่นไหวต่อผลประโยชน์ที่ถูกเสนอมา หรืออาจมีเจตนาใช้อำนาจหน้าที่เพื่อตอบสนองต่อวาระซ่อนเร้นของตนเองได้ ที่ผ่านมาเราพยายามพร่ำบอกว่าคำพิพากษาของศาลนั้นเป็นที่สุดต้องถือเคารพไว้ แต่หลายครั้งหลายครา คำพิพากษาที่ผลิตออกมาก็เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยอย่างยิ่ง ว่ามันได้ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายโดยแน่แท้หรือไม่

"ความสูญเสียที่เกิดจากปัญหาเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ดังที่เราได้เห็นจากกรณีนี้ว่าเดิมพันอาจสูงถึง 11,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้มากกว่างบประมาณของกระทรวงเล็กๆ หลายกระทรวงเสียอีก หรือถ้าคิดเป็นค่าวัคซีนโควิด-19 ก็สามารถใช้ซื้อวัคซีนฉีดให้ประชาชนได้กว่าครึ่งค่อนประเทศ แต่ภายใต้กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ หมายความว่า ประเทศต้องสุ่มเสี่ยงที่จะเสียผลประโยชน์มหาศาลเพื่อแลกกับความร่ำรวยของคนไม่กี่คนในวงการตุลาการ" ส.ส.ก้าวไกล กล่าว

รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล

รังสิมันต์ โรม ส.ส.ก้าวไกล

รังสิมันต์ ยังชี้ว่า มนุษย์ตุลาการทั้งหลายไม่พ้นความจำเป็นที่จะต้องถูกตรวจสอบ เฉกเช่นเดียวกันกับมนุษย์ในองค์กรผู้อำนาจรัฐอื่นๆ โดยในเบื้องต้นสำหรับการตรวจสอบภายในองค์กร คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) จะต้องเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนและรายผลกรณีดังกล่าวสู่สาธารณะให้ได้โดยเร็วและละเอียดที่สุด ซึ่งการสืบสวนสอบสวนและรายงานผลนี้จะต้องไม่จำกัดอยู่เพียงแค่บุคคลที่มีชื่อปรากฏตามข่าว หากแต่จะต้องขยายผลไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงทั้งหมด เพราะแน่นอนว่าในการพิจารณาอรรถคดีของศาลที่จะต้องทำกันเป็นองค์คณะนั้น แค่บุคคลเพียง 3 คนย่อมไม่อาจทำเรื่องนี้ให้สำเร็จตามที่ได้รับไหว้วานมาได้

ส่วนตนในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่มีหน้าที่ประการหนึ่งคือการสอบหาข้อเท็จจริงของการกระทำที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในฐานะผู้แทนประชาชนที่จะต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ที่ออกเสียงเลือกมาจะดำเนินการส่งคำร้องในเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ให้ติดตามกรณีดังกล่าวโดยเร็วต่อไป

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวที่มีรายงานถึงการรับสินบนของผู้พิพากษา ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 201 กำหนดว่าเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการที่รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ มีโทษตั้งแต่ต่ำสุดคือจำคุก 5 ปี ไปจนถึงสูงสุดคือประหารชีวิต

ผู้ถูกพาดพิงยัน ตัดสินให้บริษัทรถยนต์แพ้คดี

ขณะที่ไทยพีบีเอส รายงานว่า ติดต่อไปที่ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน อดีตประธานศาลอุทธรณ์ และในฐานะเป็น 1 ใน 3 บุคคลที่ถูกพาดพิงถึง จากรายงานข่าวของ LAW 360

ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม เปิดเผยว่า เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ตั้งแต่คดีผ่านการพิจารณามาถึงศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ขณะเป็นผู้พิพากษาอาวุโสศาลศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ และได้รับมอบสำนวนคดีที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย 10 สำนวน

แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดในสำนวน เห็นว่าบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ น่าจะแพ้คดี แต่มีหลายสำนวนที่เห็นว่าโตโยต้าชนะคดี ขณะนั้น องค์คณะผู้พิพากษามีความเห็นแตกต่างกัน ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ จึงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลคดีชำนัญพิเศษ

ชัยสิทธิ์ ยืนยันว่าเป็นผู้อภิปรายว่าบริษัท โตโยต้า ควรจะเป็นฝ่ายแพ้คดี และเมื่ออภิปรายจบ ที่ประชุมใหญ่ของศาล จึงลงคะแนนหลังจากพิจาณาจากสำนวนคดี จากทั้งหมดประมาณ 70 คน ในจำนวนนี้ 60 คน เห็นด้วยให้บริษัทโตโยต้าแพ้คดี และเสียงส่วนน้อย 10 เสียง พิจารณาสำนวนคดีแล้ว เห็นว่าโตโยต้าควรจะชนะคดีนี้ในชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์

ชัยสิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตจากการเปิดเผยของ เว็บไซต์ LAW 360 ว่า ทำไม โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ไม่เร่งออกมาชี้แจงว่าประเด็นที่ถูกกล่าวหานั้น เป็นเรื่องนี้จริงหรือไม่ รวมถึงการจ่ายเงินค่าทนายความ หรือค่าใช้จ่ายสำหรับสำนักงานทนายความ

หากเป็นจริง มีค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาเป็นเงินจำนวนเงินเท่าไหร่ สูงกว่าปกติหรือไม่ และมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากเรื่องอะไร หากปรากฏข้อมูลจริงตามรายงานข่าว ประเด็นนี้ อาจมีความผิดกฎหมายอาญา เท่ากับให้สินบน

คดีภาษีนำเข้ารถยนต์โตโยต้า พรีอุส เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 บริษัท โตโยต้า ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมกว่า 11,000 ล้านบาท แต่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โต้แย้งมีคดีฟ้องร้อง เรื่องการเรียกเก็บภาษีอากรตั้งแต่ปี 2560

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายชนะคดี ไม่ต้องชำระภาษี แต่หลังจากนั้น ศาลอุทธรณ์นำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ก่อนมีคำพิพากษากลับให้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นฝ่ายแพ้คดี

สำนักงานศาลยุติธรรมประสานขอข้อมูลจากสหรัฐฯ

ไทยพีบีเอสยังรายงานด้วยว่า วันที่ 27 พ.ค. 2564 สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า สำนักงานศาลยุติธรรม มีหนังสือประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสหรัฐอเมริกา ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ

หากสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับข้อมูลที่ตรวจสอบได้ว่ามีมูลเป็นความผิด จะดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัย ไม่คำนึงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีตำแหน่งใด และจะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต. พิจารณา

ส่วนความคืบหน้า การพิจารณาคดี โตโยต้า มอเตอร์ ศาลฎีกาอนุญาตให้บริษัทโตโยต้ายื่นฎีกาและรับฎีกาไว้พิจารณาเท่านั้น คดียังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในเนื้อหาหลักแห่งคดี และยังอยู่ระหว่างการขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกา ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายเวลาได้ถึงวันที่ 13 ก.ค. 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net