Skip to main content
sharethis

เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) ชี้ไทยมีการการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกความคิดเห็น ระบุไว้ในรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) เรียกร้องผู้รายงานพิเศษยูเอ็น UN Special Rapporteurs เข้ามาตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชน

31 มี.ค. 2564 เครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) เปิดเผยว่าทางเครือข่ายฯ เพิ่งส่งรายงานสำหรับเวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือยูพีอาร์  (UPR – Universal Periodic Review) โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) ที่จะตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรอบที่ 3 ตอน พ.ย. 2564 นี้ 

SAR สรุปว่าตั้งแต่ยูพีอาร์ครั้งก่อน (ปี 2559) สถานการณ์ยิ่งแย่ลง ในรายงานมีการทบทวนวิเคราะห์รายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอย่างอยุติธรรม การติดตามและคุกคามผู้ที่เห็นต่างกัน และการใช้กำลังเกินจำเป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อลงโทษหรือขู่นักศึกษานักเคลื่อนไหว นักวิชาการ และคนอื่นๆในแวดวงวิชาการในประเทศไทย SAR แสดงความเป็นห่วงกังวลโดยเฉพาะการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือในการไม่ให้เกิดมีการแลกเปลี่ยนหรือการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตรยิ์ และระบุว่ามีอย่างน้อย 76 คนที่ตั้งข้อกล่าวหาภายใต้มาตรานี้ตั้งระหว่าง พ.ย. 2563 และ มี.ค. 2564 ประกอบด้วยนักศึกษาสามคนที่ถูกขังในเรือนจำไม่ให้ประกันระหว่างสู้คดีในปัจจุบันนี้ ได้แก่ นาย พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นาย ภาณุพงศ์ จาดนอก นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนาวสาว ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

SAR เรียกร้องให้รัฐสมาชิกสหประชาชาติขอให้รัฐบาลไทย
(1) ปล่อยนักศึกษาที่ถูกขังอยู่
(2) ยกเลิกมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
(3) แก้ไขมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
(4) ร่างกฎหมายเพื่อปกป้องเสรีภพทางวิชาการให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล
(5) หยุดการคุกคามนักศึกษานักเคลื่อนไหว
(6) เชิญผู้รายงานพิเศษยูเอ็น UN Special Rapporteurs เข้ามาตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชน

สำหรับเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยง (SAR) เป็นเครือข่ายของนักวิชาการและสถาบันการศึกษาทั่วโลกที่รวมตัวกันปกป้องนักวิชาการและนักศึกษาที่ถูกคุกคามโดยรัฐ สนับสนุนและส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการ โดยจะมีการบันทึกกรณีการจับกุม กักขัง การสังหาร และการละเมิดสิทธิชนิดอื่น นอกจากนี้ SAR ยังทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการและการแสดงออกความคิดเห็นอย่างสันติโดยนักวิชาการและนักศึกษา SAR มีสมาชิกที่เป็นมหาวิทยาลัยและสถานการศึกษามากกว่า 530 แห่งใน 42 ประเทศทั่วโลก SAR ติดตามสถานการณ์ทั้งทางเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา 

อ่านและดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มที่นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net