Skip to main content
sharethis

จากกรณี #โรงเรียนวิทยาศาสตร์ชื่อดังย่านมะขามสูง ที่เกิดจากการคุกคามทางเพศในโรงเรียน โดยนักเรียนชายชั้นมัธยมปลายแอบถ่ายใต้กระโปรงนักเรียนหญิง เมื่อร้องเรียนไปยังครู กลับไร้ท่าทีในการจัดการ นักเรียนหญิงจึงตัดสินใจนำเรื่องนี้มาเปิดเผยในแฮชแท็กในทวิตเตอร์ ด้านนักวิชาการชี้ โรงเรียนไทย ขาดพื้นที่ต่อรองเชิงอำนาจเพื่อสร้างพื้นที่อำนาจร่วม ‘สื่อใหม่’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความเปิดกว้างทางความคิดและกล้าออกมาเรียกร้อง

25 ก.พ. 2564 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร​ จ.พิษณุโลกจัด เสวนา “การเมืองเรื่องเพศและการกดทับในโรงเรียน” ผ่านทางแอปพลิเคชันซูม โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชีรา ทองกระจาย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคท ครั้งพิบูลย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ดำเนินรายการโดยกุลธิดา ศรีวิเชียร อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

กุลธิดา เปิดประเด็นจุดเริ่มต้นการเสวนาครั้งนี้ จากที่บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ของกลุ่มนักเรียนเลวติดแฮชแท็ก #โรงเรียนวิทยาศาสตร์ชื่อดังย่านมะขามสูง วันที่ 10 ก.พ. 2564 เหตุการณ์ต้นเรื่อง คือ การคุกคามทางเพศในโรงเรียน นักเรียนชายชั้นมัธยมปลายแอบถ่ายใต้กระโปรงนักเรียนหญิง และส่งต่อกันไปมาในกลุ่มแชทนักเรียนชายด้วยกัน เรื่องแดงขึ้นเพราะนักเรียนหญิงรู้ตัวว่าถูกแอบถ่าย และมีการประมาณการค่าตัวนักเรียนหญิงแต่ละคน เมื่อมีการร้องเรียนไปยังครู แต่ครูกลับไร้ท่าทีในการจัดการ นักเรียนหญิงจึงตัดสินใจนำเรื่องนี้มาเปิดเผยในแฮชแท็กดังกล่าว ภายหลังมีการประนีประนอมจากคณาจารย์ว่าให้เรื่องนี้จบภายในโรงเรียน โดยอ้างว่าหากข่าวนี้ถูกเผยแพร่ออกไปจะทำให้โรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง และดับอนาคตนักเรียนชายผู้เป็นหัวกะทิของโรงเรียน ทำให้นักเรียนหญิงในโรงเรียนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมและออกมาเคลื่อนไหวผ่านสื่อออนไลน์

โรงเรียน พื้นที่กดทับและการต่อรองเชิงอำนาจ

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ในฐานะบุคลากรที่เป็นผู้เตรียมความพร้อมครูเข้าสู่ระบการศึกษาไทย อธิบายการกดทับและการต่อรองเชิงอำนาจในโรงเรียน ไว้ 3 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

ประเด็นแรก บทบาทของโรงเรียน ในฐานะอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของรัฐ โรงเรียนคือเงาสะท้อนว่าที่ผ่านมาเรามีมุมมองต่อสังคมและโลกอย่างไร โรงเรียนยังสะท้อนถึงความพยายามของรัฐในการแก้ไขปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่ออุดมคติของรัฐในการจัดการการศึกษา ปรัชญาการศึกษาในการจัดการศึกษาผ่านระบบโรงเรียน กลไกเชิงสถาบันในการเตรียมพร้อมพลเมืองดีของรัฐ จนละเลยปัญหาทางคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างปัญหาการถูกคุกคามทางเพศในโนโรงเรียน ทั้งที่โรงเรียนควรเป็นเป็นพื้นที่ต่อรองเชิงอำนาจระหว่างรัฐ ทุน ชุมชน และปัจเจก

ประเด็นที่สอง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในโรงเรียน แหล่งของอำนาจขึ้นอยู่กับตำแหน่ง สถานภาพ อายุ ระดับการศึกษา ประสบการณ์ เพศ จึงมีบุคคลบางกลุ่มใช้อำนาจเหนือผู้อื่น รวมถึงใช้อำนาจกดทับทางเพศ แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนขาดพื้นที่ต่อรองเชิงอำนาจเพื่อสร้างพื้นที่อำนาจร่วม

อีกทั้งยังขาดการเสริมพลังและลดทอนพลังภายในของคนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน ดังจะเห็นได้ว่า สภานักเรียนในหลายโรงเรียนไม่ได้ทำหน้าที่ตัวแทนนักเรียนจริงๆ แต่ทำหน้าที่เป็นเพียงกลไกการทำงานของครูมากกว่า แต่สภานักเรียนในบางโรงเรียนก็มีพื้นที่ร่วมในการตัดสินใจ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารและคุณครู ถูกสอนมาด้วยวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่งหรือไม่ รวมไปถึงว่านักเรียนนั้นถูกเสริมพลังให้เชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถต่อรองได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ครูไทยเองก็มักถูกลดทอนพลังภายในตนเองผ่านการใช้งานหนักในสิ่งที่ไม่จำเป็น ส่งผลให้ครูหลายคนจึงไม่เชื่อมั่นว่าตนเองสามารถเป็นพลังในการต่อสู้ของนักเรียนได้

ผู้ปกครองและชุมชนท้องถิ่นก็เป็นอีกตัวแสดงที่มีบาทสำคัญในการต่อสู้ของนักเรียน แต่ชุมชนไทยกับโรงเรียนมักตัดขาดจากกัน ทำให้การต่อสู้ในโรงเรียนถูกปล่อยให้เป็นเรื่องของครูและนักเรียนเท่านั้น

ประเด็นที่สาม วัฒนธรรมที่ผูกโยงกับอำนาจ คือ

1. วัฒนธรรมข้าราชการเป็นอุปสรรคสำคัญที่ต่ออิสรภาพในโรงเรียน

2. วัฒนธรรมอาวุโส

3. วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในโรงเรียน ท่าที หรือโทนของโรงเรียน ที่มีต่อผู้บริหารชายและหญิงก็มีรูปแบบที่ต่างกันออกไป

4. วัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมในโรงเรียน ดังที่ศิษย์เก่ารักโรงเรียนจนไปกดดันนักเรียนที่ออกมาเรียกร้อง วัฒนธรรมศิษย์เก่าจึงอีกหนึ่งวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมที่มีบทบาทสำคัญต่อการแทรกแซงโรงเรียน

5. วัฒนธรรมการขาดความรับผิดชอบ ลอยนวลพ้นผิด อย่างในกรณีความรุนแรงในโรงเรียนต่างๆ ในปีที่ผ่านมา สุดท้ายแล้วเรื่องก็เงียบไปโดยที่ไม่มีใครรับผิดชอบ ทั้งที่ผู้กระทำผิดเป็นครูหรือผู้บริหาร แต่โทษหนักสุดที่สุดพวกเขาได้รับกลับเป็นเพียงการย้ายหรือถูกสอบสวน ซึ่งโดยหลักการแล้วผู้ใหญ่ที่ทำผิดนั้นควรถูกให้ออกจากสถานภาพทางอาชีพ

โรงเรียน : สถาบันที่สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในสังคมหลังเลิกทาส

ชีรา ทองกระจาย กล่าวว่า ในปัจจุบัน เราแยกได้ชัดเจนว่าใครเป็นอะไร แตกต่างจากในอดีตที่แต่ละเพศสภาพนั้นแทบไม่ต่างกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสร้างชุดความจริงหรือวาทกรรมที่เชื่อมโยงกับอำนาจ

ชีราอธิบายโดยยก ‘วิธีคิดวงศาวิทยา’ โดย มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) แต่ละชุดความจริงที่เกิดขึ้นมามันมีการต่อรอง ต่อสู้ จนในที่สุดแล้วมีเพียงชุดความจริงบางส่วนที่ถูกยกย่องให้เป็นความจริงที่ผู้คนเชื่อถือ โดยฟูโกต์มักจะหยิบยกตัวอย่างชุดความจริงเรื่อง “ความบ้า” ในการอธิบาย

แต่ละสังคม แต่ละยุคสมัย มีวิธีการจัดการกับความบ้าหรือคนบ้าต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่ “ความบ้า” นั้นดำรงอยู่ ในยุคกลาง ความบ้า ถูกมองว่าเหมือเป็นคนที่มีพลังพิเศษ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนผิดปกติเหมือนในยุคปัจจุบัน ในยุคเรอเนซองส์ คนบ้าถูกมองว่าเป็นคนไม่น่าไว้ใจ พิลึกพิลั่น ต่อมา ในยุคสมัยใหม่ คนบ้าถูกนิยามว่าเป็นผู้ป่วยโรคจิตที่ต้องถูกจัดการ แสดงให้เห็นว่า เริ่มมีแนวคิดมองความบ้าโดยใช้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาจับ เริ่มมีการนำองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่แฝงไปด้วยกฎศีลธรรมมาใช้อธิบายความบ้า คนบ้าจะต้องถูกนำไปควบคุมในโรงพยาบาลบ้าหรือในสถาบันต่าง ๆ

ชุดความจริงเรื่องความบ้าที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยจึงสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างทางอำนาจที่รับรองและสถาปนาชุดความคิดหนึ่งๆ และมีอำนาจในการแบ่งว่าสิ่งใดปกติ สิ่งใดผิดปกติ

ประเด็นที่สอง อำนาจและการควบคุม จากหนังสือ Discipline and Punishment ของฟูโกต์ได้อธิบายถึงการควบคุมคนโดยยกตัวอย่างการคุมขังนักโทษในอดีตว่าวิธีการลงโทษคนและความหมายของการลงโทษที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

“การลงโทษสมัยก่อนทำต่อหน้าสาธารณะเพื่อเป็นตัวอย่างไม่ให้ผู้คนเอาเยี่ยงอย่าง อีกทั้งยังมีมิติการลงโทษบนเวทีโคลอสเซียมเพื่อความต้องการของผู้ชมที่เสพเพื่อความบันเทิง”

ชีราเล่าต่อว่า ต่อมา ในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส มุมมองเชิงอำนาจหรือการลงโทษในยุคนี้จึงเปลี่ยนไปให้มีประสิทธิภาพและมีมนุษยธรรมมากขึ้น ฟูโกต์เสนอแนวทางการสร้างระเบียบวินัยทางสังคม (Panoptique) อันเป็นระบบที่ถูกหล่อหลอมเข้ากับระบบในสังคมผ่านโครงสร้างสถาบันต่าง ๆ ที่เป็นกลไกลการสร้างระเบียบวินัยให้เกิดขึ้นในตัวมนุษย์ นำไปสู่การสร้างการควบคุมร่างกายผ่านการแสดงออกทางพฤติกรรม หรือแม้แต่การเคลื่อนไหว นั่งหนีบ ที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งพบได้ทุกที่ ผ่านกระบวนการการอบรมสั่งสอนในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน กลายเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยระเบียบวินัย โดยผู้คนเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าตนถูกกดทับภายใต้กรอบอำนาจนั้น ๆ

ฟูโกต์ ในฐานะผู้ทรงอิทธิพลต่อเพศสภาวะและเพศวิถี ได้จุดประกายการตั้งคำถามต่อความเป็นธรรมชาติและความเป็นปกติ เพศ เพศสภาวะ และเพศวิถี ที่เราคิดว่าจริง

ชีรากล่าวต่อว่า วงศาวิทยากับการอธิบายการเมืองเรื่องเพศในสังคมไทย ในสมัยรัชกาลที่  4 (ยุคก่อนสมัยใหม่) ไม่ได้มีความคิดเรื่องการแบ่งแยกเพศสองขั้ว ความคิดนี้ถูกรับเข้ามาจากตะวันตกที่ทำให้เราต้องปรับตัวให้เป็นสมัยใหม่ (Modernize) เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย วัฒนธรรมการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว คำนำหน้าเด็กหญิง เด็กชาย ซึ่งล้วนแต่เป็นมรดกที่นำไปสู่วัฒนธรรมการยึดโยงเพศของคนกับเพศกำเนิดและมีการบัญญัติกฎหมายชัดเจน

“โรงเรียนเป็นสถาบันที่ใช้ในการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในสังคมหลังมีการเลิกทาส เป็นสถาบันที่ใช้ปลูกฝังชุดความจริงทางเพศของรัฐ” ชีรากล่าว

ชีรา ยกตัวอย่างรัฐนิยมของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กำหนดให้ผู้หญิงต้องเป็นกุลสตรี เป็นแม่บ้าน รักนวลสงวนตัว เป็นดอกไม้ของชาติ ในขณะที่ผู้ชายมีบทบาทเป็นชายชาติทหาร แข็งแรง เป็นผู้นำครอบครัว ซึ่งความคิดรัฐนิยมเช่นนี้ก็ถูกปลูกฝังในโรงเรียและส่งผลต่อพฤติกรรมของนักเรียน ดังจะเห็นว่า นักเรียนหญิงต้องรวบกระโปรงตอนขึ้นบันได ต้องคลานเข่าเข้าไปพบครู เพราะสิ่งที่อยู่ใต้กระโปรงถูกตีตราว่าเป็นความหมายเชิงลบ นักเรียนหญิงจึงต้องรักนวลสงวนตัว ในขณะที่ผู้ชายสามารถออกไปหาประสบการณ์ทางการเพศได้

การต่อสู้กับการกดทับในโรงเรียน ผ่านทางสื่อออนไลน์

เคท ครั้งพิบูลย์ เห็นด้วยกับอรรถพล และชีรา ว่าอำนาจในมิติทางเพศ สถานะ พื้นที่ ช่วงวัย ส่งผลต่อการถูกกดทับในโรงเรียน เคทกล่าวต่อไปว่าการกดขี่ทางเพศนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่การสั่งสอนเรื่องเพศแบบไม่เป็นทางการในครอบครัว ไปจนถึงการสั่งสอนเรื่องเพศแบบเป็นทางการในโรงเรียน ผ่านแบบเรียนที่สอนให้เด็กต้องจำยอมต่อมายาคติการแบ่งแยกหญิงชายในสังคมปิตาธิปไตย และชวนตั้งคำถามว่าการเข้าแถวแบ่งแยกเพศในโรงเรียนตลอด 12 ปี ช่วยให้เข้าใจอะไรได้บ้าง

“เป็นความเฉพาะที่ทำให้เห็นว่าหญิงชายต้องถูกแบ่งกันอย่างชัดเจน ผู้ชายก็มักได้ผลระโยชน์เสมอจากสังคมปิตาธิปไตยที่ถูกถ่ายทอดมา การกดขี่ทางเพศเกิดขึ้นอยู่แล้วในอดีต แต่ช่องทางในการตีแผ่เรื่องเหล่านี้มันมีน้อยกว่าปัจจุบัน นักเรียนหญิงที่ถูกกดขี่ทางเพศแทบไม่มีตัวเลือกในการปรึกษา เพราะครูในโรงเรียนก็ล้วนแต่เป็นผลผลิตจากระบบปิตาธิปไตย คนรุ่นใหม่จึงเลือกใช้ช่องทางสื่อใหม่ในการพรั่งพรูสิ่งที่ตนถูกคุกคาม โดยต้องรวมความกล้าหาญมากในการบอกคนอื่นว่าตนคือผู้ถูกกระทำ และต้องการความเป็นธรรม” เคทกล่าว

เคทยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าเศร้า คือ ระบบการสอบสวนภายในกลับให้ประโยชน์และคุ้มครองมากที่สุดกับผู้กระทำ พวกเขาคำนึกถึงชื่อเสียงโรงเรียน ความดีความชอบเดิมของผู้กระทำ แต่กลับขาดการคำนึงว่าเหยื่อจากการคุกคามทางเพศไม่มีใครดูแล หรือติดตามผลกระทบทั้งทางร่างกาย จิตใจ อีกทั้งเหยื่อมักเป็นฝ่ายที่ถูกตีตราหรือเลือกปฏิบัติจากสังคม

การช่วงชิงพื้นที่สื่อใหม่จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการป้องกันการถูกเพิกเฉยจากสังคม แต่ยังแก้ไขปัญหาได้ไม่ทั้งหมด เพราะเพื่อนในสื่อออนไลน์ก็ไม่มีอำนาจในการคุ้มครองเหยื่อให้มีพื้นที่ปลอดภัย

เคทชวนตั้งคำถามต่อไปว่า จะมีวิธีการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศได้อย่างไร

เนื่องจากที่ผ่านมามันไม่มีใครหรือหน่วยงานเป็นกิจจะลักษณะ ที่พานักเรียนไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ พาไปตรวจร่างกายต่างๆ เพื่อดำเนินคดีต่อสู้กการกดทับทางเพศในโรงเรียน แม้แต่กระทรวงศึกษาการซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงก็ยังเพิกเฉยต่อเรื่องนี้

อิทธิพลสื่อต่อความรุนแรงทางเพศในโรงเรียน

จะเด็จ เชาวน์วิไล อธิบายถึงสถิติการคุกคามทางเพศในโรงเรียน เด็กในช่วงอายุ 10-20 ปี ถูกคุกคามทางเพศมากที่สุด รองลงมาคือเด็กอายุ 0-10 ปี โดยนี่เป็นเพียงสถิติที่เก็บจากกรณีที่เป็นข่าว จึงยังมีอีกหลายกรณีที่ยังอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งนี้ และไม่มีแนวโน้มที่ตัวเลขจะลดลงลงมา แม้จะมีการปรับหลักสูตรที่กดทับทางเพศบ้างแล้ว แต่ครอบครัวก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ยังบ่มเพาะการแบ่งแยกทางเพศอยู่ทุกวัน รวมถึงอิทธิพลสื่อโฆษณา ก็มีผลต่อระบบชายเป็นใหญ่โดยที่เราไม่รู้ตัว เช่น โฆษณาว่าผู้หญิงเป็นแม่บ้าน ในขณะที่มีโฆษณาน้อยมากที่สื่อออกมาว่าผู้ชายก็เป็นพ่อบ้านได้

นอกจากนี้ ระบบอำนาจนิยมหรือความเป็นนายเป็นบ่าวในระบบราชการก็ได้แทรกซึมเข้ามาในความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน และชุมชน เมื่อครูชายมีความต้องการทางเพศ และใช้อำนาจความเป็นครูในการเรียกเด็กเข้าพบโดยอ้างเรื่องการเรียน ครูและผู้ปกครองจะช่วยกันปกปิดความผิดของครูด้วยกันเอง แล้วโยนความผิดให้กับเด็กว่าเป็นคนที่รักใคร่ครูเอง เนื่องจากราชการครูนั้นมีบทบาทในการเป็นผู้นำสังคม จึงทำให้คนต่างออกมาปกป้องครู พบมากในสังคมชนบท

“สังคมเช่นนี้มันถูกสั่งสมมานานจนคนรุ่นใหม่ระเบิดความไม่พอใจออกมา สื่อใหม่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่มีความเปิดกว้างทางความคิดและกล้าออกมาเรียกร้อง ทำให้พวกเขาไม่สมาทานต่อชุดความคิดทางเพศแบบเดิมและไม่ยอมถูกเอาเปรียบจากระบอบเดิมๆ เป็นเรื่องที่ดี เราต้องสนับสนุนการออกมาเรียกร้องประเด็นการถูกคุกคามทางเพศ ผู้ใหญ่จึงต้องสนับสนุนและให้คำแนะนำความรู้ ช่องทางทางกฎหมาย ให้กับคนรุ่นใหม่ในการเรียกร้องเรื่องนี้ในเชิงรูปธรรม” จะเด็จกล่าว

ครูออกมาต่อสู้กับวัฒนธรรมอำนาจเดิม ความหวังใหม่ที่มีต่อระลอกคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลง

อรรถพลชวนมองว่า เป็นเรื่องน่าตกใจที่ผู้กระทำความรุนแรงในโรงเรียนในตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวด้วยซ้ำ โจทย์เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของวัย เพราะครูรุ่นเก่าที่ทำความเข้าใจในเรื่องนี้มีเยอะเช่นกัน ซึ่งโทนของผู้บริหารก็มีผลต่อการพัฒนาองค์กร ยิ่งโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่และมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ก็มีแนวโน้มที่ผู้บริหารและคณาจารย์จะใช้วัฒนธรรมทางอำนาจสูง

การมีครูหนุ่มสาวมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็ช่วยให้นักเรียนออกมาเคลื่อนไหวได้มากขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง ผู้ที่เคยถูกกดขี่ก็มักจะกลับกลายเป็นคนที่กลับมากดขี่คนที่ด้อยกว่าเสียเอง จึงเป็นโจทย์ว่า 10 ปีหลัง ที่มีครูรุ่นใหม่จำนวนมากเข้าสู่ระบบอำนาจในโรงเรียน ทำอย่างไรจึงทำให้ครูรุ่นใหม่ไม่กลับไปกดขี่นักเรียนเหมือนที่ตนเคยถูกกดขี่มาก่อน

อาจารย์คณะครุศาสตร์ที่คลุกคลีกับการเตรียมครูรุ่นใหม่สู่ระบบให้คำตอบว่า “ประเด็นนี้ต้องกลับมาดูที่ตัวบุคลากร การทำงานเรื่องการเตรียมและพัฒนาครูต้องทำการความเข้าใจใหม่ว่า ไม่จำเป็นต้องกลับไปใช้อำนาจกับนักเรียน ครูรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ระบบต้องผลักดันให้เกิดพื้นที่ทางอำนาจร่วมกับเด็ก อีกทั้งต้องระมัดระวังการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มนักเรียนบางกลุ่มโดยที่ตนไม่รู้เท่าทัน”

อรรถพลเสนอแนวทางเพิ่มเติมว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในการเตรียมครูก็ต้องเข้าไปศึกษาปัญหาในโรงเรียน ในขั้นปฏิบัติการจริงๆ เพื่อให้รู้เท่าทันปัญหาการกดทับทางอำนาจในโรงเรียน

ทั้งนี้ การให้สิทธิพิเศษทางครอบครัว เครือข่าย รูปร่าง หน้าตา ซึ่งหลายๆ ครั้ง ครูก็เป็นส่วนที่ทำให้วัฒนธรรมเชิงอำนาจเหล่านี้คงอยู่ต่อไปได้ อย่างการคัดเลือกดรัมเมเยอร์ในโรงเรียน การคาดหวังให้นักเรียน LGBT ต้องเป็นคนตลกในขบวนพาเหรด ซึ่งในบางครั้งผู้กระทำเองก็รู้ไม่เท่าทันการกดทับเหล่านี้

กล่าวได้ว่า ปฏิบัติการทางการเมืองและการกดทับเชิงอำนาจในโรงเรียนพบได้จากหลายพฤติกรรม มันมีความรู้สึกอึดอัด การแบ่งเขาแบ่งเรา การมีอคติในการมองกัน โดยเพาะอคติเรื่องเพศ การด่วนตัดสินใจ การเลือกปฏิบัติ การให้สิทธิพิเศษ การผลักให้เป็นอื่น การตีตรา การเหมารวม การลดทอนคุณค่า การดูหมิ่นเหยียดหยาม การลั่นแกล้งรังแก ความขัดแย้ง ความรุนแรง และการเพิกเฉย ดังนั้น การเหยียดหยามในโรงเรียนจึงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่เกิดจากการสั่งสมของปัญหาเหล่านี้

อรรถพลเห็นด้วยกับเคทว่า การกดทับในโรงเรียนเป็นวงจรอุบาทว์ที่คงอยู่ได้เพราะการเพิกเฉย ความกลัว และการมองไม่เห็นถึงปัญหา 3-5 ปีมานี้ ปัญหาต่างๆ ถูกตีแผ่ออกมามากขึ้นผ่านสื่อใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าคิดว่าต้องรอให้เป็นข่าวดังในสื่อออนไลน์และเป็นวาระทางสังคมเสมอเลยหรือ ถึงจะแก้ไขปัญหานี้ สะท้อนให้เห็นอย่างยิ่งว่าโรงเรียนยังขาดพื้นที่ร่วมในการต่อรองเชิงอำนาจ

อรรถพล ชวนตั้งคำถามว่า ถ้าอิสระมันอยู่ที่โรงเรียนจริงๆ ทำไมการที่โรงเรียนเอกชนชื่อดังอนุญาตให้นักเรียนแต่งไปรเวทมาเรียนจึงถูกก่นด่าจากสังคม การแต่งตัวไปรเวทมันกระทบต่อประสิทธิภาพการเรียนอย่างไร

มันมีความเข้าใจผิดที่เกิดจากความกลัวว่า บรรทัดฐานที่เรายึดถือเอาไว้จะถูกเขย่าหรือลบทิ้งตลอดเวลา การอยู่ในสังคมแห่งความกลัวนั้น ส่งผลให้เสียงหลายเสียงในสังคมถูกละเลยมาโดยตลอด ดังจะเห็นในกรณีคุณหมวยออกมาส่งเสียงเรื่องถูกคุกคามทางเพศเมื่อครั้งที่เธออยู่วัยมัธยม หลายคนกลับก่นด่าและแสดงความเห็นที่คุกคามทางเพศเธอออีกครั้ง ทั้งที่การกระทำของเธอเป็นสิ่งที่ดีที่คนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้กับบรรทัดฐานเดิมของสังคม แม้ว่าเธอจะพ่านพ้นวัยมัธยมมาแล้ว

นอกจากนี้ ปัญหาการคุกคามทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กผู้หญิงหรือเด็ก LGBT ตอนนี้เด็กผู้ชายก็ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งสังคมชายเป็นใหญ่ยิ่งปิดปากเด็กชายให้รู้สึกอายที่จะออกมาเรียกร้อง เพราะสังคมชายเป็นใหญ่มองว่าผู้ชายโดนคุกคามก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าเสียหายอะไร

การตั้งคำถามกับสื่อจึงเป็นประเด็นใหญ่ อรรถพลคิดว่าการเรียนรู้ของสังคมเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเพศจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับการตื่นตัวทางการเมืองในช่วงเวลานี้ พร้อมหยิบยกคำพูดของหมวย เหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศในโรงเรียน ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตนเองผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนขึ้นมาในวงเสวนาว่า “ต่อให้หนูจะยืนอยู่คนละฝั่งกับท่าน หรือยืนอยู่ฝั่งเดียวกับท่าน หน้าที่ในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนในประเทศนี้ทุกคนยังคงเป็นหน้าที่ของท่านอยู่เสมอ ท่านไม่สามารถปฏิเสธมันได้”

อรรถพล ฝากความหวังเรื่องคลื่นของการเปลี่ยนแปลงไว้ว่า ในปีที่ผ่านจะเห็นได้ว่า ครูรุ่นใหม่มีบทบาทสำคัญในการเป็นพลังในการต่อสู้ให้กับนักเรียน แม้ยังมีการกดขี่ทางอำนาจระหว่างผู้บริหารและครูอยู่ แต่ก็มีครูที่ออกมาต่อสู้กับผู้บริหารที่มีวัฒนธรรมอำนาจแบบเก่าด้วย ในกลุ่มครูรุ่นใหม่เองก็เห็นความพยายามในการออกมาเคลื่อนไหวเคียงข้างนักเรียน ผลักดันโรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย และส่งเสียงกับกลไกอำนาจรัฐที่อยู่เหนือพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องพวกเขาต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงและถูกกดดันจากอำนาจ แต่กระนั้น นี่ก็เป็นสัญญาณที่ดีต่อระลอกคลื่นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงวาทกรรมทางเพศโดยสะท้อนจากมุมมองเฟมินิสต์

ด้านชีรามองว่า ชุดความคิดดั้งเดิมที่มองเรื่องเพศว่าเป็นเรื่องส่วนตัวมันครอบงำความคิดของทุกคน ทำให้เรื่องเพศถูกผลักไปอยู่ในมุมมืด ทั้งที่จริงแล้วมันคือปัญหาเชิงโครงสร้างที่คนควรพูดถึงปัญหาได้ในที่สาธารณะ

การเคลื่อนไหวของคลื่นเฟมินิสต์ในช่วงแรกได้รับชัยชนะ ดังที่เห็นว่า หลายประเทศให้สิทธิทางกฎหมายแก่ผู้หญิงในการตัดสินใจว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ และยาคุมต่างๆ

เวลาผ่านไป คนออกมาพูดกันว่าตนองถูกคุกคามอย่างไรใน #Metoo กระตุ้นกระแสเฟมินิสต์ทั่วโลกอีกครั้ง และแสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวเรื่องเพศของเฟมินิสต์ยังไม่สามารถทำให้กรอบคิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนตัวหายไปได้

ชีรากล่าวต่อไปว่า การคุกคามทางเพศยังคงอยู่ได้ เพราะกรอบคิดเรื่องเพศถูกผลักให้เป็นเรื่องส่วนตัว ดังจะเห็นจากวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ อย่างกรณีนักท่องเที่ยวถูกฆ่าข่มขืนที่เกาะเต่า นายกรัฐมนตรีกลับออกมาบอกว่าเพราะเธอใส่บิกินี่ ซึ่งเป็นการผลักความผิดให้กับเหยื่อที่ต้องรับผิดชอบการกระทำตนเอง จึงทำให้คนรอบตัวเหยื่อหลายๆ เคสมักไม่สนับสนุนให้เหยื่อออกมาพูด เพราะกลัวคนมองไม่ดี

ความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ เป็นความรุนแรงที่ฝังไปในทุกมิติของเราทุกคน โดยที่เราก็ไม่ได้ตระหนักรู้ว่ามันคือความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง จนทำให้เราจำยอมหรือปล่อยวางไปเพราะไม่เห็นว่าจะสู้ได้

ชีราตั้งสมมติฐานว่า “ถ้าวาทกรรมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยได้ สิ่งที่เด็กๆ แสดงออกทางการเมืองก็ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้มองเรื่องเพศว่าเป็นบรรทัดฐานทางสังคมแบบเดิมอีกต่อไป” โดยยกตัวอย่างกรอบที่ว่า “เป็นกะเทยต้องสวยต้องแปลงเพศถึงจะดี” เนื่องจากคนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักรู้ว่า เพศเป็นสิทธิที่ทุกคนสามารถเลือกที่จะแสดงตัวตนออกมาอย่างไรก็ได้ตามที่ตนเองนิยาม เพศไม่ใช่สิ่งที่สังคมสามารถครอบงำกรอบการแสดงออกของมนุษย์ และไม่ได้อยู่ใต้กรอบสองเพศแบบเดิม

วาทกรรมที่ผูกโยงกับความเป็นครู อย่างการเป็นแม่พิมพ์ของชาติ เป็นสิ่งที่ต้องต่อสู้แย่งชิงพื้นที่กันว่าท้ายที่สุดแล้ววาทกรรมชุดไหนจะได้รับการยอมรับจนกลายเป็นชุดความจริง เช่น ความรุนแรงในโรงเรียนในมุมมองของคนเจนเอ็กซ์กลับตีถูกความว่าเป็นสิ่งที่เจ๋ง ถ้าผ่านมาได้ก็จะอยู่รอดในสังคมภายนอก จึงเป็นสิ่งที่น่าติดตามว่าวาทกรรมเช่นนี้จะเปลี่ยนไปสู่อะไร

ท้ายที่สุด ชีราตอบคำถามของกุลธิดาว่า ทำอย่างไรวาทกรรมของคนรุ่นใหม่จึงจะเอาชนะวาทกรรมเดิมได้และกลายเป็นชุดความจริง?

ชีรา มองว่า แม้จะมีสภาเยาวชนที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาที่พัวพันกันไปหมด แน่นอนว่ากรอบของรัฐเป็นสิ่งที่ต้องถูกพัฒนา แต่การศึกษาเป็นสิ่งที่ยึดตัวกฎหมายเป็นหลัก จึงเป็นปัญหาที่ทำให้คนที่มีไฟในการเปลี่ยนแปลงระบบต้องยอมจำนนต่อระบบเดิม ชีราจึงเห็นว่า ถ้าหากปัญหาต้องถูกแก้ที่ต้นเหตุคือระบบของรัฐซึ่งแกไขได้ยาก จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนทางเลือกก่อน

เสียงของคนรุ่นใหม่ไม่เคยถูกรับฟังจากรัฐ

เคท ตอบคำถามของกุลธิดาที่ถามถึงอุปสรรคที่ทำให้เสียงเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ไม่ถูกตอบสนองในเชิงโครงสร้าง โดยเคทเห็นว่า อุปสรรคสำคัญคือการที่เสียงของคนรุ่นใหม่ไม่ได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบายจากภาครัฐ เนื่องจากภาครัฐไม่มีความเข้าใจในปัญหาอย่างแท้จริง และมองว่าการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้ ถ้าทำแล้วจะเกิดผลเสีย ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันเมื่อเราพูดถึงปัญหาในโรงเรียน ที่ผู้บริหารสนใจแต่ชื่อเสียงโรงเรียนร้อยปีที่ต้องคงอยู่ จนละเลยและยอมให้ปัญหาการคุกคามทางเพศและการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีคิดแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ

คนรุ่นใหม่จึงใช้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในการสื่อสารถึงปัญหา สะท้อนให้เห็นว่าเสียงของคนรุ่นใหม่ไม่ถูกรับฟังจากรัฐและไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แม้หลายคนบอกว่ามีการให้คนรุ่นใหม่เข้าไปนั่งเป็นคณะกรรมาธิการบ้างแล้ว แต่ถ้าเสียงของคนรุ่นใหม่ถูกรัฐละเลยต่อไปเช่นนี้ นโยบายที่ตรงกับความต้องการของรุ่นใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น

เป็นที่จับตามองต่อไปว่า ถ้าภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องไม่สร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมที่แท้จริง ก็อาจนำไปสู่การปะทุของประเด็นและช่องทางการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่จะมีความเข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน ถึงเวลานั้นอาจกลายเป็นการต่อสู้ที่ประนีประนอมกันยากขึ้น ซึ่งภาครัฐคงไม่สามารถต้านทานพลังและทิศทางของความเปลี่ยนแปลงได้ในความเห็นของเคท

ถ้าการเมืองดี ปัญหาเรื่องเพศก็จะได้รับการแก้ไข

ตั้งแต่รัฐประหารมา รัฐราชการมีอำนาจสูงมาก ส่งผลให้การแก้ปัญหาเรื่องเพศชะงักงัน โดยเฉพาะราชการตำรวจที่ละเลยหรือไม่ค่อยปฏิบัติการทางกฎหมายในเรื่องการคุกคามทางเพศ จะเด็จชี้ว่า เราต้องเห็นความหวังของการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ อย่างในกรณีกฎหมายทำแท้ง ผู้หญิงมีสิทธิเลือกทำแท้งได้เมื่อมีอายุครรภ์ไม่เกิน 3 เดือน แสดงให้เห็นว่าเป็นก้าวแรกที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นจากการผลักดันของคนรุ่นใหม่ที่เรียกร้องเรื่องเพศไปพร้อมกับการตื่นตัวทางการเมือง ต่างจากเมื่อก่อน ถ้าพูดเรื่องทำแท้งก็มักจะมีแรงโต้กลับด้วยประเด็นทางทางศาสนา แสดงว่าคนเริ่มเข้าใจในมิติเช่นนี้มากยิ่งขึ้นและอาจนำไปสู่การยกเลิกกฎหมายทำแท้งในอนาคต

ขบวนการเคลื่อนไหวทั้งทางออนไลน์และและทางปฏิบัติการล้วนแต่สำคัญ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเชิงปฏิบัติการอันเป็นเรื่องที่สำคัญที่คนรุ่นใหม่ต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ว่าเรื่องนี้เป็นการต่อสู้กับความหลากหลายทางสังคมและใช้เวลานาน สุดท้ายแล้ว ถ้าการเมืองดี ปัญหาเรื่องเพศก็จะได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดีขึ้น จะเด็จทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net