Skip to main content
sharethis

'ไทยรัฐออนไลน์' รายงานว่าหลังเกิดเหตุตำรวจปราบปราม #ม็อบ13กุมภา ทำให้ดาราดังหลายคนไม่ไหวจะทนไม่นิ่งเฉย มีการรวมพลังทางโลกออนไลน์ call out ออกมารุมประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ - ด้านนิด้าโพลเผยผลสำรวจ 1,315 คน ระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. 2564 พบ 65.25% เชื่อว่ากลุ่มราษฎรมีผู้อยู่เบื้องหลัง ขณะที่ 34.75% ระบุว่าไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง

14 ก.พ. 2564 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าหลังเกิดเหตุแรง ม็อบประชาชนโดนทำร้ายจากตำรวจ จนดาราดังหลายคนไม่ไหวจะทน ไม่นิ่งเฉยอีกต่อไป ต้องส่งเสียงดัง ๆ ทางโลกออนไลน์ ให้ชาวไทยชาวโลกได้รับรู้กันไปแล้ว จากเหตุการณ์ม็อบ 13 ก.พ. 2564 ที่ทวิตเตอร์พุ่งไม่หยุด เช่น #ม็อบ13กุมภา ที่ทวีตพุ่งไปมากกว่า 7 ล้าน!!! และยังมีเทรนด์ทวิตเตอร์เยอะอีก เช่น #WhatsHappeningInThailand #ตำรวจกระทืบหมอ #ตำรวจทำร้ายประชาชน #ตำรวจไทยขยะสังคม #ไม่ขายให้ตำรวจทหาร #ตำรวจมีไว้ทำไม

ด้านดารา-นักร้องที่เลือกความถูกต้องได้รวมใจรวมพลังทางโลกออนไลน์ call out ออกมารุมประณามตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐบาล ที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ในการปราบม็อบ (คลิกอ่าน)

 

นักร้อง-ดาราดัง ประณามตำรวจปราบ #ม็อบ13กุมภา

นิด้าโพลเผยผลสำรวจ 65.25% เชื่อว่ากลุ่มราษฎรมีผู้อยู่เบื้องหลัง ขณะที่ 34.75% ระบุว่าไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง

นิด้าโพลเผยผลสำรวจ 65.25% เชื่อว่ากลุ่มราษฎรมีผู้อยู่เบื้องหลัง ขณะที่ 34.75% ระบุว่าไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง

ด้านเว็บไซต์ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่าศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “กลุ่มราษฎร หรือม็อบสามนิ้ว ณ เวลานี้” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8-10 ก.พ. 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,315 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว ณ เวลานี้

จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการมีแกนนำกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.60 ระบุว่า มีแกนนำ ขณะที่ ร้อยละ 32.40 ระบุว่า ไม่มีแกนนำ

ส่วนการมีผู้อยู่เบื้องหลังของกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.25 ระบุว่า มีผู้อยู่เบื้องหลัง ขณะที่ ร้อยละ 34.75 ระบุว่าไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข่าวความขัดแย้งภายในกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้ว พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.22 ระบุว่า เป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคล รองลงมา ร้อยละ 25.48 ระบุว่า เป็นความไม่เข้าใจกันชั่วคราว ร้อยละ 16.88 ระบุว่า เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจริง และร้อยละ 16.42 ระบุว่า เป็นกลลวงที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกฝ่ายตรงข้าม

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับพฤติกรรม/กิจกรรมของกลุ่มราษฎรหรือม็อบสามนิ้วที่ผ่านมาพบว่า

ร้อยละ 20.23 ระบุว่า เป็นการต่อสู้ด้วยวิถีทางแบบประชาธิปไตย ขณะที่ ร้อยละ 6.54 ระบุว่า ต่อสู้ด้วยวิถีทางนอกเหนือจากแบบประชาธิปไตยเพื่อให้ได้ชัยชนะ

ร้อยละ 16.20 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการเอาแต่ใจไม่เคารพในกฎหมายของบ้านเมือง ขณะที่ ร้อยละ 2.51 ระบุว่า แสดงออกถึง การเคารพในกฎหมายของบ้านเมือง

ร้อยละ 9.89 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ขณะที่ ร้อยละ 8.90 ระบุว่า แสดงออกถึงการเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ร้อยละ 9.13 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและไม่รับฟังความคิดเห็นต่าง ขณะที่ ร้อยละ 8.29 ระบุว่า แสดงออกถึงการเคารพและรับฟังความคิดเห็นต่าง

ร้อยละ 4.26 ระบุว่า เป็นการแสดงออกด้วยการพูดความเท็จและบิดเบือนข้อมูล ขณะที่ ร้อยละ 3.12 ระบุว่า แสดงออกด้วยการพูดข้อเท็จจริงและเหตุผล

ร้อยละ 3.57 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการต่อสู้ที่ไม่ยึดหลักสันติวิธี ขณะที่ ร้อยละ 3.12 ระบุว่า แสดงออกถึงการต่อสู้ที่ยึด หลักสันติวิธี

ร้อยละ 3.50 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามอย่างไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ขณะที่ ร้อยละ 1.52 ระบุว่า แสดงออกถึงการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามอย่างมีจิตสำนึกรับผิดชอบ

ร้อยละ 2.97 ระบุว่า เป็นการแสดงออกถึงการเคารพในความเท่าเทียมกัน ขณะที่ ร้อยละ 0.76 ระบุว่า แสดงออกถึงการแบ่งชนชั้น และร้อยละ 19.32 ระบุว่า เฉย ๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

“โฆษกเพื่อไทย” จี้รัฐเคารพหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานหลังทีมแพทย์ถูกกระทำรุนแรงขณะม็อบชุมนุม​ ตำรวจต้องอดกลั้นต่อสถานการณ์ที่ตึงเครียดให้ได้

เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานว่า ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกเพื่อไทย กล่าวถึง การชุมนุมกลุ่มคณะราษฎรเมื่อค่ำวานนี้ (13 ก.พ.) กรณีที่มีทีมแพทย์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้าย ตามหสักสากลทีมแพทย์ถือเป็นสัญลักษณ์ของมนุษยธรรม ต้องได้รับความเคารพและคุ้มครองจากภาคีคู่พิพาทเสมอ เจ้าหน้าที่รัฐควรตระหนักและใช้ความพยายามอดทนอดกลั้นในสถานการณ์ที่มีความตึงเครียด และอาจถูกยั่วยุจากกลุ่มที่ไม่หวังดี ถึงเจ้าหน้าที่รัฐจะมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อผู้ชุมนุมบางคนหรือทีมแพทย์อาสา เพราะการใช้ความรุนแรงไม่เคยแก้ไขปัญหาใดๆ

ผศ.ดร.อรุณี กล่าวต่ออีกว่า อยากเรียกร้องให้รัฐหยุดใช้ความความรุนแรงในทุกรูปแบบต่อประชาชน และยึดหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานตามหลักสากลและควรมีขันติ​ แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ทั้งที่รัฐน่าจะคาดการณ์สถานการณ์ได้ล่วงหน้า แต่ยังคงใช้วิธีเดิมๆ โดยรัฐลืมมองไปว่าท่าทีที่ผ่านมาของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐสร้างความหวาดระแวงให้ประชาชนมาตลอดด้วยการใช้กฎหมาย ทั้งการข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบ มาเป็นครื่องมือเล่นงานประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจ ที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้รับการยอมรับทั้งในสายตาประชาชนและนานาชาติในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ซูเปอร์โพลเผย 97% กังวลขบวนการแก้ ม.112 ต้องการให้เกิดความรุนแรง

ด้านสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความกังวล แก้ ม. 112 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความกังวล แก้ ม. 112 กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,376 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11-13 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.3 เชื่อว่า ขบวนการมุ่งแก้กฎหมาย มาตรา 112 ลดโทษอันตรายต่อสถาบันหลักของชาติ มากยิ่งขึ้นไปอีกที่ร้ายแรงยิ่งกว่า ในขณะที่ร้อยละ 1.7 ไม่เชื่อ

ที่น่าห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 97.1 กังวล ขบวนการแก้กฎหมาย มาตรา 112 ต้องการให้เกิดความรุนแรง ในขณะที่ร้อยละ 2.9 ไม่กังวล

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.6 เชื่อว่า ขบวนการแก้กฎหมาย มาตรา 112 ใช้ความกลัวของประชาชนเป็นจุดกระตุ้นให้ประชาชนเคลื่อนไหว ในขณะที่ร้อยละ 1.4 ไม่เชื่อ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 99.6 ระบุ หยุดการเคลื่อนไหวชุมนุมทุกรูปแบบช่วง โควิด ทั้งเรื่องการเมืองพม่าและแก้ ม. 112 เพราะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด กลุ่มผู้ชุมนุมกำลังทำร้ายสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับประชาชนทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ร้อยละ 99.1 ระบุ ปัญหาการเมืองของพม่า เป็น เรื่องของพม่า คนไทยมาช่วยกันแก้วิกฤตชาติและความทุกข์ยากของประชาชนจะดีกว่า ร้อยละ 98.6 เห็นด้วยกับ การปฏิบัติการของตำรวจ ต่อ กลุ่มผู้ชุมนุม ร้อยละ 97.3 ระบุ ต่อต้านการชุมนุม ทุกเหตุผล ทั้งการเมืองในพม่า และการแก้กฎหมาย มาตรา 112 และร้อยละ 94.8 ระบุ ควรจัดการ กับ ต่างชาติกับคนไทยบางคน เช่น องค์กรต่างชาติท่อน้ำเลี้ยง นักการเมือง นักลงทุน นักวิชาการ และ ส.ส. ที่อยู่เบื้องหลังปลุกปั่นทำบ้านเมืองวุ่นวาย คนในชาติแตกแยก

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า “แก้ทำไม ถ้าไม่คิดร้ายผู้อื่น” ดังนั้น “หยุดม็อบ แตะ ม. 112” คือทางรอดของประเทศและประชาชน ไม่ตกเป็นเหยื่อของการปลุกปั่นสร้างความแตกแยกของคนในชาติ ผู้ใดมีเจตนาดี ไม่คุกคามผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ดูหมิ่นผู้อื่นย่อมไม่เดือดร้อนจากกฎหมายมาตรา 112 แต่ผู้ที่มีเจตนาไม่ดีแอบแฝง มีจิตที่มุ่งคุกคามผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่นย่อมจะต้องการแก้กฎหมายมาตรา 112 และถ้าขบวนการและกลุ่มผู้สนับสนุนเหล่านี้ชนะแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ได้ พวกเขาคงจะมีเป้าหมายที่น่ากลัวมากขึ้นไปอีกถึงขั้นจะเอาผิดอะไรต่าง ๆ ตามมาอีกมากมายอย่างน่าสะพรึงกลัวในการทำลายสถาบันหลักของชาติและทำร้ายจิตศรัทธาผู้อื่น เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ผลโพลนี้ยังชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปฏิบัติการของตำรวจในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศที่ประเทศเหล่านั้นใช้กระสุนจริงจัดการม็อบรุนแรงกว่าประเทศไทยมาก การปฏิบัติการของตำรวจทำได้สูงกว่ามาตรฐานสากล แต่ทำไมหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงไม่ทำงานโดดเด่นจัดการขบวนการเบื้องหลังทั้งองค์กรต่างชาติท่อน้ำเลี้ยงและนักการเมือง นักลงทุน นักวิชาการ ส.ส.ที่ออกมาใช้ตำแหน่งประกันผู้ทำความผิดต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกต้องหรือไม่ ทำไมจึงเงียบกริบ ไม่ทำหน้าที่กันเป็นทีม รออะไร

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net