Skip to main content
sharethis

ภาคประสังคมและภาควิชาการ 301 องค์กรทั่วประเทศ แถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมอบเงินสวัสดิการเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า คนละ 600 บาท เป็นของขวัญวันเด็กปีนี้

9 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสายวันนี้ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ที่สำนักงานมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม กรุงเทพฯ คณะทํางานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้าร่วมกับภาคประชาสังคม 301 องค์กร จัดเวทีแถลงข่าว เสนอสถานการณ์และข้อเรียกร้อง พร้อมอ่านจดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบของขวัญวันเด็กปี 2564 ด้วยนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า เป็นเงินอุดหนุนแก่เด็กอายุ 0-6 ปี คนละ 600 บาท เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2564 ณ สนามเด็กเล่น มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ชุมชนเสือใหญ่ประชาอุทิศ ถนนรัชดาภิเษก 36 กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนคณะทำงานฯ จาก 6 หน่วยงานร่วมแถลงการณ์ นำโดยศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ที่เน้นย้ำปัญหาซึ่งเกิดจากการประกาศปิดสถานรับเลี้ยงเด็กเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่ไร้มาตรการรองรับของรัฐบาล ทำให้เด็กขาดโอกาสเข้าถึงทรัพยากรด้านโภชนาการและด้านพัฒนาการการเรียนรู้ ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตและความปลอดภัยของเด็ก

ภาพจากเพจ เด็กเท่ากัน

อภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ผู้ดูแลกลุ่มแรงงานในภาคตะวันออก เปิดเผยว่า แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่มีบุตรกว่า 70% ไม่ทราบว่าตนมีสิทธิเข้าถึงโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อีกทั้งระบบคัดกรองและตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับสิทธิในโครงการนี้เป็นไปด้วยความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้ถูกตัดโอกาสการเข้าถึงสิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับ พร้อมทั้งยังตั้งคำถามถึงนโยบาย “เกิดปุ๊บรับปั๊บ” ของรัฐบาลเมื่อครั้งหาเสียงก่อนการเลือกตั้งว่าได้ดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด ส่วน นิไลมล มนตรีกานนท์ จากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) กล่าวว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้หลายครอบครัวเสี่ยงต่อการเป็นคนจนใหม่ เพราะถูกเลิกจ้าง ไม่มีงานเสริม มีรายได้ลดลง ซึ่งกระทบต่อค่าใช้จ่ายประจำ โดยเฉพาะครอบครัวรายได้น้อยที่มีเด็กเล็กต้องดูแล ดังนั้น การได้รับสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือดูแลลูกแบบถ้วนหน้าเดือนละ 600 บาทจึงเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตให้เด็กและครอบครัวได้ นอกจากนี้ ยังมี สุนทรี เซ่งกิ่ง ตัวแทนจากกลุ่มแรงงานนอกระบบ และเสาวลักษณ์ ทองก๊วย ตัวแทนจากเครือข่ายคนพิการ ร่วมเสนอข้อเรียกร้องและเน้นย้ำปัญหาที่เกิดจากระบบการคัดกรองคุณสมบัติผู้มีสิทธิรับเงินอุดหนุนเด็กของทางภาครัฐว่ามีนโยบายการทำงานที่ไม่เป็นเอกภาพ รวมถึงมีเกณฑ์ที่ซับซ้อน จนทำให้พ่อแม่ผู้เป็นแรงงานนอกระบบและคนพิการหลายคนถูกตัดสิทธิรับเงินช่วยเหลือในส่วนนี้

สุนี ไชยรส

ช่วงท้ายของการแถลงข่าว สุนี ไชยรส ตัวแทนคณะทำงานฯ จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นผู้อ่านจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาดูแลสวัสดิการสำหรับเด็กเล็กอย่างจริงจังมากขึ้นด้วยการจัดทำนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า คนละ 600 บาท/เดือน ซึ่งนอกจากจะสามารถขยายการรับสิทธิที่ครอบคลุมเด็กเล็กในประเทศไทยกว่า 4,200,000 คนแล้ว ยังสามารถตัดลบงบประมาณด้านการตรวจสอบสิทธิที่ไม่จำเป็นออกไปได้อีกด้วย

แม้ว่าคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 เห็นชอบต่อแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า ในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 แต่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาวะสุขภาพ ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ต่อทุกกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะเด็กเล็กมักเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้าม คณะทํางานฯ โดยองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม จํานวน 301 องค์กร จึงได้ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี “มอบของขวัญวันเด็ก 2565 ที่มีคุณค่าที่สุด” คือ สนับสนุน นโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าในอัตรา 600 บาท/คน/เดือน ตามมติของ กดยช. โดยให้พิจารณาเป็นวาระเร่งด่วน เริ่มดําเนินการทันที ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2564 เพื่อเป็นการช่วยเหลือเด็กเล็กที่ครอบคลุมและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และยังเตรียมความพร้อมสู่นโยบายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2565

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net