Skip to main content
sharethis

แต่เดิม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 แยกพระราชทรัพย์ต่างๆ ไว้ 3 ส่วน คือ ‘ทรัพย์สินส่วนพระองค์’ ‘ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน’ และ ‘ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ พร้อมทั้งระบุไว้ชัดเจนว่า 1.ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กับ 2.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งประมุขของประเทศ ได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษีอากร ส่วนทรัพย์สินส่วนพระองค์ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี

ทว่า พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทั้งฉบับ พ.ศ. 2560 และ 2561 ได้รวม ‘ทรัพย์สินส่วนพระองค์’, ‘ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’, และ ‘ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน’ ให้กลายเป็น ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ที่บริหารจัดการตามพระราชอัธยาศัย พร้อมทั้งระบุว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จะต้องเสียภาษีอากรหรือได้รับยกเว้นภาษีอากร ย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการน้ัน

หลังกฎหมายบังคับใช้ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เผยแพร่คำชี้แจง เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อทรัพย์สินที่เคยอยู่ในชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ 10 โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นอยู่ในบังคับของกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร และต้องมีภาระเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป อันเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์"

เราจึงทดลองเปิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อพยายามหาคำตอบว่า ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปหรือไม่อย่างไร

    ภาษีเงินได้ คลุมเครือในหลายจุด

    • สถานะของสำนักงาน​ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

    สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นหน่วยงานตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 เดิมเคยเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์สำหรับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายปี 2479 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

    ต่อมามีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 รวบทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดินเข้าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมถึงดึงอำนาจในการจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จากเดิมที่มีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดหาประโยชน์ ลดระดับเป็นเพียงองค์กรปฏิบัติงานตามที่พระมหากษัตริย์ทรงมอบหมาย

    พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 บังคับใช้ได้เพียงปีกว่า ก็มีการยกร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 ขึ้นมายกเลิกฉบับปี 2560 โดยความเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ การรวมทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทั้งหมดมาบริหารจัดการในรูปแบบเดียวกัน ส่งผลให้การจัดการ การดูแลรักษา การจัดหาผลประโยชน์ และการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งหมดเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และเริ่มเป็นที่สังเกตว่า ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ และการถือหุ้นเริ่มใช้พระนามของรัชกาลที่ 10 แทนสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ดังเช่นที่เคยเป็นในสมัยรัชกาลที่ 9

    กฎหมายภาษีที่น่าจะเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินหมวดนี้ คือ ประมวลรัษฎากร มาตรา 3 (3) ที่ระบุให้ยกเว้นการเก็บภาษีอากรต่างๆ แก่รัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล องค์การศาสนา หรือองค์การกุศลสาธารณะ

    การตีความว่าทรัพย์สิน​หรือรายได้ของสำนักงาน​ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ต้องเสียภาษีหรือไม่ ขึ้นกับการตีความว่า สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นองค์การของรัฐบาลหรือไม่

    ประมวลรัษฎากร มาตรา 2 นิยามว่า "องค์การของรัฐบาล" หมายความว่า องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล และกิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น และหมายความรวมถึงหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลด้วย

    แล้วกิจการของรัฐหมายถึงอะไร? ใน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีนิยาม ‘กิจการของรัฐ’ ไว้ในมาตรา 4 ซึ่งหมายความถึงกิจการที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    (1) กิจการที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือหลายหน่วยรวมกันมีอำนาจหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย

    (2) กิจการที่จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือหลายหน่วยรวมกัน

    สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แม้กฎหมายล่าสุดกำหนดให้การบริหารจัดการเป็นไปตามพระราชอัธยาศรัย กระนั้นมันก็ไม่ได้เป็นส่วนราชการในพระองค์ ตาม พ.ร.ฎ.จัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 และในเอกสารสรุปผลการรับฟังความเห็น ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. … เมื่อ 18 ต.ค. 2561 ระบุชัดว่า สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไม่เป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐด้วยเช่นกัน 

    ทว่ายังมีความคลุมเครือว่า สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยใดหน่วยหนึ่งหรือหลายหน่วยรวมกัน ซึ่งจะทำให้เข้านิยามกิจการของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ทำให้การตีความว่า สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่คลุมเครือไปด้วย

    นอกจากนี้ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ยังไม่เผยแพร่รายงานประจำปีบนเว็บไซต์ ดังที่เคยทำในสมัยรัชกาลที่ 9 ทำให้ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้กลายเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพื่อให้รัชกาลที่ 10 สามารถจัดการ ดูแลรักษา หาผลประโยชน์ และดำเนินการได้ตามพระราชอัธยาศัย

    หากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไม่เป็นองค์การของรัฐบาล และโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวโดยไม่มีค่าตอบแทน ต้องถือว่าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีเงินได้ และต้องเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 41 ทวิ

    • เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน - ไม่มีข้อมูล

    ตัวละครสำคัญคือ สำนักพระราชวัง เนื่องจากเดิมสำนักพระราชวังได้รับงบประมาณเป็นงบเงินอุดหนุนสำหรับค่าใช้จ่ายในพระราชฐานที่ประทับ ค่าใช้จ่ายในพระองค์ เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ เงินเบี้ยหวัดข้าราชการฝ่ายใน และเงินพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย ฯลฯ

    ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2560

    ทว่าเมื่อ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้สำนักพระราชวังถูกโอนเป็นส่วนราชการในพระองค์ และจัดระเบียบบริหารราชการเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ข้อมูลเกี่ยวกับเงินอุดหนุนแต่ละประเภทก็ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณของสำนักงบประมาณอีกต่อไป

    ตัวอย่างจากเอกสารงบประมาณ ปีงบประมาณ 2564 ระบุเพียงงบเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายส่วนราชการในพระองค์เกือบ 9 พันล้านบาท (8,980,889,600 บาท) โดยไม่มีรายละเอียดว่านำไปใช้ในกิจการใด วงเงินเท่าไรบ้าง

    ข้อมูลจากเอกสารงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ 2564

    แม้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 จะบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการในพระองค์ แต่รายได้ของส่วนราชการในพระองค์ไม่ต้องนําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน รวมถึงมีอำนาจดําเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของส่วนราชการในพระองค์ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยมีสำนักพระราชวังเป็นผู้ทำคำของบประมาณ

    ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ส่วนนี้จึงยังคลุมเครือ ตั้งแต่จำนวนรายได้ที่พระมหากษัตริย์ได้รับจัดสรรผ่านงบประมาณแผ่นดิน และการตีความกฎหมายเกี่ยวกับการเสียภาษีที่เกี่ยวข้อง

    แม้จะมีผู้แสดงความเห็นไว้หลายแห่ง เมื่อครั้ง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ยังมีผลบังคับใช้ว่า พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ แต่หากตีความว่าเงินค่าใช้จ่ายในพระองค์ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นทรัพย์ที่ทรงได้มาในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ก็จะจัดว่ารายได้ส่วนนี้เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายเก่า

    ที่พอชัดเจนอยู่บ้างน่าจะเป็นส่วนเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ที่เป็นเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) โดยให้ส่วนราชการผู้เบิกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามอัตราและวิธีการที่กําหนดไว้ ในประมวลรัษฎากรส่งเป็นเงินรายได้แผ่นดิน

    อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีผู้ตีความชัดเจนว่า เงินค่าใช้จ่ายในพระองค์ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เทียบเคียงรายละเอียดล่าสุดที่ปรากฏในเอกสารปีงบประมาณ 2560 จำนวนกว่า 80 ล้านบาท (80,625,000 บาท) จะถูกนับเป็นเงินปีที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) หรือไม่

    หากค่าใช้จ่ายในพระองค์ที่ได้รับอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดินถูกตีความว่าเป็นเงินปี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (3) จะไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้ และต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 35 เงินอย่างน้อย 28 ล้านบาท น่าจะกลับคืนกลายเป็นรายได้แผ่นดินตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาล่าสุด

    • รายได้โดยเสด็จพระราชกุศลได้รับการยกเว้นภาษี

    ประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (29) ระบุให้เงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้ เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

    หมายความว่า รายได้โดยเสด็จพระราชกุศลน่าจะได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายข้างต้น  ซึ่งเดิมสำนักพระราชวังเคยของบประมาณเป็นเงินอุดหนุนเพื่อเป็นเงินพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย จำนวน 17 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2560 แต่รายละเอียดส่วนนี้หายไปหลัง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 บังคับใช้ และการของบประมาณแผ่นดินของส่วนราชการในพระองค์ไม่แจกแจงรายละเอียดอีกต่อไป ขณะที่รายได้ที่ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายทั้งจากภาครัฐและเอกชนก็ไม่ถูกเปิดเผย อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขประเทศอื่น ต่างก็เข้มงวดต่อรายได้ส่วนนี้ขององค์ประมุข เช่น

    ญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญกำหนดเพดานมูลค่าของขวัญทั้งที่จะมอบให้และรับมา โดยสมเด็จพระจักพรรดิและข้าราชบริพารชั้นในสามารถให้ของขวัญได้ไม่เกิน 18 ล้านเยน หรือประมาณ 5 ล้านบาท และรับของขวัญได้ไม่เกิน 6 ล้านเยน หรือประมาณ 1.7 ล้านบาท ส่วนสมาชิกราชวงศ์ที่เป็นผู้ใหญ่สามารถให้และรับของขวัญที่มีมูลค่าไม่เกิน 1.6 ล้านเยน หรือประมาณ 4.6 แสนบาทเท่านั้น

    ส่วน สหราชอาณาจักร มีแนวปฏิบัติว่า สมาชิกราชวงศ์ควรปฏิเสธของขวัญ น้ำใจ หรือบริการที่เสนอโดยภาคธุรกิจและบุคคลที่ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว และรับเงินได้เฉพาะการบริจาคเข้าองค์กรการกุศลที่สมาชิกราชวงศ์อุปถัมภ์อยู่เท่านั้น เพื่อป้องกันการเกิดพันธะผูกพันต่อผู้บริจาค ของขวัญที่ได้รับมาในฐานะสมาชิกราชวงศ์ หรือได้รับขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือมีมูลค่าเกิน 150 ปอนด์ (ประมาณ 6,000 บาท) จะถือเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ต้องรายงานและเปิดเผย

    • รายได้ที่น่าจะเสียภาษีตามปกติ : ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า

    ทรัพย์สินที่ยังไม่พบข้อยกเว้นสำหรับพระมหากษัตริย์ เช่น รายได้ที่มาจากดอกเบี้ย อาทิ ดอกเบี้ยเงินฝาก, ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้, ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตร หุ้นกู้ หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ หรือจะนำไปคำนวณรวมเป็นเงินได้แล้วจ่ายตามอัตราภาษีก็ได้

    ส่วนเงินปันผลถือเป็นรายได้ที่ผู้ลงทุนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าเงินปันผลที่ได้รับ หรือจะนำไปคำนวณรวมเป็นเงินได้แล้วจ่ายตามอัตราภาษีก็ได้เช่นกัน

    ด้านเงินได้จากธุรกิจอื่นๆ เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท ขณะที่เงินได้ประเภทอื่นต้องนำไปคำนวณรวมเป็นเงินได้แล้วจ่ายตามอัตราภาษีเงินได้

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไม่เผยแพร่รายงานประจำปี จึงไม่ทราบข้อมูลรายได้ของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ส่วนนี้มากนัก เท่าที่พอยกตัวอย่างได้มีบางส่วน เช่น 

    • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จ่ายปันผลเมื่อ 22 เม.ย. 2563 ในราคาหุ้นละ 4 บาท ทำให้รัชกาลที่ 10 มีรายได้จากเงินปันผลหุ้นดังกล่าวประมาณ 3 พันล้านบาท (3,175,329,436 บาท) เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 คือ ประมาณ 3 ร้อยล้านบาท

     

    • บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายปันผลเมื่อ 28 ส.ค.2563 ในราคาหุ้นละ 5.50 บาท ทำให้รัชกาลที่ 10 มีรายได้จากเงินปันผลหุ้นดังกล่าวประมาณ 2 พันล้านบาท (2,220,063,120 บาท) เสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 หรือประมาณ 2 ร้อยล้านบาท

    ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

    กฎหมายกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ในอัตราร้อยละ 0.01-3 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ โดยแตกต่างกันไปตามประเภทการใช้ประโยชน์

    อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ระบุว่า ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินของบุคคลซึ่งได้รับเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ตามกฎหมายว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน เฉพาะส่วนที่ได้ใช้เพื่อการ ดังต่อไปนี้

    (ก) ใช้ในราชการ ราชการในพระองค์ หรือหน่วยงานในพระมหากษัตริย์

    (ข) ใช้ในกิจการอื่นใดในพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์

    (ค) ใช้เป็นศาสนสถานไม่ว่าของศาสนาใดที่ใช้เฉพาะเพื่อการประกอบศาสนกิจหรือกิจการสาธารณะ หรือเป็นที่อยู่ของสงฆ์ นักพรต นักบวช หรือบาทหลวง ไม่ว่าในศาสนาใด หรือเป็นศาลเจ้า

    ทั้งนี้ หากเป็นทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้เพื่อการตามวรรคหนึ่ง ให้ได้รับยกเว้นเฉพาะส่วนที่มิได้ใช้หาผลประโยชน์

    ได้รับการยกเว้นภาษีมรดก

    พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 ระบุว่า ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม กฎหมายภาษีมรดกได้ยกเว้นการเก็บภาษีแก่บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์

    กฎหมายนี้ดูเหมือนจะเป็นกฎหมาย ‘ก้าวหน้า’ ที่ออกในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. หากแต่ในระดับกฎกระทรวง กลับมีข้อยกเว้นบางอย่างที่น่าสนใจยิ่ง เพราะกำหนดประเภทหรือรายชื่อของบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับเงินค่าใช้จ่ายในพระองค์ จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และบุคคลซึ่งได้รับเงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535 นั่นเท่ากับว่า บุคคลเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกเช่นประชาชนทั่วไป

    ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ กฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้นภาษีมรดกนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2560 แต่กลับให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังไปถึง 1 ก.พ. 2559 ซึ่งเป็นปีที่รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต และประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์รัชกาลใหม่

    ข้อมูลไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจ

    ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเท่าที่สามารถค้นพบได้โดยทั่วไป และเป็นการตีความไปตามที่เข้าใจได้เท่านั้น เป็นการยากจะยืนยันได้ว่า การเสียภาษีเป็นไปตามที่ตีความไว้หรือไม่ เนื่องจากตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการส่วนราชการในพระองค์ และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนตามกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงใหม่ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก็ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน ทำให้คำถามทำนองนี้จะคงอยู่ในสังคมต่อไป ตราบเท่าที่ประชาชนไม่อาจเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเพียงพอ

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net