Skip to main content
sharethis

เวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" สิริพรรณ นกสวน สวัสดี เสนอ  "วิกฤตจากรัฐธรรมนูญและสองแพร่งของยุทธศาสตร์ทางออก" เสนอเส้นทางแก้รัฐธรรมนูญ และกำหนดเลือกตั้งใหม่ ทั้งหมดทำได้ภายใน 1 ปี เสนอดึงอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและตั้ง สสร. กลับสู่มือประชาชน

เวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ ช่วง "ทางออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ" รศ. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอหัวข้อ "วิกฤตจากรัฐธรรมนูญและสองแพร่งของยุทธศาสตร์ทางออก"

'กลุ่ม CARE' ตั้งวง 13 คน ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของปชช. 'คำ ผกา’ ย้ำต้องฉีก ‘รธน.ฉบับวัฒนธรรม’, 8 ส.ค. 2563

CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน [YouTube]

สิริพรรณนำเสนอว่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด เศรษฐกิจ หรือปัญหากระบวนการยุติธรรม ล้วนแล้วแต่เกี่ยวโยงกับรัฐธรรนูญทั้งนั้น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวบอกว่าใครจะเข้าสู่อำนาจรัฐ อำนาจรัฐถูกใช้เพื่อใคร เพื่อประชาชนหรือไม่ โครงสร้างภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบันคือการเปิดโอกาสให้นายทุน ขุนศึกเข้ามาอาศัยอำนาจเพื่อใช้ส่วนเกินของระบบทุนผูกขาดมากอบโกย

อภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ทำอะไรก็ไม่ผิด ในทางหลักการมีคำว่า Rule of Law แต่สำหรับปัจจุบันตอนนี้คือ Rule of Man คือ Man เป็นเจ้าของกฎหมาย โจทย์ที่มีตอนนี้คือการตามหารัฐธรรมนูญที่เขา เธอ และฉันจะช่วยกันสร้างได้อย่างไร ในทางวิธีการสามารถทำได้ผ่าน 2 หลักการ หนึ่ง แก้ไขและเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สอง เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำก่อนยุบสภา เพราะถ้ายุบสภาและเลือกตั้งใหม่ก่อน สิ่งที่จะได้ก็คือการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม ระบบเลือกตั้งเดิม อำนาจ ส.ว. แบบเดิม มีแนวโน้มสูงมากที่จะได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม หรืออาจเป็นหน้าใหม่แต่ถูกจัดตั้งมาเช่นเดิม เบื้องต้นจึงเสนอให้มีการแก้ไขก่อนสองประเด็นก่อนเลือกตั้ง เพราะว่าจะทำให้มีโอกาสได้สภาใหม่ ผู้บริหารชุดใหม่ และไม่จำเป็นต้องผ่านการทำประชามติ ดังนี้

หนึ่ง ที่มาของนายกรัฐมนตรี ให้เขียนใหม่ว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. และมาจากคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องการให้อำนาจของ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาเลือกนายกรัฐมนตรี

สอง ต้องแก้ไขระบบเลือกตั้ง มิเช่นนั้นจะทำให้มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคแต่ไม่มีประสิทธิภาพ บริหารประเทศไม่ได้ และมีพรรคในสภาจำนวนมาก ระบบเลือกตั้งอาจกลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อน ในส่วนข้อครหาว่าเอื้อพรรคใหญ่ ก็แก้ด้วยการตัดเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 5 ลดลงเหลือ 1-3 หรือไม่มีเลยก็ได้ หรือที่ดีกว่านั้นคือระบบผสมแบบเยอรมัน เอาคะแนนบัญชีรายชื่อและ ส.ส. เขตมาคิดคำนวณรวมกัน แต่เน้นย้ำว่าทุกแนวทางต้องมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

สิริพรรณกล่าวถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่า ส.ส. จำนวน 100 คนขึ้นไปสามารถเสนอในสภาได้ ฝ่ายค้านมีจำนวน ส.ส. ที่สามารถเสนอได้ ในส่วนของการเข้าชื่อของประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีกฎหมายรับรองการเสนอชื่อเช่นนั้น จึงมีคำถามว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีความจริงใจแค่ไหนในการให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ

สิริพรรณยังเสนอสัดส่วน สสร. ว่าไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยคนจำนวนมาก เสนอว่าให้มีจำนวน 100 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ประชาชนทั่วไปกับผู้ทรงคุณวุฒิ ในส่วนประชาชนให้มีจำนวน 80 คน ให้มาจากบัญชีรายชื่อผ่านการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ตามตัวแทนอัตลักษณ์ของตัวเอง อีกกลุ่มคือผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามายกร่าง แบ่งเป็นอีก 2 กลุ่ม คือลงสมัครรับเลือกตั้งรายบุคคล 10 คน และจากพรรคการเมืองอีก 10 คน เป็นส่วนผสมระหว่างประชาธิปไตยทางตรงกับทางอ้อม และพรรคการเมืองก็อาจเป็นทั้งตัวสนับสนุนและตัวป่วน จึงต้องเอาพวกเขามาอยู่ในเกม ทุกพรรคที่มีจำนวน ส.ส. เกินสัดส่วนร้อยละ 2 มีได้ 1 โควตา รวมเป็น 7 ที่นั่ง ส่วนอีก 3 ที่นั่ง ได้มาจากพรรคที่มีสัดส่วน ส.ส. ไม่เกินร้อยละ 2 รวมตัวกันเสนอมา

ในส่วนของเงื่อนเวลา เธอเสนอว่าให้เวลาเลือกตั้ง สสร. 2 เดือน เพราะอาจต้องใช้เวลาเขียนกฎหมายหรือคำสั่งผ่าน กกต. ยกร่างรัฐธรรมนูญเพียง 4 เดือน เพราะคิดว่าในช่วงเวลาก่อนนั้นน่าจะมีข้อเสนอมากมายจากสังคม รณรงค์ประชามติ 2 เดือน ถ้ามีการแก้ ม. 256 ก็ต้องทำประชามติอีกรอบและเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็อาจต้องทำประชามติอีกรอบ ต้องมีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ภายใน 2 เดือนเพื่อเลือกตั้งใหม่ ในกรอบนี้จะใช้เวลา 10 เดือน เท่ากับจะมีการเลือกตั้งใหม่ในระยะเวลา 1 ปี เป็นจังหวะเวลาเดียวกับการมีรัฐธรรมนูญ 2550 คำถามใหญ่คือ ตอนนั้นใครจะเป็นรัฐบาล จะแก้ปัญหาสุญญากาศทางการเมืองนี้อย่างไร

อีกคำถามสำคัญคือ จำเป็นต้องมีการทำประชามติไหม สิริพรรณกล่าวว่า ถ้าแก้ ม. 256 ที่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ แต่จำเป็นหรือไม่ก็แล้วแต่ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประชาชนรักก็ไม่ได้มาจากประชามติ แต่ฉบับ 2550 และ 2560 ที่ประชาชนยี้ล้วนผ่านประชามติ ดังนั้น ถ้าเรามองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เราก็ต้องสถาปนาความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก็อาจจะต้องทำประชามติ แต่ที่ต้องทำให้เกิดก็คือการเกิดช่วงเวลาแห่งรัฐธรรมนูญหรือ constitutional moment ต่อจากนี้ไปจนถึงการมีรัฐธรรมนูญต้องมีการสนทนา โต้เถียง บันทึกถ้อยคำและความเห็นต่างๆ ให้คนรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ต้องสร้างให้จิตวิญญาณของคนเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ

สิริพรรณพูดถึงทางสองแพร่งในการแก้รัฐธรรมนูญว่า ถ้าใช้กลไกรัฐสภา วิกฤตก็จะน้อยเพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ข้อเสียคือเราอาจไม่ได้รัฐธรรมนูญในฝันแบบทันท่วงที แต่ถ้าเกิดปรากฏการณ์ที่สุกงอมมากพอ ความชอบธรรมของรัฐบาลลดลงสิ้นเชิง เราก็อาจมีโอกาสตั้ง สสร. แต่ปัญหาคือความล่าช้า คำถามใหญ่คือในจังหวะกระบวนการภายใต้ สสร. ใครจะเป็นรัฐบาล

สิริพรรณทิ้งท้ายว่า แม้ในหมู่ที่ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ขณะนี้ก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ที่อยากฝากไว้คือ ความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา จอห์น รอลส์ (John Rawls) บอกว่าเป็นความเหลื่อมซ้อนของความเห็นต่าง แต่ขอให้รักษาหลักการด้วยกันไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญในฝันของเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net