Skip to main content
sharethis

ผลการศึกษาของ 'ดีแทค-Wisesight' ศึกษา Social listening tool เรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์พบว่าการแกล้ง ล้อเลียน เหยียดยังคงเป็นเรื่องรูปลักษณ์ เพศวิถี และกระจุกตัวอยู่ในวงการการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยม โดยมี 'เพื่อน' เป็นคนที่ปรากฏในข้อความบูลลี่มากที่สุด

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทค ร่วมมือกับ Wisesight จากการศึกษาผ่าน Social listening tool โดยรวบรวมข้อความต่างๆ ทางโซเชียลมีเดียทั้ง Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, ฟอรั่ม และบล็อกข่าวในประเทศ ช่วงเดือน พ.ย. 2561-ต.ค.2562 พบว่า

โลกออนไลน์ของไทยประกอบด้วยข้อความที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ แกล้ง ล้อ และเหยียดราว 700,000 ข้อความหรือเฉลี่ย 39 ข้อความต่อนาทีและมีการขยายความต่อผ่านการรีทวีต ไลก์ แชร์ ทำให้เกิดการขยายข้อความดังกล่าวทั้งสิ้นราว 20 ล้านรายการ

โดยลักษณะการบูลลี่ที่ปรากฎในโซเชียลมีเดียของไทยนั้น 36.4% เป็นการบูลลี่ด้านรูปลักษณ์ ตามด้วย 31.8% เป็นการบูลลี่ทางเพศวิถี และ 10.2% เป็นการบูลลี่ทางความคิดและทัศนคติ ส่วนที่เหลือเป็นการบูลลี่ด้านอื่นๆ เช่น เชื้อชาติ ศาสนา บุคลิกลักษณะนิสัย รสนิยมความชอบ ฐานะทางการเงิน และครอบครัว เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าการแกล้งกันทางออนไลน์นั้นส่วนมากพบในวงการ 'การศึกษา' ซึ่งสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยม โดยมีเพื่อนเป็นคนที่ปรากฏในข้อความที่พูดถึงการบูลลี่มากที่สุด

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว ดีแทคได้ร่วมมือกับ Punchup บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการและนำเสนอข้อมูล อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลที่ตั้งค่าส่วนตัวของแพลตฟอร์ม ทำให้ข้อมูลที่รวบรวมนี้อาจไม่ใช่ปริมาณข้อความที่เกี่ยวข้องกับการบูลลี่ทั้งหมดบนโซเชียลมีเดีย และด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษาและเทคโนโลยี ข้อมูลนี้จึงอาจไม่ครอบคลุมข้อความที่ใช้คำประชดประชันหรือว่าร้ายในบริบทเฉพาะได้ และมีความเป็นไปได้ที่จะถูกตีความด้วยความหมายที่ต่างออกไป”

นางอรอุมา กล่าวเสริมว่าจากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนได้ว่าโซเชียลมีเดียของไทยในทุกแพลตฟอร์มล้วนประกอบไปด้วยข้อความที่สร้างความเกลียดชังผ่านการแกล้งกันทางออนไลน์ ซึ่งเด็กและเยาวชนมีความเสี่ยงอย่างมากทั้งการเป็นผู้แกล้งและผู้ถูกกลั่นแกล้ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการสร้างความแข็งแรงทางดิจิทัล (Digital Resilience) ให้สามารถเผชิญและรู้เท่านั้นต่อปัญหา

ดีแทคยังระบุด้วยว่า ได้ร่วมมือกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หน่วยงานภาคประชาสังคมด้านสวัสดิภาพเด็ก เพื่อพัฒนาและอบรมหลักสูตร Gender diversity to stop cyberbullying พัฒนาจากองค์ความรู้วิถีทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และลักษณะเพศ (Sexual Orientation, Gender Identity and Expression, and Sex Characteristics หรือ SOGIESC) ซึ่งเป็นแนวคิดในการอธิบายเพศสภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างทางเพศของแต่ละบุคคลให้เกิดทัศนคติที่เหมาะสมและนำไปสู่ทัศนคติและการแสดงออกที่เคารพต่อบุคคลอื่นในสังคมที่มีความหลากหลาย โดยปัจจุบัน ได้ดำเนินการอบรมไปแล้วในหลายโรงเรียนของจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือของไทย


ที่มา: Blognone | ผู้จัดการออนไลน์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net