Skip to main content
sharethis

จากกรณีข้อสั่งการของนายกฯ ระบุให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารายละเอียด CPTPP หากเจรจาแล้วไม่ได้ผลตามต้องการรัฐบาลจะไม่ลงนาม เอฟทีเอ ว็อชท์ ตั้งคำถามถึงรัฐบาล ขณะสภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทำงานศึกษาข้อมูลผลกระทบรอบด้าน แต่รัฐบาลจะเดินหน้าไปเจรจา CPTPP โดยใช้แค่ 'ข้อสั่งการนายกฯ' ไม่รอผลการศึกษาและความคิดเห็นของสภาฯ หรือไม่ ?

17 มิ.ย. 2563 ตามที่เมื่อวานนี้ (16 มิถุนายน 2563) นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลแถลงผลประชุม ครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หากต้องมีการลงนาม โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า รัฐบาลจะเจรจา เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติ และหากเจรจาแล้วไม่ได้ผลตามที่ต้องการของรัฐบาล ก็จะไม่ลงนามในข้อตกลงอย่างแน่นอน ดังนั้น ขออย่ากังวล เพราะรัฐบาลจะยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ” และต่อมาเพจศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ได้ออกภาพนายกฯพร้อมข้อความ และลงว่า นี่คือ ‘ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในที่ประชุม ครม. 16 มิ.ย.63’

เอฟทีเอ ว็อชท์ ขอตั้งคำถาม 2 คำถาม ผ่านสาธารณะเพื่อความชัดเจนในแง่กฎหมายอย่างเป็นทางการว่า

รัฐบาลจะใช้คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น 'ข้อสั่งการของนายก' ที่ให้หน่วยราชการไปเจรจา CPTPP ใช่หรือไม่ ?  ดังนั้นภายใน 1-2 วันนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีออกหนังสือข้อสั่งการนายกฯให้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะเจรจา โดยมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นประธาน และให้กระทรวงการต่างประเทศส่งหนังสือแสดงเจตจำนงไปยังเลขานุการ CPTPP ที่นิวซีแลนด์ และให้หน่วยงานต่างๆเตรียมพร้อมปรับตัวรองรับการเข้าร่วมด้วยการแก้ไขกฎหมาย ใช่หรือไม่  ?

ทั้งๆที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ไม่มีวาระการประชุมนี้ ไม่มีการพิจารณากรอบการเจรจาใดๆ เป็นเพียงการปรารภของนายกฯ ก่อนเริ่มเข้าสู่วาระคณะรัฐมนตรีเท่านั้น

ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากการเสนอของรัฐบาล (หลังจากที่ไม่สามารถผลักดันวาระ CPTPP เข้าสู่คณะรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง) ร่วมกับพรรครัฐบาลฝ่ายค้านถึง 9 พรรค กำลังทำงานศึกษาข้อมูลอย่างเข้มข้นจากทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความรอบคอบประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

หากรัฐบาลให้เดินหน้าไปเข้าร่วมเจรจา CPTPP โดยใช้แค่ 'ข้อสั่งการนายกฯ' นั่นเท่ากับว่า การตั้งกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร เป็นเพียงหน้าฉากละครเพื่อสร้างความชอบธรรม ลดกระแสการต่อต้านจากประชาชน ในขณะที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าเข้าร่วมการเจรจา โดยไม่รอผลการศึกษาและความคิดเห็นของสภาฯ หรือไม่ ?

การกระทำเช่นนี้ จะให้ประชาชนเชื่อใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลจะไปเจรจา เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนและประเทศชาติจริงๆ ? เพราะแท้ที่จริงแล้ว รัฐบาลมีธงอยู่ในใจแล้วที่จะเข้าร่วมความตกลง CPTPP ?

รัฐบาลจะให้หน่วยราชการไปเจรจาขอเข้าร่วมความตกลงระหว่างประเทศ อย่างความตกลง CPTPP ที่ต้องแก้กฎหมายไม่ต่ำกว่า 50 ฉบับ จะผูกพันคนรุ่นลูกรุ่นหลานไปอีกหลายชั่วคน ด้วยการใช้แค่ ‘ข้อสั่งการนายกฯ’ ที่เคยมีไว้เพื่อติดตามนโยบายภายในประเทศ ติดตามโครงการต่างๆที่เคยผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว จริงๆหรือ ?

ขณะนี้ รัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่เป็นรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การบริหารราชการแผ่นดินควรคำนึงถึงระบบนิติรัฐ และความรับผิดรับชอบต่อสังคมไทย

พวกเรายังอยากเชื่อว่า สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดวันนี้ เป็นเพียงการปรารภต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อแสดงความจริงใจต่อการทำหน้าที่ผู้กำหนดนโยบายที่พร้อมจะฟังทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่ใช่ใช้ข้อยกเว้นและการหลบหลีกทางกฎหมายมาตัดสินใจนโยบายระหว่างประเทศที่กระทบคนทั้งประเทศทั้งสังคมเยี่ยงนี้

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net