Skip to main content
sharethis

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ออกรายงานติดตามความคืบหน้าสภาพการทำงานของแรงงานประมง แม้มีพัฒนาการ แต่ยังเจอการบังคับหลายรูปแบบ เรียกร้องให้รัฐ ประชาสังคม แหล่งทุน เอกชนเดินหน้าให้แรงงานประมงเรียกร้องสิทธิได้ด้วยตัวเอง ลดความยาวของอุปทาน เพื่อให้รับผิดชอบต่อการดูแลแรงงานมากขึ้น

ที่มา: องค์การแรงงานระหว่างประเทศ

10 มี.ค. 2563 ศูนย์ข่าวองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เผยแพร่การรายงานจากการวิจัยติดตามความคืบหน้าเรื่องสภาพการทำงานของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในประเทศไทย โดยระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560 แรงงานมีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น แต่ยังมีเจอปัญหาเรื่องแรงงานบังคับ

งานวิจัยนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าหลังจากที่ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยข้อมูลพื้นฐาน ในปี พ.ศ 2561 ของโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป) โดยทำการสำรวจแรงงานประมง 219 คน และแรงงานโรงงานแปรรูปอาหารทะเล 251 คน รวม 470 คน เพื่อหาหลักฐานการเปลี่ยนแปลงในด้านการจัดหางาน สัญญาจ้าง การจ่ายค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน ความปลอดภัยและการจัดตั้งของแรงงาน

รายงานวิจัยข้อมูลพื้นฐานของไอแอลโอเมื่อปี 2560 แสดงให้เห็นถึงภาพของสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลในประเทศไทย สองปีผ่านไป ข้อมูลจากงานวิจัยวัดผลความก้าวหน้า แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพการทำงานโดยรวมที่เคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีการจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้นในอุตสาหกรรมทั้งสองประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีโครงสร้างของการจ้างงานอย่างเป็นทางการ การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขี้นจากการปรับปรุงกรอบกฎหมายภายหลังที่ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาของไอแอลโอ ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง (ฉบับที่ 188 ปี พ.ศ 2550) และพิธีสารว่าด้วยแรงงานบังคับ (ฉบับที่ 29)  ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการทำงานวิจัยข้อมูลพื้นฐานปี พ.ศ 2561

แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่กรณีการละเมิดยังคงปรากฎในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล รวมถึงลักษณะการละเมิดร้ายแรง อาทิ การทำงานโดยไม่สมัครใจและการบังคับข่มขู่ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะแรงงานบังคับ ไอแอลโอเสนอให้เจ้าหน้าที่ของไทยทำการกักเรือในกรณีที่มีการละเมิดที่ร้ายแรงตามกฎหมายและระงับการยื่นขอใบอนุญาตทำงานใหม่สำหรับนายจ้างที่ละเมิดกฎหมายแรงงานที่ยังไม่แก้ไข

จากงานวิจัยพบว่า ร้อยละ 27 ของแรงงาน 470 คนที่สำรวจในงานประมงและแปรรูปอาหารทะเล เคยมีประสบการณ์การทำงานที่ไม่สมัครใจในช่วง 12 เดือนก่อนการสำรวจ ที่พบมากที่สุดคือการใช้ชีวิตในสภาพความเป็นอยู่ที่เสื่อมโทรม (ร้อยละ 13) และการทำงานในสภาพแวดล้อการทำงานที่เสื่อมโทรม (ร้อยละ 9) ร้อยละ 5 ระบุว่าทำงานโดนถูกจำกัดเสรีภาพในการออกจากงาน ร้อยละ 4 ทำงานให้กับนายจ้างคนอื่นที่ไม่ใช่ตามที่ตกลงกันไว้

ข้อบ่งชี้อื่นๆ ที่มีการระบุคือ การทำงานเป็นเวลานานกว่าที่ตกลงกันเพื่อชำระหนี้ (ร้อยละ 3) ถูกบังคับให้ทำงานเพื่อช่วยให้บุคคลอื่นได้งานหรือเงิน (ร้อยละ 3) การทำงานที่ต้องมีความพร้อมเผื่อเรียกได้ตลอดเวลา 7 วันต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 3) การทำงานเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในครอบครัวที่ถูกบังคับให้ทำงาน (ร้อยละ 2) และการทำงานอย่างไม่เต็มใจให้กับนายจ้างหรือนายหน้าจัดหางาน (ร้อยละ 2)

นิยามของ "แรงงานบังคับ" ตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับของไอแอลโอ พ.ศ. 2473 (ฉบับที่ 29) ที่ประเทศไทยให้สัตยาบันในปี พ.ศ. 2512 ว่า “งานหรือบริการทุกชนิดซึ่งเกณฑ์เอาจากบุคคลใดๆ โดยขู่เข็ญลงโทษ และซึ่งบุคคลดังกล่าวนั้นมิได้สมัครใจที่จะทําเอง” องค์ประกอบของแรงงานบังคับประกอบด้วย 'งานที่ไม่สมัครใจ (involuntary work)' และ 'การบีบบังคับ (coercion)' โดยมีผู้จัดหา แรงงานหรือนายจ้างคนเดียวกัน

ไอแอลโอ ขอให้สหภาพและองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงผู้ให้ทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ ปรับทิศทางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการจัดตั้งและสนับสนุนแรงงานให้ทำงานผลักดันประเด็นต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ให้รับรองมาตรฐานการทำงานที่มีคุณค่า (decent work) ของผู้ซื้อและผู้จ้ดหาสินค้าของไทยนำไปสู่การปฎิบัติ เรียกร้องต่อผู้นำอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ในประเทศไทยและผู้ซื้อในต่างประเทศ ให้ตัดทอนห่วงโซ่อุปทานให้สั้นลง เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบต่อการปฎิบัติด้านแรงงานของผู้จัดหาสินค้า (supplier) และเสริมสร้างความรับผิดชอบของผู้ซื้อ (buyer) ในการยึดมั่นในมาตรฐานของตนเอง

จูเซปเป้ บูซินี่ รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทยกล่าวว่า “งานสำรวจวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเชิงบวกและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน ยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการกับความท้าทายที่ยังเหลืออยู่อย่างเป็นองค์รวม สหภาพยุโรปมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำงานกับประเทศไทยเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งและจะพยายามยกระดับงานให้ขยายขอบเขตไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นที่การย้ายถิ่นของแรงงานในภาคประมง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net