Skip to main content
sharethis

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ ‘พีท บุตดิเจซ’ แห่งพรรคเดโมแครต ใช้แพลตฟอร์ม Gig worker ค่าจ้างต่ำที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในการทำโพลสำรวจความคิดเห็น ซึ่งการใช้แพลตฟอร์มที่เอาเปรียบเช่นนี้เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการแสดงตัวของบุตดิเจซในฐานะผู้สมัครที่สนับสนุนฝ่ายแรงงาน

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของพีท บุตดิเจซ (Pete Buttigieg) อดีตนายกเทศมนตรี เมืองเซาท์เบนด์ มลรัฐอินเดียน่าได้ใช้เงิน 20,000 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 600,000 บาท) ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา จ้างคนงานที่ทำงานแบบจบเป็นครั้งๆ หรือ Gig worker ผ่านแพลตฟอร์ม Amazon Mechanical Turk หรือ MTurk หนึ่งในผู้เล่นที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดในพื้นที่ของการทำงานแบบจบเป็นครั้งๆ ซึ่งที่ผ่านมามีงานศึกษาวิจัยพบว่าคนงานเหล่านี้ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่มาก แม้ว่าหลายต่อหลายคนทำงานเต็มเวลาก็ตาม

จากข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของสหรัฐ (Federal Election Commission) การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของบุตดิเจซ ได้ว่าจ้าง MTurk ในการทำโพลสำรวจความคิดเห็นในเดือน ส.ค.-ก.ย. ที่ผ่านมา โดย MTurk ได้เปิดให้ผู้ที่ต้องการหาคนมาทำงานให้สามารถโพสต์งานที่ต้องการทำให้สำเร็จและราคาที่จะจ่าย (เว็บไซต์อนุญาตให้เสนอค่าจ้างต่ำสุด 1 เซ็นต์) ซึ่งจากข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางยังไม่มีความชัดเจนว่าการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจ่ายเงินในอัตราเท่าไรต่อการสำรวจความคิดเห็นหนึ่งครั้ง อย่างไรก็ตามโฆษกการณรงค์หาเสียงเลือกตั้งกล่าวว่าพวกเขาได้ดำเนินการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้สำรวจความคิดเห็นจะได้รับค่าจ้างที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งใช้แพลตฟอร์มที่เอาเปรียบ เช่น MTurk เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการแสดงตัวของบุตดิเจซ ในการหาเสียงของเขาในฐานะผู้สมัครที่สนับสนุนฝ่ายแรงงาน เขาได้พูดอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความจำเป็นในการคุ้มครองด้านแรงงานสำหรับคนงานที่ทำงานในเศรษฐกิจแบบจ้างงานจบเป็นครั้งๆ (gig economy) ซึ่งบริษัทมักจะจัดประเภทแบบผิดๆว่า เป็นผู้ร่วมสัญญาอิสระ (independent contractors) มากกว่าที่จะจัดให้เป็นลูกจ้าง เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการคุ้มครองด้านแรงงาน

เขาได้เสนอมาตรการหลายมาตรการเพื่อให้คนงานที่ทำงานแบบจบเป็นครั้งๆ มีมาตรฐานแรงงานที่ดีขึ้น เช่น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำชั่วโมงละ 15 เหรียญสหรัฐฯ (หรือราวชั่วโมงละ 450 บาท) การจัดการกับรูปแบบลวงในการจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างโดยบริษัทจัดให้คนงานที่ทำงานแบบจบเป็นครั้งๆ เป็นผู้ร่วมสัญญาอิสระแทนที่จะเป็นลูกจ้าง และการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการทำงาน (rights-to-work law)

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานกิจการด้านอาหารในเมืองลาสเวกัส เขากล่าวกับผู้ฟังว่า “ถ้าคุณเป็นคนงานที่ทำงานแบบจบเป็นครั้งๆ คุณกำลังทำงานอยู่ และถ้าคุณกำลังทำงานอยู่ มันก็ทำให้คุณเป็นลูกจ้าง และถ้าคุณเป็นลูกจ้าง คุณก็สมควรที่จะได้รับการคุ้มครอง เรากำลังจะทำให้มั่นใจได้ว่า คนงานที่ถูกจ้างงานแบบจบเป็นครั้งๆ มีโอกาสที่จะรวมตัวและจัดตั้งสหภาพแรงงาน” และในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เขาได้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงของคนงานที่ถูกจ้างงานแบบจบเป็นครั้งๆ บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ของ Uber เพื่อสนับสนุนกฎหมายของมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่มุ่งเป้าไปที่การจัดการกับการขูดรีดดังกล่าว

แต่คนงานของ MTurk บริษัทซึ่ง Amazon เป็นเจ้าของ ไม่ได้ถูกจัดประเภทจากบริษัทว่าเป็นลูกจ้าง และคนงานก็ไม่ได้รับความคุ้มครองต่างๆ ในด้านแรงงานรวมถึงการคุ้มครองค่าจ้าง รวมทั้งไม่มีเสรีภาพเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ในปี 2557 คนงานที่นั่นพยายามตั้งสหภาพแรงงาน แต่ Amazon ผู้ซึ่งหักค่าธรรมเนียมร้อยละ 20 ต่อ ‘ค่าตอบแทนหรือรางวัลที่คนงานได้รับ’ ในแต่ละงาน ได้ทำลายความพยายามนั้น

ในขณะที่การขูดรีดเกิดขึ้นในเศรษฐกิจที่จ้างงานแบบจบเป็นครั้งๆ MTurk ถูกระบุว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่กระทำการได้แย่มากในเรื่องนี้ ซึ่งพบได้จากรายงานของนักหนังสือพิมพ์และจากนักวิจัย

คนงาน MTurk สามารถทำงาน“ที่นับจำนวนงานในใจได้เป็นจำนวนมาก โดยใช้เวลาหลายชั่วโมงจนจบงาน แต่บางครั้ง ได้เงินน้อยนิดต่อชิ้นงาน”

Alana Semuels เขียนไว้ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาในหนังสือพิมพ์ The Atlantic ชื่อเรื่อง ‘อินเตอร์เน็ตกำลังทำให้เกิดนรกของการจ่ายค่าจ้างต่ำประเภทใหม่’ (The Internet Is Enabling a New Kind of Poorly Paid Hell)

บริษัทเช่น MTurk นั้น Semuels เขียนว่าอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะเลือกมุ่งเป้าหมายไปที่ปัจเจกชนที่เปราะบางเพราะพวกเขาทำงานได้เร็ว ทำงานที่ง่าย สามารถทำงานจากที่ห่างไกลได้ และไม่มีเจ้าของงานอยู่ที่ไซต์งานที่ต้องคอยจัดเตรียมทรัพยากรต่างๆให้แก่คนงาน “เจ้าของงานเลือกใช้ Mechanical Turk เพราะพวกเขาสามารถให้คนอื่นมาทำงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากด้วยราคาที่ถูกและได้งานที่เสร็จรวดเร็ว” Semuels เขียน

“มันดูราวกับว่า เป็นงานครั้งเดียวจบและทำเพื่อเงินนำมาเป็นรายได้เสริมสำหรับคนที่มีเวลาว่างส่วนเกินเหลือเฟือ แต่คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆได้หันเข้ามาสู่การทำงานแพลตฟอร์ม เช่น Mechanical Turk และหวังทำงานเพื่อรายได้ก้อนใหญ่ แต่กลับจ่ายค่าจ้างแย่มาก มันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของสถานะของเศรษฐกิจในบางภูมิภาคของประเทศที่คนบางส่วนเห็นว่า งานประเภทนี้เป็นทางเลือกเพียงอย่างเดียวเท่านั้นของพวกเขา” และเจ้าของงานยังสามารถปฏิเสธการรับมอบงานหากไม่เข้าตามมาตรฐานที่เป็นการตัดสินใจของเจ้าของงานแบบอัตวิสัย ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงของคนงานที่จะไม่ได้รับการจ่ายค่าตอบแทนแม้ว่าได้ใช้เวลากับการทำงานไปแล้ว

หลายรีวิวเกี่ยวกับ MTurk ใน Glassdoor ทั้งจากพนักงานปัจจุบันและอดีตพนักงานยืนยันว่าจ่ายค่าตอบแทนต่ำ งานบางงานจ่ายค่าตอบแทนประมาณ 10 เซ็นต์ต่อนาทีหรือ 6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อชั่วโมงถ้าคุณรู้เทคนิค ผู้รีวิวคนหนึ่งเขียน “จ่ายห่วย” อีกคนหนึ่งเขียน “ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ” ภายใต้ “คำแนะนำของผู้บริหาร” พวกเขาเขียน “จ่ายอย่างน้อยที่สุด ค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐฯ”

การใช้ MTurk ในการสำรวจความคิดเห็นอย่างที่บุตดิเจซ ได้ใช้สำหรับการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้ถูกพิสูจน์ว่าเป็นสิ่งที่นำไปสู่การถกเถียงในหมู่นักวิชาการผู้ที่พึ่งพาการสำรวจความคิดเห็นในการทำวิจัย “บางที สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดคือภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางจริยธรรมในการทำวิจัยที่มีการจ้างงานและการขูดรีดจากงานที่มีค่าจ้างต่ำจากผู้คนที่อยู่ในด้านตรงกันข้ามกับค่าจ้างและงานที่มั่นคง” Alexandra Samuel นักเขียนด้านเทคโนโลยีและนักวิจัย เขียนบทความใน JSTOR Daily ในชื่อเรื่องว่า “การบริการออนไลน์ เช่น ‘Mechanical Turk’ ของ Amazon ได้เป็นผู้นำของการทำให้เกิดยุคทองของการสำรวจความคิดเห็นเพื่อการทำวิจัย แต่มันสอดคล้องกับจริยธรรมของนักวิจัยหรือไม่ที่จะใช้มัน?” (“Online services like Amazon’s ‘Mechanical Turk’ have ushered in a golden age in survey research. But is it ethical for researchers to use them?”)

Amazon ไม่ได้ให้ความเห็นอะไรต่อเรื่องนี้เมื่อถูกขอให้ตอบคำถาม

การหาเสียงของบุตดิเจซไม่ได้เป็นรายแรกที่เอาเปรียบจากการปฏิบัติต่อแรงงานในยุคปัจจุบันเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เมื่อเดือนที่แล้ว The Intercept ได้รายงานว่าการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของ Mike Bloomberg ได้ขูดรีดแรงงานผู้ต้องโทษในเรือนจำโดยให้เป็นคนโทรศัพท์ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถามจาก The Intercept

ในรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง The Intercept ไม่พบหลักฐานว่า การณรงค์หาเสียงอื่นๆ ใช้บริษัท MTurk แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไรที่จะพบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับบริษัท Uber หรือ Lyft

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว (2562) เจ้าหน้าที่บางคนของวุฒิสมาชิก Bernie Sanders ได้ร้องเรียนว่ามีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่ใช้ Airbnb ในเรื่องที่พัก และใช้ Amazon ในเรื่องเครื่องใช้สำนักงานอีกด้วย

 

แปลและเรียบเรียงจาก
PETE BUTTIGIEG’S CAMPAIGN USED NOTORIOUSLY LOW-PAYING GIG-WORK PLATFORM FOR POLLING (Ryan Grim, Akela Lacy, theintercept.com, 16 Jan 2020)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net