Skip to main content
sharethis

 

10 ม.ค.2563 เครือข่ายผู้เป็นเจ้าของแร่ รายงานว่า วานนี้ (9 ม.ค.63) กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ประมาณ 40 คน เดินทางไปยังหอประชุม อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อร่วมเวทีการรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมบริเวณในและรอบเหมืองแร่ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยมีนายอำเภอวังสะพุง กรมอุตสาหกรรมการพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณะสุข เจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน และกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย เข้าร่วมเวที

เวลา 09.55 น. ประยูร อรัญรุท นายอำเภอวังสะพุง จ.เลย เป็นผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้กล่าวเปิดเวที จากนั้น อนุ กัลลประวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวถึงที่มาของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมาจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่จัดทำขึ้นพร้อมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน และได้นำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมมลพิษ แต่เนื่องจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ กพร. จึงต้องรับหน้าที่ทำการปรับปรุงแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบันและได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยผู้แทนจาก กระทวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้จัดทำแผนภาคประชาชน ทางคณะกรรมการจึงนำแผนของกรมควบคุมมลพิษและแผนของภาคประชาชนมาผนวกเข้าด้วยกัน ซึ่งวันนี้จะนำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดังกล่าวมานำเสนอและรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนเพื่อนำไปประมวลและทำการปรับปรุงอีกครั้ง นำไปเสนอให้คณะกรรมการควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจึงจะส่งมอบแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผน

จารุวัฒน์ พวงสุข นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านไม่ต้องกังวลว่าบริษัทจะกลับมาทำเหมืองในพื้นที่อีกครั้ง เพราะประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ได้สิ้นสุดลงแล้วเนื่องจากบริษัทได้ล้มละลาย ส่วนองค์ประกอบของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจะแบ่งออกเป็น ดังนี้

  • ส่วนนำ ประกอบด้วย ความเป็นมาและความสำคัญของการดำเนินการ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย องค์ประกอบ
  • ส่วนที่ 1 ประกอบด้วย การทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย
  • ส่วนที่ 2 ประกอบด้วย ข้อมูลทางกายภาพ การวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนสารหนูในร่างกาย สรุปสภาพปัญหา
  • ส่วนที่ 3 ประกอบด้วย ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบการเหมืองแร่ทองคำ
  • ส่วนที่ 4 ประกอบด้วย แผนระยะสั้น (ดำเนินการภายใน 1 ปี) กิจกรรมหลัก คือ ตรวจสอบความแข็งแรงและซ่อมแซมรักษาสันเขื่อนบ่อกักเก็บกากแร่ พร้อมทั้งดูแลคูระบายน้ำให้สามารถใช้การได้ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน จัดทำฐานข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง เพื่อเสนอทางเลือกในการฟื้นฟู ประชาสัมพันธ์แผนการลดความเสี่ยงในการรับมลพิษของประชาชนในพื้นที่ จัดหาและปรับปรุงระบบน้ำประปาหมู่บ้าน จัดทำฐานข้อมูล ติดตามเฝ้าระวัง และบำบัดผู้ป่วยหรือผู้มีรอยโรคพิษจากสารหนู ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางสังคมและแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ และการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม  แผนระยะกลาง (ดำเนินการในระยะ 2-4 ปี) กิจกรรมหลัก คือ ดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ภายในเขตประกอบการตามผลการศึกษาวิเคราะห์วิจัย ประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ พร้อมทั้งปรับสภาพพื้นที่ที่มีความลาดชัน เพื่อป้องกันการพังทลายของพื้นที่และดูแลสภาพพื้นที่กองดินทิ้ง โดยแบ่งกลุ่มพื้นที่การฟื้นฟู ดังนี้ (1) พื้นที่ขุมเหมือง (2) พื้นที่บ่อกักเก็บกาก (3) พื้นที่บ่อน้ำธรรมชาติ (4) พื้นที่บ่อรับน้ำจากกิจกรรมการทำเหมือง (5) พื้นที่กักกองเปลือกดิน (6) พื้นที่ประกอบโลหะกรรมและพื้นที่ก่อสร้างอื่น ๆ การเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตรวจสอบการปนเปื้อนของโลหะหนักในพืชและสัตว์ที่เป็นอาหาร ฝึกอบรมให้ประชาชนติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูคุณภาพดินในหมู่บ้าน ฟื้นฟูผิวน้ำผิดดินและตะกอนดินบริเวณห้วยเหล็ก ติดตามเฝ้าระวัง และบำบัดผู้ป่วยหรือผู้ที่มีรอยโรคพิษจากสารหนูและปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน แผนระยะยาว (ดำเนินการหลังจาก 4 ปี) กิจกรรมหลัก คือ การเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูพื้นที่ป่า ติดตามเฝ้าระวัง และบำบัดผู้ป่วยหรือผู้ที่มีรอยโรคพิษจากสารหนูและปรับปรุงฐานข้อมูล
  • ส่วนที่ 5 ประกอบด้วย เงื่อนไขในการนำเสนอแผนปฏิบัติการไปสู่การปฏิบัติการ ขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ การติดตามและประเมินผล
  • และได้กล่าวถึงเรื่องเร่งด่วนที่ กพร. จะดำเนินการตรวจสอบความแข็งแรงและซ่อมแซมรักษาสันเขื่อนบ่อกักเก็บกากแร่ พร้อมทั้งดูแลระบายน้ำให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม และจัดทำฐานข้อมูลพื้นที่และคุณภาพสิ่งแวดล้อม

วิรอน รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ได้แสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมว่า ควรส่ง (ร่าง) แผนปฏิบัติการให้กับชาวบ้านก่อนล่วงหน้า เพื่อที่จะได้อ่านทำความเข้าใจและนำไปปรึกษาหารือกับทนายความและนักวิชาการ ในส่วนของเรื่องเร่งด่วนที่สุดของชาวบ้าน คือ เรื่องน้ำประปา เพราะค่าของเหล็กในน้ำประปาเกินเกณฑ์มาตราฐาน ชาวบ้านต้องซื้อน้ำเพื่อนำมาอุปโภคและบริโภค ส่วนบางคนที่ไม่มีกำลังในการซื้อน้ำก็ต้องยอมอุปโภคและบริโภคน้ำประปาที่มีค่าเหล็กเกินมาตราฐาน และบางครั้งน้ำประปาไม่ไหล

สุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดทั้ง 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ ต้องเข้าไปมีอำนาจในการตัดสินใจและมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนของการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองตามคำสั่งศาล ไม่ใช่เพียงแค่แผนของภาคประชาชนได้เข้าไปอยู่ (ร่าง) แผนปฏิบัติการที่ กพร. จัดทำขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญชาวบ้านสามารถเลือกนักวิชาการของชาวบ้านให้เข้าไปมีส่วนร่วมและตัดสินใจในการทำงานได้ และต้องมีการประกาศเพิกถอนประทานบัตรเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อที่จะได้ฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำอย่างถาวร

พรทิพย์ หงชัย กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ในคณะกรรมการทำงานเรื่องฟื้นฟูจะต้องมีสัดส่วนของชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่าครั้งหนึ่งในคณะกรรมการทำงาน งบประมาณที่ใช้ในการฟื้นฟูจะต้องเป็นงบประมาณผูกพันไม่ต่ำกว่า 10-15 ปี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นคณะกรรมการเจ้าหนี้จะต้องทำเรื่องขายสินทรัพย์ในเหมืองและเรื่องการฟื้นฟูเหมืองแร่ทองคำให้เป็นเรื่องเดียวกัน ขอให้ชะลอการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการออกไปก่อน เพราะยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และหนังสือเพิกถอนประทานบัตรทางกลุ่มขอเสนอให้ กพร. ส่งหนังสือเพิกถอนประทานบัตรมาให้กลุ่มภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net