Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อสัปดาห์กว่าๆที่ผ่านมา ระหว่างที่กำลังปรารภคุยกันถึงข่าวคราวการยิงชาวบ้านที่เขาตะเว บ้านบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เพื่อนสาวก็เอ่ยถึงหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา

“หนังสือเล่มนี้เขียนในปีที่เราเกิด” เพื่อนกล่าว

“ซือโก๊ะ แซกอ” คือชื่อของหนังสือเล่มนั้น

ข้าพเจ้าได้รับ “ซือโก๊ะ แซกอ” จากเพื่อนอีกคนพร้อมคำมั่นว่าต้องเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ หนังสือไม่หนามาก แต่ใช้เวลาอ่านนานสองวัน เพราะอ่านไปพักไปด้วยน้ำหนักที่กดลงบนหัวใจ

โปรยหน้าปกของหนังสือกล่าวว่า “เรื่องสมมติกลางเสียงปืนในสามจังหวัดภาคใต้…” กระนั้นเมื่อเปิดถัดมาถึงหน้าแรงบันดาลใจในการเขียน ผู้เขียนอ้างถึง ประสบการณ์การทำข่าว การคลุกคลีกับแหล่งข่าวสำคัญๆในพื้นที่ ณ ห้วงเวลานั้น รวมไปถึง เปาะสู วาแมดือซา ผู้นำของขบวนการต้านรัฐในอดีต และอ้างถึงหนังสือวิชาการ คือ “ปัญหาความขัดแย้งในสี่จังหวัดภาคใต้” ของ ดร.อารง สุทธาศาสตร์ –ในความสมมุติของเรื่องแต่งนั้น ผู้เขียนกำลังอ้างถึงข้อเท็จจริงที่โอบล้อมและเป็นวัตถุดิบเนื้อหาของ “ซือโก๊ะ แซกอ”

ถัดจากนั้น ก่อนเข้าสู่เนื้อหาของเรื่องแต่ง มีข้อเขียนสั้นๆอีก 3 ชิ้น ที่ผู้เขียนวางไว้ก่อนเข้าสู่เนื้อหานิยาย ได้แก่ 1. สรุปคำย่อให้การแก่ตำรวจจากหนังสือของ ดร.อารง เกี่ยวกับเหตุการณ์สะพานกอตอ ในปี พ.ศ. 2518 อันเป็นเหตุการณ์ที่ทหารนาวิกโยธินสังหารชาวบ้านห้าคนแต่มีเด็กชายหนึ่งคนรอดชีวิตนำไปสู่การประท้วง การสอบสวนข้อเท็จจริงและการชดใช้ค่าเสียหายแก่ญาติผู้เสียชีวิต 2.ข่าวของหนังสือข่าวไทยนิกรเรื่อง “สีเขียว ‘ขี้เมา’ อาละวาดกลางเมือง” ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2521 และ 3.บันทึกส่วนตัวของผู้เขียน ขณะที่เขียนร่างนิยายฉบับนี้และถูกตำรวจบุกตรวจค้น ประสบการณ์จริงที่เขาเห็นตำรวจจับของหนีภาษีของแม่ค้าชายแดนและนำไปขายต่อให้พ่อค้าที่รอซื้ออยู่ ประกอบกับคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า “เมื่อคืนมันเสียหนัก”—องค์ประกอบของงานสามชิ้นนี้ คือ องค์ประกอบของการสร้างสถาปนา “ความเป็นจริง” ให้แก่ ความเป็นเรื่องแต่งของ “ซือโก๊ะ แซกอ”

“ซือโก๊ะ แซกอ” คืออะไร? ซือโก๊ะ แซกอ เป็น ชื่อของหนังสืออนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถฆ่าคนในสามจังหวัดภาคใต้ได้โดยไม่มีความผิด หนังสืออนุญาตนี้เรียกว่า หนังสือตัวละบาท ซือโก๊ะ แซกอ เป็นชื่อหนังสืออนุญาตนี้ในภาษามลายู มีความหมายถึง การตีราคาคนถูกฆ่าแค่บาทเดียวเท่ากับกระดาษและน้ำหมึกเท่านั้น

“ซือโก๊ะ แซกอ” หรือ หนังสืออนุญาตฆ่านี้ไม่มีอยู่จริงในข่าวหรือชิ้นงานวิชาการประวัติศาสตร์ใด เป็นสิ่งสมมุติในเรื่องสมมุตินี้เท่านั้น


เนื้อหาของ “ซือโก๊ะ แซกอ”

“ซือโก๊ะ แซกอ” เปิดเรื่องด้วย “กราม” เด็กหนุ่มไทยกำพร้า เขาเป็นเด็กหนุ่มคนเดียวในหมู่บ้านที่ไม่ได้ผ่านพิธีขลิบปลายองคชาติมาโซะยาวี หมาที่กรามเลี้ยงกำพร้าแม่เพราะเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยปฏิบัติการพิเศษยิงแม่มันตาย และหมาสองตัวนี้เพื่อนสนิทมุสลิมของกรามเป็นคนเอามาเลี้ยง กรามมีเพื่อนสาวคนพิเศษเป็นสาวมุสลิมที่ได้เรียนหนังสือในตัวเมือง ต่อมาเพื่อนสนิทมุสลิมของกรามซึ่ง “เขาคือคนที่รักพวกพ้องมุสลิม เสียสละ มีอัธยาศัยดียิ่ง เป็นที่รักของชาวบ้าน” เริ่มหายตัวจากหมู่บ้านหลังข่าวการสู้รบ ข่าวการที่ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ทารุณและฆ่าทิ้งอย่างไร้เหตุผล เพื่อนสนิทของกรามได้กลายเป็นนักรบจับอาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐไปเสียแล้ว

เพื่อนสาวคนพิเศษของกรามบอกว่า พ่อของเขามักจะพูดถึงวันเกิดของเขาเสมอว่า วันเกิดของเขาตรงกับวันรัฐธรรมนูญ “วันที่มีความหมายสำหรับคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนไทย วันที่บอกถึงความมีสิทธิบนผืนแผ่นดินนี้และเสรีภาพด้วย”

ในนิยายเล่มนี้ สุชีพ ณ สงขลา ผู้แต่ง เป็นคนไทยพุทธเหมือนกราม และเขาเรียกคนมุสลิมในสามจังหวัดตลอดทั้งเรื่องว่า “ไทยมุสลิม”

ต่อมาเพื่อนมุสลิมนักรบของเขาบาดเจ็บและกรามได้ให้ความช่วยเหลือ แอบให้ที่พักพิง เจ้าหน้าที่ทหาร นปพ.ตามมาในหมู่บ้าน ยิงหมาตายไปหนึ่งตัว ค้นบ้านกรามและของในบ้านของเขาหาย ความวุ่นวาย หวาดระแวงและถูกทำให้เป็นอื่นเกิดขึ้นกับกราม เขาอยู่ยากขึ้น ถูกระแวงจากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่มองว่ากรามจะเข้าข้าง “แขก” และถูกระแวงจากชาวบ้านว่ากรามจะเป็นสายให้เจ้าหน้าที่ ความรู้สึกโดดเดี่ยวและเป็นอื่นในหมู่บ้านทำให้กรามตัดสินใจเดินทางไปบ้านปู่ในอีกชุมชนหัวเมืองแล้วได้พบว่าปู่เป็นคุณหลวงเจ้าของสัมปทานไข่เต่าที่มีมูลค่ามหาศาล

จากนั้นชีวิตกรามก็คล้ายตัวละครเอกในละครบ้านทรายทอง เขาถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากญาติที่จ้องฮุบสมบัติปู่และระแวงกลัวว่ากรามจะได้รับมรดกสัมปทานไข่เต่าไป หลานเขยของปู่คนหนึ่งเป็นทหารระดับสูงจึงได้วางแผนลักพาตัวปู่ ให้คนรุมโทรมข่มขืนคนใช้ที่ภักดีกับปู่ถึงสองครั้งจนเสียชีวิต จัดการเผาบ้านของกรามและป้ายความผิดทั้งหมดให้แก่พวก “โจรแขก”

ฉากจบของเรื่อง คือ ฉากภาพกรามคนที่โต๊ะครูบอกว่า “ใครก็ตามถ้ารักพระผู้เป็นเจ้า เขาผู้นั้นต้องรักเพื่อนมนุษย์ก่อน กรามเธอเป็นพุทธ และเธอเป็นคนดี” นอนจมกองเลือดตาย พร้อมกับสุ้มเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้านว่า “ไม่มีใครรู้หรอกว่าพวกไหน มันปนเปกันจนแยกไม่ออก”


พิเคราะห์ “ซือโก๊ะ แซกอ”

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์เขียนถึง “ซือโก๊ะ แซกอ” ว่าเป็นนิยายที่ทำหน้าที่บอกเล่าความจริงจากผู้เขียนสู่ผู้อ่าน เป็นพื้นที่ของการบรรจุความจริงในแง่ประวัติศาสตร์และการเมือง โดยได้บอกเล่าถึง : อำนาจมืดในพื้นที่, โจรพ่อค้า ,ข้าราชการเป็นพิษ และ การเหยียดระแวงแขกที่ไม่ใช่ไทย

สิ่งที่ข้าพเจ้าคิดต่อคือ ความจริงนี้มีชุมชนสังกัด ไม่ใช่ว่าผู้อ่านทุกคนจะรับความจริงที่ “ซือโก๊ะ แซกอ” นำเสนอได้

“ซือโก๊ะ แซกอ” ให้ภาพงดงามของชุมชนมุสลิมที่รักสงบ ชาวบ้านที่พูดจานุ่มนวล มีเมตตา ไม่เย่อหยิ่งจองหอง ชีวิตผูกพันอยู่กับคำสอนทางศาสนาอิสลาม ตัดภาพมาที่ญาติของกรามที่กริยามารยาทหยาบกระด้าง เหยียด กดข่ม เจ้าเล่ห์และใช้ความรุนแรง

“ซือโก๊ะ แซกอ” เลือกข้าง เหมือนกับกรามที่เลือกจะเคียงข้างชาวบ้านไทยมุสลิมที่หมู่บ้านและหันหลังให้กับเครือญาติสายพ่อของเขา

ความจริงที่ “ซือโก๊ะ แซกอ” นำเสนอเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ อาจจะยากรับได้สำหรับคนทั่วไปเพราะเป็นความจริงที่ไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลัก หรือ สื่อมวลชนใด หรือแม้แต่ในงานวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ที่ใช้เครื่องมือวิจัยเชิงคุณภาพ

ความจริงของปัญหาภาคใต้ที่ “ซือโก๊ะ แซกอ” เสนอด้วยสายตาและความรู้สึกของคนพื้นที่มีต่อไปนี้ : ผู้บริสุทธิ์ถูกจับ, การให้สินบนเจ้าหน้าที่, คนดีถูกย้าย, โจรก่อการร้ายเข้าป่ารอแก้แค้นให้กับผู้บริสุทธิ์ที่ถูกรังแก, การปราบปรามผู้ก่อการร้ายเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ปฏิบัติกันมาและล้มเหลวทุกยุคทุกสมัย เจ้าหน้าที่ไม่เคยเข้าถึงแหล่งผู้ก่อการร้ายจริงๆเพราะตำรวจไม่รู้จัก ผู้ก่อการร้ายบางกลุ่มได้รับความรร่วมมือจากประชาชนอย่างดี ตำรวจจึงต้องหันไปพึ่งผู้มีอิทธิพลไทยมุสลิม ทำให้ผู้มีอิทธิพลมุสลิมหลายคนใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ต้องเกรงกลัวกฏหมาย แม้แต่การหลอกหรือชี้ให้ตำรวจปราบผู้บริสุทธิ์และความเกลียดชังคนไทยมุสลิมถึงขั้นที่ว่า “ยิงไอ้แขกให้ตายยิ่งมากยิ่งดี”

นอกจากนี้ “ซือโก๊ะ แซกอ” อาจจะขัดความรู้สึกของคนที่มีอคติกับมุสลิมและศาสนาอิสลาม การวางถ้อยคำของพระเจ้าหรือเนื้อหาในคัมภีร์อัลกุรอ่านแทรกไว้กับหลายๆเหตุการณ์ ในห้วงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครหลัก โดยเฉพาะกราม คือ การนำเสนอความจริงของคนที่โลกทัศน์มีพระเจ้าและถ้อยคำของพระเจ้าคือความจริงและคำชี้นำ กรามแม้จะไม่ใช่มุสลิม แต่เขาอยู่ในโลกทัศน์นั้น และนำเสนอโลกดังกล่าว แต่คนอ่านหลายคนไม่ใช่และไม่ได้อยู่ในโลกใบเดียวกันกับกราม

ท้ายสุด “ซือโก๊ะ แซกอ” ทำหน้าที่ร้องทุกข์ เป็นเรื่องแต่งที่บอกเล่าความจริงอิงประวัติศาสตร์ มีบทบาทสถานะคล้ายๆกับฮิกายัตปัตตานี คำว่า “ซือโก๊ะ แซกอ” แท้จริงแล้ว ไม่ได้แปลว่า กระสุนนัดละบาทตามหน้าปก แต่แปลว่า “ตัวละบาท” คำว่า “กอ” เป็นคำที่ใช้กับสัตว์เท่านั้น “ซือโก๊ะ แซกอ” คือคำร้องทุกข์ของมุสลิมภาคใต้ที่รู้สึกว่าชีวิตตนเองไม่มีค่าและถูกไล่ล่าไม่ต่างอะไรไปจากสัตว์

เหตุการณ์ และ โพสต์ของทหารพรานผู้ใช้มือถือเน็ตแรงบนเขาตะเว บ้านบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ปลุกความรู้สึกของ “ซือโก๊ะ แซกอ” ขึ้นอีกครั้ง

ด้วยถ้อยคำและท่าทีของโพสต์ดังกล่าว ทำให้ “ซือโก๊ะ แซกอ” ถูกคิดถึง พูดถึง และนำมาอ่านถึงกัน เหมือนเมื่อครั้งหลังเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง นักกิจกรรม มอ.ปัตตานี ผู้หนึ่งพบหนังสือ “ซือโก๊ะ แซกอ” ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยหนึ่งในภาคเหนือ และหนังสือเล่มนี้ถูกนำมาอ่าน พูดคุยส่งผ่านกันรุ่นต่อรุ่นระหว่างนักกิจกรรม มอ ปัตตานี อย่างน้อยในช่วงห้าปีติดกันระหว่างปี พ.ศ. 2547-2552

“ซือโก๊ะ แซกอ” เป็นหนังสือที่ อังคณา นีละไพจิตร บอกว่า เป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่ ทนายสมชาย นีละไพจิตร อ่าน หนังสือเล่มนี้วางอยู่บนหัวนอนของทนายสมชายก่อนที่เขาถูกทำให้หายตัวไป

สถานะของ “ซือโก๊ะ แซกอ” จึงไม่ใช่แค่หนังสือ แต่คือทัศนะ ทัศนคติ ท่าทีต่อเหตุการณ์บ้านเมือง เป็นท่าทีทัศนะที่คนจำนวนมากในสามจังหวัดเชื่อว่าคือความจริง “ซือโก๊ะ แซกอ” คือ ความรู้สึกของคนพื้นที่ซึ่งคิดและรู้สึกว่าชีวิตของตนเองถูกทำให้มีค่าเพียงราคาตัวละบาท แม้เวลาของหนังสือเล่มนี้จะผ่านไปแล้วถึงสี่สิบปีแล้วก็ตาม

“ซือโก๊ะ แซกอ…หนังสือเล่มนี้เขียนในปีที่เราเกิด” เสียงเพื่อนสาวแว่วมาในความคิดคำนึงหลังการอ่านและเขียนถึง

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Fanpage Patani NOTES

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net