Skip to main content
sharethis

หลังการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ประเทศไทยเกิดกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนมาก คนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่ลี้ภัยไปประเทศเพื่อนบ้านยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยการเผยแพร่ความคิดของพวกเขาผ่านทางยูทูบ หรือที่เรียกกันว่า ‘วิทยุใต้ดิน’

ปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ถือเป็นช่วงวิกฤตหนักสำหรับพวกเขาโดยเฉพาะกลุ่มที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว คาดว่าเรื่องนี้มีส่วนสัมพันธ์กับการโต้กลับของรัฐไทยต่อการปรากฏตัวและปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “สหพันธรัฐไท” ในประเทศไทยซึ่งลุกมาทำกิจกรรมช่วงต้นเดือนธันวาคม 2561 กลุ่มนี้มีความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐ ท่ามกลางกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้เห็นไปในทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เดินทางไปเยือนประเทศลาว และนั่นเป็นช่วงที่กลุ่มผู้ลี้ภัยในลาวหลายคนต้องหลบจากที่อยู่เดิมเพื่อความปลอดภัย ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลว่าทางการไทยได้ขอตัวคนเหล่านี้กับทางการลาวหลายครั้งแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ

หลังจากนั้นปรากฏข่าวการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่ง แม้พวกเขาจะไม่ได้มีความเห็นไปทางเดียวกับ “สหพันธรัฐไท” นั่นคือ กลุ่มของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือ ”สหายภูชนะ” และ ไกรเดช ลือเลิศ หรือ “สหายกาสะลอง”

ขณะที่กลุ่มอื่นๆ หลบจากที่อยู่เดิมในช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มนี้เลือกที่จะอยู่ในบ้านโดยไม่ออกไปไหน จนต่อมามีข่าวลือว่าทั้ง 3 คนหายตัวไป เกือบครึ่งเดือนให้หลัง หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดนครพนมและสื่อมวลชนกระแสหลักในไทยเผยแพร่ข่าวอาชญากรรม พบศพในแม่น้ำโขงที่มีลักษณะถูกผ่าท้องควักอวัยวะภายในออกมาแล้วนำแท่งปูนยัดเข้าไปในร่างกายเพื่อถ่วงน้ำ สภาพศพถูกมัดแขนและขา รัดคอ ถูกทุบจนใบหน้าเละ ต่อมา ผลการพิสูจน์ DNA ยืนยันชัดเจนว่าศพทั้งสองนั้นคือ สหายภูชนะและสหายกาสะลอง ขณะที่สุรชัยยังไม่มีใครพบว่ายังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ดี มีความพยายามร้องเรียนด้วยว่ามีอีกศพหนึ่งที่ถูกพบแล้วหายไปด้วยในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ทางตำรวจปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว

อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มของ สยาม ธีรวุฒิ หรือ สหายข้าวเหนียวมะม่วง ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ลุงสนามหลวง และกฤษณะ ทัพไทย หรือ สหายยังบลัด กลุ่มนี้เป็นแกนนำเสนอแนวคิด “สหพันธรัฐไท” พวกเขาหลบจากที่อยู่เดิมในช่วงดังกล่าวแล้วเดินทางออกจากประเทศลาว โดยมีรายงานข่าวว่าได้ใช้พาสปอร์ตปลอมเดินทางเข้าไปยังประเทศเวียดนาม

ต่อมาวันที่ 9 พ.ค.2562 มีข่าวว่าทั้ง 3 ถูกจับกุมและส่งตัวกลับไทย แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าว่าชะตากรรมของทั้งสามเป็นอย่างไร ทางการเวียดนามเองก็แจ้งมายังครอบครัวของสยามว่าไม่มีข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับการเดินทางเข้าประเทศของพวกเขาหรือกระทั่งข้อมูลการส่งตัวกลับไทย

อีกกลุ่มที่เผชิญภาวะวิกฤตในลาวคือ ‘วงไฟเย็น’ ช่วงต้นเดือนสิงหาคมมีข่าวปรากฏว่าสมาชิกบางส่วนของวงนี้ได้เดินทางไปขอลี้ภัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสแล้ว และยังได้ร่วมกับผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนอื่น เช่น จรรยา ยิ้มประเสริฐ จรัล ดิษฐาอภิชัย และอั้ม เนโกะ จัดกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ลี้ภัยที่ถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า และสูญหายไปจากประเทศลาวหลายต่อหลายคนตั้งแต่ปี 2559 โดยทำกิจกรรมกันที่บริเวณหน้าสถานทูตไทย ประจำกรุง ปารีส

ขณะที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันได้ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ฝรั่งเศส ภายหลังการรัฐประหาร 2557 เขายังใช้เฟสบุ๊คโพสต์ความคิดเห็นและวิพากษ์สถานการณ์ทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์ ภาพยนตร์ ฯลฯ แบบที่หาไม่ได้ในประเทศไทย แม้จะยุติการโพสต์ไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2561 เนื่องจากอาการเจ็บป่วย แต่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเขากลับมาไลฟ์สดอีกครั้งสร้างความฮือฮาในโลกโซเชียล ก่อนหน้านั้นมีผู้พบว่าสมศักดิ์เข้ารับชอบถ่ายทอดสดกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ เป็นระยะด้วย

นี่คือสถานการณ์คร่าวๆ ของกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งมีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐไทย เราเห็นว่าพวกเขาเป็นกลุ่มบุคคลแห่งปี 2562 เพราะแม้เวลาจะผ่านไปมากกว่า 5 ปีแล้ว แต่ความเคลื่อนไหวของพวกเขาบางคนก็ยังคงอยู่ เช่นเดียวกันการปราปรามก็ยังคงดำเนินต่อเนื่อง ผลกระทบที่เกิดขึ้นดูเหมือนไม่ได้ถูกพูดถึงและตรวจสอบมากนักจากสังคมไทย จากนี้ไปจะพาย้อนไปดูข้อมูลก่อนหน้านั้น

 

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยหลังรัฐประหาร 2557

หลังปี 2557 พบผู้ลี้ภัยอย่างน้อย 86 ราย สูญหายอย่างน้อย 8 ราย

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2561 พบว่า มีผู้ลี้ภัยการเมืองอย่างน้อย 86 คนที่ออกนอกประเทศด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร อาจมีตั้งแต่คนที่มีรายชื่อถูกเรียกรายงานตัว มีหมายเรียกเกี่ยวกับคดี 112 หรือคนที่มีคดีความตั้งแต่สมัยการชุมนุมของ นปช. เพราะเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวเนื่องกันมา รวมถึงคนที่ไม่ได้ไปรายงานตัวแต่ถูกควบคุมตัว 7 วันภายใต้กฎอัยการศึก คนเหล่านี้หลังออกค่ายทหารมักรู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัยอีกต่อไปและเลือกเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนใหญ่กระจายกันอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน บางคนที่มีสถานะทางสังคมสูงหรือมีความพร้อมมากกว่าก็อาจไปไกลถึงยุโรปและสหรัฐอเมริกา

หลังปี 2557 ยังพบด้วยว่า มีผู้ลี้ภัยสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุอย่างน้อย 8 รายแม้จะอยู่ในประเทศอื่น คือ 1.กรณีของ อิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ 2.วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ 3.สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน นักปฏิวัติและนักจัดรายการวิทยุใต้ดิน 4.ชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ  5.ไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง 6.ชูชีพ ชีวสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง) 7.สยาม ธีรวุฒิ และ 8.กฤษณะ ทัพไทย

เดือนกรกฎาคม 2559 อิทธิพล สุขแป้น หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดีเจเบียร์ หรือ ดีเจซุนโฮ นักเคลื่อนไหว นักจัดรายการวิทยุที่ลี้ภัยอยู่ประเทศลาวหายตัวไป โดยทีมโฆษก คสช. กล่าวว่า จากการตรวจสอบข่าวสารความเคลื่อนไหวกรณีของอิทธิพล สุขแป้นนั้น ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายตำรวจรับทราบเบื้องต้นว่า ฝ่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 36 (มทบ.36) จ.เพชรบูรณ์ ไม่ได้ควบคุมตัวเขาไว้แต่อย่างใด

เดือนกรกฎาคม 2560 วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘โกตี๋’ หรือ ‘สหายหมาน้อย’ นักเคลื่อนไหว นักจัดรายการวิทยุ ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีอาญามาตรา 112 ที่ลี้ภัยอยู่ในลาวหายตัวไป โดยจอม เพชรประดับ สื่อมวลชนอิสระ ระบุว่า ได้รับคำยืนยันจากคนที่ใกล้ชิดกับโกตี๋ว่า เขาถูกกลุ่มชายชุดดำประมาณ 10 คน คลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรม พร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าจับตัวไปเมื่อเวลา 9.45 น.วันที่ 29 ก.ค.2560 จากนั้น  ‘โกตี๋’ ก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลยและไม่ได้รับการยืนยันจากใครว่าเขามีชะตากรรมอย่างไร แต่ชื่อของเขายังปรากฏอยู่ในหน้าสื่อไทยอีกสักระยะ ผ่านการให้ข่าวของฝ่ายความมั่นคงว่าตัวเขาหรือเครือข่ายของตัวเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองหรืออาวุธต่างๆ

เดือนธันวาคม 2561 สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นักปฏิวัติและนักจัดรายการวิทยุใต้ดินหายตัวไปพร้อมกับผู้ลี้ภัยอีก 2 คน คือชัชชาญ บุปผาวัลย์ หรือสหายภูชนะ และไกรเดช ลือเลิศ หรือสหายกาสะลอง

ต่อมาชัชชาญ บุปผาวัลย์ และไกรเดช ลือเลิศ ถูกพบศพในแม่น้ำโขงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่สุรชัยยังคงสูญหาย โดยปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือป้าน้อย ภรรยาของสุรชัย กล่าวว่า เชื่อว่าสุรชัยเสียชีวิตแล้วและคาดว่าศพถูกทำลาย

สำหรับ สุรชัย เขาเป็นนักปฏิวัติที่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองยาวนานตั้งแต่เข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2519 ก่อนจะออกจากป่ามาเป็น “ทูตสันติภาพ” ทำหน้าที่เจรจาระหว่างทางการไทยกับพคท. และถูกจับกุมตัว สุรชัยถูกคุมขังถึง 16 ปีก่อนจะถูกปล่อยตัวในพ.ศ. 2539 และต้องมาติดคุกอีกครั้งระหว่าง 22 ก.พ.2554 – 4 ต.ค.2556 ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการปราศัย

เดือนพฤษภาคม 2562 ชูชีพ นักจัดรายการวิทยุใต้ดินที่เป็นที่รู้จักในชื่อ “ลุงสนามหลวง” หายตัวไปพร้อมกับผู้ลี้ภัยอีก 2 คน คือ สยาม ธีรวุฒิ และกฤษณะ ทัพไทย โดยวันที่ 9 พ.ค.2562 มีข่าวว่าชูชีพ, สยาม และกฤษณะถูกจับกุมตัวในเวียดนามและส่งตัวกลับไทย แต่ทางการเวียดนามปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลดังกล่าว จนถึงปัจจุบันความพยายามของครอบครัวของสยามที่จะตามหาทั้ง 3 คนก็ยังไม่เป็นผล

ชูชีพ เป็นผู้ที่มีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองยาวนาน เป็นที่รู้จักในหมู่ ‘สหายเก่า’ ในหมู่ประชาชนที่ตื่นตัวต่อต้านรัฐประหาร คมช. ปี 2549 และเป็นศัตรู (ทางความคิด) ลำดับต้นๆ ของฝ่ายความมั่นคงไทย ในเดือนสิงหาคม 2551 ศาลอาญาออกหมายจับชูชีพในความผิดตามมาตรา 112 จากการปราศรัย คาดว่าเขาเดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่นั้น ชูชีพประกาศยุติการจัดรายการในเดือนมกราคม 2562 หลังการหายตัวไปของสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ และผู้ลี้ภัยอีกสองคนที่เคยจัดรายการในยูทูบ

ขณะที่ สยาม เป็นนักเคลื่อนไหวและนักจัดรายการวิทยุใต้ติน เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในระหว่างเป็นนักศึกษา เขาทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มประกายไฟ และกลุ่มประกายไฟการละคร  ต่อมาได้ร่วมแสดงในละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ซึ่งทำให้สยามและผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำละครอย่างภรณ์ทิพย์ มั่นคง และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 112 แต่คดียังอยู่ในชั้นตำรวจ จนต่อมาเมื่อมีการรื้อฟื้นคดี 112 หลังการรัฐประหาร 2557 สยามจึงเดินทางออกจากประเทศ

นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่หายตัวไปและไม่สามารถติดต่อได้เลย เช่น เสงี่ยม สำราญรัตน์ หนึ่งในกลุ่มแกนนำ นปช. หรือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ขณะที่ จักรภพ เพ็ญแข ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวการหายตัว แต่ภายหลังปรากฏการโพสต์เฟสบุ๊ค รำลึก 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519 เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา

ศพหาไม่พบ ความเป็นธรรมหาไม่เจอ

หลังจากที่สุรชัยหายตัวไป ป้าน้อย วัย 62 ปี ภรรยาสุรชัยได้เดินทางไปแจ้งความกับต่อ พ.ต.ท.สุขสวัสดิ์ บัวอิ่น รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.ท่าอุเทน เนื่องจากเชื่อว่าศพของสุรชัยได้ลอยมาติดที่บ้านท่าจำปา ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เมื่อวัน 26 ธ.ค. 2561 และหลังจากนั้นได้มีข่าวว่าศพได้ลอยหายไป เพื่อให้ทางจากหน้าที่ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2562 แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ต่อมาในวันที่ 5 มี.ค. 2562 ป้าน้อยได้เดินทางเข้าพบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ตรวจสอบการบังคับบุคคลสูญหายและเรียกร้องให้ตำรวจทำการสืบสวนสอบสวนกรณีการอุ้มฆ่าสุรชัยและผู้ติดตาม ต่อมา 20 ก.ย.2562 ป้าน้อยได้เดินทางไปยังสำนักงานกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมยื่นหนังสือร้องเรียนให้ติดตามกรณีชะตากรรมของสุรชัยต่ออธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทําทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ

นอกจากนี้ป้าน้อยยังต้องเผชิญปัญหาที่สืบเนื่องต่อมาคือ ระหว่างการลี้ภัยสุรชัยก็ยังมีคดีค้างคา เป็นจำเลยอยู่ที่ศาลพัทยาใต้ในคดีล้มประชุมอาเซียนเมื่อปี 2552 และเมื่อเวลานี้ยังไม่อะไรปรากฏในเชิงประจักษ์ว่าสรุชัยได้เสียชีวิตแล้ว และไม่เดินทางมาขึ้นศาลตามนัดได้ศาลจึงได้สั่งปรับนายประกันเต็มตามสัญญาประกันการขอปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) เป็นเงินถึง 500,0000 บาท โดยศาลได้ยึดเงินสดจํานวน 50,000 บาทไปแล้ว แต่จำเลยยังคงค้างชําระ 450,000 บาท ป้าน้อยนายประกันซึ่งเป็นหลานของนายสุรชัยได้ทําเรื่องขอผ่อนผันการชำระค่าปรับต่อศาลเป็นการผ่อนชําระเดือนละ 3,000 บาท ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2561 จนกว่าจะชําระเสร็จสิ้น ล่าสุด(27 ธ.ค.62) ศาลยังมีคำสั่งยกคำร้องขอลดค่าปรับตามสัญญาประกัน เนื่องจากศาลเห็นว่าไม่มีหลักฐานการเสียชีวิตหรือใบมรณบัตรของสุรชัยมาแสดง

ป้าน้อยเล่าว่า การผ่อนชำระค่าปรับให้ศาลนี้สร้างภาระให้แก่ตัวเธอและนายประกันอย่างมาก ทำให้ต้องหารายได้การขายหนังสือที่สุรชัยเขียน, หมวกและเสื้อรณรงค์ เพื่อหาเงินมาผ่อน ช่าระค่าปรับที่ยังคงค้าง ซึ่งจะเป็นภาระให้กับเธอไปอีก 10 ปี

ส่วนกรณีของกลุ่มผู้ลี้ภัยซึ่งมีข่าวว่าถูกส่งตัวกลับจากประเทศเวียดนามมายังประเทศไทยนั้น เบื้องต้น กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยามได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงผู้บังคับการกองปราบปรามขอทราบผลการจับกุมตัวสยาม โดยมีภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมายื่นหนังสือด้วยเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2562 เจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวพร้อมทั้งยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการนำตัวสยามหรือคนอื่นๆ ที่ตกเป็นข่าวมาควบคุมตัวที่กองปราบแต่อย่างใด นอกจากนี้เธอได้ยื่นหนังสือต่อสถานทูตเวียดนามและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว จนกระทั่งผ่านไปหนึ่งเดือนจากนั้นก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

“คิดถึงเขา ไม่ได้เจอมา 5 ปีแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ยังคุยไลน์เห็นหน้ากันอยู่ แต่ไม่ได้คุยไลน์กันมา 5 เดือนแล้ว ไม่รู้จะทำยังไงต่อเหมือนกัน แต่ยังไม่ถอดใจ เขาเป็นลูกแม่จะถอดใจได้ยังไง ยังไงแม่ก็ยังอยากเจอเขา อยากรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน ถ้าเขาตายก็ขอเศษส่วนที่ยังบำเพ็ญกุศลได้” กัญญากล่าว (ให้สัมภาษณ์กับประชาไท เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2562)

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ก.ค.2562 น้องสาวของสยามให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ชี้แจงผ่าน ผอ.กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศว่า ได้สอบถามเป็นการภายในไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามเกี่ยวกับข้อมูลการเข้าไปในประเทศเวียดนามของสยามและเพื่อน และได้รับแจ้งว่าทางการเวียดนามไม่มีข้อมูลกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

นอกจากนี้น้องสาวของสยาม ให้ข้อมูลด้วยว่า มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรมมาพบเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมาเพื่อสอบถามเพิ่มเติมว่ามีหลักฐานอะไรนอกเหนือจากคำพูด เพื่อจะยืนยันว่าสยามอยู่เวียดนามจริง โดยเธอบอกกับเจ้าหน้าที่ว่าได้คุยกับสยามในไลน์และสยามได้แจ้งว่าอยู่เวียดนาม แต่ตนได้ลบไลน์ไปแล้วก่อนหน้าจะเกิดเรื่อง ทางเจ้าหน้าที่จึงเสนอว่าจะสอบถามไปยังหัวหน้าเพื่อดูว่าสามารถกู้ข้อมูลได้ไหม ล่าสุดวันที่ 13 ธ.ค. 2562 เธอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยังไม่มีการติดต่อกลับมาจากเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรม และส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ไฟเย็นหนีตายไปฝรั่งเศส ‘ปวิน’ โดนบุกถึงห้อง ‘สมเจียม’ กลับมาอีกครั้ง

ท่ามกลางกระแสความกังวลต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยที่ลี้ภัยอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน หลังเหตุการณ์การสังหาร 2 ผู้ใกล้ชิดสุรชัย แซ่ด่าน รวมทั้งการหายตัวไปของสุรชัย ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ สยาม ธีรวุฒิ กับกฤษณะ ทัพไทย

12 กรกฎาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกวงไฟเย็นได้รับข้อความข่มขู่เอาชีวิต โดยผู้ส่งข้อความดังกล่าวระบุว่าต้องการเตือนให้เข้ามอบตัว หากไม่ทำตามจะทำการจับตายทันที เพราะตอนนี้รู้ที่อยู่และสามารถเข้าถึงตัวกลุ่มไฟเย็นได้แล้วเพราะได้ส่งหน่วยข่าวติดตามกลุ่มไฟเย็นทุกวัน หากคิดหนีจะส่งทหารรบพิเศษฆ่าทิ้งทันทีเพราะถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ โดยผู้ส่งข้อความอ้างตัวว่าเป็นทหารรบพิเศษ อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ส่งข้อความดังกล่าวเป็นใคร

ในรอบปีนี้สมาชิกไฟเย็นถูกส่งข้อความข่มขู่มาแล้วอย่างน้อย 10 ครั้ง ไม่นับรวมข้อความที่ส่งมาสาปแช่ง ก่นด่า ส่วนมากผู้ข่มขู่มักอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งก่อนหน้าที่จะได้รับคำขู่ ครอบครัวของหนึ่งในสมาชิกวงไฟเย็นได้รับการติดต่อจากนักการเมืองคนหนึ่งโดยมีการขอให้ช่วยนำตัวสมาชิกวงไฟเย็นเข้ามอบตัวกับทางการไทย

บีบีซีไทยระบุว่า ได้เห็นเอกสารที่ไฟเย็นอ้างว่าเป็นเอกสารการขอตัวผู้ลี้ภัยที่ทางการไทยส่งมายังทางการของประเทศเพื่อนบ้าน ที่หัวกระดาษระบุว่า “ลับมาก” และปรากฏรายชื่อสมาชิกวงไฟเย็น รวมถึงบุคคลที่หายตัวไปอย่าง สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และสยาม ธีรวุฒิ ด้วย

ส่วนอีกหน้าหนึ่งปรากฏรายชื่อสมาชิกวงพร้อมรูปถ่ายบัตรประชาชน รายละเอียดหมายจับ รวมถึงระบุตำแหน่งบ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมพร้อมพิกัดละติจูดและลองจิจูด

นอกจากนี้บีบีซีไทยยังได้ฟังคลิปเสียงที่รมย์ชลีญ์ สมบูรณ์รัตนกูล นักร้องหญิงของวงคุยกับชายปริศนาพูดไทยคล่องที่โทรมาไม่กี่วันหลังจากมีข่าวนายสุรชัยและพวกหายตัวไป ชายคนดังกล่าวย้ำว่าสุรชัยเสียชีวิตแล้วทั้งๆ ที่ยังไม่มีข่าวการพบศพ นอกจากนี้ เขายังสามารถระบุที่อยู่บ้านพวกเขาได้อย่างถูกต้องอีกด้วย นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องย้ายบ้านไม่ต่ำกว่า 7 ครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้บีบีซีไทยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเอกสารและคลิปเสียงที่ไฟเย็นอ้างเป็นของจริงหรือไม่

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 กระแส #SaveFaiyen #อย่าฆ่าไฟเย็น ปรากฏในโลกโซเชียล โดยกลุ่ม ‘แอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย (ACT4DEM)’ ตั้งแคมเปญรณรงค์ใน change.org ถึง UNHCR สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลลาวและฝรั่งเศส

ผู้ตั้งแคมเปญอ้างว่า วงไฟเย็นซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศลาวตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานระดับสูงว่าจะถูกทหารไทยบุกเข้าไปอุ้มภายในสัปดาห์นี้ ขณะที่ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมาวงไฟเย็นและผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงต่อการถูกอุ้มหายได้ทำเรื่องขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงาน UNHCR ในทุกระดับ ไปยังสหภาพยุโรป รวมถึงรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อให้ช่วยคุ้มครองพวกเขาและพาพวกเขาออกไปจากพื้นที่แห่งความเสี่ยง

2 สิงหาคม 2562 สมาชิกวงไฟเย็นได้รับการช่วยเหลือให้ออกมาจากประเทศลาวเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศฝรั่งเศส โดยได้รับการช่วยเหลือจากโครงการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนานาชาติ (IRAP) ที่ได้จัดการเรื่องเที่ยวบินและหาสปอนเซอร์ตั๋วเครื่องบินให้ รวมทั้งผู้คนมากมายทั้งที่เมืองไทยและจากทั่วทุกมุมโลกที่ระดมเงินช่วยเหลือและส่งกำลังใจมาให้ ทั้งนี้สมาชิกวงไฟเย็นจะต้องเข้าสู่กระบวนการขอสถานภาพผู้ลี้ภัยและเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศสต่อไป

อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ลี้ภัยคือกรณีที่ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการประจำศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่ปัจจุบันลี้ภัยต่างประเทศ ถูกชายใส่ชุดดำสวมหน้ากากบุกเข้ามาในห้องพักในเมืองเกียวโต ปวินเล่าว่าชายดังกล่าวเปิดประตู เดินมายังห้องนอนที่เขานอนอยู่กับเพื่อน ดึงผ้าห่มออกแล้วพ่นสเปรย์เคมีใส่ทั้งสองคน จากนั้นก็วิ่งหนีไป โดยปวินและเพื่อนไล่ตามแต่จับไม่ทัน

ปวินเล่าต่อไปว่า ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นมาถึงจุดเกิดเหตุพร้อมเจ้าหน้าที่ชันสูตร เจ้าหน้าที่เหมือนจะเข้าใจเบื้องหลังของปวินและสันนิษฐานว่าเรื่องนี้อาจเกี่ยวโยงกับการเมืองในไทย จึงให้ชุดตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติรับคดีนี้ไปสืบสวนต่อ ตำรวจยังแนะนำไม่ให้เขากลับไปที่ที่พักและนำเขาไปอยู่ยังเซฟเฮาส์

ขณะเดียวกันช่วงเดือนมิถุนายน 2562 บัญชีเฟสบุ๊ค 'Somsak Jeamteerasakul' ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังเข้าไปแสดงความคิดเห็นในการถ่ายทอดสดงานเสวนาในหัวข้อ "นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา : คณะราษฎร ทหารประชาธิปไตย" ทางเพจ 'Textbooks Foundation - มูลนิธิโครงการตำราฯ '

เฟสบุ๊ค 'Somsak Jeamteerasakul' https://www.facebook.com/somsakjeam ไม่มีความเคลื่อนไหวตั้งแต่ 23 ส.ค.2561 เนื่องจากอาการป่วย ปัจจุบันอยู่ในช่วงการรักษาตัว อย่างไรก็ตามหลายเดือนที่ผ่านมามักมีผู้พบเห็นว่าบัญชีนี้เข้ารับชมการถ่ายทอดสดวงเสวนาต่างๆ

22 พ.ย.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ตามเวลาในไทย สมศักดิ์ ถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊คบัญชี 'Somsak Jeamteerasakul' มีการรับชม 1.1 แสน ครั้ง และแชร์ 2.5 พัน ครั้ง 

สมศักดิ์ ระบุว่าเป็นการทดลองออกอากาศ เนื่องในวันครบรอบ 5 ปีที่ตนเริ่มออกอากาศครั้งแรก จึงถือโอกาสมาทักทายเพื่อนอีกครั้ง โดยยืนยันว่าทุกตัวหนังสือที่เขียนบนเฟสบุ๊กนั้นเป็นสิ่งที่ตนเขียนตน หลังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่สมศักดิ์เป็นคนเขียน

สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ตนยังไม่สามารถเขียนได้เต็มที่ ยังช้าอยู่ ดังนั้นเวลาเขียนจึงต้องใช้เวลาที่มากหน่อย สิ่งที่ตนเขียนไปเป็นสิ่งที่ตนตั้งใจทั้งนั้น ตนถนัดวิธีใช้ในการเขียนมากกว่า จากนี้ตนจะพยายามฝึกเขียนและถ่ายทอดให้มากขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลามากขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ แต่ระบบวิธีคิดวิธีการต่างๆ มันไม่ได้สูญหายไปไหน 

อาเซียนรวมใจส่งกลับผู้ลี้ภัย

แถลงของ UNHCR ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นประมาณ 70.8 ล้านคนทั่วโลกซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดที่ UNHCR เคยทำงานมาตลอด 70 ปีถือว่าเป็นวิกฤตที่ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจในเรื่องนี้

สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในภาพรวมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในสภาพย่ำแย่ หากนับเพียงจำนวนผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจากปฏิบัติการกวาดล้างของกองทัพรัฐบาลพม่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 จนถึงปัจจุบันก็มีจำนวนราว 740,000 คนแล้วที่อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยที่คอกซ์ บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ความพยายามนำผู้ลี้ภัยกลับถิ่นฐานเดิมเป็นไปอย่างเชื่องช้า บางครั้งก็ถดถอย ในขณะเดียวกันสภาพความเป็นอยู่ในค่ายลี้ภัยย่ำแย่ลงทุกวัน ทั้งจากภูมิประเทศที่ถูกมรสุมพัดผ่านบ่อยและมาตรการคุมเข้มจากรัฐบาลบังกลาเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปิดสำนักงานด้านสิทธิของชาวโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัย ตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และมีข่าวว่าจะย้ายผู้ลี้ภัยบางส่วนไปยังเกาะในอ่าวเบงกอล

สวัสดิภาพของผู้ลี้ภัยด้วยสาเหตุทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปีนี้พบว่า รัฐบาลในภูมิภาคต่างผลัดกันเกาหลังให้กันเอง ที่เห็นชัดเจนก็คือส่วนแผ่นดินใหญ่ บริเวณประเทศ CLMV ที่มีการจับตาดูกลุ่มผู้ลี้ภัยทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

เดือนธันวาคม 2561 รวต รุทมนี (Rath Rott Mony) ประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานก่อสร้างกัมพูชาถูกควบคุมตัวในไทย และถูกส่งกลับกัมพูชาในภายหลัง หลังทางการไทยได้รับคำร้องข้ออย่างเป็นทางการจากกัมพูชา ก่อนหน้านี้รวตได้ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยต่อ UNHCR ไว้ก่อนแล้ว https://prachatai.com/journal/2018/12/80036

เดือนพฤศจิกายน 2561 ไทยเป็นตำบลกระสุนตกของนานาชาติในเรื่องการรับมือกับผู้ลี้ภัย เมื่อฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลบาห์เรนผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยที่ออสเตรเลีย ถูกทางการไทยควบคุมตัวขณะมาเที่ยวไทย ด้วยเหตุว่าชื่อของเขาอยู่ในหมายจับของการตำรวจสากล พร้อมกระแสข่าวว่ารัฐบาลบาห์เรนอยากได้ตัวเขากลับประเทศ เขาถูกคุมขังในเรือนจำและขึ้นศาลไต่สวนกรณีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก่อนถูกปล่อยตัวกลับออสเตรเลียในเดือน ก.พ. 62 https://prachatai.com/journal/2019/02/80985

เดือนมกราคม 2562 ราฮาฟ อัล-คูนูน ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยควบคุมตัวขณะรอเปลี่ยนเครื่องบินไปออสเตรเลีย ราฮาฟระบุว่าหลบหนีมาจากการปฏิบัติมิชอบ การทุบตี และการขู่ฆ่าจากครอบครัวของตัวเอง อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ราฮาฟถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกักตัว ยึดหนังสือเดินทาง และไม่สามารถเดินทางต่อไปออสเตรเลียได้ ก่อนรัฐบาลแคนาดาอาสารับตัวเธอไปลี้ภัยภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ https://prachatai.com/journal/2019/01/80512

26 มกราคม 2562 เจือง ซุย เญิ๊ต (Truong Duy Nhat) นักข่าวเวียดนามที่เขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลเวียดนามบ่อยครั้งหายตัวไปขณะพำนักในประเทศไทยเพื่อรอสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR ก่อนจะมีรายงานว่าเขาถูกคุมขังในเวียดนามในเดือน มี.ค. ปีเดียวกัน เขาถูกไต่สวนในคดีฉ้อโกงที่ดิน เป็นที่ทราบในหมู่ผู้ลี้ภัยว่า การหายตัวของเจืองนั้นตามมาด้วยการไล่ล่าผู้ลี้ภัยเวียดนามอื่นๆ ในไทยที่เชื่อว่าเชื่อมโยงกับเขาอีก 2 คน โดยมีคนหนึ่งถูกจับกุมและส่งกลับ ส่วนอีกคนได้รับสถานะผู้ลี้ภัย เดินทางไปยังประเทศที่ 3 แล้ว https://prachatai.com/journal/2019/06/83067

เดือนมีนาคม 2562 ตำรวจมาเลเซียกักตัวชาวอียิปต์ 4 คน ที่มีประวัติเคยวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตอห์ อัลซิซี ของอียิปต์  ก่อนส่งตัวไปยังอียิปต์ ประเทศที่คุมขังนักกิจกรรมไว้ถึง 6 หมื่นคน โดยเส้นทางการส่งกลับกรุงไคโรนั้นก็มีการพักเครื่องที่ไทยด้วย ผู้ถูกส่งกลับไปนั้นถูกควบคุมตัวในมาเลเซียด้วยกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายที่เปิดช่องให้ตำรวจลุแก่อำนาจในการตรวจสอบและควบคุมตัวผู้ลี้ภัย กรณีของ 4 คนนี้ก็มีการเข้าค้นที่พักอาศัยและควบคุมตัวอย่างอุกอาจ https://prachatai.com/journal/2019/03/81420

เดือนพฤษภาคม 2562 ประพันธ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 58 ปี ถูกจับกุมตัวจากมาเลเซียมาที่กองบังคับการปราบปราม ในคดีสวมเสื้อดำที่ห้างเดอะ มอลล์ บางกะปิ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2561 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท ข้อมูลเมื่อเดือน ก.ย. จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  ระบุว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะเกี่ยวพันกับกลุ่มดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 20 คน มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกฯ มาเลเซียกล่าวถึงกรณีประพันธ์ว่า ถ้าไทยมีคำขอมา ก็จะส่งตัวกลับ https://prachatai.com/journal/2019/09/84514

เดือนกันยายน 2562 มีรายงานว่าอ็อด ไชยะวง (Od Sayavong) นักกิจกรรมชาวลาวที่ขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยกับ UNHCR ในไทยและอยู่ระหว่างการรอการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สามหายตัวไป เขาเคยนำการประท้วงใน กทม. เรียกร้องให้รัฐบาลลาวปล่อยตัวสมาชิกกลุ่ม Free Lao 3 คนที่ถูกขังในลาว และให้รัฐบาลลาวเลิกไล่ยึดที่ดินสืบเนื่องกรณีเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตก ปัจจุบัน ชะตากรรมของอ็อดยังไม่เป็นที่รับทราบ https://prachatai.com/journal/2019/11/85294

เมื่อประเมินท่าทีทางการทูตที่มีการช่วยเหลือกันในปีนี้ สถานการณ์สวัสดิภาพของผู้ลี้ภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2563 จึงยังคงน่าเป็นห่วงว่าจะยังเป็นเหยื่อของการไล่ล่าของรัฐบาลประเทศตนเองแม้จะหนีไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ท่าทีทางการทูตของมาเลเซียในเวทีอาเซียนที่แสดงบทบาทนำในประเด็นสิทธิมนุษยชนอาจทำให้มีตัวอย่างที่ดีเกิดขึ้น แต่กฎหมายด้านความมั่นคงและสวัสดิภาพผู้ลี้ภัยที่ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงก็คงไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเท่าใดนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net