Skip to main content
sharethis

‘ถ้าไม่ยกย่องก็อย่าเหยียบย่ำ การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในบริบทการเมืองร่วมสมัย’ คณะสงฆ์และการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังปี 2540 จากยุครุ่งเรืองสู่ยุคถูกรัฐครอบงำ ด้านพระไม่ต้องการให้รัฐแทรกแซงกิจการสงฆ์ แต่ควรอุปถัมภ์ค้ำชู เชื่อว่าความมั่นคงของพระพุทธศาสนาเป็นความมั่นคงของประเทศ

ซ้าย : ประกีรติ สัตสุต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้นำเสนองานศึกษา, ขวา : พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย(ภาพจากเพจ tusocant)

  • มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะสงฆ์อย่างมากผ่านการจัดตั้งองค์กรเกี่ยวกับพุทธศาสนาหลังปี 2540 มีทั้งกรณีที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว
  • หลังรัฐประหาร 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีความพยายามจะปฏิรูปพระพุทธศาสนา จนนำไปสู่ความขัดแย้งกับคณะสงฆ์ที่มองว่าตนกำลังถูกแทรกแซง
  • การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาและกรณีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จช่วงเป็นจุดสำคัญที่ทำให้คณะสงฆ์ออกมาชุมนุมใหญ่ที่พุทธมณฑลเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559
  • การเปลี่ยนรัชสมัยและการแก้กฎหมายคณะสงฆ์ทำให้คณะสงฆ์อยู่ภายใต้รัฐส่วนกลางมากขึ้นและไร้พื้นที่แสดงออกทางการเมือง
  • ในความเห็นของพระสงฆ์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ควรเดินทางสายกลาง
  • คณะสงฆ์เชื่อว่าความมั่นคงของพระพุทธศาสนาเกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะสงฆ์ไทยมีขึ้นมีลงตามบริบททางประวัติศาสตร์ ถึงปัจจุบันนี้ ไม่ว่าประชาชน รัฐ หรือคณะสงฆ์เองจะบอกว่าพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ในความเป็นจริงเราต่างรู้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น

ในงานเสวนา ‘ถ้าไม่ยกย่องก็อย่าเหยียบย่ำ การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในบริบทการเมืองร่วมสมัย’ ซึ่งเป็นการนำเสนองานศึกษาของประกีรติ สัตสุต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เป็นงานศึกษาที่มองความเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในช่วงตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน

มีทั้งช่วงที่แข็งขันและอ่อนแรง โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน คณะสงฆ์ยิ่งมีพื้นที่ทางการเมืองแคบลงและตกอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐไปเรื่อยๆ

พระไม่เคยแยกขาดจากการเมือง

ประกีรติกล่าวว่า พระกับการเมืองไม่ใช่เรื่องที่แยกกัน ในทางกลับกัน พระสงฆ์มีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น กรณีเจ้าฝางที่ตั้งตัวเป็นผู้นำทางการเมืองหลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย หลวงพ่อยาคู ขี้หอมที่สังฆราชในฝั่งลาวที่ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน กรณีกบฏผีบุญในพื้นที่ลาวช่วงรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 เป็นต้น มากไปกว่านั้นพระยังถูกมองว่าสามารถคัดง้างกับราชสำนักได้ อย่างในช่วงรัชกาลที่ 4 ที่คณะสงฆ์ฝ่ายล้านนารวมตัวกันเป็นผลสำเร็จ สังฆราชองค์แรกคือครูบาฝายหิน มีเรื่องร่ำลือว่าครั้งหนึ่งเจ้าล้านนาต้องการตัดหัวผู้กระทำผิดคนหนึ่ง ครูบาฝายหินเดินเข้าไปในราชสำนักและขอชีวิต

“ความคิดที่ว่าพระต้องอยู่เหนือการเมือง เป็นความคิดที่ค่อนข้างใหม่มาก เพราะสมัยก่อนคำว่าการเมืองไม่เหมือนสมัยนี้ที่มองว่าเป็นสิ่งสกปรก พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ทางศีลธรรม จึงควรอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้  ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าคณะสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมานานแล้ว และเป็นสิ่งที่แตกต่างจากสถานการณ์ตอนนี้ที่คณะสงฆ์ไม่ได้มีสถานะเท่าเทียมกับรัฐ แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและถูกควบคุมโดยรัฐ”

เครือข่ายชนชั้นนำของคณะสงฆ์

ประกีรติอธิบายอีกว่า งานศึกษาชิ้นนี้ไม่ได้มองว่าคณะสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ ซึ่งความเชื่อนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือพระถูกจัดวางในพื้นที่ให้มีสถานะพิเศษทางสังคมและวัฒนธรรม ข้อเสียคือพระถูกคาดหวังจากสังคมให้มีพฤติกรรมบางอย่าง จุดนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่บีบคั้น ให้พระจำเป็นต้องออกมาเรียกร้อง

นอกจากนี้ คณะสงฆ์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพระทั้งหมด แม้คณะสงฆ์ในไทยมี 2 นิกายคือธรรมยุติซึ่งเป็นพระสงฆ์กลุ่มน้อยแต่มีอำนาจมาก กับมหานิกายซึ่งเป็นพระสงฆ์กลุ่มใหญ่แต่มีอำนาจน้อยกว่า แต่ในทั้งสองนิกายก็มีความหลากหลาย

“เวลาพูดถึงคณะสงฆ์ในที่นี้ผมหมายถึงคณะสงฆ์ส่วนกลางหรือเครือข่ายชนชั้นนำของคณะสงฆ์ส่วนกลาง ก็คือกลุ่มพระสงฆ์ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมของระบบการศึกษาในระดับการปกครองคณะสงฆ์เช่น พระสังฆาธิการ พระที่มีสมณศักดิ์ พระนิสิตนักศึกษา และพระนักกิจกรรม จุดร่วมของคณะสงฆ์ส่วนกลางคือการศึกษาคณะสงฆ์และการปกครองคณะสงฆ์”

ถ้าไม่ยกย่องก็อย่าเหยียบย่ำ

ส่วนหัวข้อในการเสวนาก็นำมาจากชื่อหนังสือของพระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ซึ่งเป็นพระที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในช่วง 20 ปีหลัง เป็นทั้งผู้วางรากฐานทางความคิดและเปิดทางให้เกิดการพัฒนาการการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ รวมถึงเป็นมันสมองและกำลังสำคัญในการจัดตั้งหน่วยงานสร้างกำลังพลและสร้างพื้นฐานที่ทำให้การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ เป็นได้อย่างปัจจุบัน

หนังสือเล่มดังกล่าวเขียนหนังสือในปี 2544 เป็นช่วงเวลาที่คณะสงฆ์กำลังมีปัญหาใหญ่มากกับการปฏิรูปการศึกษา เมื่อกระทรวงศึกษาธิการต้องการปรับโครงสร้างการศึกษาโดยให้กรมศาสนาซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพุทธศาสนากลายมาเป็นคณะกรรมการศาสนาและวัฒนธรรมซึ่งมีคณะกรรมการ 15 คน โดยให้แต่ละศาสนามีตัวแทนได้ 1 คนในคณะกรรมการ ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดความระส่ำระสายอย่างมากในหมู่คณะสงฆ์ เพราะการทำแบบนี้เป็นการลดตัวแทนของคณะสงฆ์ภายในโครงสร้างอำนาจรัฐอย่างชัดเจน

“เจ้าคุณระแบบจึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาว่าถ้าไม่ยกย่องก็อย่าเหยียบย่ำ ความหมายคือถ้าท่านไม่ยกย่องพุทธศาสนาเหมือนเคยแล้วก็ขอความกรุณาท่านอย่าได้เหยียบย่ำ และย่ำยีพวกเรา อันนี้เป็นกรอบแนวคิดที่สรุปความหมายอุดมการณ์ การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้

“ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์มีความชัดเจน เข้มข้น และทวีคูณมากขึ้น มากกว่าในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์มีความต่อเนื่อง มีความชัดเจนในข้อเรียกร้อง มีกำลังพลที่เรียกว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองและกินเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราดูข่าวการโต้ตอบกันในโซเชียล มีเดียจะพบว่า คนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์เพราะมองว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่มีจำนวนน้อยมากที่จะตั้งคำถามว่าทำไมพระออกมาเคลื่อนไหว อันนี้เป็นคำถามหลักที่ผมใช้ในการทำวิทยานิพนธ์ฉบับนี้”

โลกของสงฆ์

แม้คณะสงฆ์จะมีบทบาททางสังคมอย่างมากในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นพุทธและได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวแทน เป็นผู้ปกป้องพุทธศาสนา แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าชีวิตของพระเป็นอย่างไร โลกของพระเป็นอย่างไร ซึ่งประกีรติเสนอว่าการจะทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ส่วนกลางและข้อเรียกร้องต่างๆ ได้จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าโลกของพระสงฆ์เป็นอย่างไร

ในทางวิชาการโลกของพระสงฆ์กับโลกของฆราวาสมีความแตกต่างกันอยู่มาก แม้จะมีจุดซ้อนทับกันอยู่บ้าง แต่ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง โลกของพระสงฆ์มีเวลาที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปเราจะเข้าเรียนตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย แต่การศึกษาของพระสงฆ์ไม่ได้มีลักษณะเช่นนี้ พระสงฆ์ส่วนมากเข้ามาเพื่อต้องการบวชเรียน แต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถบวชได้ทันที ทุกขั้นตอนในการบวชมีการต่อรองและพึ่งพิงกับพระผู้ใหญ่ทั้งสิ้น เช่นเมื่อเด็กคนหนึ่งต้องการบวชเรียน พ่อแม่ต้องไปติดต่อเจ้าอาวาสดูว่าที่วัดจะรับไหม เจ้าอาวาสต้องดูหน่วยก้านของเด็ก วัดมีที่อยู่พอไหม เมื่อผ่านหมดแล้วเด็กก็จะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์หรือเข้าสู่ระบบอย่างหนึ่งที่ผู้ใหญ่มีหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูผู้น้อย ผู้น้อยมีหน้าที่ในการตอบแทนผู้ใหญ่ด้วยแรงกาย แรงใจในการทำงาน เมื่อผู้น้อยเข้ามาอยู่ในระบบนี้แล้วต้องตั้งใจเรียนเพื่อให้จบนักธรรมซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบวุฒิได้ และถ้ามีสติปัญญาดีก็เรียนเปรียญธรรมต่อไป

“ผู้ที่เรียนภาษาบาลีได้เกินเปรียญธรรม 3 เรียกว่าเป็นมหา ก็ยังพอได้รับความนับหน้าถือตาในคณะสงฆ์ แต่ถ้าได้เกินเปรียญ 5 ขึ้นไปถือว่าเป็นชนชั้นนำของคณะสงฆ์ มีความก้าวหน้า แต่เมื่อคุณไปถึงจุดจุดหนึ่ง จำเป็นที่ต้องเปลี่ยนโรงเรียน คุณต้องได้รับการแนะนำจากเจ้าอาวาสหรือครูผู้สอน ความก้าวหน้าในการที่คุณจะได้เรียนต่อขึ้นอยู่กับครูบาอาจารย์เอ็นดูคุณมากน้อยแค่ไหน และเมื่อย้ายวัดไปอยู่วัดใหม่ เจ้าอาวาสหรือครูบาอาจารย์เอ็นดูไม่เอ็นดู สามารถส่งคุณเรียนไปสู่ฝั่งได้ไหม สามารถเรียนต่อได้ไหม ถ้าเรียนจบมา คุณจึงจะมีสิทธิ์เลือกที่จะอยู่ในผ้าเหลืองต่อหรือสึกออกมาเป็นคนธรรมดาทั่วไป จำนวนมากก็ออกมา แต่มีอีกไม่น้อยก็เลือกอยู่ในคณะสงฆ์ต่อ เมื่อเลือกที่จะอยู่ในคณะสงฆ์ต่อคุณก็ต้องอาศัยความเมตตาเอ็นดูของพระผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสในการทำงานด้วยเช่นกัน”

ชีวิตที่มีแต่พระเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ดูแล จึงมีการหล่อหลอมทางสังคมที่แตกต่างกันไป ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและสั่งสอนให้พระเติบโตขึ้นในผ้าเหลืองมีความสำคัญมากกว่าผู้ปกครอง ดังนั้น คณะสงฆ์จึงถูกยึดโยงด้วยลักษณะต่างตอบแทน การเสียสละ การสำนึกบุญคุณ ซึ่งเป็นแนวคิดที่นิยามความสัมพันธ์ของคณะสงฆ์

“ความสัมพันธ์ในคณะสงฆ์เป็นความสัมพันธ์ที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของพระสงฆ์ทั่วไป แต่ยังมีอีกมิติหนึ่งที่มีส่วนมากเช่นกันคือความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐ เป็นเงื่อนไขในการกำหนดพลวัตการเคลื่อนไหวและการชุมนุมของพระสงฆ์ ในอดีตพระสงฆ์มีจำนวนมากและหลากหลาย สามารถคัดง้างกับราชสำนัก รัฐไม่มีอำนาจควบคุมคณะสงฆ์ได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐพยายามเข้ามาครอบงำควบคุม เราจะเห็นการลุกฮือของคณะสงฆ์ตลอด ผมมีความเข้าใจว่าการลุกขึ้นของพระสงฆ์ที่ผ่านมามีความรู้สึกว่าคณะสงฆ์ต้องการอิสระบางอย่าง ต้องการการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง และไม่ต้องการให้อิสระเหล่านี้พรากจากไป”

กฎที่ครอบพระสงฆ์

ขณะเดียวกันรัฐก็พยายามควบคุมคณะสงฆ์ผ่านกฎหมายต่างๆ ตั้งแต่กฎหมายตราสามดวงจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 การปกครองคณะสงฆ์จากที่มีความกระจัดกระจายก็ถูกรวมศูนย์สู่กรุงเทพฯ แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่คณะสงฆ์ในกรุงเทพจะสามารถควบคุมพระสงฆ์ในหัวเมืองต่างๆ ได้

ประกีรติกล่าวว่ากฎหมายปกครองคณะสงฆ์เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทำให้คณะสงฆ์ตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ แต่ความสัมพันธ์นี้มีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายครั้ง เช่น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 และมีการปรับใหญ่อีกครั้งใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ตามมาด้วยการต่อต้านที่วัดมหาธาตุที่มีพระออกมาเรียกร้องกรณีการจำคุกพระพิมลธรรมโดยไม่เป็นธรรมและให้มีการคืนสมณศักดิ์ให้ และนับจากช่วง 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ก็ตกอยู่ภายใต้ความเงียบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลทหารเข้มแข็งมากจนกดทับการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์

ต่อมา พ.ร.บ.คณะสงฆ์มีการปรับล่าสุดอีกครั้งเมื่อปี 2561 โดยปัจจุบันมหาเถรสมาคมมีอำนาจสูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ แต่การปกครองคณะสงฆ์ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายสงฆ์อย่างเดียว แต่พระสงฆ์ยังต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของบ้านเมือง กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา รัฐธรรมนูญ ระเบียบหลักเกณฑ์ของมหาเถรสมาคม และที่สำคัญที่สุดก็คือพระวินัย 227 ข้อ

“อีกมิติหนึ่งที่สำคัญในการปกครองคณะสงฆ์คือความคาดหวังของสังคมที่อยากให้พระเป็น ถามว่าพระสงฆ์รู้สึกอึดอัดไหม จากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับพระสงฆ์จำนวนมาก พระสงฆ์รู้สึกอึดอัดใจมากกับการขัดกันของกฎหมายและพระวินัย เช่น พระสงฆ์นับเป็นพลเมืองแต่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือพระกินเหล้าชาวบ้านจับได้ก็จับสึกที่สถานีตำรวจ ทั้งที่เป็นความผิดที่ปลงอาบัติได้ไม่ถึงขั้นปาราชิก เป็นต้น พระสงฆ์ทั้งหลายรู้สึกว่าโดนกดมากทั้งจากกฎหมายและสังคมรอบข้าง

“ความอึดอัดเหล่านี้เหมือนรอการระเบิดเพราะสังคมไม่ได้เข้าใจพระ สังคมมองว่าพระจะต้องเป็นไปตามรูปแบบที่สังคมไทยอยากให้เป็นคือบริสุทธิ์ งดงาม ปฏิบัติดี แต่ในความเป็นจริงพระสงฆ์จำนวนมากที่เข้ามาก็เพื่อต้องการค้นหาตัวเองและก็ยังไม่ได้สมบูรณ์แบบหมด ยังต้องเรียนรู้ในการพัฒนาตัวเองเพื่อกลับไปสู่โลกทางสังคม พระไม่ดีก็มีเหมือนกันที่อาศัยผ้าเหลืองในการทำมาหากินก็มีหลากหลายมากมายแต่ไม่ใช่พระทุกองค์ และสังคมไม่ได้ให้โอกาสพระทุกองค์ในลักษณะเช่นนั้น”

แรงกดดันทั้งจากรัฐและสังคมรอบข้างคือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พระสงฆ์ต้องออกมาเคลื่อนไหว เพื่อส่งเสียงให้สาธารณะเข้าใจ การเคลื่อนไหวที่เริ่มเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปี 2540 ส่วนหนึ่งมาจากมิติที่พระรู้สึกว่าตนเองไม่ถูกเข้าใจและต้องการแสดงว่าตนเองมีความต้องการอะไร

พระสงฆ์กับสงครามเย็นถึงก่อนปี 2540

“ผมขอแบ่งการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ออกเป็น 4 ช่วง ช่วงปี 40-50 เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเบ่งบานที่มีการเรียกร้องที่เข้มข้นที่สุด ต่อมาเป็นยุคที่พระนักกิจกรรมเริ่มเข้ามาทำกิจกรรมกับพลเรือนในยุคการเมืองเสื้อสี  ยุคที่ 3 คือยุคที่พระสงฆ์เริ่มกลับมาเรียกร้องวาระของตนเองอีกครั้งหนึ่ง โดยการเรียกร้องไม่ให้ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เข้ามาแทรกแซงกิจการของคณะสงฆ์ จนมาถึงยุคที่ 4 คือปี 2559 ถึงปัจจุบันคือยุคที่คณะสงฆ์เริ่มตกอยู่ภายใต้อำนาจรัฐรวมศูนย์มากขึ้น”

ประกีรติอธิบายว่าตั้งแต่ยุคสงครามเย็น คณะสงฆ์ที่เคยมีบทบาทในการช่วยรัฐปราบคอมมิวนิสต์ผ่านโครงการพระธรรมจาริก พระธรรมทูต ที่ส่งพระไปอยู่ในพื้นที่สีแดงเพื่อทำงานกับชาวบ้านบนพื้นฐานความเชื่อว่าถ้าชาวบ้านไม่จน คอมมิวนิสต์เข้าไม่ได้ ขณะที่พระเองเป็นลูกชาวบ้านท่าน โครงการเหล่านี้จึงเป็นการสานผลประโยชน์กัน ช่วงนั้นคณะสงฆ์ได้รับความสนใจและได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐ แต่เมื่อความหวาดกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์หายไปจากภูมิภาคนี้ ความสำคัญของคณะสงฆ์ก็เลือนหายไปด้วยเช่นกัน Peter A. Jackson ได้เขียนบทความเรื่องหนึ่งอธิบายว่า หลังสงครามเย็นจนถึงช่วงก่อนปี 2540 เป็นช่วงที่คณะสงฆ์ไทยอ่อนแรงไปมากและมีขบวนการศาสนาใหม่ๆ เช่น สันติอโศก ธรรมกาย สวนโมกข์ ขึ้นมาแย่งชิงพื้นที่ศรัทธาไปจากคณะสงฆ์ส่วนกลาง

“คณะสงฆ์ส่วนกลางกลับถูกมองว่าเป็นเพียงพระประจำวัดและเป็นเพียงผู้ประกอบพิธีกรรมนั่นคือภาพที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น แต่ถ้าเราดูการเคลื่อนไหวช่วงปี 2540 เป็นการเคลื่อนไหวที่มีความตระหนักรู้พอสมควรว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องสู้แล้ว ถ้าไม่สู้ เราจะโดนย่ำยีแบบนี้ตลอดไป ความสำคัญเราจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ การระดมรายชื่อให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากและมีแรงสนับสนุนจากคนที่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์”

ทว่า การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์เริ่มถูกผลักดันอย่างจริงจังในปี 2544 ถึง 2545 มีการออกมาสู่ท้องถนน กับในปี 2550 ที่มีการเคลื่อนอยากเป็นรูปขบวนมากที่สุด ยาวนานที่สุด มีการปิดรัฐสภา มีการตั้งวัดรัฐสภาวนารามเป็นเวลา 3 เดือน มีการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ และมีการเข้าร่วมจำนวนมากก่อนที่จะเงียบลงไป ซึ่งอาจมีคำอธิบายได้หลายทาง แต่ส่วนหนึ่งคือการเกิดขึ้นของการต่อสู้ของสีเสื้อขึ้นมา

ผู้นำฝ่ายสงฆ์ในช่วงนั้นนอกจากพระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) แล้ว ยังมีพระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สัญญโต) พระราชปัญญาเมธี (สมชัย กุสลจิตโต) พระสุธีวีรบัณฑิต (โชว์ ทัสสนีโย) และพระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งยังมีบทบาทในการเคลื่อนไหวอยู่ แต่ยังมีผู้นำฝ่ายฆราวาสด้วย มีทั้งอดีตนายพล ผู้ที่อยู่ในแวดวงราชการ คนในเครื่องแบบ นักธุรกิจ ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าพระสงฆ์ผู้ที่มีส่วนในการเคลื่อนไหวในช่วงนี้ล้วนเติบโตมาในช่วงสงครามเย็นทั้งสิ้น ในความคิดของพระเหล่านี้ ความมั่นคงของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ต้องไปด้วยกันจึงจะอยู่รอดได้ ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่สำคัญมากในการทำความเข้าใจ

“บางคนอาจจะคิดว่าทำไมคณะสงฆ์ต้องออกมาพูดเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็เพราะผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นผู้ที่เกิดและเติบโตในช่วงเวลาที่ชาติ ศาสน์ กษัตริย์อยู่ภายใต้การรุกรานจากภัยคอมมิวนิสต์ มันจึงมีเรื่องของยุคสมัยอยู่ด้วยในการทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้

“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในช่วงที่เจ้าคุณระแบบเข้ามา ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2526 เจ้าคุณระแบบตั้งศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาขึ้นที่วัดบวรฯ เป็นจุดที่ท่านต้องการใช้ในการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ แต่ยังเคลื่อนไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ เพราะคณะสงฆ์มีความคิดว่าไม่อยากให้พระมายุ่งกับการเมืองเพราะจะถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง สิ่งที่เกิดขึ้นคือพระไม่มีองค์กรในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เจ้าคุณระแบบมองเห็นปัญหานี้และได้คุยกับญาติโยมและคณะสงฆ์มีความเห็นตรงกันว่าต้องสร้างกลไกเชิงองค์กรขึ้นมาในการขับเคลื่อนวาระ ของคณะสงฆ์ นำไปสู่การตั้งศูนย์พิทักษ์พุทธศาสนาที่วัดราชาธิวาสในปี 2544”

ชัยชนะของคณะสงฆ์

การเคลื่อนไหวของเจ้าคุณระแบบและศูนย์พิทักษ์พุทธศาสนานำไปสู่ชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่คือการเกิดขึ้นของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นตรงต่อสำนักนายกรัฐมนตรีและมีงบประมาณของตัวเอง งบประมาณตั้งแต่ปีแรกถึงปี 2559 เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างมีนัยสำคัญ สำนักพุทธฯ ได้กลายเป็นแขนขาสำคัญของคณะสงฆ์ส่วนกลางที่มีทรัพยากรจำนวนมาก ขณะเดียวกันจำนวนพระและวัดก็ไม่ได้ลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ยังได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยอันชอบธรรม ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเถื่อนอย่างที่เคยถูกกล่าวหามา นับเป็นการสร้างพื้นที่ต่อได้มาก มีนักศึกษาเข้ามาเรียนจำนวนมาก มจร. เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางศาสนาของคณะสงฆ์ไม่ว่าจะด้านสังคมการเมืองวัฒนธรรม

“พระที่เข้าเรียนก็ได้รู้จักกัน ได้สานสัมพันธ์เป็นเพื่อนกัน ไปมาหาสู่กัน สร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ สิ่งสำคัญคือการนับสาย ความสัมพันธ์ปรับจากการที่พระมีสมณศักดิ์หรือพระปกครองมาเป็นลูกศิษย์อาจารย์ ตอนนี้พระที่ผ่าน มจร. จะมีความรู้สึกว่าตัวเองมีความสัมพันธ์บุญคุณกับอาจารย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากว่าทำไมการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์จึงระดมคนมาได้ มันมีมิติเรื่องความสัมพันธ์ส่วนบุคคลอยู่ แล้วก็ยังมีสื่อของตัวเอง”

ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับความใกล้ชิดระหว่างคณะสงฆ์ส่วนกลางและกลุ่มการเมืองพลเรือนหรือกลุ่มทักษิณ ชินวัตร ทำให้คนเริ่มระแวงสงสั แม้คำว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดวัดได้ยาก แต่ความรับรู้ของคนไม่ได้เกี่ยวกับข้อมูลว่าจริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าภาพออกมาเป็นอย่างไรและตีความอย่างไร

“ภาพที่ออกมาโดยเฉพาะคณะสงฆ์มหานิกายมีความใกล้ชิดกับคุณทักษิณมาก และวัดพระธรรมกายเข้าไปมีบทบาทอย่างมากในการช่วยจัดงานศาสนาให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีภาพคุณทักษิณไปปรากฏในวัดธรรมกาย ภาพต่างๆ เหล่านี้ที่ออกมาทำให้เกิดความรู้สึกว่าคณะสงฆ์เป็นคู่ตรงข้ามกับกลุ่มทางการเมืองบางกลุ่มและกับรัฐบาล คสช. อันนี้จริงไม่จริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมคิดว่ามันก็มีความเป็นไปได้ที่พระโดยเฉพาะพระมหานิกายจะเห็นพ้องกับกลุ่มคนเสื้อแดงเพราะว่าพระเป็นลูกชาวบ้าน เมื่อพ่อแม่หรือญาติสวมเสื้อแดงพระท่านก็ต้องมีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยหรือคล้อยตาม งานวิจัยเรื่องนี้ของอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ ก็เป็นหนึ่งในเครื่องยืนยันว่าพระมีแนวโน้มที่จะคล้อยตามคนที่บ้าน”

คกก.ปฏิรูปกิจการพุทธฯ ถึงสมเด็จช่วง และการชุมนุมใหญ่ของสงฆ์

เมื่อเกิดการรัฐประหารปี 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดในรายการคืนความสุขว่าต้องจัดการความไม่บริสุทธิ์ที่อยู่ในคณะสงฆ์ เป็นสิ่งที่คุณประยุทธ์พูดเองในรายการคืนความสุข ตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาทางพระพุทธศาสนา พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นประธาน และมีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ แต่คณะกรรมการชุดนี้มีการประชุมเพียงครั้งเดียวก่อนจะเงียบหายไป แต่จุดเริ่มต้นของรอยร้าวมาจากการที่ คสช. ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนาที่มีไพบูลย์ นิติตะวันเป็นประธาน

“การเกิดขึ้นของคณะกรรมการชุดนี้มีความอื้อฉาวมาก เพราะข้อเสนอคือการตรวจสอบการเงินของวัดและมีการพูดไปไกลถึงเรื่องการเก็บภาษีพระ การศึกษาพระว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม และอีกหลายอย่างซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนในคณะกรรมการพูดแบบนี้ แต่สิ่งที่สำคัญก็คือตรรกะที่ใช้ในการถกเถียงนี้คือประเด็นว่าคณะสงฆ์เบี่ยงเบนออกจากเส้นทางที่ควรเป็นสมควรได้รับการจัดการให้เข้ามาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับคณะสงฆ์อย่างมาก เพราะพระมีความรู้สึกว่าโยมไม่เข้าใจชีวิตพระ แล้วโยมมาตัดสินพระได้อย่างไร ไม่นับรวมถึงคณะกรรมการชุดนี้ไม่มีตัวแทนจากคณะสงฆ์เลย”

สิ่งที่ตามมาคือการยื่นหนังสือคัดค้านของกลุ่มต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมทูตซึ่งมีศูนย์อำนวยการอยู่ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กลุ่มพระนิสิต มจร. และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย เป็น 3 กลุ่มที่มีความสำคัญมากในการเคลื่อนไหวคณะสงฆ์หลังรัฐประหาร 2557

กลุ่มที่น่าสนใจคือกลุ่มนักวิชาการพระพุทธศาสนากซึ่งมีพระเมธีธรรมาจารย์ พระสุธีวีรบัณฑิต เสถียร วิพรหมา เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ ซึ่งเป็นอดีตพระระดับเปรียญทั้งคู่ อีกกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงหลังคือกลุ่มสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทยที่นำโดยบรรจบ บรรณรุจิและกรณ์ มีดี ซึ่งก็เป็นอดีตพระทั้งคู่เช่นกัน

“การเคลื่อนไหวในช่วงแรกหลังรัฐประหารเป็นการตอบสนองต่อการโจมตีคณะสงฆ์โดยรัฐบาล คสช. เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงรับมากกว่าว่าอย่าเข้ามาแทรกแซงคณะสงฆ์ แต่การเคลื่อนไหวนี้มีพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อสมเด็จช่วง (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์) กลายเป็นเป้าของการโจมตี ซึ่งมีการถูกกล่าวหาว่านำเข้ารถโบราณโดยจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แล้วมีการเรียกร้องให้เปิดข้อมูลให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบ ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนมากเพราะสมเด็จช่วงเป็นผู้ที่ถูกเสนอชื่อ ให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไปหลังจากสิ้นพระญาณสังวร

“ต้องเข้าใจว่าการเมืองของการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากเพราะมีความคิดในหมู่พระมหานิกายจำนวนมากว่าสังฆราชควรเป็นมหานิกาย สมควรที่จะสลับไปมาระหว่างธรรมยุติกับมหานิกาย เนื่องด้วยว่าธรรมยุติเป็นสงฆ์ชนกลุ่มน้อยที่ได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนัก แต่มหานิกายเป็นพระสงฆ์ชาวบ้านและเป็นชนหมู่มาก และสมเด็จช่วงเป็นผู้มีอาวุโสและบารมีสูงสุด ในช่วงที่พระญาณสังวรประชวรในช่วงท้ายๆ สมเด็จช่วงก็ทำหน้าที่รักษาการแทน สมเด็จพระสังฆราชและธรรมยุติเองก็ยอมรับในตัวสมเด็จช่วง ทางด้านธรรมยุติจึงมีความมั่นใจว่าท่านจะได้แน่นอน แต่พอมีเรื่องนี้ขึ้นมา ทางรัฐบาล คสช. ปฏิเสธที่จะเสนอชื่อสมเด็จช่วงเป็นสมเด็จพระสังฆราช การเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์จึงเปลี่ยนไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง มีการเคลื่อนไหวเชิงรุก และแทนที่จะให้พระนำหน้า แต่ให้โยมออกมานำหน้า สาเหตุหนึ่งก็คือมีกระแสโจมตีว่าพระปฏิบัติตนไม่เหมือนพระมากจนเกินไป โยมจึงเข้ามารับหน้าที่ในการเคลื่อนไหวต่อ มีการยื่นหนังสือให้รัฐบาลให้เสนอชื่อสมเด็จช่วง”

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 เกิดการชุมนุมของพระสงฆ์และฆราวาสหลายพันคนที่พุทธมณฑลท่ามกลางความขัดแย้งที่ล่อแหลมและเข้มข้นมาก โดยมีเดิมพันคือการเสนอชื่อสมเด็จพระมังคลาจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราช

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องของคณะสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุด แต่เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เหตุการณ์เดียว เป็นหนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2540 มีการชุมนุมที่พุทธมณฑล 1 วันแล้วท้ายสุดพระสงฆ์ก็ยอมกลับไปเพราะว่ารัฐบาลรับข้อเสนอของคณะสงฆ์ ในสายตาของผู้สังเกตการณ์หลายๆ คนมองว่าคณะสงฆ์อ่อนแรงไป แต่หลังจากการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ที่พุทธมณฑลทางพระไม่ได้ออกหน้าเลย กลุ่มที่ออกหน้าแทนคือกลุ่มฆราวาสและออกหน้าในเรื่องที่มีความแหลมคมด้วย เช่น กรณีเงินทอนวัด การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์นี้เป็นการใช้กฎหมายเป็นหลักในการต่อสู้ และในที่สุดก็นำไปสู่ความเชื่อว่าชาวพุทธจะสามารถเคลื่อนไหวได้ต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา”

เสียงเงียบงันของคณะสงฆ์

แต่หลังจากการต่อสู้เรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลคือการเปลี่ยนรัชสมัยซึ่งมีนัยสำคัญอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ กล่าวคือหลังจากเปลี่ยนรัชสมัยไม่นานมีการแต่งตั้งพระชั้นสมเด็จขึ้นมาใหม่ ตามมาด้วยการเปลี่ยนมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ให้กษัตริย์มีอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ตามต่อมาด้วยการแต่งตั้งสมเด็จพระมหามุนีวงศ์เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

จากนั้นก็มีการใช้มาตรา 44 ล้อมวัดพระธรรมกายและตรวจค้นเป็นเวลาหลายสิบวัน ตามมาด้วยพระธัมมชโยและพระทัตตชีโวถูกถอดสมณศักดิ์ สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปพร้อมกับการตรวจสอบคณะสงฆ์ผ่านคดีเงินทอนวัด การนำเอาบุคลากรใหม่เข้ามานั่งในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเพื่อการตรวจสอบที่เข้มข้นและนำไปสู่การออกประกาศต่างๆ ในการควบคุมพุทธพาณิชย์ ควบคุมพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง และไม่ให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองในวัด จนถึงการจับพระเถระผู้ใหญ่ 4 รูปและการแก้กฎหมายสงฆ์อีกครั้งโดยให้อำนาจกษัตริย์ไม่เพียงแต่แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช แต่ยังสามารถแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมและเจ้าคณะใหญ่ ซึ่งหมายถึงการควบคุมชนชั้นนำของคณะสงฆ์ทั้งหมด

“ในขณะที่เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาว่ามีข้อความและพื้นที่เกี่ยวกับพุทธศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ แต่การควบคุมคณะสงฆ์กลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง คณะสงฆ์ถูกจำกัดพื้นที่ลงไปเรื่อยๆ อิสระในการปกครองคณะสงฆ์ที่คณะสงฆ์เชื่อว่าตนเองมีอยู่ผ่านพระธรรมวินัยซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้คณะสงฆ์ดูแลปกครองตนเองได้ แต่เมื่อคณะสงฆ์อยู่ภายใต้รัฐ อำนาจความชอบธรรมของพระธรรมวินัยก็ถูกลดทอนไปส่วนหนึ่ง อำนาจเหล่านี้ถูกลดทอนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการเปลี่ยนรัชสมัย ทำให้คณะสงฆ์ตอนนี้หมดพื้นที่ในการแต่งตั้งตนเองขึ้นมาซึ่งสำคัญมาก เพราะว่าองค์กรที่มีความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย ผู้ใหญ่สามารถเลื่อนผู้น้อยในสายของตนเองขึ้นมา ตอนนี้สายเหล่านั้นถูกควบคุมไปโดยที่ตนเองไม่สามารถทำอะไรได้ แม้ยังมีอำนาจในการแต่งตั้งเจ้าคณะอันดับรองลงมาและพระสังฆาธิการ แต่มันจะไม่เหมือนเดิม

“ส่วนหนึ่งที่เราเห็นคือความสัมพันธ์ภายในคณะสงฆ์มีการเปลี่ยนผ่าน ชนชั้นนำกลุ่มใหม่โตขึ้นมา คนกลุ่มใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในคณะสงฆ์อาจจะมีบทบาทมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีหลายๆ กลุ่มที่หมดอำนาจลงไปและการควบคุมคณะสงฆ์ก็อยู่ภายใต้อำนาจรัฐส่วนกลางมากขึ้นเช่นเดียวกัน อนาคตการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องตามต่อ เพราะกฎหมายออกมาอย่างนี้ แต่กฎหมายที่ออกมาไม่ใช่แก้ไม่ได้ ถามว่าลึกๆ แล้วพระพอใจไหมต้องบอกว่าพระไม่ได้พอใจ การขึ้นมาควบคุมไม่ได้แก้ปัญหาความไม่พอใจของพระ

“ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุดและปัญหาที่เป็นปัญหาจริงๆ ไม่ได้รับการพูดถึง ปัญหาจริงๆก็คือพระสงฆ์กำลังถูกบีบขับออกไปให้อยู่ภายใต้กรอบบางอย่าง โดยที่ตัวเองไม่มีช่องทางในการส่งเสียงเรียกร้องให้ยอมรับฟังและนำมาเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าสิ่งเหล่านี้ยังมีต่อ มันเป็นไปไม่ได้ที่พระจะเลิกเคลื่อนไหวเป็นไปไม่ได้ที่พระจะมีความเห็นว่าการเมืองไม่ใช่กิจที่พระสงฆ์ควรทำ”

พระสงฆ์ต้องการพื้นที่ทางการเมืองและการรับฟัง

ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเราเคลื่อนไหวผ่าน 2 องค์กรหลักคือสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาและในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

“พูดถึงการเคลื่อนไหว อาตมาได้แยกแยะไว้อย่างนี้คือเรื่องการเมืองกับเรื่องบ้านเมือง เรื่องพระสงฆ์กับการเมืองมันผูกพันกันมากเพราะการที่จะสร้างรัฐ สร้างกลุ่มชนที่รวมตัวเป็นประเทศ มันต้องอาศัยทุกภาคส่วนรวมถึงพระสงฆ์ด้วย และพระสงฆ์ยังมีบทบาทสูงในด้านจิตใจ ในด้านการเป็นผู้นำ ในฝ่ายบ้านเมืองเองเมื่อจะรวมคนเข้าเป็นประเทศ เป็นชาติบ้านเมือง จำเป็นต้องมีพระเป็นส่วนสำคัญด้วย ทำให้ทั้งพระสงฆ์และการเมืองมันรวมๆ กันอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในการสร้างบ้าน สร้างเมืองของพระเจ้ากรุงธนบุรี ท่านก็จะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างพระสงฆ์กับฝ่ายบ้านเมือง รวมทั้งในยุครัตนโกสินทร์ด้วย

“แต่เมื่อมาถึงยุคที่บ้านเมืองแยกเป็นอาณาเขตชัดเจนมากขึ้น ทำให้พระสงฆ์ถูกกดดันและคาดหวังไปอีกอย่าง ถูกมองไปอีกอย่าง เช่นที่ท่านอาจารย์พูดถึงว่าชีวิตของพระสงฆ์เป็นอยู่อย่างไร วันนี้ยิ่งลำบากมากขึ้นในยุคที่มีโซเชียลทั้งหลาย และตัดสินกันด้วยโซเชียล แข่งขันกันด้วยความเร็ว ไม่คำนึงถึงเรื่องคุณธรรม ศีลธรรม จึงมีผลกระทบต่อพระมากขึ้น เป็นความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในโลก และเป็นความยุ่งยากในประเทศเรา และพระสงฆ์ถูกคาดหวังให้ทำบางอย่างที่เป็นความต้องการ เป็นความรู้สึกของชาวบ้าน”

พระเมธีธรรมาจารย์ เล่าย้อนไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 โดยตั้งคำถามว่า เวลาที่จะร่างรัฐธรรมนูญพระสามารถมีส่วนร่วมได้หรือไม่ ซึ่งพระเมธีธรรมาจารย์คิดว่าพระสงฆ์ควรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีเรื่องของความดี ศีลธรรม จริยธรรมเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ

ประเด็นสำคัญที่ทางคณะสงฆ์ได้แสดงความคิดเห็นไปคือการขอให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ พระเมธีธรรมาจารย์ให้เหตุผลประกอบ 3 ประการคือความกตัญญูกตเวที เพราะการที่บ้านเมืองนี้อยู่ร่มเย็นมาได้เป็นผลจากคำสอนของพุทธศาสนา จึงควรมีความกตัญญูต่อพุทธศาสนาโดยบรรจุให้เป็นศาสนาประจำชาติ ประการต่อมา ถ้าคิดว่าประชาธิปไตยคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ประเทศไทยมีชาวพุทธกว่าร้อยละ 94.6 ก็ควรบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ประการสุดท้าย ถ้าอ้างว่าชาวพุทธส่วนใหญ่คัดค้านก็ให้ทำประชามติโดยแบ่งเป็นมาตรา

“แต่เมื่อไม่ฟังพระก็คิดว่ารวมกันเยอะๆ แล้วไปที่หน้าสภา เพราะเป็นศูนย์รวมของการร่างรัฐธรรมนูญ ตอนปี 40 ไปรวมกัน เราได้รายชื่อ 2 ล้านกว่าชื่อ ทำให้เรามีบทเรียนว่าขนาด 2 ล้านกว่าชื่อที่เราแบกไปเขายังไม่สนใจ มันเป็นที่มาของปี 50 ที่ไปรวมกันครั้งใหญ่แล้วมีวัดรัฐสภาวนาราม”

ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

“ที่อาตมามาพูดวันนี้ขบวนการเคลื่อนไหวสำคัญที่สุดอยู่ที่ความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ยืนยันได้เลยว่าไม่ว่าที่ผ่านมาไม่ว่าวันนี้หรือคิดไปในวันข้างหน้า ได้คิดบนฐานของความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ถ้าท่านทั้งหลายยอมรับร่วมกันว่าพระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อความคิด พระพุทธศาสนาได้ร่วมกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ร่วมกับประชาชนสร้างบ้านสร้างเมือง ก่อสร้างประเทศมา นี่เป็นสิ่งที่เราคำนึงว่าถ้าเราได้คิดร่วมกันแบบนี้ แล้วพุทธศาสนาคือความร่มเย็น คือสันติภาพ พุทธศาสนาไม่ใช้วิธีตาต่อตาฟันต่อฟัน ที่ท่านทั้งหลายมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อกันเป็นอิทธิพลของพุทธศาสนาหรือไม่ มันเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพชนและเป็นสิ่งที่ดีงาม จะช่วยกันรักษาไหม  ถ้าเรามองรวมทั้งหมดเราคือพุทธบริษัท ถ้าเห็นว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์ จะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความสงบสุขได้ เราต้องนึกถึงความมั่นคงของพระพุทธศาสนา”

พระธรรมเมธาจารย์ กล่าวว่า การที่รัฐเข้ามาควบคุมไม่ถือว่ามีปัญหาอะไรนัก แต่จุดสำคัญคือการเกิดขึ้นของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ที่ทำให้คณะสงฆ์ต้องออกมาเคลื่อนไหว เพราะรู้สึกเหมือนที่พระธรรมเมธาภรณ์ได้พูดไว้ว่า ถ้าไม่ยกย่องก็อย่าเหยียบย่ำ ทำให้พระสงฆ์รู้สึกถูกรุกรานและไม่มีพื้นที่ยืน ยิ่งกว่านั้นพระสงฆ์ยังวิตกภัยจากศาสนาอื่นที่เข้ามาในระบบรัฐและรู้สึกว่ารัฐให้การอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนาบางศาสนามากกว่าพุทธศาสนา

“แนวคิดมาจากเรื่องภัยทางศาสนา ฐานมาจากความมั่นคงของพุทธศาสนา อนาคตพุทธศาสนาหรือแผ่นดินไทยจะอยู่อย่างไร ประกอบกับภาวะหลังจากรัฐประหารทางฝ่ายพระสงฆ์มองว่าเรากำลังถูกรังแก ถูกรุก และไม่มีพื้นที่ใดๆ ในแผ่นดินนี้ จึงรวมตัวกันมาเรื่อยๆ จุดสำคัญที่สุดก็คือการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกิจการพุทธศาสนา”

พระเมธีธรรมาจารย์อ้างอิงเอกสารของคณะกรรมการดังกล่าวว่า ...ปัจจุบันเกิดปัญหาในกิจการพระพุทธศาสนามากมาย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2505 ที่เน้นการปกครองภายในคณะสงฆ์เป็นส่วนใหญ่โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น คณะสงฆ์จึงดำเนินกิจการพุทธศาสนาขึ้นอย่างเอกเทศโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเกิดปัญหาความเสื่อมถอยและความศรัทธาในพระสงฆ์ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งหากไม่ได้รับการปฏิรูปโครงสร้างอย่างจริงจังทั้งระบบจะส่งผลให้กิจการพุทธศาสนาในสังคมไทยเสื่อมลงตามลำดับ

“อาตมาจึงบอกว่าถ้าสมมติฐานของปัญหาผิด การแก้ปัญหาจะผิดทั้งหมด อาตมายืนยันว่าเรื่องเหล่านี้เป็นการพูดที่รุนแรงเกินกว่าที่คณะสงฆ์จะรับได้ ประเด็นที่ 2 คืออาตมามีวิวาทะเล็กๆ ในทีวีช่องหนึ่งกับคุณวันชัย อาตมาท้วงว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการไม่มีพระสงฆ์อยู่เลย คุณวันชัยบอกว่ากำลังจะทำอยู่ แล้วท่านก็มาประท้วงพวกผมก่อน อาตมายืนยันว่าอาตมาพูดเรื่องนี้ แล้วท่านจึงพูดเรื่องนี้ การปฏิรูปเรื่องใหญ่ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศคือพระพุทธศาสนา กลับไม่มีพระสงฆ์แม้แต่รูปเดียว

“อาตมายืนยันมาตลอดว่าพระสงฆ์ไม่ได้ปฏิเสธการปฏิรูปและการจัดองค์กรที่นำไปสู่ความเจริญข้างหน้า แต่การปฏิรูปต้องอยู่ในสัมมาทิฐิ ทำอย่างไรจึงจะพอเหมาะพอควรที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ นี่เป็นเหตุใหญ่ให้มีความเคลื่อนไหว”

รัฐต้องไม่แทรกแซงกิจการสงฆ์และต้องฟังเสียง

เหตุการณ์ต่อมาคือกรณีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จช่วง วัดปากน้ำ ซึ่งทางพระเมธีธรรมาจารย์กล่าวว่าตนเองไม่เคยเกี่ยวข้องกับสมเด็จช่วงและวัดพระธรรมกาย และเท้าความว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) เป็นผู้ปฏิบัติการแทนสมเด็จพระสังฆราชเป็นเวลา 1 ปี ด้วยมีอาวุโสโดยอายุ กฎหมายสงฆ์ระบุว่าเมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ ผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่อไปต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้และอาวุโสโดยอายุ แต่เมื่อตั้งจริงก็ตั้งสมเด็จพระญาณสังวรแทนซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในบรรดาสมเด็จพระราชาคณะ แต่มีอาวุโสสูงสุดตามพรรษาตามกฎหมายสงฆ์ ซึ่งทางคณะสงฆ์ก็ไม่ขัดข้อง

“พอมาถึงสมัยนี้ สมเด็จที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์มีอยู่และทำท่าจะเป็นสมเด็จพระสังฆราชก็เกิดความเคลื่อนไหวจากข้างล่าง เรื่องที่ไม่เคยมีก็มีมา เรื่องรถยนต์ มีมาเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด ถามว่าเราเป็นพระถ้ามีความเคลื่อนไหวจากญาติโยมจำนวนมากแบบนี้ พระจะพูด จะแสดงความคิดเห็นอะไรบ้างไม่ได้เลยเหรอ มันก็นำมาการรวมตัวกันที่พุทธมณฑล

“ด้วยเหตุผล 2 อย่าง หนึ่ง ไม่เห็นด้วยที่จะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของคณะสงฆ์ แต่ถามว่าให้ปฏิรูปต่อไปไหม พระสงฆ์ที่ทำผิดพระวินัยมีไหม มี ต้องแก้ไข เรื่องปฏิรูปเห็นด้วยไหม เห็นด้วย แต่ต้องมีผู้รู้และมีสัมมาทิฐิอย่างแท้จริงและต้องตั้งสมมติฐานของปัญหาให้ถูก แล้วเราจะปฏิรูปคณะสงฆ์อย่างไร คณะสงฆ์ก็ไม่ได้บอกว่าเราจะทำอยู่อย่างนี้ แต่เมื่อกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบ้านเมืองให้พระสงฆ์ทำอย่างนี้ แล้วจะให้พระสงฆ์ทำอย่างไร ถ้าจะปฏิรูปเราก็ยินดีให้ปฏิรูป แต่โดยวิธีการที่อาตมาพูด สองสามเรื่องนี้รวมทั้งการที่ภาครัฐเข้ามามากขึ้นมากขึ้นก็ทำให้เกิดเรื่องนี้

“อาตมาต้องการเพียงแสดงให้ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐได้เห็นว่า ฟังพระสงฆ์บ้างและได้รับรู้ปัญหาของพระสงฆ์บ้างว่าเป็นอย่างไรและจะแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างไรเท่านั้นเอง พอวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ที่มีการแก้กฎหมายมาตรา 7 เรื่องสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จวัดราชบพิธได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช อาตมาไม่เคยเคลื่อนไหวอะไรเลย เพราะยอมรับกติกา”

ความสัมพันธ์รัฐกับคณะสงฆ์ต้องอยู่บนทางสายกลาง

ผู้สื่อข่าวประชาไทถามว่า ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมามีการเสนอแนวคิดการแยกรัฐออกจากศาสนา ทางคณะสงฆ์คิดว่าแนวทางนี้จะช่วยให้คณะสงฆ์มีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นหรือไม่ ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ ตอบว่า

“รัฐกับพุทธศาสนาควรจะแค่ไหน โดยรวมแล้วคณะสงฆ์เองก็ไม่ได้ดิ้นรนว่าจะต้องอยู่ในคอกหรือออกจากคอกขนาดนั้น มันเหมือนว่าตรงไหนที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ตรงไหนที่พอจะอยู่ร่วมกันได้ อันไหนที่คณะสงฆ์พอหายใจได้ อันไหนที่เป็นการอุปถัมภ์คุ้มครองได้ ไม่ใช่ว่าพระอยากได้ลาภสักการะ

“ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระสงฆ์ อาตมาตอบแทนพระส่วนใหญ่ได้ ส่วนใหญ่ท่านอยากเห็นพอประมาณพอสมควร ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง คือการบริหารที่เป็นเอกเทศจากอำนาจรัฐเป็นเรื่องยาก ควรจะอยู่ร่วมกันอย่างที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ไม่รู้มันคือตรงไหน แต่ต้องพูดคุยกัน”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เหตุใดความมั่นคงของพุทธศาสนาจึงเป็นความมั่นคงของประเทศ พระเมธีธรรมาจารย์ ตอบว่า

“ความมั่นคงของพุทธศาสนาคือความมั่นคงของประเทศหรือไม่ อาตมาคิดว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องกันมากทีเดียว โดยเฉพาะเราไม่ได้มองแต่เรื่องเขตแดนอย่างเดียว เรามองถึงเรื่องคนภายใน จิตใจ การเป็นอยู่ร่วมกันวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป วิถีชีวิตทั้งหลาย มันทับเส้นกันอยู่ ถ้าตอบตรงๆ ก็คือว่ามันมีส่วนที่เกี่ยวข้องกันอยู่มากทีเดียว ควรจะให้ความใส่ใจในเรื่องนี้”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net