Skip to main content
sharethis

ชวนดูการเดินทางกลับกัมพูชาของสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่ประกาศกร้าว กลับวันที่ 9 พ.ย. ผ่านประเทศไทย เข้าใจการเมืองหลังอาการหวาดวิตกสารพัดของรัฐบาลฮุน เซน ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้พรรค CNRP และอดีตหัวหน้าเดินทางกลับเข้าประเทศ และการสนับสนุนของไทยและมาเลเซียที่เต้นตามจังหวะของรัฐบาลกัมพูชา อะไรเล่าคือเหตุผลทางการทูตที่อยู่ด้านหลัง อะไรบ้างที่น่าติดตามในเหตุการณ์นี้

ภาพสม รังสีในอดีต (ที่มา: Facebook/ Sam Rainsy)

การประกาศกร้าวของสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ว่าจะกลับเข้าประเทศกัมพูชาผ่านทางไทยในวันชาติกัมพูชา (9 พ.ย.) ที่จะถึงนี้ ชักชวนให้ประชาชนลุกฮือ พร้อมทั้งขอให้กองทัพกัมพูชา “หันปลายปืน” ไปหารัฐบาลพรรค CPP ที่นำโดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน กลายเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่สร้างแรงกระเพื่อมอย่างหนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คนที่สะดุ้งเฮือกใหญ่ที่สุดรัฐบาลพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่นำโดยฮุน เซน นายกรัฐมนตรีที่ครองอำนาจสูงสุดในทางพฤตินัยของกัมพูชามา 34 ปี ที่ตอบสนองการประกาศดังกล่าวด้วยมาตรการสารพัดจนแทบจะเรียกได้ว่าทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นการกลับประเทศของสม รังสีและสมาชิก CNRP ไม่เว้นแม้แต่การใช้อาวุธสงครามโดยกองทัพ

มีอะไรที่น่าติดตามบนข้อเท็จจริงที่น่าหวาดหวั่นนี้บ้าง เราถอดรหัสอะไรได้บ้างจากการสะดุ้งเฮือกแล้วเฮือกอีกของพรรค CPP ทำไมถึงโกรธเกลียดฝ่ายค้านได้ขนาดนี้ และทำไมไทยกับมาเลเซียถึงต้องสนับสนุนกัมพูชาขนาดนั้น

ในประเทศเตรียมใช้อาวุธหนัก-มหกรรมวิ่งไล่จับระดับภูมิภาค

การเดินทางเข้ากัมพูชาของสม รังสี เป็นเพียงยอดของปฏิบัติการพรรค CNRP สมาชิกหลายคนที่อาศัยอยู่ทั้งในและนอกกัมพูชาต่างมีความเคลื่อนไหว แต่ก็พบชะตากรรมไม่ต่างกันมากนักในภูมิภาคนี้เมื่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย และประเทศเพื่อนบ้านของเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียใช้ไม้แข็งกับพวกเขา

ในกัมพูชา ตั้งแต่มีข่าวการจะกลับกัมพูชาของสม รังสี มีสมาชิกพรรคจำนวนอย่างน้อย 27 คนในกัมพูชาถูกจับกุม ส่วนมากจากความผิดโทษฐานแชร์โพสท์การประกาศดังกล่าว ซึ่งในวันที่ 6 พ.ย. สื่อพนมเปญโพสท์รายงานว่า มีการจับกุมผู้สนับสนุนสม รังสี 10 คนใกล้กับสำนักงานพรรค CNRP ในกรุงพนมเปญโดยพนมเปญโพสท์เรียกพวกเขาว่า “ผู้ร่วมวางแผนรัฐประหาร” 

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัยให้ข้อมูลกับประชาไทว่ามีสมาชิกพรรคที่ถูกจับกุมจำนวน 15 คนในพนมเปญ สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่าทั้งปีนี้มีการจับกุมนักกิจกรรมที่มีจุดยืนคัดค้านรัฐบาลกัมพูชาแล้วอย่างน้อย 48 คน

นอกจากการกวาดจับ ปราบปรามในเมืองหลวง ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จ.บันเตยเมียนเจีย มีการส่งกำลังทหารกัมพูชาพร้อมอาวุธครบมือไปประจำการ มีการซ้อมปฏิบัติการที่ใช้กระสุนจริง นอกจากนั้น หน่วยงานการบินพลเรือนกัมพูชายังปรามว่า สายการบินใดที่ให้สม รังสีและสมาชิกพรรค CNRP คนหลักๆ จำนวนทั้งสิ้น 8 คน จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย (ที่มา: Radio Free Asia)

ในระดับภูมิภาค ความเคลื่อนไหวของสม รังสีและพรรคฝ่ายค้านสร้างนำมาซึ่งปฏิกิริยาหลายแบบ ในไทย เมื่อ 20 ต.ค. มูร สุขหัว รองหัวหน้าพรรค CNRP อดีต ส.ส. จังหวัดพระตะบอง ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านพลัดถิ่นของกัมพูชา ถูกเจ้าหน้าที่ไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิปฏิเสธเข้าเมืองและผลักดันออกนอกราชอาณาจักรจึงเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ด้วยเที่ยวบินมาเลเซียแอร์ไลน์กลับไปยังกัวลาลัมเปอร์ ก่อนตัดสินใจเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาต่อแทนที่จะไปกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียตามแผน เนื่องจากเสี่ยงว่าจะถูกเนรเทศจากอินโดนีเซีย

ทางการไทยผลักดันผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาไม่ให้เข้าประเทศ

สำหรับประเทศไทยที่คาดว่าจะเป็นจุดหมายปลายทางของสม รังสี ตามจดหมายที่ร่อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ไทย ทางประยุทธ์ก็มีท่าทีชัดเจนว่าไม่ต้องการให้กลุ่มการเมืองต่างชาติใช้พื้นที่ในประเทศไทยเพื่อเคลื่อนไหวเช่นกัน

จดหมายของสม รังสีถึงประยุทธ์ จันทร์โอชาเมื่อ 31 ต.ค. 2562 ระบุถึงเส้นทางและเที่ยวบินที่จะใช้ (ดูภาพขนาดใหญ่)

ก่อนหน้านี้สื่อฟากรัฐบาลกัมพูชาระบุว่ากระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาได้ส่งหมายจับผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งมีสม รังสี และมูร สุขหัวอยู่ในรายชื่อด้วย 

ที่มาเลเซียยิ่งมีมาตรการคุมเข้มหนักข้อ แม้จะมีท่าทีในด้านสิทธิมนุษยชนก้าวหน้าโดดเด่นในเวทีอาเซียนซัมมิทเมื่อ 2-4 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยในวันนี้ (7 พ.ย.) อัลจาซีรารายงานว่า ทางการมาเลเซียได้ควบคุมตัวมูร สุขหัว ขณะเดินทางเข้ามาเลเซียจากกรุงจาการ์ตา จนถึงตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีชะตากรรมอย่างไรต่อ นอกจากนั้น เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (4 พ.ย.) นักกิจกรรมชาวกัมพูชา 2 คนก็ถูกควบคุมตัวขณะกำลังจะเดินทางเข้าประเทศไทย

อินโดนีเซียไม่ได้ปฏิเสธการเข้าประเทศของมูร สุขหัว นอกจากนั้น มูร สุขหัวยังร่วมจัดกับมูลนิธิกูราวาล องค์กรไม่แสวงผลกำไรในจาการ์ตาที่ผลักดันประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อและประชาธิปไตยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งในงานแถลงข่าวนั้น ฮอร์ นัมโบรา เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำอินโดนีเซียได้เข้าไปในงานทั้งที่ไม่ได้รับเชิญ และมีการโต้เถียงกันกับมูร สุขหัว ในงานแถลงข่าวดังกล่าว มูร สุขหัวยังคงยืนยันว่าเธอ สม รังสี และสมาชิกพรรค CNRP กว่า 300 ชีวิตที่อาศัยในบริเวณชายแดนจะพยายามข้ามกลับไปยังกัมพูชา (ที่มา:Antara News, Sydney Morning Herald

การจับกุม ควบคุมตัวและผลักดันกลุ่มสมาชิกพรรค CNRP และผู้สนับสนุนได้รับการตอบโต้จากองค์กรสิทธิมนุษยชน สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (FORUM-ASIA) ได้ประณามมาเลเซียในการคุมตัวมูร สุขหัว โดยระบุว่าเป็นภาวะที่ประเทศในอาเซียนร่วมมือกับกัมพูชาในการกดปราบผู้เห็นต่างทางการเมือง ในขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนักกิจกรรม 2 คนที่ถูกจับในมาเลเซีย และไม่ให้ส่งกลับกัมพูชาเพราะว่าเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง

พรรค CNRP ยังไม่เปลี่ยนแผน

จากปัจจัยทั้งหมดที่ดูจะเป็นแรงต้านไม่ให้เทียบท่าได้ตามแผน ทางสม รังสีและ CNRP ยังคงไม่ล้มเลิกแผนการเดินทางกลับ เมื่อ 6 พ.ย. ประชาไทสอบถามไปทางอีเมล์ของสม รังสี ได้ความมาว่าการห้ามปรามของประยุทธ์ไม่ได้มีสำนวนไปในทางความเป็นไปไม่ได้

'สม รังสี' ตอบคำถามกรณีประยุทธ์ไม่ให้เข้าไทย ถ้ากลับไปได้หวังรีสตาร์ตประชาธิปไตย

“จากมุมมองของประเทศไทยฝั่งเดียว ผมเข้าใจจุดยืนของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และขออภัยในความลำบากใจใดๆ ที่ผมได้สร้างขึ้น แต่ผมเห็นว่าท่าทีของนายกฯ ไทยที่ได้รับการรายงานออกมานั้นไม่ได้มีสำนวนในทางที่พูดถึงความเป็นไปได้ (ของการเดินทางเข้าไทย)”

“ผมหวังที่จะรีสตาร์ตประชาธิปไตยในกัมพูชาและการฟื้นฟูพรรค CNRP ในฐานะพรรคฝ่ายค้านที่จงรักภักดีและชอบธรรม” อดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้านชี้แจงผ่านอีเมล์

“ผมไม่ยอมแพ้ ผมจะพยายามจนถึงนาทีสุดท้าย ผมคิดว่าไม่ควรมีใครสนับสนุนฮุน เซน เขาเป็นเผด็จการ” สม รังสีกล่าวกับสื่อเอพีเมื่อ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา

ตั๋วเครื่องบินของสม รังสี เขาระบุว่าการเดินทางจะยังคงดำเนินไป เป็นการชี้แจงเพื่อแก้ไขความเห็นที่ฮุน เซนระบุว่าเขาเปลี่ยนแผนการเดินทาง (ที่มา:Facebook/Sam Rainsy)

ด้านสารัธ โมน สมาชิกพรรค CNRP หัวหน้าเขตอ๊อดดา เมียนเจีย ให้ข้อมูลกับประชาไทในวันนี้ (7 พ.ย.) ว่า ขณะนี้ทางพรรคกำลังพยายามแก้ไขปัญหาที่เข้ามาอย่างมากมาย และจะไม่มีการเปลี่ยนแผนใดๆ

สิ่งที่ต้องดูตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 9 พ.ย. คือการเข้า-ออกประเทศของสมาชิกพรรค CNRP รายใหญ่ๆ และกลุ่มผู้สนับสนุนที่เหลือว่าจะถูกดำเนินการอย่างไรกันบ้าง ตัวสม รังสีเองที่เผยแพร่กำหนดการการเดินทางชัดเจนทั้งเที่ยวบิน ตั๋วเครื่องบิน จะเข้ามาไทยตามกำหนดหรือไม่ ถ้าเดินทางมายังไทยตามแผนจริงๆ ทางเลือกของไทยในการจัดการกับสม รังสีที่มีไม่ว่าจะเป็นการคุมขังไว้ที่ไทย ส่งกลับฝรั่งเศส กัมพูชา ปล่อยให้นั่งเครื่องบินไปพนมเปญต่อ ไปจนถึงการปล่อยให้เขาเดินทางไปยังอรัญประเทศตามแผน ล้วนมีต้นทุนที่ต้องจ่ายในทางการทูตทั้งนั้น

การเมืองหลังความเกลียด-กลัว สม รังสี และพรรค CNRP 

พรรค CNRP และ สม รังสี เป็นเสี้ยนหนามตำใจของฮุน เซน และพรรค CPP ที่ครองอำนาจมานานถึง 34 ปีในกัมพูชา โดยสม รังสีออกจากกัมพูชาในปี 2558 หลังถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา โดนเรียกค่าชดเชยจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยศาลกัมพูชาได้รื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นมาแม้ว่าสม รังสีจะได้รับอภัยโทษแล้วก็ตาม นอกจากนั้นเขายังถูกตัดสินโทษจำคุก 5 ปีจากคดีอื่นอีกคดีด้วย 

ส่วนพรรค CNRP เป็นพรรคที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการเลือกตั้งปี 2556 พรรค CNRP ตีตื้นจำนวนที่นั่งในสภากับพรรค CPP ในจำนวน 55-68 ที่นั่ง และได้เป็นฝ่ายค้าน โดยฝ่ายค้านได้ประท้วงผลการเลือกตั้งโดยกล่าวหาว่ามีการโกง และได้ทำการคว่ำบาตรสภาในเดือน ก.ย. 2556 โดยกล่าวว่าจะไม่เข้าสภาจนกว่าจะมีการปฏิรูประบบเลือกตั้ง การประท้วงของฝ่ายค้านกลายเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างกว้างขวาง 

แต่ในเดือน พ.ย. 2560 ศาลสูงกัมพูชาได้ตัดสินยุบพรรค CNRP ด้วยข้อกล่าวหาว่าจะวางแผนโค่นล้มรัฐบาลผ่านการประท้วงของผู้ไม่พอใจรัฐบาลหรือที่ทางภาครัฐมักเรียกว่า ‘ปฏิวัติสี (Color Revolution)’ ซึ่งเป็นชื่อเรียกของการโค่นล้มระบอบการปกครองในสหภาพโซเวียตเดิมและตะวันออกกลาง คำตัดสินส่งผลให้สมาชิกพรรคมากกว่า 100 คนถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี หลังจากนั้น พรรค CPP จึงครองอำนาจทางการเมืองและที่นั่งในรัฐสภาแต่เพียงพรรคเดียว

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตผู้สื่อข่าวมากประสบการณ์ อดีตบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ The Nation วิเคราะห์เหตุผลของภาวะหวาดกลัวของฮุน เซนว่าเป็นปฏิกิริยาทั่วไปของผู้นำอำนาจนิยมที่มักหวั่นไหวต่อการลุกฮือของมวลชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งในแบบที่ไร้การจัดตั้งและการท้าทายจากตัวแสดงทางการเมืองอย่าง

“ฮุน เซน ก็เหมือนกับผู้นำอำนาจนิยมทั่วไป คือกลัวการลุกฮือของประชาชนแบบที่เรียกว่า color revolution เพื่อโค่นล้มระบอบของตัวเองที่อยู่มานานจนเกินไป แม้ว่า สม รังสี และสมาชิกพรรค CNRP ไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ แต่คนกัมพูชาที่เกิดและเติบโตยุคหลังเขมรแดงอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศของตัวเองแบบรวดเร็วกว่านี้”

“ความเปลี่ยนแปลงที่ฝันถึงคือ การเมืองและเศรษฐกิจที่กระจายออกจากกลุ่มของฮุน เซนและพวกพ้อง และไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของจีนมากจนเกินไป”

“สถานการณ์ในฮ่องกงก็มีผลต่อรัฐบาลฮุน เซนซึ่งสนิทสนมกับจีนไม่น้อย” สุภลักษณ์พูดถึงการชุมนุมต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างจีน-ฮ่องกง ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 ที่บางวันมีคนออกมาประท้วงหลักล้านคน ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวก็มีกลิ่นอายการคัดค้านและต่อต้านอิทธิพลจีน ประเทศที่ฮุน เซนพยายามสร้างความใกล้ชิดสนิทสนม

การเคลื่อนไหวของสม รังสี และสมาชิกพรรค CNRP ที่ผ่านไปผ่านมาในอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ทำให้เห็นความร่วมมือที่รัฐบาลต่างๆ กับรัฐบาลพนมเปญ แต่ในอีกระดับหนึ่ง อดีตผู้สื่อข่าวมากประสบการณ์มองว่าสะท้อนความไม่ต้องที่จะไปคัดง้างกับรัฐบาลกัมพูชาที่กำลังตีสนิทกับจีน

“ประเทศอาเซียนตอนนี้ก็ไม่อยากสูญเสียผลประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลในพนมเปญ และพวกเขาก็ไม่เลือกสม รังสี มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว”

“ไทยยิ่งไม่อยากทะเลาะกับฮุน เซนในสถานการณ์นี้ เพราะยังอยากจะจัดการเรื่องชายแดนและเขตทับซ้อนทางทะเลกันไม่ได้” ศุภลักษณ์กล่าว พร้อมเพิ่มเติมว่าเรื่องการจัดการข้อพิพาทพื้นที่ปราสาทพระวิหารหลังคำพิพากษาศาลโลกปี 2556 ยังคงเป็นเรื่องคาราคาซังอีกเรื่อง

อีกแง่มุมที่น่าพิจารณาคือเรื่องสิทธิพิเศษทางการค้าที่กัมพูชามีต่อสหภาพยุโรปที่รู้จักกันในชื่อ Everything but Arms (EBA) ที่อนุญาตให้สินค้าจากกัมพูชาถูกส่งไปขายในตลาดของอียูได้ ข้อมูลจากแขมร์ไทม์ระบุว่า มูลค่าของสินค้าส่งออกของกัมพูชาภายใต้ EBA มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของจำนวนการส่งออกทั้งหมด และทำให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าถึง 800,000 ตำแหน่ง

ปัจจุบันคณะกรรมาธิการยุโรปกำลังพิจารณาถอดถอนสิทธิพิเศษดังกล่าวเนื่องจากปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย สืบเนื่องจากการยุบพรรค CNRP ในปี 2560 เป็นต้นมา โดยที่ผ่านมา ฮุน เซน พยายามหาเสียงสนับสนุนภายในยุโรปด้วยการเดินทางไปพบกับประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกัมพูชาได้แก่สาธารณรัฐเช็ก ฮังการีและบัลแกเรียในเดือน ต.ค. เพื่อให้สามประเทศช่วยเหลือเจรจาให้คงสิทธิพิเศษทางการค้าเอาไว้ 

คณะกรรมาธิการยุโรปจะมีมติในเรื่องดังกล่าวในเดือน ก.พ. 2563 ทั้งนี้ แขมร์ไทม์รายงานว่า 3 ประเทศข้างต้นตกลงจะสนับสนุนให้อียูคงไว้ซึ่งสิทธิพิเศษ EBA แต่ถ้าเหตุการณ์การกลับคืนประเทศของสม รังสีจบลงในแบบที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจทานทนได้ ก็อาจจะส่งผลถึงพลวัตการเจรจาภายในกรรมาธิการยุโรปได้เช่นกัน

การเมืองไม่น่ากระทบการค้าชายแดน

บริเวณชายแดนปอยเปต-อรัญประเทศ มีหลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่ามีกำลังทหารของกัมพูชาพร้อมอาวุธสงครามเข้าประจำการที่ฝั่งปอยเปตเป็นจำนวนมาก เมื่อวันที่ 5 พ.ย. สำนักข่าวไทยรายงานว่า พล.ท.ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพภาคที่ 1 ได้พบปะหารือกับ พล.อ.แอก ซอมโอน ผบ.ทหารภูมิภาคที่ 5 กัมพูชา ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา

พล.ท.ธรรมนูญได้ยืนยันว่าจะไม่มีการปิดด่านแน่นอน ทั้งนี้ บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชามีภาพของแกนนำพรรค CNRP จำนวน 8 คนถูกติดไว้เป็นป้ายประกาศจับ โดยนอกจากการแจกจากทาง ตม. ที่ปอยเปตแล้ว สื่อกัมพูชายังพบป้ายประกาศลักษณะเดียวกันที่ชายแดนบริเวณช่องอานม้า จ.พระวิหาร ตรงข้าม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานีอีกด้วย (ที่มา: Pheng Vannak News

วิดีโอป้ายประกาศจับที่ด่านตรวจชายแดน (ที่มา: Facebook/ Pheng Vannak News)

เมื่อ 6 พ.ย. วิมาน สิงหพันธ์ จากสมาคมการค้าชายแดน จ.ตราด ให้ข้อมูลกับประชาไทว่ายังไม่มีการแจ้งข้อมูลจากทางการไทยอย่างเป็นทางการเรื่องการเดินทางกลับของสม รังสีและสมาชิกพรรค CNRP แต่ประเมินว่าการค้าชายแดนจะไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ หน่วยงานของกัมพูชาได้สอบถามเรื่องความเคลื่อนไหวของแรงงานกัมพูชา ซึ่งกระทำเป็นปกติอยู่แล้ว

00000000000

ไม่ว่าจะคึกคักหรือกร่อย สันติหรือนองเลือด สปอตไลท์ของนานาประเทศกำลังจับจ้องมาที่สนามบินสุวรรณภูมิและชายแดน อ.อรัญประเทศ-ปอยเปต สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 พ.ย. จึงควรค่าแก่การติดตาม อย่างน้อยก็ในฐานะกระดาษลิตมัสวัดความเป็นประชาธิปไตยและการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยสันติวิธี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net