Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เป็นที่ทราบกันดีว่า ที่ชายแดนใต้นั้น เป็นพื้นที่ใช้กฏหมายพิเศษ คือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) กับ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ประกาศใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มพื้นที่ทุกอำเภอ รวมทั้งในเขตพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย เพิ่มเติมจากกฏหมายทั่วไปที่ใช้บังคับควบคุมอยู่แล้ว แม้ว่าต่อมา ได้มีประกาศการยกเลิกการใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แทนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2553

ซึ่งการประกาศใช้ 'กฎหมายพิเศษ' ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้อำนาจการตรวจค้นและควบคุมตัวแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างเต็มที่ เช่น พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการยุทธ การระงับปราบปราม หรือการรักษาความสงบเรียบร้อย ฝ่ายพลเรือนต้องปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายทหาร ฝ่ายทหาร มีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น หรือกักบุคคล ที่สงสัยว่า เป็นราชศัตรู หรือเป็นบุคคลที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติ หรือคำสั่งของฝ่ายทหารไว้สอบถามได้ ไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องขออำนาจศาล และไม่ต้องมีหมายศาลในการควบคุมตัว สถานที่ที่ใช้ในการควบคุมตัว แล้วแต่ทหารจะกำหนด และไม่มีการปล่อยตัวชั่วคราว

หรือตามกฏหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัว บุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุน โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัย แต่ต้องขออนุญาตศาลควบคุมตัวครั้งแรกไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันจับกุม ถ้าจำเป็นให้ขยายเวลา ควบคุมครั้งละไม่เกิน 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน

จากเหตุที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร มีอำนาจเต็ม จึงมีเส้นคั่นบางๆ ระหว่าง "ยุติธรรม" และ "อยุติธรรม" หรือ "โปร่งใส" และ "ไม่โปร่งใส" เพราะทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ หรือถูกซัดทอดให้เป็นผู้ต้องสงสัย อาจถูกคุมตัวโดยที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม ซ้ำร้าย หลายกรณีผู้ถูกคุมตัวถูกซ้อมทรมาน จนถึงขั้นบาดเจ็บ-เสียชีวิต อีกทั้งบางกรณีไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุใด

หน่วยงานสำคัญของการใช้อำนาจพิเศษนี้ นอกจากประดาหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ของทหาร อีกบทบาทสำคัญคือ "หน่วยซักถาม"

"หน่วยซักถาม" ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรน่ากลัว แต่นี่เป็นชื่อที่ผู้คนในชายแดนใต้รู้สึกเป็นดั่งดินแดนสนธยา หรือถิ่นลี้ลับ ที่หากใครมีญาติพี่น้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมตัวเข้าไปในหน่วยซักถาม เชื่อว่าคงกินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นแน่ๆ แม้แต่คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคม ซึ่งในพื้นที่มีศูนย์ซักถามมาแล้วหลายแห่ง แต่บางแห่งปิดตัวลงเพราะมีปัญหาฉาวโฉ่เรื่องการซ้อมทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน และที่ร้ายแรงกว่านั้น บางแห่งมีคนเจ็บ-ตาย อย่างปริศนา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

หากตรวจสอบบทบาทของศูนย์ซักถาม ขออ้างอิงข้อมูลตรวจสอบที่เป็นปัจจุบันจากสำนักข่าวอิศรา ระบุว่ายังมี "หน่วยซักถาม" ปรากฏอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างน้อย 4 ศูนย์ ที่ทำหน้าที่ "ซักถาม" อย่างเป็นทางการ เวลามีผู้ต้องสงสัยถูกควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายพิเศษ ทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะผู้ที่ถูกจับยังไม่มีสถานะเป็น "ผู้ต้องหา" จึงต้องนำตัวไปควบคุมและซักถามยังสถานที่ที่ไม่ใช่โรงพัก

หน่วยซักถามทั้ง 4 ศููนย์ ประกอบด้วย

1. ศูนย์ซักถาม หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ขกท.สน.จชต.) เป็นศูนย์ซักถามหลักในพื้นที่ ตั้งอยู่ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

2. ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ตั้งอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหารเช่นกัน แต่อดีตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่เคยถูกควบคุมตัวส่งศูนย์ซักถามแห่งนี้ ให้ข้อมูลว่าเป็นคนละที่กับหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ แต่ก็อาจทำงานควบคู่กัน

3. ศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 ตั้งอยู่ในค่ายวังพญา อ.รามัน จ.ยะลา

4. ศูนย์พิทักษ์สันติ เป็นศูนย์ซักถามของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งอยู่ในโรงเรียนตำรวจภูธร 9 หรือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้เดิม ใน อ.เมือง จ.ยะลา

เป็นที่ทราบกันในวงการว่า หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร คือศูนย์ซักถามหลักของฝ่ายความมั่นคงในปัจจุบัน โดยไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ซึ่งตั้งอยู่ในค่ายเดียวกัน ทำหน้าที่คู่ขนานกันไปหรือแยกส่วนกัน มีลักษณะเกื้อหนุนกันหรือไม่ อย่างไร

หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ ตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 แทน "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" หรือ ศสฉ. ที่ถูกยุบไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.54 ตามคำสั่งของ พ.อ.ปิยะวัฒน์ นาควานิช ผู้อำนวยการ ศสฉ.ในสมัยนั้น (ต่อมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 4) หลังมีเรื่องร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง กระทั่งมีการเรียกร้องให้ยุบ ศสฉ.

สำหรับ "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" เป็นศูนย์ควบคุมตัวและซักถามผู้ต้องสงสัยของฝ่ายทหารที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดิมชื่อ "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" ตั้งอยู่ในสถานที่เดียวกัน คือภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร โดยในช่วงที่ฝ่ายความมั่นคงเปิดยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ด้วยการปูพรม "ปิดล้อม-ตรวจค้น-จับกุม" ผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก เมื่อราวปี 49-51 ฝ่ายความมั่นคงได้เปิดศูนย์ควบคุมตัวขึ้น 4 แห่ง และศูนย์วิวัฒน์สันติเป็นหนึ่งในนั้น แต่ก็มีปัญหาเรื่องซ้อมทรมาน จนต้องปิดศูนย์ไป และเปิด "ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" ขึ้นแทน แต่ก็ต้องปิดไปอีกเพราะปัญหาเดิม กระทั่งมีการเปิดหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ ขึ้นมาในท้ายที่สุด และปฏิบัติการมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ ได้รับการพัฒนาอาคารสถานที่ โดยเฉพาะห้องควบคุมตัวจนได้มาตรฐาน เจ้าหน้าที่เคยให้ข้อมูลว่า ประตูห้องควบคุมไม่ได้ใส่กุญแจ และยังมีสถานที่สันทนาการ รวมทั้งสนามกีฬาสำหรับออกกำลังกายด้วย

สำนักข่าวอิศราระบุข้อมูลอีกว่า ผู้ที่มีบทบาทพัฒนาศูนย์ซักถามภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร ก็คือ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการศูนย์ซักถามเอง ทั้งสมัยที่ใช้ชื่อศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ และหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ โดยภายในศูนย์ซักถามมีการปักป้าย "Art Resort" ไว้เป็นที่ระลึกด้วย โดยคำว่า "อาร์ต" เป็นชื่อเล่นของ พล.ท.ปิยวัฒน์ ที่รู้จักกันในนาม "บิ๊กอาร์ต"

ศูนย์ซักถามทุกยุค ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อไปอย่างไร ก็มีเรื่องร้องเรียนและคดีคาใจเกี่ยวกับการซ้อมทรมาน ตลอดจนการบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา

เริ่มจาก "ศูนย์วิวัฒน์สันติ" ถูกร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ซึ่งฝ่ายทหารยอมรับว่ามีปัญหาตามที่ร้องเรียนจริง ทำให้ต้องปิดศูนย์ ก่อนจะเปิดใหม่แล้วเปลี่ยนชื่อ

"ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์" มีกรณีการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของ นายสุไลมาน แนซา เมื่อวันที่ 30 พ.ค.53 โดย นายสุไลมาน เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ถูกพบเป็นศพในสภาพมีผ้าผูกคอติดกับลูกกรงภายในห้องควบคุมตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าเป็นการผูกคอตายเอง และมีการจ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว แต่ก็ไม่สามารถหยุดกระแสวิจารณ์ได้ จนเป็นสาเหตุหนึ่งของการปิดศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ในปีถัดมา และมีคดีความขึ้นสู่ศาล

"หน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ" มีกรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลลายิบ ดอเลาะ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.58 เป็นการเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุภายในห้องควบคุมตัวเช่นกัน ต่อมามีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง สรุปว่าไม่พบเงื่อนงำการทำร้ายหรือซ้อมทรมาน แต่ญาติยังติดใจ ปัจจุบันมีคดีอยู่ในชั้นศาล

"ศูนย์พิทักษ์สันติ" เป็นศูนย์ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังเกิดกรณีผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงผูกคอตายในห้องควบคุมตัว เมื่อวันที่ 19 ก.ค.59 โดยญาติไม่ติดใจ เพราะเชื่อว่าผูกคอตายเองจากความเครียดในปัญหาส่วนตัว และถูกจับกุมซ้ำอีก จึงไม่เป็นคดีความ

ในระยะหลัง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยืนยันอย่างแข็งขันว่าไม่มีปัญหาการซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกศูนย์ควบคุมตัว ที่ผ่านมาเคยมีสื่อมวลชนบางแขนงเสนอข่าวเรื่องร้องเรียนของผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวและอ้างว่าถูกซ้อมทรมาน ปรากฏว่าถูกหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องฟ้องร้องเป็นคดีความทั้งทางอาญาและแพ่ง

แต่ล่าสุดก็มาเกิดกรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เสียชีวิตลง หลังจากหามจากภายในห้องควบคุมตัวของศูนย์ซักถาม เพื่อส่งห้องไอซียู โรงพยาบาลปัตตานี เมื่อเช้ามืดของวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค.62 ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดว่านายอับดุลเลาะถูกซักถามและควบคุมตัวโดยหน่วยข่าวกรองทางทหารส่วนหน้าฯ หรือศูนย์ซักถามของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 หรือทั้งสองหน่วยนี้ทำงานด้วยกัน

ข้อเท็จจริงกรณีของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอก่อนหมดสติและหยุดหายใจยังคลุมเครือ เนื่องจากกล้องวงจรปิดภายในหน่วยซักถามยังไม่สามารถใช้การได้ และดูเหมือนข้อเท็จจริงที่ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ตั้งขึ้นโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าตั้งขึ้นจะไม่สามารถสร้างความเชื่อถือของข้อมูลให้ปรากฏแก่สังคมได้ รวมทั้งการสำทับของคนระดับผู้นำอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ที่ประกาศว่าไม่มีการซ้อมทรมาน รวมทั้งไม่เยียวยาให้แก่ครอบครัวของอับดุลเลาะ จนกว่าพิสูจน์ได้ว่าเขาบริสุทธิ์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจรับฟังอย่างนิ่งเฉยได้

คนตายไปแล้ว จะมีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้อย่างไร

มีข้อเท็จจริงอีกชุดที่อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว แต่เป็นมุมที่น่าสนใจจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยอดีตกรรมการที่ชื่อ "อังคณา นีละไพจิตร" ที่ระบุว่าว่า ตลาดระยะเวลา 1 ปี 5 เดือน ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2559- พ.ค.2561 มีผู้ร้องเรียนต่อ กสม.จำนวน100คำร้อง ในระหว่างตามรายงานผลการตรวจสอบ ที่ 87-186/2562 ลงวันที่ 3 เม.ย. 2562 นั้น กสม.ได้พบสัมภาษณ์ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคน ซึ่งทั้งหมดร้องเรียนโดยกล่าวอ้างไปในทำนองเดียวกันว่า ระหว่างการถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก 7 วันแรก ได้ถูกผู้ควบคุมบังคับให้ยืน ไม่ให้นั่งหรือนอน มีการทำร้ายโดยไม่ปรากฏบาดแผล ให้อยู่ในห้องอุณหภูมิต่ำ ใช้ถุงดำคลุมศีรษะเพื่อให้ขาดอากาศหายใจ หรือ ใช้น้ำราดบนใบหน้าเพื่อขัดขวางการหายใจ (water boarding) เพื่อให้ผู้ถูกควบคุมตัวรับสารภาพว่ามีส่วนในการก่อเหตุความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

“ถึงแม้พฤติกรรมที่ผู้ร้องทั้ง100รายกล่าวอ้างในคำร้องจะไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานหลักฐาน อื่นที่ยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่า มีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นทรมานหรือการปฏิบัติซึ่งโหดร้าย หรือย่ำยีศักดิ์ศรีต่อผู้ถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวของของผู้ถูกร้อง ... แต่ ในทางกลับกันหากไม่สามารถยืนยันได้ว่าการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวเป็นไปอย่างเหมาะสม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ก็ย่อมเป็นผลให้ญาติพี่น้องของผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าวเกิดความกังวล และย่อมมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วไปต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดถึงภาพลักษณ์และความเข้าใจของสังคมและนานาชาติ” นางอังคณากล่าว

สิ่งที่อดีต กสม.อย่างคุณอังคนา เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการซ้อมทรมานที่ไม่ปรากฏบาดแผลที่ผู้ถูกควบคุมตัวร้องเรียนมานับ 100 คำร้องนั้น ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเป็นสิ่งที่อับดุลเลาะ อีซอมูซอประสบจริง เพราะอย่างที่กล่าวว่า ไม่ปรากฏหลักฐานหรือพยานใดๆ บ่งชี้ได้ แต่น่าจะจินตนาการออกว่า อำนาจเต็มของเจ้าหน้าที่ภายใต้กฏหมายพิเศษ และการดำงรงอยู่ของหน่วยซักถามชายแดนใต้ ได้ขยี้บาดแผลแห่งความขัดแย้ง และสร้างปมร้าวลึกต่อปัญหาชายแดนใต้มากแค่ไหน.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net