Skip to main content
sharethis

ส.ส. ในสภาอภิปรายประเด็นการศึกษา งบความมั่นคง 'ครุจุ๊ย' จากอนาคตใหม่แจงสามปัญหาในนโยบายการศึกษาไทย-สามเรื่องที่ไม่ถูกกล่าวถึง ศธ. ขอเวลาอีกไม่นานแก้ปัญหาการศึกษา เรียนเขียนโค้ดไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ ส.ส.เพื่อไทยขอลดงบทหาร ช่วยประชาชนก่อน รมช.กลาโหมแจงขั้นตอนจัดหาอาวุธ

ภาพห้องประชุมสภาที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ที่มา:วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา)

26 ก.ค. 2562 การประชุมรัฐสภาที่วันนี้เป็นวันที่ 2 ของการแถลงนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการอภิปรายกันหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นเป็นประเด็นการศึกษา งบประมาณความมั่นคง ปัญหารายได้จากการท่องเที่ยว

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) อภิปรายว่า ในแถลงนโยบายเรื่องการศึกษานั้นทำให้เกิดความสงสัยว่าจะแก้ปัญหาการศึกษาที่คาราคาซังมานานหลายสิบปีได้อย่างไร วันนี้ขออภิปรายสามปัญหาคาราคาซัง

เรื่องแรก ในข้อ 8.6.3 พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีการกล่าวถึงกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ขอตั้งคำถามว่าจากเดิมที่กองทุนนี้ได้ขอเงินตั้งต้นเป็นจำนวน 25,000 ล้านบาท เพื่อเด็กเป้าหมายจำนวน 4.3 ล้านคน แต่ในทางปฏิบัติ ปีแรกได้งบประมาณ 1,220 ล้านบาท ปีต่อมาได้เพิ่มประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท สิ่งที่ตามมาคือการสงเคราะห์เด็กยากจน ที่ตามมาหลังจากนั้น เด็กยากจนต้องพิสูจน์ว่าจนจริงผ่านกระบวนการเอกสารจำนวนมาก เป็นภาระโรงเรียน นักเรียน ครู ผู้ปกครองเพื่อเงินจำนวน 1,000-1,500 บาท การสงเคราะห์เช่นนี้ควรทำในฐานะการแก้ปัญหาระยะสั้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวที่สุดคือการยกระดับโรงเรียนให้มีคุณภาพใกล้กันที่สุด ตั้งคำถามว่า หลักการสนับสนุนควรเป็นสิทธิของเด็กทุกคนในประเทศไทย ไม่ควรมีกรณีพิเศษใดๆ การพัฒนาบุคลากรควรตั้งต้นจากหลักการว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและสามารถพัฒนาตัวเองได้เต็มที่ 

ประการที่สอง ในหัวข้อ 8.6.1 เรื่องภาระงานครู ครูไทยมีภาระงานอื่นมากกว่างานสอน คือต้องทำโครงการฝากต่างๆ ทั้ง ศธ. (กระทรวงศึกษาธิการ) และหน่วยงานอื่นๆ ขอฝากว่าควรเริ่มหารือระหว่างหน่วยงานราชการให้เกิดการบูรณาการ ไม่ให้โครงการเหล่านั้นไปเป็นภาระครู รวมทั้งภาระการประเมินครูอีกมากมายที่บางโรงเรียนต้องประเมินข้อมูลออนไลน์นับ 10 ฐานข้อมูล ไม่นับการพาเด็กออกไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียนหรือทำกิจกรรมอื่น ครูจึงไม่ได้อยู่กับนักเรียนและไม่ได้สอนนักเรียนอย่างเต็มที่

ระบบคัดเลือกครูมาในกระบวนการผลิตครู เมื่อผลิตแล้วต้องมีการดูแล สนับสนุนเพื่อให้ครูได้อัพเดททักษะความรู้ต่างๆ เสมอ มีกระบวนการส่งเสริมครูตลอดช่วงการทำงาน เหล่านี้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย 6 ฉบับและหน่วยงานราชการอีกมากมาย

ประการที่สาม การมีส่วนร่วม ยังมองไม่เห็นการมีส่วนร่วมที่เป็นรูปธรรม กลไกกรรมการสถานศึกษาที่มีอยู่แล้วควรได้รับการยกระดับให้ปฏิบัติงานได้ มีอำนาจ หน้าที่อย่างแท้จริง ควรต้องให้นักเรียนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดในระบบการศึกษา เข้าไปนั่งในกรรมการบริหารการศึกษาเพื่อตรวจสอบและแนะนำแนวทางของสถานศึกษาด้วยตัวพวกเขาเอง

กุลธิดากล่าวต่อไปว่า จากคำแถลงนโยบาย ยังมองไม่เห็นจิ๊กซอว์สำคัญสามชิ้น หนึ่ง คำแถลงกล่าวถึงโรงเรียนขนาดเล็กแต่ไม่กล่าวถึงการควบ ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ผ่านมาเรามีการควบ ยุบโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้น ถามไปยัง รมต. ว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร มีใครได้รับผลกระทบหรือไม่ วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการหาทางออกร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน โรงเรียน ส่วนราชการ ควรพูดคุยและแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน 

สอง การแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม มาตรฐานขั้นต่ำของโรงเรียนที่จะกำหนดนั้นมีอะไรบ้าง เรื่องโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ไปจนถึงอาหารกลางวัน ความปลอดภัยพื้นฐานของ ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ ยังเป็นปัญหาอยู่ในหลายโรงเรียน สนามเด็กเล่นที่ใช้ได้จริงก็ยังขาดแคลน

สาม เรื่องผู้เรียน ในคำแถลงมีการพูดถึงผู้เรียนในแนวดิ่งตั้งแต่ระดับการศึกษา จนถึงการศึกษาตลอดชีวิต แต่ยังไม่เห็นความหลากหลายของผู้เรียน จะมีนโยดูแลผู้เรียนที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษอย่างผู้พิการ หรือเด็กที่ต้องการนักพัฒนาการหรือนักจิตวิทยาพิเศษ นโยบายการศึกษาต้องอยู่บนหลักการว่า ต้องไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลัง อยากเห็นการแก้ปัญหาการศึกษาอย่างถึงราก ถึงโครงสร้าง ให้ครู นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพตัวเองอย่างเต็มที่ 

ศธ. ขอเวลาอีกไม่นานแก้ปัญหาการศึกษา เรียนเขียนโค้ดไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงว่า การควบรวมโรงเรียนเล็ก ส่วนตัวมองว่าโรงเรียนที่จะให้การศึกษากับเยาวชนไทยต้องมีคุณภาพ ช่วง 4-5 วันที่ผ่านมามีโอกาสไปดูโรงเรียนที่สตูลและหาดใหญ่ บางโรงเรียนมีนักเรียน 60 กว่าคน ครู 3 คน ขับรถไปอีก 3 นาทีมีอีกโรงเรียนหนึ่ง มีนักเรียนประมาณ 200 คน มีครู 12 คน หากทำตามคำแนะนำของสมาชิก (กุลธิดา) คิดว่าทำได้ สามารถทำให้การควบรวมโรงเรียนสร้างหนึ่งโรงเรียนที่มีคุณภาพได้ แต่ต้องใช้ความร่วมมือของ ส.ส. ทุกท่าน การมีความเห็นต่างจากการควบยุบโรงเรียนเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

รมว.ศธ. กล่าวว่า ได้มีโอกาสพบ รมต. ศธ. อาเซียนเมื่อต้นอาทิตย์ หลายท่านนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาของประเทศ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยาก แต่ต้องมุ่งมั่นในการแก้ไข การควบรวมโรงเรียน ยกตัวอย่างสิงคโปร์ เขาบอกว่าหากโรงเรียนไม่มีคุณภาพ เขาควบรวมทันที ก็ถามไปว่ามีผลกระทบกับชุมชน ผู้ปกครองไหม เขาตอบว่าขึ้นอยู่กับการสื่อสารกับผู้ปกครอง ก็หวังว่า ส.ส. ทั่วประเทศจะช่วยกัน

ณัฏฐพลกล่าวว่า โครงสร้าง ศธ. และระบบการศึกษาต้องได้รับการดูแล ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาต้องได้รับการแก้ไข เด็กไทยทุกคนต้องมีมาตรฐานการศึกษาพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน โรงเรียนที่อยู่ชายขอบต้องได้รับการศึกษาเท่ากับโรงเรียนในเมือง ต้องเอาเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ 6-7 โรงเรียนที่เคยไปดูมาโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า พบว่าทุกโรงเรียนตอบเป็นสิ่งเดียวกันว่าไม่มีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ต เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่ถามบอกว่าอาหารกลางวันของโรงเรียนดี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอาหารกลางวันไม่ได้มีปัญหา ส่วนความสามารถครูไทย เท่าที่สัมผัสดู ไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในเรื่องความตั้งใจและการบริหารจัดการ แต่อาจเป็นเรื่องหลักสูตร การพัฒนาเพิ่มความรู้ในหลายด้านที่ต้องมาใส่ใจกันในการอบรมเพิ่มเติมผ่านกระบวนการเทคโนโลยี ลดค่าใช้จ่ายในการสัมมนาในพื้นที่ห่างไกล เสียเวลาในห้องเรียน ขอเวลาให้ทางเขาและ รมช. ทั้งสองร่วมทำงานกับผู้บริหารในกระทรวง กับครูที่มีจำนวนมาก สร้างขวัญและกำลังใจครูด้วยการแก้หนี้ให้ครู 

ภาระงานของครูต่างๆ เรากำลังดูว่าจะมีวิธีประเมินความสามารถ ศักยภาพอย่างไร ทั้งนี้ ครูทั่วประเทศต้องพร้อมใจเข้าสู่หลักสูตรเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาตัวเอง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่ปัญหาอาจอยู่ที่โครงสร้างหลักสูตร และความตั้งใจของครูที่จะเข้าสู่กระบวนการนี้ 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. กล่าวในการบรรจุการสอนเขียนโค้ดภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding) ที่กุลธิดาได้ยกตัวอย่าง โดยระบุว่ามีการบรรจุใส่ในหลักสูตรแล้ว จะเริ่มสอนในภาคเรียนหน้า ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา ทั้งนี้ เครื่องไม้เครื่องมือไม่ได้สำคัญที่สุด การสอนไม่จำเป็นต้องมีคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นการสอนคนไทยเรื่องตรรกะในการแก้ปัญหา เรามีครูของสำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะไปอบรมครูในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

ส.ส.เพื่อไทยขอลดงบทหาร ช่วยประชาชนก่อน โอด ส.ส. เข้าไม่ถึงนายกฯ

วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย อภิปรายในประเด็นหลักเรื่องนโยบายความมั่นคง งบประมาณความมั่นคงว่า วันนี้นโยบายรักษาป้องกันอธิปไตยประเทศมีทั้งหมด 7 บรรทัด ที่ผ่านมา คสช. ช็อปอาวุธ 3 ปี 7 หมื่นล้าน เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อสาธารณะแล้ว รถถัง 38 คัน 6,985 ล้านบาท รถเกราะล้อยาง 34 คัน 23,000 ล้านบาท เฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ 8,083 ล้านบาท เรือตรวจการชายฝั่ง-ไกลฝั่ง 10 ลำ 6,599 ล้านบาท และเรือดำน้ำ 3 ลำ 36,000 ล้านบาท เชื่อว่าเป็นความจำเป็นที่ประเทศชาติต้องมีอาวุธ แต่สิ่งที่จะอภิปรายคือ มีข่าวออกมาว่าขณะนี้ ทีมเสนาธิการหรือทีมที่ดูแลเกี่ยวกับการซื้ออาวุธเยอะไปแล้ว มีการติดต่อทาบทามจะซื้อปืนใหญ่จากอิสราเอลและเครื่องบินรบจากเกาหลีใต้ 

วิสารกล่าวไปถึงงบประมาณกระทรวงกลาโหมตลอด 5 ปี รัฐบาล คสช. ใช้ไป 8.9 แสนล้านบาท กองทัพบก (ทบ.) ได้เยอะสุด 4.5 แสนล้านบาท โครงการของสามเหล่าทัพมีเป็นหมื่นโครงการ มีชาวบ้านแจ้งมาว่าชะลอเรือดำน้ำได้ไหม เอาโครงการไปช่วยชาวบ้านก่อนไหม เรื่องการซื้ออาวุธต่อไปน่าจะพอ อยากให้ผันแปรโครงการเหล่านี้ไปเป็นเรื่องความเป็นอยู่ของราษฎร คิดว่ากระทรวงกลาโหมมีงบประมาณที่เพียงพอ และมีหลายโครงการที่ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านเกรงขามกองทัพไทยได้อยู่แล้ว

วิสารกล่าวต่อไปในประเด็นเศรษฐกิจการแข่งขันไทยในข้อที่ 5 ที่เห็นชัดๆ วันนี้คือ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งมาว่าตัวเลขหลังสุดในการที่นักลงทุนต้องมาลงทุนประเทศไทย 3 ปีแรกของงบปี 2561 ปรากฏว่าไม่เป็นอย่างที่สมคิดบอก ณ วันนี้ เงินลงทุนจากต่างชาติโดยตรงในไตรมาสแรกของปี 2561 มี 146,383 ล้านบาท แต่ปี 2562 ไตรมาสแรก 21,485 ล้านบาท ตรงนี้คืออะไร ที่บอกว่าคนจะหายจนตั้งแต่ปี 2558 และที่บอกว่าจะช่วยคนจน ถ้าตอนนั้นประยุทธ์และประวิตร ให้ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุลอยู่ต่อ เศรษฐกิจคงจะดีกว่านี้

วิสารกล่าวพาดพิงประวิตรในประเด็นการพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวในหัวข้อที่ 5 เอกสารที่ราชการให้มานั้นอย่าเชื่อ เพราะเป็นตัวเลขที่หลอกลวงและเป็นการรายงานตามปกติ ในเดือน ม.ค. 2561 มีปัญหาโรงแรมผู้ประกอบการไทยที่เคนย่า มีคนเสียชีวิตเยอะจากการก่อการร้าย จริงๆ ประวิตรจะไม่รู้ไม่ได้ เพราะการไปต่อสู้แข่งขันเอาตัวประกันออกมา ทูตทุกประเทศในเคนย่าต้องไประดมเอาทุน เอากำลังไปดึงเอานักท่องเที่ยวมา แต่ท่านรองฯ ประวิตรกลับบอกไปว่าโชคดีที่คนไทยไม่ตาย ทั้งยังตอบคำถามที่ถามว่าทำไมต้องมาก่อการร้ายที่โรงแรมผู้ประกอบการไทย โดยตอบว่าสงสัยเพราะอาหารอร่อย จึงขอให้ไล่ทีมที่ปรึกษาออกไป ข้อมูลแบบนี้เอาให้นายได้อย่างไร

เมื่อเดือน ก.ค. 2561 มีเรือเฟอร์รี่ล่มจนมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิต แต่ประวิตรกลับบอกว่ามันไม่เกี่ยวกับเรา เขาทำของเขาเอง เรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญก็ไปปราบให้ประเทศจีนเดือดร้อนหมด จริงๆ ต้องค่อยๆ เก็บภาษี ไม่ใช่ไปหักดิบ มีลูกน้องของท่านบางคนแอบอ้างชื่อท่านไปทุบเอาสตางค์เขาด้วย ผู้ประกอบการพรรคพวกคนจีนบอกว่ามีคนจีนหลายร้อยล้านคนจำหน้าท่านได้และมีความเจ็บแค้น ขอให้โละทีมที่ให้ข้อมูลท่านผิด สิ่งที่ท่านพูดไม่กี่คำทำให้นักท่องเที่ยวในเดือน ก.ค. และ ส.ค. 2561 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ตัวเลขจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนหายไป 512,502 คน รายได้หายไป  61,619 ล้านบาท

วิสารกล่าวว่า ไปพบหนังสือเกี่ยวกับกองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เขียนโดยคนที่ชื่อว่าประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเขียนได้เช็คสอบ ขอข้อมูลจากผู้ใหญ่กระทรวง ผบ.ทบ. หลายคน เลยรู้ว่าทำไมผู้เขียนถึงต้องติดว่านักการเมืองเป็นศัตรู ทำไมต้องออกกฎหมายให้นักการเมืองลำบาก วันนี้ดีใจจริงๆ อยากเห็นบรรยากาศแบบนี้ เราก็คนไทยเหมือนกัน มีอะไรก็พูดกันแม้มองมุมต่างกัน อยากให้นายกฯ เดินออกไปพบ ส.ส. และ ส.ว. บ้าง เพราะได้รับการร้องเรียนจากเพื่อนๆ ว่าเข้าไม่ถึงนายกฯ  

'ป้อม' แจงปมดราม่า แค่ล้อเล่น รมช.กลาโหมแจงขั้นตอนจัดหาอาวุธ

ประวิตรชี้แจงคำอภิปรายของวิสารว่า เรื่องงบประมาณจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพ ที่พูดมานั้นเป็นความจริง แต่การใช้จ่ายของกระทรวงกลาโหมแบ่งเป็นสี่ส่วนได้แก่ ยุทโธปกรณ์กองทัพไทยและ 3 เหล่าทัพ ซึ่งมีแผนการจัดหาอย่างชัดเจน การทำงานทั้งหมดนั้นทำงานร่วมกัน ส่วนประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวนั้นตอบว่าเป็นการพูดเล่นกับผู้สื่อข่าว

“สำหรับเรื่องเรือหรืออาหารนั้น เป็นการพูดเล่นกับผู้สื่อข่าว มึงก็เอาไปเขียน โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย ในเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียบ เรือที่ล่มนั้นเป็นเรือที่จีนทำในไทย แล้วก็รับ-ส่งผู้โดยสารของคนจีนโดยเฉพาะของเขา ผมก็พูดไปโดยไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องราวใหญ่โต ได้บอกคนจีนทั้งหมดไปแล้วว่าไม่ได้หมายความเช่นนั้น เรื่องการท่องเที่ยวนั้นผมก็ไม่เคยคุม”

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหมชี้แจงเรื่องงบประมาณที่ใช้กับยุทโธปกรณ์ว่างบประมาณกองทัพในประเทศต่างๆ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2 ของจีดีพี ที่ผ่านมากองทัพไทย ก่อน 2540 ก็อยู่ได้ในระดับร้อยละ 2.2-2.4 ของจีดีพี เมื่อมีวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 งบประมาณกองทัพก็ลดลงเหลือประมาณร้อยละ 1.1 ของจีดีพี และได้เติบโตขึ้นมาบ้าง ในปี 2562 ก็อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของจีดีพี ในงบประมาณกลาโหมนั้น หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ในงบทั้งหมด 100 บาท ประมาณ 47-48 บาทจะเป็นงบประมาณบุคลากรและกำลังพล ประมาณ 23-24 บาทเป็นงบปฏิบัติภารกิจทั่วไป รวมทั้งภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม ประมาณ 18-19 บาทนั้นเป็นงบพัฒนากองทัพ จะเห็นได้ว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

กองทัพมียุทโธปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานค่อนข้างมาก งบใน 19 บาทจะเป็นการปรับปรุงให้ใช้การได้ต่อไป ส่วนที่คืนสภาพไม่ได้ก็จะจัดหาทดแทน ซึ่งก็มีแผนในการจัดหา จากนั้นจะให้กองทัพตั้งคณะกรรมการมาคัดเลือกแบบ เลือกคุณสมบัติเฉพาะให้ตรงกับปฏิบัติการ ยุทธการ ยุทธวิธีของแต่ละกองทัพ แล้วเสนอไปที่กระทรวงกลาโหม แต่ละเหล่าทัพเป็นตัวกำหนดความต้องการขึ้นมา ซึ่งมีการดำเนินการที่ค่อนข้างจะโปร่งใสและมีขั้นตอนชัดเจน และกำหนดความต้องการขั้นต้นด้วยว่าจะมีส่วนหนึ่งที่จะให้ซ่อมบำรุงให้ใช้ต่อไป มีเพียง 1 ใน 3 ที่จะจัดหาใหม่เพื่อให้มีความทันสมัย 

ส่วนเรื่องเรือดำน้ำนั้น ชัยชาญระบุว่า ประเมินแล้วว่ามูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลมีมูลค่าถึง 24 ล้านล้านบาทต่อปี ไทยมีเรือเข้า-ออกอ่าวไทยมากกว่าปีละ 15,000 ลำ ความมั่นคงทางทะเลเป็นสิ่งที่กองทัพเรือกำหนดยุทธศาสตร์ บทบาท ขีดความสามารถการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเล เรือดำน้ำก็เป็นหนึ่งในแผนนั้น ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศก็มีการจัดหาเรือดำน้ำเข้ามาใช้งานแล้ว และการซื้อเรือดำน้ำนั้น ไม่ใช่ว่าซื้อแล้วได้เลยในวันนั้น ต้องมีการส่งคนไปเรียนรู้และฝึกฝนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงประจำการ ใช้เวลา 6 ปี การจัดหาก็มีขั้นตอนดำเนินการ มิได้เป็นการทำให้ประเทศต่างๆ เกิดความไม่ไว้วางใจ ประเทศในอาเซียนก็มีการฝึกปฏิบัติการร่วมกันเพื่อป้องปราม และสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เมื่อมีวิกฤต ก็จะเป็นส่วนหนึ่งให้ประเทศไทยมีความมั่นคง หมายถึงผลประโยชน์ในทางทะเล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net