Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันนี้ผมมาพูดในฐานะเพื่อน/สหายของสยาม ผมจะพูดถึงเขาในฐานะ “มนุษย์คนหนึ่ง”

1. สยามคือใคร

สยาม ธีรวุฒิ ชายอายุ 33 ปี ลูกชายของครอบครัวช่างซ่อมแอร์ย่านอ้อมน้อย เขาเรียนจบวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ...

ผมรู้จักสยามช่วงปี 2552 หลังจากรัฐประหารปี 2549 ได้ 3 ปี และก่อนเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 ไม่ถึงปี โดยการแนะนำของน้องๆ ที่ทำกิจกรรมทางสังคมในรามคำแหง

ภาพแรกที่เห็นคือ เขาขี้อาย ไม่ค่อยพูด บางครั้งพอเขาพูด เพื่อนก็จะขำ เพราะคิดว่าคำถามของเขาดูแปลก

หลังจากปี 52 สยามก็เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในฐานะคนร่วมจัดงาน ยกเก้าอี้ คนนำเสนอการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในขณะนั้นๆ และล่าสุดก็คือนักแสดงละครในกลุ่มประกายไฟการละคร

มีเรื่องที่พวกเรารู้กันเสมอเกี่ยวกับสยามคือเขาจะมาร่วมกิจกรรมกับพวกเราได้ก็ต่อเมื่อว่างจากงานช่วยครอบครัวซ่อมแอร์ บางทีเขาก็บอกเราว่า “พี่ ผมไปช่วยไม่ได้นะพรุ่งนี้ ผมต้องออกไปล้างแอร์กับพ่อ”

แน่ล่ะ สยามมีพ่อและแม่ ไม่ต่างจากเราทุกคน

เขามีคนที่เขารัก และเขาก็มีคนรัก ... เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง (a man)


2. ทำไมเขาต้องหนีไป

ภายหลังจากรัฐประหารปี 2557 นักกิจกรรมหลายคนถูกเรียกไปรายงานตัวและระบุความผิด ผมและหลายคนถูกเรียกไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พวกเขาถามเราว่าเราอยู่ตรงไหนใน “ผังล้มเจ้า” “ทำไมผมมีรูปถ่ายกับคนนั้นคนนี้” ฯลฯ

เรื่องราวหนึ่งในระหว่างการสอบสวนพวกเรา เจ้าหน้าที่เชื่อว่าผมซึ่งแก่ที่สุดในกลุ่มประกายไฟเป็นคนเขียนบทละครเจ้าสาวหมาป่า แน่นอนว่าผมปฏิเสธ เพราะผมไม่มีความสามารถนั้นแน่ๆ

ที่สำคัญ ผู้มีอำนาจยังได้ถามถึงสยามและสมาชิกคนอื่นๆ ของประกายไฟการละคร ผมและเพื่อนตระหนักแน่ชัดระหว่างที่นอนในค่ายทหารว่าสยามคงจะโดนคดีแน่นอน

ภายหลังจากออกจากค่ายทหาร ผมฝากเพื่อนไปบอกสยามว่าเขาน่าจะมีโอกาสโดนจับกุม

หลังจากนั้นผมก็ทราบว่าเขาหนีไป ... เขาหนีไปแบบที่หลายคนหนีไปหลังการรัฐประหาร บางคนหนีสำเร็จ บางคนถูกจับเข้าคุก

และแน่นอน ที่เรารู้กันว่า... หลายคนตายในเวลาต่อมา


3. สยามหายไปไหน หายไปได้อย่างไร

ในระหว่างที่เขาหนีไป ผมรู้มาว่าเขาลำบากมาก ทั้งการปรับตัวและความเป็นอยู่ เขาไม่มีใครสนับสนุน นอกจากเงินเล็กน้อยที่ผมเดาว่า มีคนส่งให้เขาในนามของการบริจาคช่วยเพื่อน ไม่มีองค์กรระหว่างประเทศใดๆ เข้าไปช่วยให้เขาไปประเทศที่ 3 ได้อย่างปลอดภัย

นี่ยังไม่นับว่าพ่อและแม่ของเขาโดนคุกคามอยู่ตลอดเวลา จากกลุ่มคนที่คุณก็รู้ว่าใคร

ผมไม่ได้ตามข่าวเขามากนัก มารู้อีกทีคือประมาณวันที่ 10 พฤษภาที่ผ่านมา ว่าเขาถูกจับระหว่างเดินทางเข้าประเทศเวียดนาม และถูกส่งกลับไทยในวันที่ 8 พฤษภา จนบัดนี้เราทุกคนก็ไม่รู้ว่าเขาหายไปไหน

แน่ล่ะ คนที่จับกุมและทำร้ายเขาคงรู้ดี

สยามไม่ได้อยากหายไป ไม่ได้อยากหนี ทำไมสยามไม่สู้คดีเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ผิด

ผมคงไม่ต้องสาธยายมากนักว่าทำไม เพราะไม่เคยมีใครถูกพิสูจน์ ”ถูก” จากคดีทำนองนี้ เพราะผู้มีอำนาจตัดสินไปแล้วว่าพวกเขาผิดและเป็นภัย และพวกเขาไม่ใช่คนไทย

ผมนึกสงสัยมากๆ ว่า เพราะเหตุใดลูกชายของช่างแอร์ที่ตลก เศร้า รัก และมีความฝัน ถึงต้องจบลงแบบนี้

หรือว่าสังคมไทยไม่ต้องการความฝัน???


4. ความฝันกับความเปลี่ยนแปลง

สังคมที่ดีคือสังคมที่ทำให้เรามีความฝันได้ สังคมที่จะมีความฝันได้มันต้องเป็นสังคมที่มีเสรีภาพ เสรีภาพที่จะมีชีวิตและเสรีภาพที่จะพูด รวมถึงเสรีภาพที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้สอดคล้องไปกับความฝัน

ความฝัน จึงสะท้อน 2 สิ่ง

1) สังคมที่ดำรงอยู่ไม่ดีพอ มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ และความรุนแรง

2) สังคมที่ดีกว่าคือทางแก้หนึ่ง ซึ่งก็มีได้หลายความใฝ่ฝันพร้อมๆ กันได้เสมอ

ผมมารู้ว่าสยามมีบทบาทในการจัดรายการวิทยุร่วมกับผู้ลี้ภัยอีกสองสามคน ก็เมื่อเห็นข่าวการหายตัวไปของพวกเขา

ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะมองเขาอย่างไร ผมก็รู้ว่าเขาคือสยามที่ผมรู้จักเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว

เขายืนยันเสรีภาพที่จะมีชีวิต ที่จะพูด ที่จะมีความฝัน ต่อให้สิ่งที่เขาพูดหรือฝันมันจะไปไกลแค่ไหนก็อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการที่เขาพยายามยืนยันการมีชีวิตของเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งประเทศนี้ให้เขาไม่ได้

การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความฝัน สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ทางใดทางหนึ่งเสมอ และความเปลี่ยนแปลงก็คือเงื่อนไขของการดำรงอยู่ของสังคมหนึ่งๆ ด้วย

การปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงก็คือหัวใจของระบอบเผด็จการและการกดทับเบียดขับการมีชีวิตและเสรีภาพของสมาชิกในสังคม

ในทางรัฐศาสตร์ หากสังคมใดไม่สามารถอดทน ไม่สามารถปรับตัว หรือไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่มาจากสมาชิกของสังคม มันก็สะท้อนความป่วยอันเกิดจากความไม่ยืดหยุ่นและไร้สมรรถนะในการจัดการกับความแตกต่างและความขัดแย้ง ซึ่งควรจะถูกมองเป็นเรื่องปกติของการอยู่ร่วมกัน

ผู้ลี้ภัย การอุ้มหาย และการจับกุมด้วยคดีทางการเมือง คือ อาการของความป่วยไข้ของสังคมนี้ ซึ่งเป็นสังคมที่รังเกียจและเบียดขับความฝันและการมีชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

การหาความจริงว่าสยามอยู่ที่ไหน ใครทำให้เขาหายไป และทำไมพวกเขาถึงต้องทำให้สยามหายไป ก็คือ จุดเริ่มต้นของการแก้ไขอาการป่วยไข้ปางตายของสังคมไทย

เราทุกคนคือสยาม ... คือสโลแกนที่สะท้อนความจริงอย่างถึงรากที่สุด เราคือสยาม เราเคยเป็นสยาม และเราจะกลายเป็นสยามในที่สุด

มาร่วมแก้ไขความป่วยไข้/ล้างพิษของสังคมนี้ด้วยการตามหาสยามกันเถอะ

ด้วยความสมานฉันท์

 

 

หมายเหตุ: บทความนีี้เป็นสคริปต์ที่ใช้พูดในงาน De-Talk : ล้างพิษรัฐประหาร ทวงคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน จัดโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง เครือข่ายนักปฏิบัติการเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.00-17.00 น. ณ ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net