Skip to main content
sharethis

ไปดูถนอม ชาภักดี และเพื่อนศิลปินรีโนเวตบ้านริมบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น เป็น ‘เดอะมานิเฟสโต้ บายใหม่อีหลี’ ชวนเข้าใจการไปปักหมุดพื้นที่ปฏิบัติการศิลปะด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง แหกขนบการแสดงงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ และการฝังแคปซูลกาลเวลาที่จะเปิดอีกครั้งใน 1 ศตวรรษหน้า

อาคารสีขาวริมบึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น กำลังจะถูกปรับรูป-เปลี่ยนร่างให้สอดรับวัตถุประสงค์ที่ถนอม ชาภักดี อดีตอาจารย์สาขาวิชาศิลปะจินตทัศน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และพรรคพวกศิลปินสร้างขึ้นมาภายใต้ชื่อภาษาอังกฤษกึ่งอีสาน ‘เดอะมานิเฟสโต้ บายใหม่อีหลี’

ข้างๆ อาคารสีขาวมีการสร้างบ่อขึ้นมาเพื่อทำแคปซูลกาลเวลา เพื่อให้เพื่อนๆ นำข้าวของเครื่องใช้ไปทิ้งไว้ บ่อจะถูกปิดด้วยหมุดอะครีลิกที่มีข้อความ ‘Aesthetic of Resistance (สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน)’ คำขวัญของกลุ่มศิลปินในเยอรมนียุคทศวรรษ 1930 ที่ศิลปะเพื่อต่อต้านการใช้ศิลปะเป็นโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซีเยอรมันที่เป็นศิลปะกระแสหลักในยุคนั้น สื่อนัยของงานศิลปะที่ถนอมและเพื่อนศิลปินอยากทำและอยากมีพื้นที่ให้ทำ

ตามแผนการ แคปซูลดังกล่าวจะถูกเปิดในอีก 100 ปีข้างหน้า 

“ผมอยากให้มองว่า ณ ยุคสมัยที่เราอยู่ ข้าวของเครื่องใช้แต่ละคนมีอะไร เราใช้อะไร เรามีพลาสติกนะ มีกล้องแบบนี้ มีแว่นตาแบบนี้นะ” เป็นคำชี้แจงของถนอมเกี่ยวกับแคปซูลกาลเวลา ราวกับจะทำให้มันเป็นงานศิลปะที่ใช้ระยะเวลายาวนานในการสร้างสรรค์

ถนอม ชาภักดี

ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าใครจะอยู่เปิด และยิ่งไม่มีคำตอบเข้าไปใหญ่ในเรื่องภาพฝันของวันที่เปิดแคปซูลในอนาคตอันไกล แต่ในภาพฝันที่ยังพอเห็นกันในช่วงชีวิตนี้ ถนอมได้เล่าถึงเส้นทางและเจตจำนงค์ของการทำศูนย์ปฏิบัติการทางศิลปะทางเลือกในภาคอีสานที่กำลังก่อรูปก่อร่าง

จากขอนแก่น มานิเฟสโต้ ถึง ‘ใหม่อีหลี’ ปักหลักศิลปะทางเลือกที่อีสาน

“หลังจากที่เราจัดขอนแก่น มานิเฟสโต้เมื่อเดือน ต.ค. 2561 ที่ตึกจีเอฟเก่า เราก็คิดว่าขอนแก่นมันเป็นเมืองที่สมัยจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ต้องการให้เป็นศูนย์กลางของภาคอีสานอยู่แล้ว และหลายๆ อย่างก็ถูกวางไว้ที่นี่ อีกอย่างหนึ่ง เราควรจะปักหมุดพื้นที่ในการจัดการบริหารโครงการมานิเฟสโต้ที่นี่ เลยพากันหาว่าจะใช้ยังไง” ถนอมเล่าเท้าความถึงการแสดงงานศิลปะที่เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางเมื่อ ต.ค. 2561

ศิลปะ/ศิลปินอีสานร่วมสมัย | หมายเหตุประเพทไทย #255

“นอกเหนือจากจัดศิลปะตามจังหวัดต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญคืออยากเก็บสิ่งของที่เก็บไว้เป็น archive (หอจดหมายเหตุ) พอมาเจอที่ตรงนี้ก็ชอบเพราะว่าเป็นบึงแก่นนครด้วย ถือว่าเป็นเมืองเก่าของขอนแก่นก็ว่าได้ และพื้นที่ก็เป็นพื้นที่เปิด คนไปมาได้ง่าย ก็เลยตัดสินใจใช้พื้นที่ตรงนี้ทำ และเปลี่ยนชื่อเป็น Manifesto by Maiele (ใหม่อีหลี) ให้มีคำภาษาอีสาน ส่วนมานิเฟสโต้ก็เป็นคำหลักที่จะใช้จัดงานเชิงศิลปะไปทั่วอีสาน ที่นี่ก็จะมีห้องสมุด หอจดหมายเหตุ ชั้นสองก็จะมีเป็นพื้นที่การแสดงงานชั่วคราว จะหมุนเวียนเป็นนิทรรศการหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ด้านหลังเป็นที่พักศิลปินที่มาลงพื้นที่ทำงาน แล้วใช้เป็นที่พำนักหรือหารือ”

ที่บึงแก่นนครบึงเดียวกันนี้เองที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ร่างและเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 และปัจจุบันก็ยังมีอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์อยู่ที่ ถ.ประชาสโมสร ใน จ.ขอนแก่น

กระจายอำนาจทางศิลปะออกจากแกลเลอรี่และพิพิธภัณฑ์

“ผมว่าศิลปินในอีสานทุกคนมีไฟระอุในการทำงานเยอะ แต่พื้นที่ในการเปิดโอกาสถูกจำกัดด้วยความเป็น White Cube ถูกจำกัดในกรอบแนวคิดแบบพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์มากกว่า พื้นที่เปิดมันมีเยอะ เพียงแต่เราจะริเริ่มกระบวนการ แนวคิดที่โลกศิลปะในตะวันตกเขาทำกันคือ Artistic Research, Participatory Art, Relational Aesthetic (สุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธ์) ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนได้ไง ผมคิดว่าอันนี้เราจะต้องรุกในเรื่องนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้คนตระหนักว่าศิลปะก็คือวิถีชีวิตประจำวัน ไม่ได้ห่างไกล”

ถนอมพูดถึงคุณูปการทางศิลปะของมานิเฟสโต้บายใหม่อีหลี ที่จะทำหน้าที่แสดงงานศิลปะเชิงการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างที่ยุโรปเริ่มกันเป็นจริงจังตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ที่ศิลปินจะต้องลงพื้นที่เพื่อทำงานเชิงประเด็นสังคม วัฒนธรรม การเมืองแล้วกลั่นมันออกมาผ่านชิ้นงานศิลปะ โดยจะไม่ทำให้เป็นการแสดงงานแบบในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์

“มานิเฟสโต้ไม่ได้เน้นแสดงงานแบบ White Cube แบบในหอศิลป์ แต่จะแสดงในชุมชนต่างๆ อันนี้เป็นลักษณะงาน Artistic Research (งานศิลปะเชิงวิจัย) คือศิลปินต้องลงพื้นที่วิจัย และทำงานร่วมกับชุมชน คือ Participatory Art เป็นกึ่งสังคมวิทยา มานุษยวิทยา วัฒนธรรมศึกษา 

“ศาสตร์อื่นๆ จะเข้ามามีส่วนในกระบวนการทำศิลปะมากขึ้น ศิลปะจะไม่ถูก purified อีกต่อไป นี่คือจุดมุ่งหมายของมานิเฟสโต้นิยามศิลปินไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความเป็นศิลปิน ใครก็ได้ที่เข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงานนี้ก็จะสามารถทำงานศิลปะได้โดยต้องบอกว่าเป็นศิลปิน แต่อยู่ในวิธีคิดแบบ Artistic Research” 

“การปฏิบัติงานศิลปะเชิงวิจัยมาเริ่มจริงๆ ในทศวรรษ 1980 ในยุโรปตอนเหนือแถวๆ สแกนดิเนเวีย หลักสูตรศิลปะแถบนั้นเปลี่ยนเป็น Artistic Research คือนักเรียนศิลปะทุกคนต้องลงภาคสนามและมีพี่เลี้ยงที่เป็นศิลปิน นักสังคมศาสตร์ นักมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา ไปเป็นกลุ่ม ลงพื้นที่เพื่อทำงาน และมันจะมีลักษณะสำคัญคือ ในจำนวนกลุ่มนั้นก็จะถกเถียงแนวคิดอะไรลงไป เพื่อให้ศิลปินตีความหมายออกมาเป็นศิลปะ แล้วใช้พื้นที่ปฏิบัติงานเป็นพื้นที่แสดงงานเลย ไม่ต้องเป็นที่หอศิลป์หรือแกลเลอรี่ ชุมชนนั้นก็จะมีงานศิลปะขึ้นมา คือจัดทำการแสดงตรงนั้น ซึ่งไม่ได้มีศิลปินคนเดียว” 

ภาพแบบของ 'เดอะมานิเฟสโต้ บายใหม่อีหลี' ในพิมพ์เขียวที่เปิดด้านหน้าให้มีทางขึ้นกว้างขวาง ให้คนนั่งได้ ด้วยจุดมุ่งหมายที่อยากเปิดรับผู้คนเข้ามาทำตัวสบายๆ

“White Cube เกิดเพื่อให้ศิลปะมีความเป็นเอกเทศ ศิลปินก็ต้องการที่จะแสดงที่หอศิลป์ ให้งานตัวเองอยู่ในพื้นที่ความศักดิ์สิทธิ์ของศิลปะ พอมาช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ถึงศตวรรษที่ 21 ความเป็น White Cube มันถูกมองว่าเป็นตัวกัน เหมือนกับว่าเป็นพรมแดนของผู้ดูกับศิลปิน กับศิลปะ มันก็มีแนวคิดของการปฏิบัติงานศิลปะเชิงมีส่วนร่วม ก็คือให้คนในชุมชน คนในสังคมได้มีส่วนร่วมในเรื่องที่เขารับรู้และมาร่วมกันทำงาน ซึ่งก็ต่อเนื่องจาก Artistic Research ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางพื้นที่ศิลปะที่ไม่ใช่ White Cube”

สำหรับแผนการในอนาคต ถนอมเล่าให้ฟังว่าตั้งใจจะเปิดใช้พื้นที่นี้อย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ. 2563 จากนั้นจะเริ่มเปิดหาโครงการที่จะเข้ามาใช้พื้นที่  และสำหรับงานมานิเฟสโต้ในอีสาน จะมีการจัดขึ้นปีหน้าสองงาน หนึ่ง อุบลฯ อะเจนด้า วาระวารินทร์ ที่ จ.อุบลราชธานี ในเดือน พ.ย. 2563 และที่ จ.ขอนแก่นในเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน นอกจากนั้นในปีหน้าจะมีนิทรรศการชื่อ Cold War Object จัดแสดงเครื่องใช้ อุปกรณ์ และเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเย็นเมื่อคราวไทยเป็นฐานที่มั่นให้สหรัฐฯ เข้าโจมตีลาว เวียดนามและกัมพูชา

“เราต้องการให้ศิลปะ วัฒนธรรมเป็นเชิงคำถามมากกว่าจะเป็นคำตอบสำเร็จรูป เราไม่ได้มองว่าศิลปะต้องเป็นความงาม แต่ศิลปะมันเป็นสิ่งที่สามารถตั้งคำถามให้กับผู้คนในสังคมได้” ถนอมกล่าวในตอนหนึ่งของการสนทนา

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net