Skip to main content
sharethis

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย จี้ กกต.ทบทวนมติไม่นับ 1,542 บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์ ชี้เสี่ยงละเมิดรัฐธรรมนูญ ขณะที่นศ.ไทยในนิวซีแลนด์ จ่อฟ้องโลก เผยต่อบัสเดินเท้ากว่าจะได้เลือกตั้ง

ภาพ การใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ : Auckland Thai Community)

28 มี.ค.2562 จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้มีคำวินิจฉัยว่า บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ส่งมาจากกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งตามกำหนดต้องมาถึงประเทศไทยล่าช้า โดยไม่นำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเหล่านั้นซึ่งมีจำนวน 1,542 ใบ มานับเป็นคะแนนนั้น

27 มี.ค.ที่ผ่านมา มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ออกจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. เรียกร้องให้ทบทวนคำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สิทธิเลือกตั้งของชาวไทยในนิวซีแลนด์ได้รับการคุ้มครอง และเพื่อผดุงไว้ซึ่งความสุจริตและเที่ยงธรรมขององค์กรอิสระโดยรวม

รายละเอียดมีดังนี้ : 

จดหมายเปิดผนึก เรื่องขอให้ทบทวนคำวินิจฉัยไม่นำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์มานับเป็นคะแนน

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 ว่า บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ส่งมาจากกรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งตามกำหนดต้องมาถึงประเทศไทยวันที่ 19 มีนาคม 2562 แต่กลับล่าช้ามาถึงประเทศไทยเมื่อเวลา 20.50 น. ของวันที่ 23 มีนาคม 2562 หลังจากนั้นมีการนำส่งถึงสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในช่วงค่ำของวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยไม่นำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเหล่านั้นซึ่งมีจำนวน 1,542 ใบ มานับเป็นคะแนน  โดยอ้างมาตรา 114 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ซึ่งได้สังเกตการณ์และตรวจสอบการเลือกตั้งมาตั้งแต่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเปิดรับสมัครผู้สมัคร การลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า การปราศรัยหาเสียง การลงคะแนนในวันเลือกตั้ง และการนับคะแนน มาอย่างต่อเนื่อง ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่อกรณีการพิจารณาไม่นับบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากประเทศนิวซีแลนด์ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  • การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทยในประเทศนิวซีแลนด์ มิได้มีสิ่งใดบ่งชี้ว่ามิได้เป็นไปโดยสุจริต การนำส่งบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากต้นทางมาถึงประเทศไทยล่าช้าไม่ทันการนับคะแนน ไม่น่าจะเป็นเหตุอ้างได้ว่าไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรมจนทำให้บัตรเหล่านั้นกลายเป็นบัตรเสีย ดังอ้างตามมาตรา 114 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561
  • สิทธิเลือกตั้งเป็นอำนาจโดยตรงของประชาชนชาวไทยทุกคน เพื่อเลือกผู้แทนของตนเข้าไปทำหน้าที่บริหารประเทศและนิติบัญญัติ การใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรยังมีต้นทุนสูง ทั้งในส่วนของผู้มาใช้สิทธิ์และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้รับผิดชอบจึงต้องระมัดระวังมิให้เกิดความผิดพลาดทุกขั้นตอน  การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยโดยใช้ข้อกฎหมายอย่างรวบรัด โดยไม่คำนึงถึงสิทธิ และการทำหน้าที่พลเมืองของประชาชน ย่อมมิใช่วิสัยวิญญูชนที่ต้องมีความเคารพสิทธิของผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าสิทธิของตนเอง และทำให้สังคมขาดความไว้วางใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการจะจัดการการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วง สุจริตและเที่ยงธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
  • ขณะนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งยังมิได้ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการ โดยกำหนดการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการคือวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 หากคณะกรรมการการเลือกตั้งทบทวนนำบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของชาวไทยในนิวซีแลนด์มานับย่อมเป็นคุณแก่ทุกฝ่าย โดยเป็นกรณีที่พึงบังคับใช้กฎหมายให้เป็นคุณแก่ผู้ถูกรอนสิทธิ ซึ่งไม่ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไป โดยเฉพาะสอดคล้องกับกฎหมายมหาชนที่มุ่งให้รัฐต้องรับผิดชอบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่กระทบต่อสิทธิของบุคคล
  • รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 224 วงเล็บ (3) ประกอบกับมาตรา 225 ให้อำนาจ กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในกรณีที่พบว่า การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  ซึ่งในกรณีบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของนิวซีแลนด์นี้น่าจะเข้าข่ายการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ทำให้ผู้มาใช้สิทธิ์จำนวน 1,542 คนต้องเสียสิทธิ์ในการนำผลคะแนนไปคำนวณประกอบการได้มาซึ่ง ส.ส.
  • หากพิจารณาที่มาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 บัญญัติว่า “องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย (ว.1) การปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญและปราศจากอคติ ทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ (ว.2) คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับการสรรหามาอย่างยากเย็น คือ ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้ง ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ หรือเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และเคยดำรงตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการ มาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี” ย่อมจะต้องมีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจให้เกิดประโยชน์สูงสุดดังที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ นั่นคือ “การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม”

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดังที่ได้ยกมาเป็นเหตุผลสนับสนุน เพื่อให้สิทธิเลือกตั้งของชาวไทยในนิวซีแลนด์ได้รับการคุ้มครอง และเพื่อผดุงไว้ซึ่งความสุจริตและเที่ยงธรรมขององค์กรอิสระโดยรวม

มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต)

27 มีนาคม 2562

กกต. ยันจัดเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ไม่ใช่บัตรเสีย

ขณะที่วอยส์ออนไลน์ รายงาน คำชี้แจงจากสำนักงาน กกต.ต่อแถลงของพีเน็ตนี้ด้วยว่า เรื่องนี่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ คือ

1.ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก กกต.ได้ดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องครบถ้วนทุกประการ 

กรณีที่มีข้อมูลว่ามีบัตรไม่สามารถส่งให้ถึงเขตเลือกตั้งเพื่อทำการนับคะแนนและกลายเป็นบัตรเสีย ความแม่นยำของกรรมการประจำหน่วยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ตามที่มูลนิธิองค์กรกลางฯ ให้ข้อมูลนั้น จากการตรวจสอบพบว่ามีการปฏิบัติที่เกิดจากข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในบางหน่วยดำเนินการอยู่บ้าง จากจำนวนหน่วยเลือกตั้งที่มีประมาณ 92,320 หน่วย มีหน่วยที่พบปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่มีเพียงเล็กน้อย 

ซึ่งทุกกรณี กกต. ได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งได้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่ากล่าวตักเตือนสำหรับการปฏิบัติหน้าที่แล้ว 

ส่วนกรณีบัตรเลือกตั้งต่างประเทศที่เข้าใจว่าเป็นบัตรเสียนั้น ที่ถูกต้องคือ กกต.มีมติมิให้นับบัตรดังกล่าวเป็นคะแนน ยืนยันว่าการจัดการเลือกตั้งในภาพรวมเป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งทุกเขตเลือกตั้งสามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสามารถที่จะประกาศผลคะแนนและผลการเลือกตั้งของทุกเขตเลือกตั้งได้ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต่อไป 

2.การดำเนินการเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง สำนักงาน กกต.ได้ดำเนินการให้มีโครงการ กิจกรรม ที่ดำเนินการกับเครือข่ายต่างๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการแจ้งข้อมูลการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งแก่ กกต. ซึ่งได้ดำเนินการเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ก่อนการเลือกตั้ง 

ซึ่งปรากฎเป็นภาพข่าวการปฏิบัติงานของเครือข่ายในพื้นที่ทุกจังหวัด เช่น คณะกรรมการส่งเสริมประชาธิปไตยระดับตำบลทุกตำบล ลูกเสืออาสา กกต. รด.จิตอาสา ดีเจประชาธิปไตย กิจกรรม 6 สัปดาห์ประชาธิปไตย ในสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนทุกแห่ง กิจกรรมรณรงค์การเลือกตั้ง (Kick off และ Big Day) ในพื้นที่ทุกจังหวัด และมีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจากนานาชาติ รวม 11 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 1 องค์กร

นศ.ไทยในนิวซีแลนด์ จ่อฟ้องโลก เผยต่อบัสเดินเท้ากว่าจะได้เลือกตั้ง

ข่าวสดออนไลน์ รายงานวานนี้ด้วยว่า ธัญกร ปิยะพัฒนกุล อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ หนึ่งในผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เปิดเผยกับ ข่าวสดออนไลน์ ว่าตนเดินทางมาเรียนต่อยังประเทศนิวซีแลนด์เมื่อปี 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยอยู่ที่เมืองโอคแลนด์ สำหรับการเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนั้น สถานที่จัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรตั้งอยู่ที่วัดไทย ภายในพื้นที่ของนิวแลนด์

ธัญกร กล่าวต่อว่า โดยสถานที่จัดการเลือกตั้งดังกล่าว อยู่ห่างจากที่พักของตนถ้าขับรถยนต์ส่วนตัวจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที แต่ถ้านักศึกษาหรือคนไทยที่ไม่มีรถส่วนตัวต้องเดินทางด้วยรถบัสโดยใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง เมื่อลงจากรถบัสก็จะต้องเดินเท้าต่อเข้าไปยังจุดที่ใช้จัดการเลือกตั้งอีกประมาณ 3 กิโลเมตร หรือบางคนอาจจะนั่งอูเบอร์เข้าไป ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 30 ดอลลาร์ ซึ่งการเดินทางค่อนข้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ธัญกร กล่าวอีกว่า ตนและเพื่อน ๆ ที่มาเรียนอยู่ที่นี่ ได้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรผ่านเว็บไซต์ที่ กกต. กำหนดไว้ ก่อนวันที่ 19 ก.พ. 2562 และได้เดินทางมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยบรรยากาศที่วัดไทยที่ใช้จัดเลือกตั้งนั้น พบว่ามีคนไทยทั้งนักศึกษาที่เพิ่งใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรก และผู้ใหญ่มาใช้สิทธิ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งตนรู้สึกดีใจที่เห็นบรรยากาศแบบนี้

“แต่หลังจากทราบข่าวเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งของประเทศนิวซีแลนด์ที่ยังเดินทางไปไม่ถึงประเทศไทย ต่อมาทางกกต.ก็มีมติว่าบัตรดังกล่าว กลายเป็นบัตรเสีย ก็ทำให้รู้สึกไม่ดีและเสียใจ เพราะพวกเราไม่ได้เพิกเฉยในการใช้สิทธิ์ อีกทั้ง ยังเป็นคะแนนบริสุทธิ์ พวกเราไม่ได้ทำอะไรผิดตามขั้นตอนหรือกฎหมายแต่อย่างใด จึงคิดว่าเสียงของเราควรจะถูกนำเข้าไปนับเป็นคะแนนด้วย” ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จากนิวซีแลนด์ กล่าว

ธัญกร กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้น กกต. ต้องรับผิดชอบมากกว่านี้ เพราะเกิดจากความบกพร่อง และการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของ กกต. จึงขอให้มีการตรวจสอบแก้ไขเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งในมุมของตนขอเรียกร้องให้ กกต. ชุดนี้ลาออกจากตำแหน่ง เพราะเสียงของพวกเรากว่า 1,500 เสียงนั้น สามารถเปลี่ยนแปลง ส.ส.ได้เลย และจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง

“รู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส ทั้งเรื่องการหยุดนับคะแนน และจากการติดตามข่าวสาร ทราบว่ามีชื่อคนที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดการสวมสิทธิ์ได้ ทั้งนี้ ประชาธิปไตยในประเทศแทบจะไม่มีเลย การคาดหวังที่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกคาดว่าจะดีกว่านี้ แต่ก็ต้องผิดหวัง” ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร จากนิวซีแลนด์ กล่าว

ธัญกร กล่าวด้วยว่า หลังจากกรณีที่ กกต. มีมติให้บัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ไม่สามารถนำมานับคะแนนได้ หรือบัตรเสียนั้น ทางกลุ่มนักศึกษาและคนไทยในประเทศนิวซีแลนด์ได้มีการหารือและกำลังจะดำเนินการเขียนจดหมายเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อส่งให้กับสื่อต่างประเทศได้มีการเผยแพร่เพื่อให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่าเสียงของพวกเราถูกเมิน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net