Skip to main content
sharethis

สื่อเกาหลีใต้เสนอปรากฏการณ์การเหยียดผู้ศึกษาสาขาศิลปศาสตร์-มนุษยศาสตร์ หรือที่เรียกว่า liberal arts แบบดูถูกจนถึงขั้นเหยียดว่าเป็นพยาธิหรือขยะ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกี่ยวกับความพยายามเหยียดกลุ่มสตรีนิยมที่มักมาจากสาขาวิชาเหล่านั้น และยังอาจเกี่ยวกับความยากลำบากของการหางานทำของคนสาขาวิชาอื่นจนต้องกดข่มคนอื่นเพื่อให้ตัวเองดูดี ภายใต้นโยบายการศึกษาที่เงินเป็นโจทย์หลัก

ธงชาติเกาหลีใต้ (ที่มา:Maxpixel)

26 มี.ค. 2562 นักข่าวจากสื่อ Hankyoreh ร่วมกับสื่อฮัฟฟิงตันโพสต์เกาหลีชวนสำรวจเรื่องการใช้วาจาสร้างความเกลียดชัง (เฮทสปีช) ต่อผู้ที่เรียนในสาขาวิชา liberal arts ในเกาหลีใต้ซึ่งเทียบได้กับสาขาวิชาศิลปศาสตร์หรือมนุษย์ศาสตร์ ในหาวิทยาลัยไทย หลังมีการข้อสังเกตว่ามีการเหยียดผู้เรียนสาขาวิชานี้เพิ่มขึ้นในสังคมมหาวิทยาลัยเกาหลีใต้จนถึงขั้นมีการเหยียดตัวเอง มองไม่เห็นคุณค่า ไปจนถึงการแสดงออกอย่างดูถูกโดยรวมจากสังคม

ในเกาหลีใต้ผู้คนที่เรียนในสาขาวิชา liberal arts มักจะพูดในทำนองเหยียดตัวเองว่า "ขอโทษด้วยที่เรียนเอก liberal arts" คำพูดแบบนี้มีมาตั้งแต่ในอดีตและมักถูกใช้ในเชิงเสียดสีเวลาที่พวกเขาเองไม่เข้าใจคำศัพท์เทคนิคต่างๆ แต่ทว่าในสังคมโลกออนไลน์ปัจจุบันมีการใช้คำเรียกชาว liberal arts ที่ย่ำแย่กว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น "พวกขยะ liberal arts" หรือ "พวกพยาธิ liberal arts"

สาขาวิชา liberal arts นั้นเดิมทีแล้วมาจากคำว่า liberalis ที่แปลว่า "เหมาะแก่เสรีชน" ซึ่งตรงกันข้ามกับ servile arts หรือ "ศิลปะเพื่อการรับใช้หรือบริการ" ขณะที่ในภาษาเกาหลีนั้นตรงกับคำว่า munsacheol ซึ่งวิชาที่เข้าข่าย munsacheol นี้ประกอบด้วยวิชาภาษาเกาหลี ภาษาอื่นๆ วิชาวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ และปรัชญา ก่อนหน้านี้คำๆ นี้เคยถูกใช้อ้างอิงถึงวิชาการบริสุทธิ์ แต่ในช่วงหลัง นี้กลายเป็นคำที่ใช้ในเชิงเหยียดหยามว่า "ไร้ประโยชน์"

จากการสืบค้นในเว็บไซต์กระทู้ของเกาหลีใต้พบว่ามีโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับ munsacheol ราว 2,000 โพสต์ พบคำเหยียดต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนสาขาวิชานี้หลายคำ นอกจากนี้ยังมีคำที่ถูกค้นหา ประกอบกับการสืบค้นคำว่า munsacheol มากที่สุดคือคำว่า "การหางานทำ" ส่วนใหญ่เป็นโพสต์ที่กล่าวหาโจมตีว่าคนที่เรียน munsacheol "หางานทำได้ยากกว่า" สาขาวิชาอื่นๆ รวมถึงบอกว่าทำไมถึงเรียน munsacheol แทนที่จะไปเรียนสาขาวิชาอย่างกฎหมายและบริหารธุรกิจ

สื่อเกาหลีใต้สัมภาษณ์นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเอกชน 4 แห่งในกรุงโซลเพื่อสอบถามเรื่องเฮทสปีชที่เป็นปัญหาหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมออนไลน์ หนึ่งในนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษชื่อสมมุติว่า "จองแดจิน" กล่าวว่าสำหรับเขาแล้วไม่มีสาขาวิชาไหนที่ไร้ประโยชน์ในมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่ๆ หางานแต่เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้

นักศึกษาอีกรายหนึ่งนามสมมุติว่า "จังซอนโฮ" จากสาขาวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์และสารสนเทศกล่าวว่าในชีวิตจริงเธอก็เคยถูกเหยียดว่าเป็นนักศึกษา "ขยะ" จากเพื่อนเธอ เธอพยายามไม่นึกถึงแล้วปล่อยให้ผ่านๆ ไปเพราะคนที่พูดเป็นเพื่อนกัน แต่ก็ไม่ง่ายเลยที่จะแค่หัวเราะให้มันพ้นๆ ไป สำหรับในพื้นที่ๆ ผู้คนปกปิดตัวตนอย่างในกระดานข่าวนั้นระดับของเฮทสปีชน่าจะหนักกว่า นักศึกษาอีกรายนามสมมุติว่า "คิมดารา" เปิดเผยว่าผู้คนบอกเธอว่าเธอ "ไปเรียนมหาวิทยาลัยในวิชาที่เธอสามารถเรียนได้ในโรงเรียนสอนภาษาพาโกดา"

นักศึกษาวิชาภาษาเยอรมันนามสมมุติว่า "ชินซูฮเย" มองว่าว่าเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวกับความพยายามเหยียดกระบวนการเคลื่อนไหวสตรีนิยมในมหาวิทยาลัยด้วย เพราะนักศึกษา liberal arts มักจะเป็นผู้ติดโปสเตอร์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย รวมถึงมีคนที่เรียนจำนวนมากเป็นผู้หญิง เรื่องนี้ กวักดอกจู ศาสตราจารย์ด้านศึกษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซลมองว่ากลุ่มคนที่โจมตีคนเรียนวิชา liberal arts ว่าหางานได้น้อยกว่าวิชาที่พวกเขาเรียนเหล่านี้คือผู้มีทัศนคติมองตัวเองว่าเหนือกว่าคนอื่นในแบบผิดที่ผิดทาง

ไม่ใช่แค่ Liberal arts เท่านั้นที่ถูกกล่าวหาเรื่องหางานยาก แม้แต่สายวิทยาศาสตร์ในเกาหลีใต้ก็มีคนเหยียดในเรื่องนี้ นักศึกษาอีกรายหนึ่งชื่อสมมุติ "โชจีฮยอน" จากสาขาวิชาวิศวกรรมพลังงานพูดถึงเรื่องที่อาจารย์จากสาขาอื่นบอกว่าพวกเขาได้ "จัดการกับเงิน" แต่คนในสาขา liberals art กับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมไม่มีโอกาสได้ทำอย่างนั้น

อย่างไรก็ตามการที่คนเหยียดสาขาวิชาของคนอื่นแบบนี้ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเหล่านั้นเองอาจจะเป็นคนที่หางานทำไม่ได้เสียเองก็เป็นได้ จึงพยายามไปเหยียดคนที่ดูด้อยกว่าในเว็บไซต์เพื่อทำให้ตัวเองดูมีคุณค่า เรื่องนี้มาจากคำบอกเล่าของ "กังยองแจ" บอกว่าคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไปเข้าเรียนวิชาวิศวกรรมศาสตร์เพื่อหวังว่าจะได้งานทำ แต่พอจบออกมาแล้วหางานลำบากก็หันมาพูดกดข่มคนที่อยู่ในสาขาวิชาอื่นแทน โชจีฮยอนบอกว่าสังคมส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะวางลำดับขั้นทางสังคมจากเรื่องวิชาชีพการทำงาน แล้วเอาเรื่องนี้มากดเหยียดคนอื่นเพื่อปลอบประโลมตัวเองว่าตัวเองเหนือกว่าคนเหล่านั้น

ทั้งนี้ ยังมีเรื่องของปมที่คนสายวิศวกรรมศาสตร์มองว่าตัวเองเป็นคนหมู่มากและมอง liberals art เป็นคนกลุ่มน้อย จึงเป็นเรื่องน่าหวั่นใจว่าเฮทสปีชที่กำลังพอกพูนขึ้นจะนำไปสู่การเหยียดและกีดกันชนกลุ่มน้อยและผู้ที่เสียเปรียบในสังคม ทั้งนี้ยังมีการวิเคราะห์จากลีนายอง ศาตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยชุงอังกล่าวว่า นโยบายการศึกษาของเกาหลีใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเน้นเรื่องการศึกษาทางเทคนิคผ่านความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับมหาวิทยาลัยเป็นสาเหตุของการสร้างวาทกรรมเรื่องเงินๆ ทองๆ เข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัย และนักศึกษาเองก็คิดว่าใช้เรื่องมูลค่าทางตลาดเป็นมาตรวัดความสำเร็จเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ซึ่งลีนายองมองว่าเป็นความล้มเหลวของการศึกษา

เรียบเรียงจาก

Hate speech toward liberal arts major proliferates on S. Korean campuses, Hankyoreh, Mar. 24, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net