Skip to main content
sharethis

หลังจากห้าปีภายใต้รัฐบาลทหาร ในที่สุดประเทศไทยก็จะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งหากไม่นับการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะในปี 2557 ที่ต้องพบเจอกับความรุนแรงและการขัดขวางจากผู้ประท้วง การเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 ก็จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบแปดปี

ด้วยความที่ประเทศเว้นว่างจากการเลือกตั้งมานานนี้เองที่ทำให้ตอนนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเป็นจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ โดยเว็บไซต์ elect.in.th รายงานว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2554 คิดเป็น 1.96% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด แต่ในปี 2562 จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกกลับเพิ่มขึ้นเป็น 13.74% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

ตัวเลขนี้อาจฟังดูไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น ๆ แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดผลของการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนี้ไม่ใช่วัยรุ่นอย่างที่อาจนึกภาพกันไว้ แต่มีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 25 ปี และครอบคลุมตั้งแต่นิสิตนักศึกษา ไปจนถึงบัณฑิตจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่โลกของการทำงาน 

ห้าปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลคสช. หมายความว่าคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ไม่ได้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่เคยแสดงจุดยืนสนับสนุนพรรคการเมืองใด และคาดการณ์ได้ยากว่าพวกเขาจะมอบคะแนนเสียงให้ใคร แต่ถ้าหากวันที่ 24 มีนาคมนี้ คนกลุ่มนี้พากันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง พวกเขาอาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของการเมืองไทยไปตลอดกาล

คนรุ่นใหม่กับความขัดแย้งทางการเมือง 2537 – 2562 

ไม่เพียงแค่จำนวนเท่านั้นที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกมีความสำคัญ ในกลุ่มนี้ คนที่อายุมากที่สุดจะมีอายุ 25 ปี และในช่วงชีวิตที่ผ่านมา พวกเขาได้เห็นการประท้วงใหญ่มาแล้วสามครั้ง นั่นคือการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2549 – 2551 การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 และการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปี 2556 – 2557 รวมถึงได้ผ่านการรัฐประหารมาแล้วสองครั้ง คือการรัฐประหารปี 2549 โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และการรัฐประหารปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

และถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีความรับรู้เหตุการณ์เหล่านี้ต่างกัน ความทรงจำของการเมืองไทยของคนรุ่นใหม่นั้นก็เต็มไปด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งและความไม่มั่นคง 

ณิชากร นุชเจริญ พนักงานบริษัทวัย 24 ปี กล่าวว่าเธอจำช่วงที่มีการประท้วงได้ แต่เพราะเธอไม่ใช่คนกรุงเทพฯ เธอจึงเคยคิดว่าความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องที่เกิดเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่จัดการชุมนุมส่วนใหญ่

“เรารู้ว่ามันมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน แต่ถ้าตั้งม็อบหรือมีความรุนแรงเกิดขึ้น เราจะรู้สึกว่ามันไกลตัวแล้วก็มีอยู่แต่ในกรุงเทพเท่านั้น” ณิชากรกล่าว

ส่วนณัฐวรา ปรัชญกุล อายุ 24 ปี อาชีพพนักงานบริษัท กล่าวว่าเธอรู้สึกว่าความขัดแย้งทางการเมืองนั้นใกล้ตัวเธอมาก  “เรารู้สึกว่ามันใกล้ตัวมาก ที่บ้านเราก็คุยกันแบบเปิดใจ แล้วก็รู้สึกว่าเราแสดงออกทางความคิดได้” ณัฐวรากล่าว 

นิสิตนักกิจกรรม เนติวิยท์ โชติพัฒน์ไพศาล ก็เช่นกัน เขากล่าวว่าเขารู้มาตลอดสิบปีว่ามีความขัดแย้งใดเกิดขึ้นบ้าง

“สิบปีนี้ก็รับรู้มาตลอด ตั้งแต่ ป.หก ก็ทันรัฐประหารปีสี่เก้า ที่บ้านดูเคเบิลทีวี ดูASTV ดูช่องเสื้อแดง เราก็เติบโตมากับสิ่งนี้ จนถึงกปปส. เราก็เห็น” เนติวิทย์กล่าว

คนรุ่นใหม่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่ชวนอึดอัดภายใต้รัฐบาล คสช. พวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าขีดจำกัดอยู่ตรงไหนและทำอย่างไรจึงจะไม่ข้ามเส้นแบ่งนั้นไป ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องเรียนรู้ว่าอิสรภาพนั้นมีจำกัด คนรุ่นนี้ส่วนใหญ่คุ้นเคยดีกับวลีที่ว่า “ปรับทัศนคติ” ซึ่งถูกใช้ในช่วงแรก ๆ หลังจากการรัฐประหาร เมื่อ คสช.มีคำสั่งให้บุคคลเข้ารายงานตัว และพวกเขาจำได้ว่ามีนักกิจกรรมถูกควบคุมตัวเพียงเพราะชุมนุมอย่างสงบ ผลจากห้าปีที่ผ่านมานี้คือคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางการเมืองมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เมื่อถูกถามว่าเธอรู้เมื่อไรว่าสถานการณ์ไม่ปกติ กูกสิณา กูบาฮา ปัจจุบันเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าววว่าเธอเริ่มรู้หลังจากการรัฐประหารปี 2557 เมื่อเธอเห็นทหารติดอาวุธยืนอยู่ริมถนนระหว่างเดินทางไปโรงเรียน และเริ่มสนใจสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้นหลังจากเห็นว่าเพื่อน ๆ ที่ทำกิจกรรมทางการเมืองเริ่มถูกควบคุมตัว 

“เราเริ่มเห็นเพื่อนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาก ๆ โดนจับ เลยรู้สึกว่าจริง ๆ มันก็คือเรื่องของเรา” กูกสิณากล่าว “เพื่อนเราโดนจับที่มาบุญครอง ที่ไปประท้วง จริง ๆ เขาไม่ได้ไปประท้วงในงานนั้น แต่มีชื่ออยู่แล้วเลยโดนจับไปด้วย”

ครอบครัวของกูกสิณาเตือนเธอว่า “อย่าการเมืองให้มาก” เหมือนกับครอบครัวของคนรุ่นใหม่อีกหลายคน ซึ่งกลัวว่าลูกหลานจะตกเป็นเป้าจับตามองของผู้มีอำนาจ เมื่อรวมกับกฎหมายเช่น พ.ร.บ. ไซเบอร์ กูกสิณากล่าวว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกอึดอัด

ส่วน น. (นามแฝง) นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกคน กล่าวว่าเธอรู้สึกว่าตนเองถูกจำกัดสิทธิภายใต้รัฐบาลคสช. น. เป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานของนิสิตที่จัดกิจกรรมเสวนาในคณะที่เธอเรียน ซึ่งเป็นเหตุผลให้เธอถูกจับตามองโดยเจ้าหน้าที่ น.บอกว่าเธอเคยถูกตามเข้ามาจนถึงในเขตมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้เธอรู้สึกถูกคุกคาม 

เนติวิทย์ ซึ่งเป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย กล่าวว่าเขาพบเจอกับการคุกคามลักษณะคล้าย ๆ กัน เขาถูกขัดขวางไม่ให้ขึ้นพูดในงานที่เขาได้รับเชิญให้ไปพูด และเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยติดตามเขา

แต่แม้แต่คนที่ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองมากอย่างณิชากรก็ยังบอกว่าเธอรู้สึกว่าสถานการณ์ที่ผ่านมานั้นไม่ปกติ 

“เราก็ไม่พอใจนะ เวลาเจอข่าว มีใครโดนผลกระทบ รู้สึกว่ามันไม่เป็นธรรม” ณิชากรกล่าว เธอบอกว่าเธอไม่พอใจที่มีข่าว่ามีคนถูกเรียกรายงานตัว และความไม่พอใจนั้นก็สะสมมาเรื่อย ๆ ส่วนณัฐวรากล่าวว่า เธอยอมรับว่าในช่วงแรก เธอพอใจที่มีการเกิดรัฐประหาร

“พูดตรง ๆ ช่วงแรกที่รัฐประหารมาก็รู้สึกว่าก็ดีนะ จบเลย ไม่มีใครก่อม็อบอีก ไม่ต้องเดือดร้อน” ณัฐวราบอก แต่ห้าปีต่อมา ความคิดของเธอได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เธอรู้สึกว่าห้าปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ชีวิตเธอดีขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เธอรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ เธอบอกว่าเธอรู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิในช่วงที่มีการประกาศว่าจะมีการเลือกตั้ง และมีการประกาศเลื่อนการเลือกตั้ง 

“รู้สึกว่าในที่สุดก็ถึงเวลาที่เราจะได้เลือกตั้งบ้าง เพราะว่าพออายุครบก็รัฐประหารเลย” ณัฐวราบอก

การใช้ชีวิตในความขัดแย้งทางการเมืองทำให้คนรุ่นใหม่บางคนรู้สึกว่าการเมืองไทยย่ำอยู่กับที่ ซึ่งดูเหมือนกับว่าการเมืองไทยจะวนอยู่ในวงจรของความขัดแย้งที่ตามมาด้วยการทำรัฐประหาร คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตอยู่กับวังวนนี้มาตั้งแต่เด็ก และดูเหมือนว่าประเทศไทยจะไม่มีวันออกจากวงจรนี้ได้ เนื่องจากว่าการประท้วงใหญ่ทั้งสามครั้งนั้นก็ทิ้งช่วงกันแค่สองถึงสามปี และการรัฐประหารทั้งสองครั้งก็เกิดห่างกันเพียงแปดปี 

“มีการรัฐประหาร ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยมันคงที่ตลอด” เนติวิทย์กล่าว และ น. ก็บอกว่าเธอคิดว่าการเมืองไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง สำหรับทั้งสองและคนวัยเดียวกันจำนวนมาก การเมืองไทยไม่ได้เดินหน้าไปไหนเลยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา 

แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผลสำรวจโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ซึ่งสำรวจจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจำนวน 1254 คนพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 84.93% บอกว่าจะไปลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอน และในขณะที่การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา คนรุ่นใหม่ก็กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และผู้สมัคร และในขณะที่อดีตผู้นำกปปส.อย่างสุเทพ เทือกสุบรรณกล่าวว่าคนหนุ่มสาวเคลิ้มหลงกระแส ไม่ค่อยมีเวลาคิดใคร่ครวญ และขอให้พ่อแม่ช่วยกันเปลี่ยนใจลูกหลานให้มาลงคะแนนให้พรรครวมพลังประชาชาติไทย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่ก็ทำให้หาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในคูหาของพวกเขา 

“ตอนนี้พยายามดูดีเบตย้อนหลังอยู่ แล้วก็ดูนโยบายต่าง ๆ” กูกสิณาบอกเมื่อถูกถามว่าเธอจะใช้เกณฑ์อะไรในการเลือกพรรคที่จะลงคะแนนให้ เธอบอกว่าสนใจนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ และนอกจากนี้เธอยังบอกว่าเธอยังชอบดูวิธีที่แต่ละพรรค “พรีเซนต์” ตัวเองอีกด้วย นอกจากนี้ ผลสำรวจโดยสถาบันพระปกเกล้ายังพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกเลือกพรรคการเมืองจากหัวหน้าพรรค ความคิดทางการเมือง และนโยบายพรรค 

เมื่อถามว่าเขาเลือกพรรคการเมืองที่ลงคะแนนให้จากอะไร เนติวิทย์กล่าวว่า “ส่วนตัวก็ดูนโยบาย แล้วก็ต้องดูว่าพรรคนั้น ๆ มีจุดยืนยังไงกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน และมีจุดยืนยังไงกับรัฐธรรมนูญของ คสช.” 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ประชาไทได้ไปสัมภาษณ์นักศึกษาในเขตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในคลิบวีดิโอสั้นชื่อ​ “คนรุ่นใหม่ VS ผีทักษิณ” นักศึกษาเหล่านี้ถูกสัมภาษณ์เกี่ยวกับอนาคตที่พวกเขาอยากเห็นและความรู้สึกต่ออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งนักศึกษาทุกคนกล่าวว่าพวกเขาเลือกว่าจะลงคะแนนให้พรรคการเมืองใดจากอุดมการณ์ทางการเมือง นโยบาย โดยผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งกับบอกว่าจะลงคะแนนพรรคที่จะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช. 

การเลือกตั้งไทยในโลกออนไลน์

อีกลักษณะหนึ่งของการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ซึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน ๆ คือการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่โซเชียลมีเดียมีบทบาทสำคัญ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ใช้แพลทฟอร์มต่าง ๆ เช่น ทวิตเตอร์ เพื่อกระจายข่าวสาร พูดคุยถกเถียงกับผู้ใช้คนอื่น และแสดงออกเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง

ถ้าหากดูจากปฏิกิริยาของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊คแล้ว ก็คงจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่คือคนรุ่นที่หมดความอดทนต่อความขัดแย้งทางการเมืองและการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีอะไรที่ คสช.และพล. อ.ประยุทธ์จะทำได้เพื่อชนะใจคนกลุ่มนี้ ความพยายามในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ พล. อ.ประยุทธ์ ตกเป็นที่ล้อเลียนของชาวเน็ต และไม่เพียงเท่านั้น ในโลกออนไลน์ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่คนรุ่นใหม่เห็นว่าไม่ยุติธรรมหรือเป็นความพยายามของคสช.ที่จะอยู่ในอำนาจต่ออย่างแพร่หลาย 

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เมื่อมีการประกาศว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้ง แฮชแทค #เลื่อนแม่มึงสิ ขึ้นติดอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยภายในไม่กี่ชั่วโมง โดยชาวเน็ตใช้แฮชแทคนี้เป็นช่องทางในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลว่าจำกัดสิทธิในการเลือกตั้งของพวกเขา

ส่วนเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ทางพรรคได้เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นเคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค แฮชแทค #ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุง ติดเทรนด์อันดับหนึ่งบนทวิตเตอร์ ซึ่งชาวเน็ตเลือกใช้แฮชแทคนี้เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำที่พวกเขาเห็นว่าเป็นความพยายามกำจัดคู่แข่งทางการเมือง นอกจากนี้ชาวเน็ตยังโพสข้อความส่งเสริมให้แต่ละคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อพล. อ. ประยุทธ์กล่าวว่าตนมีลูก 68 ล้านคน ชาวเน็ตก็ต่อต้านผ่านแฮชแทค #ใครลูกมึง 

นอกจากนี้ระบบแฮชแทคยังเป็นระบบจัดระเบียบข้อมูลที่มวลชนเป็นผู้จัดการ แฮชแทค #เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรติดเทรนด์ตลอดทั้งสัปดาห์ในขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศแบ่งปันเรื่องราวอุปสรรคที่พวกเขาต้องพบเจอในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ตั้งแต่กรณีบัตรเลือกตั้งหาย บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วถูกไปรษณีย์ตีกลับ หรือการต้องยืนรอคิวกว่าหลายชั่วโมงที่หน่วยเลือกตั้ง  และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ชาวเน็ตก็ใช้แฮชแทค #เลือกตั้งล่วงหน้า เพื่อเตือนกันและกันถึงอุปสรรคที่อาจจะเกิดได้ในการไปเลือกตั้งและข้อควรระวังต่าง ๆ ตั้งแต่การบอกให้เตรียมตัวรอคิวนาน ไปจนถึงให้ตรวจสอบว่าตนได้รับบัตรเลือกตั้งถูกเขตหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำในการทำให้การไปเลือกตั้งสะดวกสบายขึ้น เช่นการแนะนำว่าให้ตรวจสอบข้อมูลในแอพลิเคชั่นSmart Vote ก่อนไปถึงคูหา และให้กำลังใจผู้ใช้รายอื่น ๆ ที่ต้องพบกับการต่อแถวรอเข้าคูหาเป็นเวลานานว่าให้ “นึกถึงหน้าลุงแล้วรอต่อไป”

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์มาตลอดยังเป็นกลุ่มคนที่สามารถจัดการกับข่าวปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เมื่อมีการลือว่าพรรคอนาคตใหม่จะยกเลิกบำนาญข้าราชการ ชาวทวิตเตอร์ก็สามารถแก้ข่าวนี้ได้อย่างรวดเร็วและยังมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องผ่านฟังก์ชั่น retweet อีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีข้อมูลถูกใส่ลงไปในโลกออนไลน์ก็แทบจะมั่นใจได้เลยว่าจะมีใครบางคนตรวจสอบว่าข้อมูลนั้นจริงหรือไม่

และบทเรียนที่คนรุ่นก่อนควรจะเรียนรู้จากโลกออนไลน์ก็คือ การจะปิดตาผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่นั้นไม่ได้ง่ายอีกต่อไปแล้ว

การเมืองไทยถึงวันผลัดใบหรือยัง 

ที่ผ่านมาการเมืองในประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่ถูกปกครองโดยผู้มีอายุ ซึ่งเห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่อายุเกิน 60 ปีมาแล้วถึงสิบสามคนจากจำนวนนายกรัฐมนตรีทั้งหมดยี่สิบเก้าคน นอกจากนี้บทความในบีบีซีไทยยังได้ตั้งข้อสังเกตไว้อีกว่าแม้แต่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่พรรคการเมืองหลายพรรคตั้งใจเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคจำนวนมากยังคงเป็นชายสูงอายุ 

โดยบีบีซีรายงานว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 มีพรรคการเมืองเพียงสามพรรคเท่านั้นที่มีหัวหน้าพรรคอายุไม่เกิน 40 ปี คือพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีหัวหน้าพรรคคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อายุ 40 ปี พรรคไทยรักษาชาติที่ถูกยุบไปแล้ว ซึ่งมีหัวหน้าพรรคคือร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิช อายุ 38 ปี และพรรคไทยศรีวิไลย์ ซึ่งมีหัวหน้าพรรคคือมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อายุ 37 ปี ในขณะที่อีก 18 พรรคการเมืองมีหัวหน้าพรรคอายุเลยวัยเกษียณ 

แต่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปหรือเปล่า 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากประเทศไทยจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่กลุ่มใหญ่แล้ว ยังมีนักการเมืองรุ่นใหม่อีกด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการลงสมัครครั้งแรกของพวกเขา นักการเมืองบางคนก็ไม่ได้ใหม่ต่อสนามการเมืองเสียทีเดียว ในเมื่อพวกเขาเกิดมาในตระกูลการเมือง

ยกตัวอย่างเช่น พรรคชาติไทยพัฒนา บัดนี้นำโดยกัญจนา ศิลปอาชา บุตรสาวของบรรหาร ศิลปะอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตกรรมการบริหารพรรคชาติไทย ส่วนพรรคไทยรักษาชาติ ก่อนจะถูกยุบพรรคเคยมีทั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวพันทางสายเลือดกับทั้งอดีตนายกฯทักษิณและแกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น ตัวปรีชาพลเองนั้นเป็นบุตรชายของเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานสาวของอดีตนายกฯ ทักษิณเป็นนายทะเบียนพรรค

ในขณะเดียวกัน มีผู้สมัครจำนวนหนึ่งที่ลงสนามการเมืองเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้ เช่น พรรคมหาชนที่ส่งพาลินี “พอลลีน” งามพริ้งเป็นหนึ่งในสามแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งพอลลีนเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์และอดีตแคนดิเดตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และนอกจากนี้พรรคมหาชนยังมี นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิคนข้ามเพศ เป็นประธานฝ่ายนโยบายอีกด้วย

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ลงเล่นการเมือง พอลลีนกล่าวว่าเธอ “มีความรู้สึกว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้ ก็เลยคิดว่า พอมีการทาบทาม เชิญชวน คิดว่าเราน่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ให้เป็นประโยชน์กับวงการการเมืองไทย แล้วก็รวมถึงการพัฒนาเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิทางด้านความหลากหลายทางเพศ ก็เลยตัดสินใจเข้าร่วม”

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีกลุ่ม New Dem เป็นกลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ ในจังหวัดชัยภูมิ มี นัฏฐิกา โล่วีระ เป็นผู้ลงสมัครส.ส. เขต 1 

จากอดีตที่เคยทำอาชีพนักข่าว นัฎฐิกากล่าวว่างานข่าวทำให้เธอเห็นปัญหา แต่การเป็นผู้สื่อข่าวก็ช่วยได้เพียงในระดับหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจลงเล่นการเมือง

“เป็นช่วงจังหวะที่สังคมเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วม มันก็เลยตัดสินใจทำให้เราทำงานการเมืองด้วย เพราะว่าเป็นคนรุ่นใหม่เป็นตัวแทนของคนรุ่นของเขา คนรุ่นใหม่จะต้องมีชีวิตไปอีก 50-60 ปี เขาควรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริการบ้านเมือง” นัฎฐิกาบอก 

และสำหรับพรรคอนาคตใหม่ กรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่ล้วนเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ทั้งสิ้น เช่น หัวหน้าพรรคคือธนาธรเป็นนักธุรกิจและอดีตรองประธานกลุ่มไทยซัมมิท ส่วนพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค เป็นอดีตผู้สื่อข่าว Voice TV และปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย พรรคอนาคตใหม่แสดงตัวว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่และใช้โซเชียลมีเดียให้เกิดประโยชน์กับตัวเองได้มาก ซึ่งน่าจะอธิบายได้ว่าเหตุใดทั้งตัวพรรคและหัวหน้าพรรคจึงเป็นที่นิยมให้หมู่คนรุ่นใหม่

ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทางพรรคตั้งชื่อกลุ่มให้ว่า Futurista เรียกตนเองว่า “ฟ้า” และเรียกธนาธรว่า “พ่อ” และใช้แฮชแทค #ฟ้ารักพ่อ ในการกระจายข่าวสารเกี่ยวกับพรรคและแสดงความนิยมในตัวธนาธร ซึ่งวลีนี้ก็มาจากละครเรื่อง ดอกส้มสีทอง ซึ่งมีตัวละครชื่อฟ้าที่มีความสัมพันธ์กับชายอายุมากกว่า ซึ่งคนกลุ่มนี้ทั้งถ่ายภาพกับธนาธรหลังงานปราศรัย และส่งของขวัญ ซึ่งรวมถึงครีมกันแดดจำนวนหลายขวดให้เขาด้วย ส่วนพรรคอนาคตใหม่ก็แสดงตนว่าเป็นพรรคการเมืองใหม่หัวก้าวหน้าที่วิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผย และธนาธรก็เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ที่ปรากฎกายในรายการทุกประเภททั้งแต่รายการดีเบตไปจนถึงวาไรตี้โชว์ และสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่จำนวนมาก อนาคตใหม่และธนาธรคือทางออกจากวังวนของความขัดแย้งทางการเมือง 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การมีนักการเมืองหน้าใหม่จะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ถ้าหากไม่มีคนลงคะแนนให้ นักการเมืองเหล่านี้ก็คงทำอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนกับว่าคนรุ่นใหม่จะฝากความหวังในการเปลี่ยนแปลงประเทศไว้กับนักการเมืองหน้าใหม่เหล่านี้

นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงที่ให้สัมภาษณ์ในคลิบวีดิโอ “ผีทักษิณ” คนหนึ่งกล่าวว่า เขาคิดว่าเลือกนักการเมืองหน้าใหม่ดีกว่า ส่วนณิชากรบอกว่าเธอคิดว่ามันเป็นการลองเสี่ยงดู 

“รู้สึกว่าการที่เอาคนหน้าใหม่เข้ามา มันทำให้เราเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนโมเมนตัมการเมืองไทยได้” เธอบอก

ทั้งสองคนคงไม่ได้รู้สึกอย่างนี้อยู่เพียงลำพัง ผลนิด้าโพลที่สำรวจจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ ซึ่งจัดทำระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2562พบว่า จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 55.36% ที่รู้ว่าตนจะลงคะแนนให้ใคร 18.74%บอกว่าจะลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยและอีก 13.86%บอกว่าจะเลือกพรรคอนาคตใหม่ ส่วนผลโพลเมื่อไม่นานมานี้ของชมรมสภาจำลอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณณ์มหาวิทยาลัย และสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน ซึ่งสำรวจจากนิสิตจุฬาฯจำนวน 1266 คน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน  70.8% จะลงคะแนนให้พรรคอนาคตใหม่ และเพีงแค่ 16% ต้องการลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย และเพียง 3.5%บอกว่าจะลงคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐ นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มนี้ 53.8% ต้องการให้ธนาธรเป็นนายกรัฐมนตรี และอีก 23.7% ต้องการชัชชาติ สิทธิพันธุ์ 

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีโอกาสได้เลือกตั้งตลอดเวลาที่ผ่านมา ห้าปีนั้นนานเกินไปแล้วและวันนี้คือจุดที่หลายคนจะไม่ทนอีกต่อไป 

บนแพลทฟอร์มอย่างทวิตเตอร์ ซึ่งผู้ใช้ส่วนมากเป็นคนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z ชาวเน็ตยังคงวิพากษ์วิจารณ์การกระทำทุกอย่างของคสช. และกระจายข่าวเกี่ยวกับความผิดพลาดในการจัดการเลือกตั้งของกกต. จุดยืนของพวกเขาชัดเจนว่าไม่ต้องการคสช. และไม่ต้องการพล. อ. ประยุทธ์ 

“มันคือพลังของเยาวชนมาก ๆ เลย” กูกสิณากล่าวถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ “ช่วงนี้เห็น Narrative ของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่บอกว่าประเทศชาติจะล่มจมเพราะคนรุ่นใหม่ รู้สึกว่าfirst time voter เป็นเปอร์เซ็นต์ใหญ่ของการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าเป็นความไม่ไว้ใจเราของคนรุ่นก่อนกับคนรุ่นนี้ เขาไม่ไว้ใจเรา เห็นว่าเราไม่สำคัญ” 

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่บ้างส่วน เช่น น. และณัฐวรากล่าวว่าพวกเขากังวลว่า กกต.กำลังพยายามจัดการการเลือกตั้งเพื่อให้ฝ่าย คสช.ได้เปรียบ คนรุ่นใหม่มีความกังวลเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ การประท้วง หรือแม้แต่ว่าจะมีรัฐประหารอีกครั้งไหม บางคนกลัวว่าความผิดพลาดของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและการเลือกตั้งล่วงหน้าจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่จำนวนมากก็มองว่านี่คือเหตุผลที่พวกเขาจะต้องออกไปเลือกตั้งให้ได้ ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วสำหรับพวกเขา 

เนติวิทย์กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ใช่ทางออก แต่มันคือ “การเริ่มต้นเพื่อต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน” คนรุ่นใหม่นั้นไม่เหลือความอดทนให้กับการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอีกแล้ว และหลังจากที่ถูกกดไว้ตลอดห้าปี พวกเขาพร้อมจะส่งเสียงออกมาให้ทุกคนได้ยินแล้ว

และถึงแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ใช่ทางออกของประเทศไทย มันก็คือจุดเปลี่ยนสำคัญ การเปลี่ยนแปลงย่อมต้องใช้เวลา แต่การจะนำความเปลี่ยนแปลงมาได้ต้องมีการเริ่มต้น และถ้าหากว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาหวังไว้จะมาถึงได้อย่างแน่นอน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net