Skip to main content
sharethis

คกก.วัตถุอันตรายไม่แบนพาราควอต เสียงเห็นด้วย 16 ยกเลิก 5 คาดอีก 2 ปีจะชัดเจน ด้านไบโอไทยแฉเลื่อนลงมติแบนอีก 2 ปี บริษัทสารพิษฟันกำไรบาน Thai-PAN ออกแถลงการณ์ จะเดินหน้าเคลื่อนไหวยกเลิกพาราควอต เรียกร้องมาตรการเหมาะสมแก่ผู้ลงมติไม่แบน

ภาพจากเพจ  เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)

 

คกก.วัตถุอันตรายไม่แบนพาราควอต เสียงเห็นด้วย 16 ยกเลิก 5 คาดอีก 2 ปีจะชัดเจน

14 ก.พ. 2562 มติชนออนไลน์รายงานว่า อภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยหลังการประชุมที่ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการห้ามใช้พาราควอต โดยมีมติยืนตามมติเดิมเมื่อวัน 23 พฤษภาคม 2561 ที่ระบุว่ายังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพราะให้ใช้เฉพาะ 6 พืช ประกอบด้วย ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น และระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตามมาตรการ 5 ข้อ อาทิ ทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค จัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตรผู้พ่นสารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช คาดว่าจะมีความชัดเจนว่าจะเลิกหรือไม่เลิกภายใน 2 ปี หรือภายในวันที่ 1 มกราคม 2564 แต่หากสามารถหาสารทดแทนได้ก็ยกเลิกก่อน 2 ปี

“ที่ประชุมวันนี้พบว่ามีมติสนับสนุนใช้ต่อ 16 เสียง มติยกเลิก 5 เสียง และงดออกเสียง 5 เสียง ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ไม่เช่นนั้นอาจมีผลต่อการใช้ชีวิตของกรรมการแต่ละคน อย่างไรก็ตามตอนนี้ต้องฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้ เพราะหากยกเลิกทันทีเกษตรกรจะได้รับกระทบทันที เพราะยังไม่มีสารอื่นมาทดแทน และฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิก” อภิจิณกล่าว

อภิจิณกล่าวว่า หลังจากนี้ตัวแทนกรรมการวัตถุอันตราย เตรียมเข้าชี้แจงมติดังกล่าว โดยจะนำข้อมูลที่กรมวิชาการเกษตรเสนอ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้สารดังกล่าวภายในวันที่ 1 มกราคม 2563 นอกจากนี้ในช่วง 3 เดือนจากนี้ทางคณะกรรมการฯจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาความคืบหน้าของข้อมูล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีทั้งกลุ่มที่หนุนการใช้ารพาราควอต และกลุ่มที่คัดค้าน แต่ทั้งกลุ่มแยกการนั่ง กลุ่มหนุนนั่งในอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงฯเพราะเดินทางมาถึงก่อน ส่วนกลุ่มค้านนั่งภายนอกอาคาร โดยทั้ง 2 ฝ่ายเดินทางถึงกระทรวงประมาณ 12.00 น. ขณะที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเริ่มประชุมเวลา 13.00 น. เสร็จ 17.00 น.และระหว่างการแถลงผลการประชุมมีตำรวจเข้ามาดูแลความเรียบร้อย โดยทั้ง 2 ฝ่ายแยกย้ายกลับโดยไม่มีความขัดแย้งแต่อย่างใด

 

ไบโอไทยแฉ เลื่อนลงมติแบนอีก 2 ปี บริษัทสารพิษฟันกำไร

วันเดียวกัน เฟซบุ๊กเพจ BIOTHAI เปิดเผยว่า เอกสารของกรมวิชาการเกษตรที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เสนอให้เลื่อนการลงมติแบนไปอีก 2 ปีข้างหน้า โดยอ้างว่าได้ลดการนำเข้าพาราควอตลงแล้วอย่างมาก แต่นี่คือการโกหกและบิดเบือนอย่างรับไม่ได้ เพราะการลดลงของสถิติการนำเข้าพาราควอต เนื่องจากบรรดาบริษัทสารพิษได้นำเข้ามาตุนเอาไว้แล้วอย่างมหาศาลเมื่อปี 2560 โดยจะได้ประโยชน์ 2 ต่อ 1. คือฟันกำไรจากกระแสข่าวว่าพาราควอตจะถูกแบน โก่งราคาขายแพงขึ้น 2. เป็นข้ออ้างสำหรับกรมวิชาการเกษตรจะอ้างได้ในปี 2562 ว่าพาราควอตได้นำเข้าลดลงแล้ว ตามแนวทางลด ละ เลิกการใช้สารเคมี

 

Thai-PAN ออกแถลงการณ์ จะเดินหน้าเคลื่อนไหวยกเลิกพาราควอต เรียกร้องมาตรการเหมาะสมแก่ผู้ลงมติไม่แบน

วันเดียวกัน เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านกรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่แบนพาราควอต โดยกล่าวว่ารู้สึกผิดหวังและเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว สวนทางกับข้อเสนอของ (1) กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง (2) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (3) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (4) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (5) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (7) สภาเกษตรกรแห่งชาติ (8) สภาเภสัชกรรม (9) แพทยสภา (10) เครือข่ายประชาคมวิชาการ (11) เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (12) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษนี้ภายในปี 2562

รวมทั้งเรียกร้องให้กรรมการวัตถุอันตรายทั้งหมด 29 คนต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในการลงมติที่เอื้อต่อประโยชน์ของบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืชในครั้งนี้ และประชาชนควรจะเป็นผู้ตัดสินใจให้บทเรียนกับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ต้องกระทำ รวมทั้งมีมาตรการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานและผู้ที่ลงมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงครั้ังนี้จำนวน 16 คนด้วย

“การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิชาการอันหนักแน่นและเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ปล่อยให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารกทุก 1 ใน 2 คนที่จะลืมตามมาดูโลก” แถลงการณ์ระบุ

เครือข่ายยังระบุว่า จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอตและสารพิษร้ายแรงอื่นๆต่อไป โดยสนับสนุนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้าและบริการจากผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสารพิษร้ายแรง และร่วมกันรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษ ไม่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก

 

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)

แถลงการณ์
กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่แบนพาราควอต

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร รู้สึกผิดหวังและเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติไม่แบนพาราควอต สารพิษร้ายแรงที่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกห้ามใช้แล้ว สวนทางกับข้อเสนอของ (1) กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง (2) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (3) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข (4) คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (5) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (7) สภาเกษตรกรแห่งชาติ (8) สภาเภสัชกรรม (9) แพทยสภา (10) เครือข่ายประชาคมวิชาการ (11) เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (12) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น ที่เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกสารพิษนี้ภายในปี 2562

เครือข่ายฯผิดหวังเป็นที่สุดต่อบทบาทของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และข้าราชการระดับสูงกลุ่มหนึ่งในกระทรวงดังกล่าว ซึ่งมีบทบาทอย่างสำคัญที่ทำให้ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯทั้ง 5 คนในคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสนอให้มีการใช้พาราควอตต่อไป โดยจะให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ใหม่เมื่อพ้นระยะ 2 ปีไปแล้ว การกระทำดังกล่าวถือเป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลทางวิชาการอันหนักแน่นและเสียงเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ปล่อยให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งคุกคามต่อชีวิตของเกษตรกร ผู้บริโภค และเด็กทารกทุก 1 ใน 2 คนที่จะลืมตามมาดูโลก

รัฐบาลคสช. ซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ โดยมีกรรมการที่มาจากหน่วยงานของรัฐมากถึง 19 คน จากกรรมการวัตถุอันตรายทั้งหมด 29 คนต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในการลงมติที่เอื้อต่อประโยชน์ของบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืชในครั้งนี้ และประชาชนควรจะเป็นผู้ตัดสินใจให้บทเรียนกับผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจทางนโยบายที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ต้องกระทำ รวมทั้งมีมาตรการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานและผู้ที่ลงมติไม่แบนสารพิษร้ายแรงครั้ังนี้จำนวน 16 คนด้วย

เครือข่ายฯขอขอบคุณ กรรมการวัตถุอันตรายเสียงข้างน้อย จำนวน 5 คน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขและ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ที่ลงมติให้มีการคุ้มครองชีวิตของประชาชนและปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารพิษโดยการเสนอให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว

เครือข่ายขอประกาศว่า จะเดินหน้าเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการยกเลิกพาราควอตและสารพิษร้ายแรงอื่นๆต่อไป โดยสนับสนุนให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการยื่นเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง รณรงค์ไม่สนับสนุนสินค้าและบริการจากผู้ผลิตและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนสารพิษร้ายแรง และร่วมกันรณรงค์ไม่ให้บุคคล กลุ่มบุคคล ที่เลือกข้างกลุ่มทุนสารพิษ ไม่ให้เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศอีก

ปัญหาอุปสรรคในการแบนสารพิษร้ายแรง สะท้อนให้เป็นความอัปลักษณ์ของกฎหมายวัตถุอันตรายที่ให้อำนาจการแบนสารพิษไปไว้ในมือของหน่วยงานที่ปราศจากความรู้และความตระหนักในเรื่องความสำคัญของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลากรบางกลุ่มในคณะกรรมการกับบริษัทสารพิษ ซึ่งสังคมไทยต้องใช้ความรู้และพลังของประชาชนเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อย่างถึงราก

เราเห็นการเติบโตและตื่นขึ้นของพลังประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ เราเห็นการลุกขึ้นขององค์กรและสภาวิชาชีพต่างๆที่ลุกขึ้นเปล่งเสียงเรียกร้องให้ยุติการใช้สารพิษร้ายแรงซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อระบบเกษตรกรรม อาหาร และชีวิตของพวกเราทั้งหมด พลังเหล่านี้จะเติบโตขยายตัวมากขึ้น

เราเชื่อมั่นในพลังของประชาชนว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวให้เกิดขึ้น ในระยะเวลาอันใกล้

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร
14 กุมภาพันธ์ 2562

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net