Skip to main content
sharethis

บลูมเบิร์กวิเคราะห์กรณีทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และต่อมาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชโองการว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง โดยบลูมเบิร์กเห็นว่า 8 ก.พ. นับเป็นวันที่มีความเป็นที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่ก็เป็นอีกความเคลื่อนไหวที่ผิดพลาดของฝ่ายทักษิณ นับตั้งแต่ถูกโค่นลงจากอำนาจหลังรัฐประหารปี 2549 ด้านเควิน ฮิววิสัน เห็นว่าเราได้เข้ามาอยู่ใน "เขตแดนใหม่" แล้ว

พระราชโองการ ประกาศ สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย คืนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

 

บทรายงานเผยแพร่ในบลูมเบิร์กเมื่อ 8 ก.พ. ตอนหนึ่งระบุว่า แม้ไทยจะเป็นประเทศที่ความพยายามทำรัฐประหาร, การประท้วงบนท้องถนน และเหตุร้ายทางการเมืองกลายเป็นเรื่องปกติ แต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์กลับเป็นวันที่มีความนาฏกรรมอย่างเป็นที่สุดสำหรับประวัติศาสตร์ไทย

เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อเวลา 09.15 น. เมื่อพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ระบุว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เห็นชอบที่จะได้รับการเสนอพระนามเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และอีก 13 ชั่วโมงต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระราชโองการกลางดึก ระบุถึงกรณีเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็นแคนดิเดตดังกล่าวว่า "เป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง" และขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในพระราชโองการยังกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า "เป็นศูนย์รวมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทย" และ "พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง"

รายงานในบลูมเบิร์กชี้ว่า เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้เอง ได้เขย่าภูมิทัศน์การเมืองไทยก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ที่มุ่งหมายจะฟื้นฟูประชาธิปไตย และภายหลังเหตุการณ์นี้ยังเพิ่มโอกาสให้หัวหน้าคณะรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะอยู่ในอำนาจต่อในฐานะนายกรัฐมนตรี และสร้างความเสียหายให้กับทักษิณและเครือข่าย ซึ่งที่ผ่านมาชนะการเลือกตั้งทุกๆ ครั้งตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา และมักจะถูกขับออกด้วยคำตัดสินของศาล หรือโดยกองทัพเท่านั้น

"โรคกลัวทักษิณกลับมามีอิทธิพลอย่างเต็มที่อีกครั้งและในขณะเดียวกันก็ทำให้กลุ่มต่อต้านทักษิณ-หนุนกองทัพตื่นตัวขึ้นด้วยเช่นกัน" ฐิติพล ภักดีวานิช นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าว "ทั้งนี้พรรคของทักษิณเช่นพรรคเพื่อไทยจะชนะถล่มทลายอย่างที่ผ่านมาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายหลักๆ ที่ใช้ในการหาเสียง"

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ได้โพสต์ผ่านอินสตาแกรม กล่าวขอบคุณประชาชนไทย "ที่ให้กำลังใจและให้ความสนับสนุน" มาโดยตลอด และระบุว่า "อยากเห็นประเทศไทยเดินไปข้างหน้า เป็นที่ชื่นชมและยอมรับของนานาประเทศ" 

ด้านพรรคไทยรักษาชาติเองก็ออกแถลงการณ์ซาบซึ้งในพระเมตตาของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ  และระบุด้วยว่า"น้อมรับพระราชโองการข้างต้นไว้ด้วยความจงรักภักดีต่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทุกพระองค์"

บลูมเบิร์กระบุอีกว่านักลงทุนมีท่าทีระแวดระวังต่อความอ่อนไหวทางการเมืองไทยอยู่แล้วในวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมาช่วงก่อนหน้าที่จะมีพระราชโองการ ค่าเงินบาทอ่อนลงร้อยละ 0.7 เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทยเขียนขึ้นหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอำนาจในปี 2557 จากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญยังกำหนดให้วุฒิสมาชิกทั้ง 250 คนมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ซึ่งสามารถร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย โดยบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ก็อาจได้เสียงสนับสนุนจากเหล่าวุฒิสมาชิก ผู้ซึ่งเดิมอาจไปลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็มีตัวแทนจากพรรคประชาชนปฏิรูปที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไปยื่นคำร้องต่อ กกต. เนื่องจากมีกฎหมายเลือกตั้งที่ห้ามนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

พอล แชมเบอร์ อาจารย์จากวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงสถานการณ์หลังจากนี้ว่าเรื่องนี้อาจกลายเป็นผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความผิดพลาดของทักษิณ

บลูกเบิร์กระบุว่า สำหรับทักษิณ เรื่องนี้ได้กลายเป็นอีกหนึ่งความล้มเหลวจากอีกหลายกรณี นับตั้งแต่เขาถูกโค่นล้มหลังรัฐประหารปี 2549 ด้วยข้อกล่าวหาว่าบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ การผูกมิตรกับพระราชวงศ์ชั้นสูงอาจทำให้เขามีโอกาสกลับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเขายังมีโทษอาญาจำคุกจากคำตัดสินในคดีทุจริต ซึ่งทักษิณเห็นว่าคดีพวกนี้เป็นการคดีการเมือง 

เครือข่ายของทักษิณเองก็เคยคำนวณพลาดในอดีต เมื่อพยายามที่จะนำทักษิณกลับประเทศไทย โดยในปี 2556 รัฐบาลยิ่งลักษณ์พยายายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่งทำให้เกิดการชุมนุมบนท้องถนนนับเดือนจนนำไปสู่การรัฐประหาร

อย่างไรก็ตามทางบลูมเบิร์กระบุว่าการที่อุบลรัตนเข้ามาในพรรคไทยรักษาชาติอาจจะเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะมีการแก้รัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้มีการแก้กฎหมายหลายข้อที่ให้อำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น บลูมเบิร์กวิเคราะห์ในแง่นี้เพราะว่าอุบลรัตนเองเคยโพสต์อินสตาแกรมแสดงความยินยอมเป็นตัวแทนพรรคการเมืองโดยระบุว่าพระองค์จะสละฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ และอยู่ในฐานะสามัญชน และอยากมีโอกาส "นำประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง"

 

เขตแดนใหม่

นับตั้งแต่ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในปี 2559 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ โดยทรงมีพระราชอำนาจดูแลสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มากขึ้นหลัง สนช. ผ่าน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในปี 2560 ซึ่งเปลี่ยนแปลงผู้ครองกรรมสิทธิ์มาเป็นพระองค์

ในพระราชโองการเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังทรงยืนยันถึงโบราณราชประเพณีที่แยกระหว่างพระบรมราชวงศ์กับการเมือง โดยบลูมเบิร์กยังระบุว่า สำหรับประเทศแห่งหนึ่งที่หลายอย่างมีความไม่ชัดเจน สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนแน่นอนคือถ้อยคำของพระมหากษัตริย์ถือเป็นที่สุด

"เราอยู่ในเขตแดนใหม่" เควิน ฮิววิสัน ศาตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาผู้เขียนเรื่องการเมืองไทยมาหลายสิบปีกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "เรื่องเหล่านี้อาจจะยังไม่จบลงง่ายๆ และจะมีผลพวงที่ตามมา" อย่างไรก็ตามพวกเราอาจไม่รู้เรื่องเหล่านี้นัก เนื่องจากเป็นเรื่องภายในพระราชวงศ์

เรียบเรียงจาก

Thai King's Rebuke of Sister Increases Tensions Before Election, Bloomberg, 08-02-2019

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net