Skip to main content
sharethis

พูดคุยกับเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชนกับการลงสนามการเมืองของชาวบ้านสามัญชนที่ต้องการเข้าไปเขียนกฎหมายของตัวเอง ลดความเหลื่อมล้ำแบบฟ้ากับเหว และทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส. ที่จะเป็น ‘ตัวป่วน’ ทั้งในสภาและนอกสภา

  • นโยบายที่ได้มาจากประชาธิปไตยฐานราก นโยบายที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และนโยบายที่คำนึงถึงความเท่าเทียมและเป็นธรรม เป็นอุดมการณ์ 3 ข้อของพรรคสามัญชน
  • หน้าที่ของพรรคสามัญชนคือการตั้งกระทู้ต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการพัฒนา นโยบาย และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ รวมทั้งสนับสนุนร่างและเสนอร่างกฎหมายที่ขจัดหรือลดความเหลื่อมล้ำ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เป็นเอ็นจีโอที่จับประเด็นสิ่งแวดล้อมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมานาน กับบทบาทที่เพิ่มขึ้นคือการเป็นหัวหน้าพรรคสามัญชนที่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง (เราพูดคุยกับเขาก่อนการเปิดรับสมัคร ส.ส.) ด้วยหวังครึ่งต่อครึ่งที่จะได้เข้าไปเป็น ‘ตัวป่วน’ ในสภา เขาและพรรคสามัญชนตระเตรียมกระทู้ถามไว้แล้วในวันที่สภาเปิดและจะถามทุกวันจนถึงวันปิดสภา เขาบอกแบบนั้น

ประชาธิปไตยฐานราก สิทธิมนุษยชน และการลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรม เป็นอุดมการณ์หลักของพรรคที่จะไม่ยอมอ่อนข้อ ประกาศตัวแบบนี้ก็แน่นอนว่า พรรมสามัญชนย่อมมีฝ่ายตรงข้ามมากพอสมควร ก็ในวันแถลงวิสัยทัศน์พรรคถึงกับบอกว่าจะยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) แต่มันคือเสียงสะท้อนจากคาราวานสามัญชนที่ผ่านกระบวนการมาแล้วอย่างเข้มข้น ไม่ใช่นโยบายที่นั่งคิดกันในห้องสี่เหลี่ยม

เอาเข้าจริงนี่อาจไม่ใช่ช่วงเวลาเหมาะที่ชาวบ้านธรรมดาจะตั้งพรรคการเมือง เพราะกฎกติกาที่เขียนโดยคนเพียงหยิบมือสร้างกติกาหยุมหยิมเพื่อทำให้การรวมตัวเป็นพรรคการเมืองทำได้ยากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าตอนนี้ไม่เหมาะ ก็คงไม่มีช่วงเวลาไหนเหมาะไปกว่านี้อีกแล้ว

000

การเป็นหัวหน้าพรรคยากมั้ย?

ยากมาก ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่เหมือนการเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ผมมีองค์กรเล็กๆ ทำงานอยู่ประมาณสี่ห้าคน เริ่มแรกก็สองสามคน เต็มที่ก็ให้อยู่ประมาณสี่ห้าคน เพื่อให้ง่ายกับการบริหารจัดการและหาเงินเพื่อเลี้ยงดูกัน

แต่พอเป็นพรรคการเมืองแล้วมันมีสมาชิกเป็นร้อยคน คนยิ่งมาก ความคิดยิ่งมาก ในองค์กรเล็กๆ คนสี่ห้าคนก็มีความคิดสี่ห้าอย่าง แต่ในพรรคมีสมาชิก 600 คนก็ 600 ความคิด มันก็ค่อนข้างที่จะยากมากสำหรับคนที่ไม่เคยบริหารจัดการองค์กรใหญ่ขนาดนี้มาก่อน

ประกอบกับทั้งการเป็นพรรคการเมือง คือเมื่อก่อนเราอยู่ในพื้นที่การเมืองมาตลอด แต่เราไม่เคยอยู่ในพื้นที่ของพรรคการเมือง การเมืองมันมี 2 อย่างคือตัวการเมืองกับตัวพรรคการเมือง ทุกคนอยู่ในการเมืองตลอดเวลา แต่ไม่เคยที่จะมาลงทำพรรคการเมือง พอเป็นพรรคการเมืองปุ๊บ มันเจอกฎระเบียบ เงื่อนไขของรัฐที่ยุ่งยาก หยุมหยิมเต็มไปหมด ผมก็ไม่รู้ว่ากฎหมายพรรคการเมืองก่อนมีรัฐประหาร ในสมัยปี 2540 มันเปิดช่อง เปิดทาง ให้โอกาสกับประชาชนคนเล็กคนน้อยที่จะมีพรรคการเมืองของตัวเองแค่ไหน แต่ในยุค คสช. มันสร้างกฎหยุมหยิมยุ่งยากเต็มไปหมด เพื่อสกัดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ให้ไปไกลกว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

คุณจัดการ 600 ความคิดยังไง โดยกระบวนการของพรรคสามัญชนคงไม่ใช่การชี้นิ้วสั่งว่าเอาแบบนี้ๆ

มันต้องประนีประนอมความคิดเห็น ในสามัญชนมีทั้งซ้าย ทั้งขวา ทั้งก้าวหน้าและล้าหลัง ทั้งอนุรักษ์นิยม ทั้งเสรีนิยมเต็มไปหมด ในแต่ละกลุ่มความคิดก็มีเฉดสีต่างๆ กันอีก เช่น คนที่ทำงานด้านสิทธิสตรี สิทธิความหลากหลายทางเพศ คนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสิทธิมนุษยชน บางทีก็มีความเห็นที่ไม่ก้าวหน้านักเกี่ยวกับสิทธิสตรี สิทธิทางเพศสภาพ เป็นต้น

มันก็เลยต้องหาจุดประนีประนอม จุดที่ทำให้พรรคมันขับเคลื่อนไปได้ เพราะอย่างที่ว่าว่าพรรคสามัญชนไม่ได้มีหน้าที่ต้องสั่งนั่นสั่งนี่ แต่ต้องประนีประนอมความคิดเห็นที่หลากหลายนั้น ในความยากของมันอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องท้าทายมาก ไม่เคยคิดมาก่อนว่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาจะมาอยู่ในองค์กรที่ใหญ่ขนาดนี้ และเรื่องความคิดก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องคอยดูแลทุกความคิด จะไม่ปัดตกทุกอย่าง จะต้องคอยดู ไม่เฉพาะตัวผมคนเดียว ตัวคณะกรรมการบริหารพรรคเองจะต้องคอยดูตลอดเวลาที่จะไม่ปัดตกความคิดเห็นใคร ถึงแม้ความคิดเห็นนั้นอาจจะสุดโต่ง สุ่มเสี่ยง อันตรายที่จะเสนอต่อสาธารณะ แต่ต้องเก็บเอาไว้ก่อนเพื่อถกเถียงกันต่อและดูว่าจะตกตะกอนได้มั้ยในประเด็นนี้ ก็ทั้งยาก ทั้งสนุก และท้าทาย

ถ้ามันคือการประนีประนอมความคิดเห็นที่หลากหลาย กรณีคุณเอกชัย อิสระทะคืออะไร

เป็นความใหม่ของสถานการณ์ที่รับมือไม่ทัน เป็นทั้งความไร้เดียงสาของเรา เมื่อก่อนเราอยู่ในพื้นที่การเมืองอย่างที่ผมบอก แต่พื้นที่พรรคการเมืองก็มีความไร้เดียงสาบ้าง แต่เหตุการณ์เอกชัยก็สอนให้มีประสบการณ์มากขึ้น รู้สึกว่าลุ่มลึก ต้องตระหนักให้ถี่ถ้วนมากขึ้น

จริงๆ พรรคสามัญชนไม่ได้ไล่เอกชัยออก ประเด็นของเอกชัย พรรคสามัญชนไม่ได้ไล่ออก จะเห็นได้ชัดเจนจากแถลงการณ์ของพรรคสามัญชนที่ตำหนิเอกชัยและภาคทัณฑ์ ให้โอกาส แต่ไม่ได้โจมตี เห็นอยู่ว่าสิ่งที่เอกชัยทำให้ความสนใจในข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน แต่แกตระหนักถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่การขยายความข้อเท็จจริงในเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ครบถ้วน มันก็เลยเป็นการดูแคลนหรือไม่ตระหนักต่อข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วน เป็นการดูถูกคนฟังมากเกินไป พรรคสามัญชนทำแค่นี้ แต่ไม่เคยไล่ออก

ถามว่าแรงกดดันต่อกรณีเอกชัยสูงมั้ย สำหรับผมไม่สูงนะ แต่คนอื่นบอกสูง เพราะเขาคงดูความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก แต่ส่วนผมไม่มีสื่อสังคมออนไลน์ที่จะดูและผมก็ไม่ดู ผมไม่เชื่อว่าพื้นที่สังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประชาคมใดๆ ทั้งสิ้น ยังมีพื้นที่นอกออนไลน์ที่ใหญ่กว่าเต็มไปหมด ในขณะที่มีความเคลื่อนไหวคึกคักกรณีเอกชัยในโลกออนไลน์ แต่ว่าในโลกนอกออนไลน์ยังมีสมาชิกที่เป็นชาวบ้านอีกมากไม่รู้เรื่องเอกชัยเลย ความหมายก็คือแน่นอนว่าการเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์เป็นเหตุผลหลัก อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สมาชิกจำนวนหนึ่งในเขตเมือง ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือสามารถใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นกิจวัตรประจำวันก็ค่อนข้างตื่นตระหนกไปกับมัน เราก็บอกว่าให้ใจเย็นๆ อย่าตื่นตระหนกเกินเหตุ แต่มันก็ก่อให้เกิดแรงกดดันมหาศาลต่อทั้งตัวเอกชัยเองที่รู้สึกว่าโลกออนไลน์ไม่เป็นมิตรกับเขามากนักในกรณีที่โดนซ้ำเติม แต่ก็มีคนให้กำลังใจเขาเยอะ และเขารู้สึกผิด เขาไม่อยากเป็นตัวการในการถกเถียงอะไรอีกแล้ว เขาก็เลยลาออก

หน้าที่ที่ดีที่สุดของพรรคสามัญชน ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลคือการตั้งกระทู้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดจากการพัฒนา จากนโยบาย และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ และสนับสนุนทุกร่างกฎหมาย รวมทั้งเสนอร่างกฎหมายเองที่เกี่ยวข้องกับการขจัดหรือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านต่างๆ

 

คุณบอกว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์?

ไม่มากเท่ากับคนอื่นๆ

แต่การเมืองรอบนี้สื่อสังคมออนไลน์มีผลต่อการหาเสียง...

จะเดินทางลงไปหาชาวบ้าน แต่ผมไม่ได้ปฏิเสธโลกออนไลน์ ผมหมายถึงว่าต้องสร้างสมดุลระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์ เวลาเราเช็คกระแสข่าวจากโลกออนไลน์ เราต้องเช็คกระแสข่าวจากโลกออฟไลน์ด้วย

กฎหมายพรรคการเมืองระบุว่าใน 1 ปีต้องมีสมาชิก 5,000 และสาขาพรรคทั้ง 4 ภาค ตอนนี้ทำได้ตามเงื่อนไขหรือยัง

เราได้สมาชิก 1,000 คนแล้ว ยังเหลืออีก 4,000 คนที่ต้องได้ภายในปีนี้ เราถูกประกาศเป็นพรรคการเมืองวันที่ 26 ธันวาคม เพราะฉะนั้นประมาณ 25 ธันวาคมปีนี้ต้องได้ 5,000 คน ก็เป็นอะไรที่ท้าทาย แต่คิดว่าเราจะพยายามทำให้ได้ และใน 4 ปีต้องได้ 10,000 คน เราคิดว่าเราทำได้

คนที่เป็นสมาชิกพรรคสามัญชนตอนนี้เป็นคนกลุ่มไหนบ้าง

คนรุ่นใหม่ นักศึกษา ชาวบ้าน แล้วก็พวกนักกิจกรรมทางสังคมก็เริ่มเข้ามาเยอะขึ้น โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ก็เข้ามาเยอะขึ้นมากกว่าตอนจัดประชุมที่นาหนองบง ตอนนี้ขยับมาได้เกือบพันคนแล้วถือว่าเยอะขึ้นมาก กลุ่มเป้าหมายหรือจำนวนสมาชิกชาวบ้านที่เพิ่มขึ้นก็ยังถือว่าไม่ได้ขยายฐานมากนัก โดยเฉพาะชนชั้นกลาง หรือแม้กระทั่งกลุ่มแรงงานเอง สมาชิกที่เป็นแรงงานเรายังมีความสัมพันธ์น้อย เราคิดว่าเราต้องเข้าไปใกล้ชิดกับพี่น้องแรงงานมากขึ้น

แนวทางที่จะหาสมาชิกให้ได้ตามเงื่อนไขกฎหมาย?

ยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่อย่างน้อยเรามีเครื่องมือหรือกลไกสำคัญคือคาราวานสามัญชนในการลงไปทำความเข้าใจ ลงไปอธิบาย หาเสียง กับพี่น้องประชาชนในกลุ่มต่างๆ เพื่อจะขอเวลาอธิบายให้เกิดความเข้าใจว่าพรรคสามัญชนมีขึ้นเพื่ออะไร ทำไม และจะทำหน้าที่อะไรในสภา ใช้คาราวานเพื่อทั้งหาเสียง รับฟังความคิดเห็น และให้มวลชนในพื้นที่ต่างๆ ได้เสนอความต้องการ ความปรารถนา ความเห็นเกี่ยวกับการเมือง เพื่อนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตนโยบายของเรา คงต้องเดินทางมากขึ้น และเราคงต้องใช้เครื่องมือสื่อสังคมออนไลน์เหมือนกัน แต่เราก็ไม่ค่อยมั่นใจนักว่าจะมีประสิทธิภาพสูงพอมั้ยกับการใช้เครื่องมือออนไลน์ในการหาสมาชิก คงต้องใช้ทั้งสองแบบผสมผสานกัน แต่หลักคือเราต้องลงเดินทางไปหาในพื้นที่

วันเลือกตั้งประกาศแล้ว ตอนนี้พรรคสามัญชนมีความพร้อมแค่ไหนในการเลือกตั้งครั้งนี้

เมื่อเดือนที่แล้วเรากำหนดเอาไว้ว่าเราจะส่งคนลงสมัครได้ประมาณ 27-30 เขต แต่วันนี้อุปสรรคจากกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้งที่ต้องหา 100 คนให้ได้ใน 1 จังหวัด เพื่อจะได้มีสิทธิ์ส่ง ส.ส. ทำให้เราประเมินตัวเลขใหม่คือเหลือ 17-20 เขต

ตอนนี้มีความพร้อมแล้วที่จังหวัดเลย 2 เขต จังหวัดหนองบัวลำภู 1 เขต จังหวัดสกลนคร 3 เขต จังหวัดกาฬสินธุ์อีก 3 เขต จังหวัดขอนแก่น 1 เขต จังหวัดสุรินทร์ 2 เขต จังหวัดเชียงราย 1 เขต จังหวัดเชียงใหม่ 1 เขต กำหนดการของมันคือต้องสมัครรับเลือกตั้ง 4-8 กุมภาพันธ์ เราคงมีเวลาอีกไม่กี่วันที่จะต้องเตรียมความพร้อมกับผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งก็มีอุปสรรคอีกอย่างคือแต่ละเขตต้องเสียค่าสมัครกับ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) เขตละหมื่น ทำให้เงิน 1 ล้านบาทของเราไม่เพียงพอจะใช้สำหรับการเพิ่มเขตได้มากนัก

ที่เราเสียใจอยู่อย่างหนึ่งก็คือเราเกรงว่าจะหาสมาชิก 500 คนในกรุงเทพมหานครได้ไม่ทัน ถ้าไม่ทัน แสดงว่าเราไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส. ในเขตกรุงเทพมหานครได้เลย แล้วก็มีภาคใต้ในจังหวัดสงขลา อำเภอรัตภูมิ เขตนี้ก็เฉียด 70-80 คน แต่ก็ยังไม่ได้ 100 คน ไม่รู้ว่าพอถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์เราจะได้ 100 คนมั้ย ถ้าไม่ได้เราก็จะเสียโอกาสในเขตภาคใต้ไปอีก 1 เขต ก็ค่อนข้างเสียใจอยู่

(หมายเหตุ ภายหลังผู้สื่อข่าวตรวจสอบพบว่า ล่าสุด 13 ก.พ. ยังมีสมาชิกไม่ถึง 100 คน จึงไม่สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ อ.รัตภูมิ ได้)

แต่ละเขตที่เล่ามาทับซ้อนกับเจ้าของพื้นที่เดิม เวลานี้คุณมั่นใจแค่ไหนที่สมาชิกพรรคสามัญชนจะได้เข้าไปนั่งในสภา

ห้าสิบห้าสิบ มั่นใจว่าเราไม่ชนะเลือกตั้งใน ส.ส.เขตหรอก ไม่ได้ดูถูกและลดทอนความตั้งใจของพี่น้องที่จะลงสมัคร ส.ส.เขต อย่าได้เข้าใจผิด แต่เมื่อประเมินบวกลบคูณหารทั้งหมดแล้ว ถึงจะมีความเข้าใจแค่ไหนก็ตาม เราคงไม่ชนะ แต่เราน่าจะได้คะแนนรวมกันทั้งหมดถึง 75,000 คะแนน เพื่อจะได้ 1 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เรามีความมั่นใจ 50 เปอร์เซ็นต์

พรรคสามัญชนถือว่าเป็นพรรคฝ่ายซ้ายได้หรือเปล่า

ผมอยากจะให้นิยามตัวเองอย่างนั้น แต่อย่างที่ว่าว่ามีฝ่ายก้าวหน้าที่หลากหลายในพรรคสามัญชน ผมไม่มั่นใจว่าจะใช้คำว่าซ้ายทั้งหมดได้หรือเปล่า เดี๋ยวมันจะกลายเป็นการชื่นชม เป็นการเหลิง รู้สึกดีที่ตัวเองเป็นฝ่ายซ้ายมากเกินไป ความหมายก็คืออุดมการณ์เสรีนิยมบางทีก็ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของฝ่ายซ้าย แต่อุดมการณ์เสรีนิยมดีๆ ในพรรคสามัญชนก็มีเยอะ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ความเท่าเทียมทางเพศ การลดความเหลื่อมล้ำ แต่เสรีนิยมบางปีกก็เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาประเทศ ก็จะมีแนวนี้อยู่ในพรรคสามัญชน ผมเลยไม่รู้จะเรียกพรรคสามัญชนว่าอย่างไร แต่ถ้าให้ผมคนเดียวนะ ผมเป็นซ้าย ถ้าเป็นพรรค ผมว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้าที่เอียงซ้าย

ช่วยตกผลึกแนวนโยบายของพรรคสามัญชนให้ฟังหน่อย

คำว่านโยบายที่ผ่านมาและเป็นอยู่ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มันตกอยู่ในมือพวกเทคโนแครต ข้าราชการระดับสูง และปัญญาชนเป็นหลัก มันเพียงแค่นโยบาย แต่ไม่เคยมีนโยบายไหนเป็นนโยบายสาธารณะอย่างแท้จริง นโยบายสาธารณะในความหมายของพรรคสามัญชน มันคือการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ระดับรากฐาน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการผลิตนโยบาย

เราพยายามทำให้นโยบายเป็นนโยบายสาธารณะให้ได้ นโยบายสาธารณะเหล่านี้ เราคิดค้นกระบวนการว่าจะต้องเกิดขึ้นจากคนสามัญชนทั่วไป ที่เราชอบพูดว่าเราทำนโยบายจากข้างล่างด้วยคาราวานสามัญชน คาราวานสามัญชนก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เดินทางลงไปพูดคุยกับชาวบ้านทั่วทุกหัวระแหง ของกลุ่มปัญหาต่างๆ ของพี่น้องแรงงาน หรือบางทีก็เป็นของพี่น้องชนชั้นกลางบ้าง หรือบางทีอาจเป็นประเด็น เช่น กัญชา ถ่านหิน น้ำเสีย ฝุ่น PM 2.5 คือมีการทำคาราวานฯ ทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่

เราคิดเรื่องนโยบายแบบนี้เพื่อทำให้นโยบายตอบสนองต่อคนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มันไม่ใช่นโยบายที่อยู่ดีๆ ก็มาแถลงทุกวันศุกร์ หรือไม่ได้เป็นชุดนโยบายที่ออกมาจากการประชุมคณะรัฐมนตรีทุกวันอังคาร หรือไม่ใช่ชุดนโยบายที่ออกมาจากสภาพัฒน์ หรือกระทรวงนั่นกระทรวงนี่ แต่นโยบายควรเป็นคำพื้นฐานมากๆ ที่ประชาชนทุกคนสมควรมีส่วนร่วม

และนโยบายที่ดีที่ควรคำนึงถึงจะต้องอุดมไปด้วยอุดมการณ์ 3 ข้อของพรรคสามัญชน คือเป็นนโยบายที่ได้มาจากประชาธิปไตยฐานราก เป็นนโยบายที่คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และเป็นนโยบายที่คำนึงถึงความเท่าเทียมและเป็นธรรม หลักการ 3 ข้อนี้จะเป็นกลไก เป็นกรอบในการเขียนนโยบายของพวกเรา ดังนั้น ช่องทางนโยบายของเราจึงดูเชื่องช้า ซับซ้อน เวลาใครมาถามเราว่านโยบายพรรคสามัญชนคืออะไร บางทีก็รู้สึกว่าจะตอบยังไงดีวะ ตอบไม่ได้ แต่เวลาถามพรรคอื่นเขาสามารถตอบได้เลย เขาเตรียมไว้แล้ว มีการประชุมเป็นวอร์รูมไว้แล้ว แต่ของเราไม่ได้เริ่มที่การนั่งคุยกันเรื่องนโยบายก่อน เราคุยกันเพื่อสร้างความเข้าใจว่าพรรคสามัญชนจะทำหน้าที่อะไรในสภาก่อน ส่วนนโยบายมาตามหลัง มันจึงทำให้ช้า และกระบวนการนโยบายของเรา เช่น ปีนี้มีนโยบายชุดความคิดแบบนี้ ปีหน้านโยบายนี้อาจจะเปลี่ยนคำหรือเปลี่ยนประโยคไปให้ทันสมัยมากขึ้นก็เป็นได้

สามัญชนจะเข้าไปทำหน้าที่อะไรในสภา

หมายถึงว่าพรรคสามัญชนมีขึ้นมาทำไมก่อน ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร จะทำหน้าที่อะไรในสภา เราคุยเรื่องพวกนี้ก่อน เคลียร์ก่อนว่าพรรคสามัญชนจะวางตัวเองอยู่ตรงไหนของการเมืองในระบบรัฐสภา

หน้าที่ที่ดีที่สุดของพรรคสามัญชน ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลคือการตั้งกระทู้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดจากการพัฒนา จากนโยบาย และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่างๆ และสนับสนุนทุกร่างกฎหมาย รวมทั้งเสนอร่างกฎหมายเองที่เกี่ยวข้องกับการขจัดหรือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านต่างๆ หน้าที่หลักมีอยู่เท่านี้

หนึ่งคือสนับสนุนร่างกฎหมายที่ลดความเหลื่อมล้ำ สองคือตั้งกระทู้ทุกวัน พอเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ 30 วัน 35 วัน จะตั้งกระทู้ทุกวัน เปิดประชุมวิสามัญ 15 วันก็จะตั้งกระทู้ทุกวัน เดือนหน้าช่วงที่เราจะส่งคนไปสมัครรับเลือกตั้งกับ กกต. เราจะเปิด 50 กระทู้แรกที่พรรคสามัญชนจะตั้งกระทู้ หากพรรคสามัญชนได้เข้าไปนั่งในสภา เช่น กรณีเขื่อนวังหีบ กรณีเหมืองแร่โปแตสที่จังหวัดอุดรธานี กรณีเหมืองแร่ทองคำ กรณีระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องคนชายขอบต่างๆ คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิตเมื่ออยู่ในรัฐไทย ไม่สามารถเข้าไปใช้โรงพยาบาลเพื่อรักษาได้ เรื่องหลักประกันทางสุขภาพต่างๆ

คุณเคยพูดว่าพรรคสามัญชนไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการทุกกลุ่มคน

ซึ่งมันก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าใครๆ ก็มองเราเป็นพรรคที่ต่อต้านการพัฒนา มันจะต้องเป็นอย่างนี้ ในเมื่อการพัฒนาไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ไม่ได้คำนึงถึงประชาธิปไตยฐานราก ไม่ได้คำนึงถึงความเท่าเทียมและเป็นธรรม ถ้ามีโครงการพัฒนาแล้วทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้นไปอีก เกิดการแย่งชิงทรัพยากรมากขึ้นไปอีก เราเลือกข้างฝั่งชาวบ้านในการต่อสู้คัดค้านโครงการพัฒนานั้น

เรายังยืนยันอยู่ มันเป็นเรื่องยากแน่นอนที่พรรคสามัญชนจะเป็นพรรคที่ตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่มคน เพราะพรรคสามัญชนยืนยันตัวเองว่าจะตรวจสอบการละเมิดสิทธิ์จากปัญหาการพัฒนา นโยบาย และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้นมันต้องไปกระทบผลประโยชน์ของคนอีกฝ่ายหนึ่งแน่นอน

จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง นี่คือจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคที่ ส.ส. ทุกคนจะต้องลงเดินบนท้องถนนได้ เหมือนกับที่เคยทำหน้าที่นั้นมา

แต่ขึ้นชื่อว่าการเมือง ถึงเวลาจริงๆ ต้องมีการประนีประนอม

น่าจะยอมได้เป็นบางเรื่อง แต่จะไม่ยอมในหลักการสำคัญ 3 เรื่องของเรา ยอมอะไรได้ การเมืองคือเรื่องการประนีประนอม ซึ่งหลักๆ คือการเขียนกฎหมาย หน้าที่ของ ส.ส. คือการบัญญัติกฎหมาย เรามักจะพบเห็นการประนีประนอมในการบัญญัติกฎหมายเต็มไปหมด เหมือนที่เราบอกว่าเราไม่เคยมีกฎหมายของเราเองเลย เรามีแต่กฎหมายของชนชั้นอื่นที่ตั้งให้เรา เพื่อหวังว่าเราจะเข้าไปต่อสู้ในพื้นที่การเขียนกฎหมาย สมมติเราเสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่งเนื้อหา 100 เปอร์เซ็นต์ที่เราต้องการ แต่เราอาจจะประนีประนอมได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์

ลดไป 50 เปอร์เซ็นต์ยอมได้?

เป็นไปได้ยากที่จะบอกว่ายอมได้หรือยอมไม่ได้ พูดง่ายๆ คือถ้ามันออกมาเป็นแบบนั้น เรามีความพอใจอยู่มั้ย อาจจะไม่พอใจเลย แต่กลไกของรัฐสภาทำให้มันเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ เช่น กรรมาธิการแปรญัตติกฎหมายมีอยู่ 15 แต่พรรคสามัญชนมีคนเดียว อีก 14 คนเป็นของเขา เพราะฉะนั้นก็เกิดการประนีประนอม แต่ถามว่าเราพอใจมั้ย อาจจะไม่พอใจ แต่ว่ากลไกมันผลักให้เดินไปข้างหน้า ความไม่พอใจของเราจะสามารถล้มกฎหมายได้มั้ย ก็ยาก การประนีประนอมที่ว่าก็คงเป็นไปในลักษณะนี้ แต่เราคงไม่เอาเรื่องการทำร่างกฎหมายแค่ไปประชุมในกรรมาธิการ แต่เราสมควรเอาร่างกฎหมายนั้นมาเสนอแก่สาธารณชนนอกสภา เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวนอกสภาด้วย

ถ้าคุณเป็น ส.ส. แล้วจะยังคงลงมาเล่นการเมืองบนท้องถนน?

ลงมาเหมือนเดิม จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง นี่คือจุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคที่ ส.ส. ทุกคนจะต้องลงเดินบนท้องถนนได้ เหมือนกับที่เคยทำหน้าที่นั้นมา

ไม่กลัวถูกหาว่าไม่เล่นในกติกา

กติกาประชาธิปไตยคือกติกาที่อยู่ทั้งในและนอกสภา จะไม่มีเพียงแค่ว่าพอไปอยู่ในสภาแล้ว กติกาคือในสภา แต่นอกสภาคือมวลชนสำคัญ และกติกาที่สำคัญคือเราไม่ใช้อาวุธ นี่คือสันติวิธี สันติวิธีสามารถกระทำได้ทั้งในและนอกสภา ตราบใดที่เราใช้อาวุธสิ เรานอกกติกา แต่ตราบใดที่เราชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และยึดมั่นในสันติวิธี อันนี้เราไม่ได้เล่นนอกกติกา คือไม่สน ไม่กังวลใดๆ ทั้งสิ้น เราสามารถที่จะบอกได้ว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่ร่างมาจากพี่น้องประชาชนที่อยู่นอกสภา 20,000 คน แล้วคุณจะบอกไม่ให้เขามามีส่วนร่วมในการเขียนกฎหมายของพวกคุณได้ยังไง มันเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองที่ไม่สมเหตุสมผล

จินตนาการภาพตัวเองตอนนั่งอยู่ในสภาหรือยัง

ยังนึกไม่ออกเลย (หัวเราะ) คงป่วนน่าดูถ้าได้เข้าไป

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพรรคสามัญชนไม่ได้ที่นั่งในสภาเลย

จะยังทำงานต่อไป เพื่อให้ฤดูกาลเลือกตั้งครั้งหน้าให้พรรคสามัญชนได้ที่นั่งในสภาให้ได้ เหมือนตอนโหวตโนต้านรัฐธรรมนูญ เสียงตั้ง 9 ล้านเสียงที่แพ้โหวต แต่ 9 ล้านเสียงนี่โคตรมีความหมายเลย ที่บอกว่าอย่างน้อยมีตั้ง 9 ล้านเสียงที่ไม่เอา คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เพราะฉะนั้นสามัญชนจะไม่ท้อถอยเพียงแค่ชัยชนะหรือพ่ายแพ้เล็กๆ น้อยๆ มันยังมีฤดูกาลหน้า

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net