Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1

แม้ว่าการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยได้สร้างอำนาจต่อรองให้คนชนบท แต่กลับพบว่า การเมืองของคนชนบทต่างตกอยู่ภายใต้วาทกรรมโง่ จน เจ็บ ถูกมองว่าตกอยู่ภายใต้ผลประโยชน์เฉพาะหน้า และเปลี่ยนสิทธิในการลงคะแนนเสียงเป็นแต่เพียงสินค้าในระบบตลาดที่สามารถซื้อขายได้ เสียงของคนชนบทจึงไม่มีความหมาย โดยมิได้มองความจำเพาะเจาะจงของวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ ทำให้การให้ความหมายต่อระบอบ “ประชาธิปไตย” มีความสัมพัทธ์ ระบอบประชาธิปไตยจึงมีหลายความหมาย แล้วแต่ว่าเรามองจากมุมมองใด การเข้าใจวิธีคิดที่หลากหลายจะช่วยให้เราเข้าใจการเมืองในมิติต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น


ภาพที่ 1 บทที่ ๑๔๓ : ไอ้สัส หงุดหงิด #เลื่อนแม่มึงสิ 
(ที่มา:
https://www.facebook.com/maneehaschair/photos/)

การเลือกตั้งตกอยู่ภายใต้มายาคติจะยังทำให้นักเลือกตั้งได้รับเลือกกันมาอย่างง่าย ๆ เหมือนซื้อของในตลาด (ยุกติ มุกดาวิจิตร 2555) การเลือกตั้งมาพร้อมกับ “การซื้อเสียง” หรือ “การขายเสียง” เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์ที่หลอกหลอนสังคมไทยมาอย่างยาวนาน นักการเมืองประหนึ่งนักลงทุนเลือกตั้งเพื่อไปถอนทุนคืนในสภา (ยุกติ มุกดาวิจิตร 2555) และผู้คนในชนบท[1] โดยเฉพาะคนจนที่ก็ตกเป็นจำเลยเพราะสามารถซื้อได้ด้วยเงินไม่กี่บาท (ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย 2535; อเนก เหล่าธรรมทัศน์ 2536) ไม่ต่างจากสินค้าในตลาด ทั้งที่สังคมไทยได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาอย่างมีนัยสำคัญ ก็ไม่อาจจะลบล้างภาพของการเลือกตั้งผ่านมายาคติการซื้อเสียง ขายเสียงไปได้
 


ภาพ 2: การชุมนุมเพื่อไม่ให้เลื่อนเลือกตั้งที่ราชประสงค์ วันที่ 6 มกราคม 2562

นั้นไม่จำเพาะว่า เงื่อนไขของการซื้อเสียงและการขายเสียง สัมพันธ์กับการเลือกตั้งและการตีความระบอบประชาธิปไตยของแต่ละพื้นที่ ที่เสียงของผู้คนในชนบทไม่อาจสะท้อนการเปลี่ยนแปลง และคะแนนเสียงนั้นไม่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์กับรัฐได้ เสียงของคนชนบทจึงไม่มีความหมาย ทำให้การชื้อเสียงขายเสียงกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่สลักสำคัญแต่ประการใด แต่อย่างไรก็ดี การซื้อเสียงขายเสียง ก็มิได้เป็นเหมือนการซื้อสินค้า หรือผลประโยชน์เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่กับยึดกับวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจสรุปได้ว่าการซื้อเสียงขายเสียงกลายเป็นปัญหาเพราะสัมพันธ์กับเงื่อนไขทางวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่างที่คอยกำกับ (ยุกติ มุกดาวิจิตร 2555)

นอกจากนี้ ความแตกต่างในการมองการเลือกตั้งระหว่าง “คนชนบท” และ “คนชั้นกลาง” ในเมือง ที่มองการเลือกตั้งแตกต่างกัน นำมาสู่การจัดวางการเมืองของการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน โดยคนชั้นกลางมีข้อกังขาต่อระบบการเลือกตั้งที่มาพร้อมกับการ “ซื้อเสียง” หรือการให้ประโยชน์แอบแฝงในรูปแบบต่างๆ (Arghiros 1995 ; 2001) ทำให้คนชั้นกลางในเมืองส่วนใหญ่มีทัศนคติที่เป็นลบต่อการเลือกตั้ง โดยตั้งสมมุติฐานว่า “คนชนบทเป็นฐานเสียงหรือคนตั้งรัฐบาล แต่คนในเมืองเป็นคนล้มรัฐบาล” (Ockey 2004; เอนก 2536) ชี้ให้เห็นอคติต่อฐานเสียง โดยมองว่าสังคมในชนบทยังเป็นสังคมที่ยังไม่พัฒนาทำให้การเลือกผู้แทนมีการซื้อเสียง ดังนั้นต้องสร้างชนบทให้เป็น “เมือง” จึงจะสามารถสร้างรัฐบาล และผู้แทนที่มีคุณภาพได้


2

แต่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาประชาชนเรียนรู้การเมืองทั้งระดับชาติ ท้องถิ่น และการเมืองในท้องถนน มีประสบการณ์การเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าระดับไหน การดูเบาของรัฐบาลและองคาพยพที่จะทำให้ไม่มีการเลือกตั้งจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยเงื่อนไขหลายประการ คือ

ประการแรก ถ้าพวกอนุรักษ์นิยม (Conservative) ที่ต้องการเลื่อนเลือกตั้งตระหนักรู้สักนิดว่าคนที่โกรธแค้นเรื่องนี้จำนวนมาก คือ วัยหนุ่มสาว ทั้งที่บางคนอาจไม่เคยสนใจการเมือง ไม่เคยอยู่ในความขัดแย้งใด ๆ ในทางอุดมการณ์ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา 

แต่การเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนตบหน้าพวกเขาฉาดใหญ่ สร้างความไม่พอใจต่อพวก Conservative ที่หวังจะขยายเวลาและลมหายใจอันโรยรินของตนไปอีกสักระยะ หวังจะชนะการเลือกตั้ง สร้างความชอบธรรมในอำนาจ นั้นคือ ความคิดผิดถนัด ผลลัพธ์ที่ได้จะกลายเป็นความโกรธแค้นชิงชัง ไม่เพียงแต่ คสช. ชนชั้นนำ อาจลุกลามจนหยุดไม่ได้ เหมือนไฟสุมขอนที่รอปะทุ และพร้อมกวาดต้อนองคาพยพของอำนาจเก่า ที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์และมั่นคงเหมือนเดิมให้พินาศไปในอนาคต 


ภาพ: รณรงค์ไม่เลื่อนเลือกตั้ง 
(ที่มา
https://www.facebook.com/1829296167181104/photos/a. r)

ประการที่สอง ตอนนี้ถ้าการเลื่อนเลือกตั้งเป็นจริง พรรคที่น่าห่วงว่าจะโดนดูด ส.ส. ไม่น่าจจะเป็นพรรคเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ พรรคที่น่าจะเดือดร้อนมากที่สุดน่าจะเป็นพลังประชารัฐ ที่ตอนนี้อดีต ส.ส. หรือคนที่จะลง ส.ส. พรรคนี้คงร้อน ๆ หนาว ๆ จะไปต่อกับพรรค หรือสละเรือดี เหล่า ส.ส. พลังประชารัฐ คงเอาตีนก่ายหน้าผากกันเป็นแถว

ทั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้มีการลดแลกแจกแถมกระหน่ำ แต่คะแนนก็ไม่กระเตื้องขึ้นมาแม้แต่นิดเดียว ยิ่งมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไปเพื่อหวังต่อลมหายใจอันโรยริน ก็ไม่สามารถเลื่อนได้ตลอดกาล ซ้ำยังสร้างความโกรธแค้นให้ผู้อยากเลือกตั้งเป็นทบเท่าทวีคูณ ทิศทางลมตอนนี้ตีกลับจนพลังประชารัฐหงายเก๋ง จะอาศัยฐานเสียงส่วนตัว ใช้องคาพยพอำนาจรัฐช่วยเหลือตอนนี้ก็ไม่ชัวร์เสียแล้ว 

สถานการณ์ของ คสช. ทหาร ยุทธ์ วิทย์ ฯลฯ ตอนนี้อาจควบคุมอะไรไม่ได้ดังใจแล้ว ไม่นับว่าความเสื่อมทรุดของความศรัทธาที่มีต่อองค์กรอิสระ ปปช. กกต. กสม. ซึ่งเรียกว่าแทบติดลบ จึงแทบไม่มีสถานะที่จะเป็นตัวกลางคลายวิกฤตต่าง ๆ ให้น่าเชื่อถือได้อีกต่อไป

ถ้า คสช. ทหาร และองคาพยพเลือกที่จะทำให้ไม่มีการเลือกตั้งแล้วเกิดเงื่อนไขที่ไปต่อไม่ได้ (Deadlock) แล้วหวังว่าจะมีปาฏิหารย์ที่ทำให้เกิดฉันทามติร่วมในสังคมที่คนยอมทำตามนั้นก็อาจเข้าใจผิดไป ปลายทางของประเทศหลังเลื่อนเลือกตั้งจากนี้คือวิกฤตที่ยากจะคาดเดา

ประการที่สาม “การเลือกตั้งคือเครื่องมือของการแก้แค้นของคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีพลังอำนาจอย่างอื่นในการที่จะคัดง้างกับเผด็จการ การเลือกตั้งคือการแก้แค้นของ ‘คนไร้ชื่อ’ ต่อให้คณะรัฐประหารจะวางกลไกซับซ้อนแค่ไหน ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมการเลือกตั้งได้ การเลือกตั้งเป็นสิ่งเดียวที่เผด็จการกลัว มีบทเรียนหลายๆ อย่าง เช่น กรณีพม่า ทหารอยู่ในอำนาจแข็งแกร่งกว่า คสช. มหาศาล วางกลไกอยู่ทุกพื้นที่ในประเทศพม่า สุดท้าย อองซานซูจีสามารถชนะเลือกตั้งได้
คนเฝ้ารอวันที่คูหาเปิด ต่อให้ใช้กลไกของรัฐบล็อกไว้ บางคนเอาการเลือกตั้งไปเทียบกับประชามติ มันเทียบกันไม่ได้ ประชามติมันมีอารมณ์ความรู้สึกบางอย่าง เช่น ประชามติมันอยากเลือกตั้ง เอาง่ายๆ หรือเราอยากให้รัฐบาลทหารเนี้ยออกไปเร็วๆ ไม่รู้จะทำยังไงถ้าประชามติผ่าน ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งในทันที จะได้เอา คสช. ออกไป การเมืองของประชาชนในช่วงนี้มันเฉื่อยชา แต่จริง ๆ คือไม่ใช่ เพียงแต่ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองทางกายภาพให้แสดงออก คนจึงหาพื้นที่ทางการเมืองแบบต่าง ๆ เช่น การเคลื่อนไหวของ we walk ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ รวมถึงการเคลื่อนไหวรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่เป็นทางการ ความพยายามในการแสวงหาพื้นที่ทางการเมืองที่หลากหลายเช่นการแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านบนโลกออนไลน์อย่างมากมายในช่วงนี้ เป็นต้น


3

การเลือกตั้งกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา เพราะว่าการเลือกตั้งมีความหมายใหม่ ถูกยึดโยงกับประชาชนในฐานะเป็นผลประโยชน์ เป็นเครื่องมือ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่ามีตัวตนในรัฐไทย บางคนบอกเลือกตั้งก็แค่เข้าคูหาสองสามวินาที แต่จริง ๆ มันคือกระบวนการคิด ผ่านการหาเสียง ไตร่ตรอง ว่าจะเลือกใครซึ่งไม่ง่าย ที่ผ่านมา คสช. บล็อกการเมืองระดับชาติไว้ การเมืองท้องถิ่นก็ไม่มีช่องทางที่จะทำให้สามารถแสวงหาพื้นที่สามารถมีปากมีเสียง

ถ้า คสช. เลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อย ๆ คิดว่าต้องเจอปัญหาที่ตามมา การเมืองภายนอกเราก็ว่ากันไปจะถูกกดดัน แต่ว่าการเมืองภายในคนทนไม่ได้แล้วที่จะต้องมาฟังคุณประยุทธทุกวันศุกร์ ต่อให้จ้าง ศิลปินดารา ไอดอล ก็ไม่สามารถดึงคะแนนเสียงได้ เพราะว่าสิ่งที่พูดไม่ตอบสนองต่อชีวิตในความเป็นจริง ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา คสช. บล็อคทุกอย่าง พูดอะไรไม่ได้ สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการพูดเรื่อย ๆ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าการเลือกตั้งยังไม่ตาย การเลือกตั้งไม่ใช่การร้องรอแต่เป็นสิทธิที่พึงมี” [2] จงจำไว้ว่า “ไม่มีอะไรจีรัง ความรักความชังเกิดได้ชั่วข้ามคืน” สิ่งที่เขาไม่เคยรักก็ไม่มีทางรักได้ รังแต่จะทำให้เกลียดทบเท่าทวีคูณ

"When the old refused to die, and the new is struggling to be born, then monster will appear." (เมื่อสิ่งเก่าไม่ยอมตาย สิ่งใหม่พยายามที่จะเกิด สัตว์ประหลาดก็จะอุบัติขึ้น) - Antonio Gramsci

 

เอกสารอ้างอิง
ยุกติ มุกดาวิจิตร 2555 "เงินไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้ง: มานุษยวิทยาการเมืองของการซื้อเสียง" ใน 
วสันต์ ปัญญาแก้ว การเมืองของราษฎรไทยยุคหลัง (หลัง) ทักษิณ: รวมบทความว่าด้วยเรื่องชนชั้นนำการเลือกตั้งผู้มีอิทธิพลคนเสื้อแดงและประชาธิปไตย 100% เชียงใหม่: โครงการประชาธิปไตยกับท้องถิ่นและศูนย์วิจัยและบริการวิชาการคณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ 2536 "ม็อบมือถือ" ชนชั้นกลางและนักธุรกิจกับพัฒนาการประชาธิปไตย กรุงเทพฯ 
: มติชน.

Arghiros, Daniel. 1995 Political structures and strategies : a study of electoral politics in 
contemporary rural Thailand [Hull, England]
: Centre for South-East Asian Studies.
_____. 2001 Democracy, Development and Decentralization in Provincial Thailand Richmond [England] : Curzon Connors, 
Ockey, James. 2004 Making democracy : leadership, class, gender, and political 
participation in Thailand Honolulu
: University of Hawai'i Press.

 

[1] ในงานชิ้นนี้ศึกษาคนชนบท ซึ่งอาจมีกินความกว้างขวาง หมายถึง คนชนบทของประเทศไทย  เพราะเป็นการศึกษาจากงานอื่น ๆ จึงไม่สามารถศึกษากลุ่ม agency ที่เฉพาะเจาะจงได้ เพราะงานที่ศึกษากลุ่มอย่างเฉพาะมีน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการอภิปรายในที่นี้ 

[2] เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์เลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) (ประชาไท  https://prachatai.com/journal/2018/09/78749)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net