Skip to main content
sharethis

มพบ. จี้ ปปง. ชี้แจงกรณีส่งจดหมายยกคำร้องการยื่นคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ‘แคลิฟอเนียว้าว’  พร้อมขอให้ ปปง.ทบทวนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน

8 ธ.ค. 2561 จากการที่เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้รวมกลุ่มผู้เสียหายจากบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนท์ จำกัด มหาชน เข้ายื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นั้น (ข่าว - ผู้เสียหายแคลิฟอเนียฯยื่นหนังสือขอให้ ปปง.ขยายเวลาการยื่นคำขอพิทักษ์ทรัพย์ 90 วัน)

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2561 ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มพบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายในกรณีดังกล่าว ว่าผู้เสียหายได้รับจดหมายแจ้งผลการยื่นคุ้มครองสิทธิจาก ปปง.* เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ในเนื้อความของจดหมายระบุว่า คณะกรรมการธุรกรรมได้พิจารณาแบบคำร้องของผู้เสียหายแล้วมีมติให้ยกคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายและให้ไปยื่นคัดค้านที่ศาลแพ่งในคดี ฟ.42/2559 ก่อนศาลมีคำสั่ง (ตัดสินคดี) โดยศาลจะมีการนัดสืบพยาน ในวันที่ 28 - 29 พ.ย. 2561 ซึ่งผู้เสียหายได้รับจดหมายล่วงหน้า 1 วัน ก่อนศาลจะนัดสืบพยาน

*ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคท้าย ระบุไว้ว่า หากปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียหายในความผิดมูลฐาน ให้เลขาธิการขอให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องให้ศาลมีคําสั่งนําทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย แทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน และเมื่อศาลมีคําสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือชดใช้ให้ผู้เสียหาย ให้สํานักงานดําเนินการให้เป็นไปตามคําสั่งศาลโดยเร็ว

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มพบ. กล่าวว่า การตรวจสอบว่าผู้เสียหายที่ไปยื่นขอคุ้มครองสิทธิ์เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์การขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหรือไม่นั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของ ปปง. ในการตรวจสอบ หากมีผู้เสียหายที่ยื่นคำร้องไปแล้วและไม่ผ่านเกณฑ์นั้นๆ ควรจะแจ้งให้ทราบทันทีเพื่อให้ผู้เสียหายมีโอกาสไปยื่นคัดค้านมติดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ปปง. เนื่องจากก่อนหน้านี้ ปปง. ได้ให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องตั้งแต่เดือน มี.ค. 2560 - เดือน เม.ย. 2560 แล้ว เหตุใดถึงไม่แจ้งให้ทราบตั้งแต่ช่วงระยะเวลานั้นๆ และการที่ ปปง. ส่งจดหมายมากระชันชิดเช่นนี้ ทำให้ผู้เสียหายไม่สามารถดำเนินการคัดค้านได้ทัน อีกทั้งเหตุใดต้องให้ผู้เสียหายไปยื่นคัดค้านที่ศาล ปปง. คงต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้

“กรณีนี้ยังไม่ทราบว่ามีผู้เสียหายจำนวนเท่าไรที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ ปปง. กำหนด จึงอยากฝากถึง ปปง. ขอให้ทบทวนพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ เนื่องจากมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการเป็นสมาชิกของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ เป็นจำนวนมากที่ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิฯ อย่างทั่วถึงกัน หากไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของ ปปง. ก็ควรจะประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการและแจ้งให้ผู้เสียหายทราบโดยทันที” นางนฤมลกล่าว

ทั้งนี้ทาง มพบ. ได้ทำหนังสือถึง ปปง. เพื่อขอให้ชี้แจงและทบทวนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวกับการฟอกเงินและน่าจะมีผู้เสียหายที่ถูกยกคำร้องอีกเป็นจำนวนมาก 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net