Skip to main content
sharethis

ยุโรปถือเป็นภูมิภาคที่มีการจ้างงานและสวัสดิการให้กับคนทำงานดีที่สุดของโลก ตามหนึ่งในหลักการของ European Pillar of Social Rights (EPSR) ระบุไว้ว่า "คนงานมีสิทธิที่จะได้ค่าจ้างที่ยุติธรรมเพื่อสร้างมาตรฐานการครองชีพที่ดี ความยากลำบากจากการทำงานจะต้องได้รับการป้องกัน" แต่ปัจจุบันปัญหา 'การจ้างงานไม่มั่นคง' กำลังคุกคามภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการจ้างงาน ‘แรงงานฟรีแลนซ์’ (freelance worker) ในหลายอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึงภาคสื่อมวลชน กำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2561 (2018 World Press Freedom index) ที่ตีพิมพ์ในเดือน เม.ย. 2561 ระบุว่ายุโรปเป็นภูมิภาคที่สัดส่วนมาตรฐานด้านเสรีภาพลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ผู้สื่อข่าวในยุโรปกำลังเผชิญก็คือการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและค่าแรงที่ต่ำ

มีงานศึกษาและสำรวจหลายชิ้นที่ระบุว่าการจ้างงานฟรีแลนซ์ ซึ่งมีลักษณะของการเป็น ‘แรงงานรับจ้างตนเอง’ (self-employed) เพิ่มมากขึ้นในแวดวงสื่อมวลชน ส่งผลให้ ‘ช่องว่างของรายได้และความมั่นคง’ ระหว่างผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์และผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ ถ่างมากขึ้นด้วย

"การทำงานแบบนี้กลายเป็นงานอดิเรก มันไม่ใช่อาชีพที่มีค่าตอบแทนตามความเป็นจริง" - ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ชาวอังกฤษท่านหนึ่งกล่าว

สหราชอาณาจักร เมื่อปี 2559 เว็บไซต์ Journalism.co.uk ได้ทำแบบสำรวจผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์จำนวน 310 คน มากกว่า 2 ใน 3 ระบุว่าการประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์นี้เป็นรายได้หลักของตนเพียงอย่างเดียว ประมาณร้อยละ 40 เป็นกลุ่มคนยุค 'มิลเลเนียม' คือมีอายุระหว่าง 18-34 ปี และอีก 1 ใน 3 มีอายุระหว่าง 35-44 ปี ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ระบุในแบบสอบถามว่ามีความกังวลใจเรื่องความไม่มั่นคงในการทำงานและรายได้ที่ต่ำ

ทั้งนี้ค่ามัธยฐานของรายได้ผู้ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ (ทั้งผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการที่เป็นพนักงานประจำ) จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2558 อยู่ที่ 31,294 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 1.32 ล้านบาทต่อปี) แต่ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ตอบแบบสอบถามของ Journalism.co.uk เมื่อปี 2559 ร้อยละ 10 ระบุว่าพวกเขามีรายได้ระหว่าง 30,000-39,000 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 1.27-1.65 ล้านบาทต่อปี) ร้อยละ 21 มีรายได้ 10,000-19,999 ปอนด์ (ประมาณ 422,000-845,000 บาทต่อปี) และร้อยละ 33.9 มีรายได้ไม่ถึง 10,000 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 422,000 บาทต่อปี)

แผนภูมิแสดงรายได้ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2558 จากการสำรวจของ Journalism.co.uk

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของสหภาพสื่อมวลชนแห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ (NUJ) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่ากว่าร้อยละ 50 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ได้รับความยากลำบากเนื่องจากรายได้ที่ต่ำ และเกือบร้อยละ 90 ระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับการขึ้นค่าแรงในรอบปีที่ผ่านมา

แม้ผู้ตอบแบบสอบถามของ Journalism.co.uk ประมาณร้อยละ 60 จะเป็นผู้หญิง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนเพศหญิงที่มีอยู่มากในภาคสื่อมวลชนของสหราชอาณาจักร แต่กระนั้นพวกเธอก็ยังต้องเผชิญกับปัญหา ‘ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ’ (gender pay gap) อีกเช่นเคย เมื่อโดยเฉลี่ยแล้วผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิงที่ตอบแบบสอบถาม มีรายได้ประมาณ 10,000-19,999 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 422,000-845,000 บาทต่อปี) เทียบกับผู้ชายที่มีรายได้ประมาณ 20,000-30,000 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 845,000 บาท-1.27 ล้านบาทต่อปี)

ส่วนข้อมูลจากอีกแหล่งเมื่อปี 2560 ระบุว่าว่าร้อยละ 14 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีรายได้น้อยกว่า 5,700 ยูโรต่อปี (ประมาณ 214,000 บาทต่อปี) ขณะที่ร้อยละ 2 มีรายได้มากกว่า 85,000 ยูโรต่อปี (ประมาณ 3.2 ล้านบาทต่อปี) รวมทั้งรายได้ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้

เยอรมนี มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยลุดวิก แมกซิมิเลียน แห่งมิวนิค (Ludwig Maximilian University of Munich: LMU Munich) พบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์แม้จะมีการศึกษาสูงแต่กลับได้ค่ารับตอบแทนต่ำกว่าผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ โดยร้อยละ 83 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ในเยอรมนีมีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91 ในหมู่ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิง) ส่วนผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำมีเพียงร้อยละ 74.1 เท่านั้น และ 1 ใน 3 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ทำอาชีพนี้ควบคู่ไปกับการทำอาชีพอื่น

เบลเยียม งานวิจัยของสมาคมนักข่าวเบลเยียม (Association des journalistes professionnels: AJP) ระบุว่าในภูมิภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศสของเบลเยียม ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ได้รับค่าตอบแทนต่ำมาก อย่างรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันพวกเขาได้ค่าเรื่องเพียง 20 ยูโร (ประมาณ 750 บาท) รายงานขนาดยาวที่ตีพิมพ์หลายตอนได้ค่าเรื่องประมาณ 120-150 ยูโร (ประมาณ 4,500-5,600 บาท) ส่วนรายงานข่าวผ่านรายการทีวีได้ชิ้นละประมาณ 125 ยูโร (ประมาณ 4,700 บาท) นอกจากนี้การสำรวจผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ที่พูดภาษาดัตช์ในเขตฟลามส์ (Flanders - เขตปกครองทางตอนเหนือของเบลเยียม) เมื่อปี 2560 พบว่าค่าจ้างผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยิ่งต่ำลงลดลง ในนิตยสารเฉพาะทางและเว็บไซต์ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือสื่อด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยังถูกใช้งานแบบอาสาสมัคร (ไม่ได้รับเงินตอบแทน) อีกด้วย

สเปน เกือบร้อยละ 45 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีรายได้น้อยกว่า 1,000 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 37,500 บาทต่อเดือน) ซึ่งตัวเลขนี้ยังมีเรื่องช่องว่างรายได้ระหว่างเพศแฝงอยู่ โดยร้อยละ 51 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิงได้ค่าแรงต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ชายที่ร้อยละ 26 ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ในสเปนสเปนจ่ายเงินระหว่าง 200-400 ยูโร (ประมาณ 7,500-15,000) ต่อสกู้ปข่าวหนึ่งชิ้น

ฝรั่งเศส จากการสำรวจของสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวแห่งชาติ (Snj-CGT) พบว่ามีผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณ 6,500 คน ที่มีบัตรสื่อมวลชน (press cards) แม้ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์จำนวนหนึ่งจะไม่ผ่านเกณฑ์รับรองอย่างเป็นทางการ แต่กระนั้นจำนวนนี้ก็เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของผู้ถือบัตรสื่อมวลชนในฝรั่งเศส โดยปี 2560 ที่ผ่านมาร้อยละ 66 ของได้รับอนุญาตถือบัตรสื่อมวลชนรายใหม่เป็นผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกหนึ่งประการก็คือกว่าร้อยละ 57 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ที่มีบัตรสื่อมวลชนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 1,969 ยูโร (ประมาณ 74,000 บาท) เทียบกับผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำที่ 3,549 ยูโร (ประมาณ 133,000 บาท) ทั้งนี้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ (ที่มีบัตรสื่อมวลชน) ลดลงจากปี 2543 ที่เคยได้อยู่ที่ 2,058 ยูโร (ประมาณ 77,000 บาท) นอกจากนี้พบว่ายังมีผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์อีกจำนวนมากที่ไม่มีบัตรสื่อมวลชน บางคนต้องทำงานมากกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อแลกกับรายได้เพียงหลักร้อยยูโร

อิตาลี สถาบันคุ้มครองทางสังคมสื่อมวลชนแห่งชาติ (INPGI) ระบุว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีถึงร้อยละ 65 ของผู้สื่อข่าวทั้งหมดในประเทศ ข้อมูลในปี 2558 พวกเขามีรายได้เฉลี่ยต่อปี 11,241 ยูโร (ประมาณ 420,000 บาท) ซึ่งเป็นตัวเลขเพียง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ และผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณร้อยละ 83 ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 10,000 ยูโร (ประมาณ 370,000 บาท) ด้วยซ้ำ

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

Exploitation of freelance journalists is a threat to our democracy (Renate Schroeder, Director of the European Federation of Journalists, Europeanjournalists.org, 30 April 2018)
How much do freelance journalists really earn? (Journalism.co.uk, 28 July 2016)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net