Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากกรณีที่ Kavanaugh (ทำงานสอนที่ ม.สแตนฟอร์ด, แคลิฟอร์เนีย) ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าดำรงตำแหน่งในศาลสูงอันทรงเกียรติแห่งสหรัฐฯถูก Dr.Ford (อ.ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาคลินิค ที่ ม.พาโล อัลโต, แคลิฟอร์เนีย) กล่าวหาถึงการกระทำความผิดทางเพศที่เกิดขึ้นมานานกว่าสามทศวรรษ (เหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 1982) ข้อกล่าวหาดังกล่าวกลายเป็นประเด็นการเมืองเรื่องเพศอย่างมีนัยยะสำคัญอีกครั้งหนึ่งของสหรัฐฯ ที่นำมาซึ่งการสืบสวน และการขึ้นให้การของทั้งคู่อย่างโปร่งใสต่อสาธารณชนผ่านการเผยแพร่ออนไลน์แบบเรียลไทม์

การนำเสนอข่าว  และการเผยแพร่การไต่สวนสู่สาธารณชน มีผู้หญิงจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นและเอ่ยอ้างถึงคำว่า “สิทธิพลเมือง” (civil right) ทำให้ฉันได้ย้อนระลึกถึงประเด็นสิทธิพลเมืองในวิชาปรัชญาสตรีนิยมระดับ ป.เอก ที่ธรรมศาสตร์ กับอ.ผู้สอนสองท่าน ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ในห้องเรียนเราได้ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันว่า เมื่อกล่าวถึงสิทธิพลเมืองในบ้านเรา เราคิดถึงอะไร? อ.ท่านแรกกล่าวถึง ห้องน้ำไร้เพศ ที่ควรเป็นสถานที่ที่ทุกคน ทุกเพศสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างเสมอภาค ในขณะที่ อ.อีกท่าน กล่าวว่า สิทธิพลเมืองคือ สิทธิที่จะเดินไปไหนมาไหนในยามค่ำคืนได้อย่างปลอดภัย โดยที่ความเห็นนี้ได้จากการตกผลึกมาจากประสบการณ์ของตนเองในการเดินกลับเข้าซอยบ้านยามวิกาล ซึ่งหากเข้าทางหลังซอยจะย่นระยะทางการเดินให้สั้นกว่ามาก แต่มืดมากกว่านัก ในขณะที่ด้านหน้าซอยสว่างไสวกว่า แต่ต้องเดินไกลกว่า แต่ไม่ว่ามืดหรือสว่าง กลางวันหรือกลางคืน ผู้หญิงก็ควรมีหลักประกันในการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ในขณะที่ฉันได้แต่รับฟังไว้ และเก็บไปครุ่นคิด......      
 
จนกระทั่งภาพการขึ้นให้การของ Dr.Ford ปรากฏขึ้นเต็มหน้าสื่อออนไลน์ ทำให้คำว่า สิทธิพลเมือง กลับเข้ามาสู่ห้วงความคิดของฉันอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ ในแง่หนึ่งสิทธิพลเมือง สะท้อนให้เห็นภาพของการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปสู่การเมืองในระดับที่ใหญ่กว่า และห่างไกลตัวเรามากกว่า แต่ทว่าเราคุ้นชินกับมันเสียเหลือเกิน นั่นคือ “ประชาธิปไตย” (democracy) ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง สิทธิพลเมืองกลับสัมพันธ์อย่างแยกขาดไม่ได้กับ “เรื่องราวของปัจเจก” (auto-biography) ที่เป็นหน่วยความสัมพันธ์ที่เล็กที่สุดทางสังคมการเมือง 

ทั้งสามประเด็นนี้ประสานเชื่อมโยงกันอย่างไร ผ่านการเรียนรู้กรณีความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯสู่ประเทศไทย?

"ประชาธิปไตย" เป็นศัพท์แสงทางการเมือง การปกครองที่เราคุ้นเคยกันมานานแสนนาน ซึ่งมักสื่อให้เห็นถึงสิทธิของปัจเจกในด้านต่างๆ แล้วสำหรับประเทศไทย สิทธิพลเมือง คืออะไร? สิทธิการเลือกตั้ง, สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา, สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ฯลฯ สิทธิที่เราในฐานะพลเมืองยังคงดิ้นรนกันอย่างแสนสาหัสกับการทำความเข้าใจระบบรัฐสวัสดิการ  และการพยายามสร้างนโยบายระบบรัฐสวัสดิการ ที่วางอยู่บนพื้นฐานของการเข้าถึงการบริการ อำนวยความสะดวกอย่างเท่าเทียมโดยรัฐ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างแห่งเพศ วัย ชนชั้น หรือชาติพันธุ์ อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่พลเมืองแห่งรัฐสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีเงื่อนไข 

กรณีของ Dr.Ford พิสูจน์ให้เราได้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประชาธิปไตย ที่มีรากฐานของการปฏิบัติอย่างเสมอภาค เท่าเทียมแห่งความเป็นมนุษย์นั้น ถึงเวลาที่ควรต้องกลับมาพิจารณากันใหม่ เมื่อ “ความแตกต่างแห่งความเป็นเพศ" (sexuated difference : แนวความคิดของนักปรัชญาฝรั่งเศส Luce Irigaray) คือ ปราการด่านแรกที่ทำให้ สิทธิพลเมืองของผู้หญิงแตกต่าง และห่างไกลไปจากสิทธิพลเมืองในทางการเมือง (รัฐศาสตร์) 

ความแตกต่างแห่งเพศ หรือร่างกายแห่งความเป็นหญิงที่แตกต่างจากชายเป็นเป้าหมาย หรือจุดกำเนิดของความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศที่เราพบเห็นอย่างดาษดื่นในสังคม ดังนั้นกรณีความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับ Dr.Ford จึงเป็นก้าวสำคัญของการต่อสู้เพื่อ สิทธิพลเมือง ของผู้หญิง คือ การตระหนักถึงการมีสิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย และใช้ชีวิตได้โดยปราศจากความกลัว ที่เธอดำรงอยู่กับมันด้วยความเงียบมากว่า 36 ปี  

ในประเทศไทย เมื่อกรณีความรุนแรงทางเพศถูกผลักให้เป็นคดีอาญา เป็นอาชญากรรม หรือเป็นคดีสะเทือนขวัญ ในกรณีที่เหยื่อถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยม ทารุณจนเสียชีวิต มิพักต้องกล่าวถึงมิติเชิงประเพณี วัฒนธรรมที่สร้างตราบาป (stigmatize) ให้กับผู้หญิง ได้กดทับซ้ำซ้อนให้เธอต้องปิดปากเงียบ และกักขังให้เธอต้องถูกกัดกร่อนจากตราบาปนั้นเพียงลำพัง เนื่องจากเหยื่อมีราคาที่ต้องจ่ายอย่างประเมินค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมิได้ ทั้งชีวิตส่วนตัว เวลา และทรัพย์สิน หากเธอเลือกที่จะสู้เพื่อเรียกคืนความยุติธรรมให้กับตนเอง

อีกทั้งมิติเชิงกฎหมายที่ไม่เอื้อให้กับเหยื่อ เนื่องจาก ผู้ถูกกล่าวหามีกฎหมายคุ้มครองจนกว่าผู้กล่าวหา (ผู้หญิง) ต้องรวบรวมหลักฐานต่างๆมาเพื่อพิสูจน์ตนเองว่าถูกกระทำ หรือถูกละเมิดทางเพศ เช่น ร่องรอยการต่อสู้ การไม่สมยอม ซึ่งในหลายกรณีเหยื่อจำต้องยินยอม เพื่อรักษาชีวิต รักษาหน้าที่การงาน รักษาชื่อเสียง ฯลฯ จากที่กล่าวมาทำให้เห็นว่ากฎหมายได้ละเลยมิติความสัมพันธ์แห่งอำนาจระหว่างเพศ ชนชั้น อายุ อาชีพ การศึกษา ในสถานการณ์จริง ทำให้การเข้าถึงความช่วยเหลือในเชิงกฎหมายเป็นไปได้ยาก และเป็นทางเลือกที่มักไม่ถูกเลือก ดังนั้นบันทึกการแจ้งความหรืออัตราการเกิดความรุนแรงทางเพศในสังคมจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น 

จากที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า ประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้นความเท่าเทียมบนความเหมือนกันของมนุษย์ ก่อให้เกิดการมืดบอดต่อประเด็นความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศในชีวิตผู้หญิง อีกทั้งยังผลักให้ประเด็นสำคัญนี้กลายเป็นเพียงประเด็นส่วนตัว หรือกลายเป็นความรุนแรงทางเพศระหว่างหญิง-ชายเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงสิทธิพลเมืองสู่การรับรู้และความเข้าใจในระดับปัจเจกได้เลย ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องยกระดับความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศจากความรุนแรงในมิติเชิงวัฒนธรรมและกฎหมาย ไปสู่การตระหนักรู้สิทธิพลเมืองของผู้หญิงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองประชาธิปไตย 

การนำแนวความคิดของอิริกาเรย์ที่เริ่มพิจารณาจากเบ้าหลอมของความแตกต่างแห่งเพศ มาสนทนาร้อยเรียงกับประสบการณ์เรื่องเล่าความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศในกรณี Dr.Ford ได้เปิดหน้าต่างใหม่ของการเขยิบวิธีคิดในประเด็นความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ ไปสู่ ประเด็นสิทธิพลเมือง อันจะเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงแห่งสิทธิพลเมืองในการมีชีวิต ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงในสังคมประชาธิปไตย  

ประสบการณ์ความรุนแรงและการถูกล่วงละเมิดทางเพศของ Dr.Ford ที่เก็บงำอย่างเงียบงันมาเกือบครึ่งชีวิต มาสู่การให้ปากคำและถ้อยแถลงในการเปิดเผยเรื่องราวแห่งความเจ็บปวด อับอายต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการนี้ (สำหรับฉัน Kavanaugh คือคนที่ต้องอายมากกว่า) ทำให้ฉันต้องกลับมานั่งทบทวนอย่างหนักในเรื่องราวของเธอ สิ่งที่ Dr.Ford กระทำนั้นเป็นมากกว่าความกล้าหาญ แต่เป็นก้าวสำคัญของการนำประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับเธอมาขับเคลื่อนสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางการเมืองด้วยการผลักให้ประเด็นความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศกลายเป็นประเด็นสิทธิพลเมือง ซึ่งท้ายที่สุดมีคุณูปการกับทุกเพศ 

ฉันได้เรียนรู้ความกล้าหาญของผู้หญิงคนหนึ่งผ่านการเขียนชีวิตของเธอ ด้วยคำให้การแห่งความเจ็บปวด ความกลัว และด้วยราคามหาศาลที่เธอต้องจ่าย แต่เธอก็ “ยืนหยัด” ที่จะต่อสู้ เพื่อเรียกร้อง ทวงคืนความเป็นธรรมให้กับตัวเธอเอง (และเพื่อคนอื่นๆ) จากจุดยืนของเธอ 

เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ความรุนแรงและการถูกล่วงละเมิดทางเพศของเธอ? เราควรต้องหันกลับมาปรับโหมด “การฟัง” ของเรา เพื่อค่อยๆเรียนรู้ว่าเรา “ได้ยิน” สิ่งที่เธอต้องการสื่อสารกับเราและโลกใบนี้หรือไม่ อย่างไร  เราควรต้องปรับคลื่นความคิดในการรับฟังเรื่องราว ประสบการณ์ส่วนตัว (ที่บ่อยครั้งรุนแรง เจ็บปวด และเป็นเรื่องต้องห้าม) ของผู้หญิง เราควรต้องจูนคลื่นการฟังให้ลึกและชัดเจนมากไปกว่าความอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวอื้อฉาวทางเพศของคนๆหนึ่งอย่างผิวเผิน หรือการตั้งคำถามอย่างตื้นเขินว่า เรื่องที่เธอเล่านี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ 

คำให้การจากประสบการณ์ความรุนแรงและการถูกล่วงละเมิดทางเพศของ Dr.Ford ก่อให้เกิดการตระหนักรู้และต่อสู้ร่วมกัน (consciousness raising) ทางการเมืองในประเด็นสิทธิพลเมืองของผู้หญิง นี่คือพลังของการเมืองเรื่องส่วนตัว (personal is political) จากการต่อสู้ในระดับปัจเจกเคลื่อนไปสู่การเมืองระดับมหภาค โดยมีสิทธิพลเมืองเป็นเดิมพัน ด้วยการทำให้ทุกเพศตระหนักถึงความรุนแรงในการใช้ชีวิตอย่างทั่วถึง และจุดประกายความคิดของหน้าที่พลเมืองที่เริ่มจากเลือดเนื้อและชีวิตของเรามากกว่าหน้าที่พลเมืองที่ไกลตัว ในทางรัฐศาสตร์เท่านั้น (ทว่าปฏิเสธไม่ได้ว่าจำต้องดำเนินควบคู่กันไป) และนี่คือพลังของการเมืองเรื่องส่วนตัวที่เขยิบมาสู่ความก้าวหน้าทางความคิดต่อสิทธิพลเมืองของทุกเพศในการมีชีวิต และใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย อันเป็นสิทธิพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตยที่ประเทศไทยยังคงติดกับดับแห่งความรุนแรงทางเพศระหว่างชาย-หญิงเท่านั้น
    
   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net