Skip to main content
sharethis

ประธาน กกต. ยันพร้อมจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ตามกรอบที่รัฐบาลเคยหารือกับพรรคการเมือง ยกเคสเร็วสุด 24 ก.พ. 2562 ช้าที่สุด 5 พ.ค. 2562 เพื่อให้สำนักงานเตรียมพร้อม คาดงบหาเสียงแบ่งเขต 2 ล้าน บัญชีรายชื่อไม่เกิน70 ล้าน 'เพื่อไทย' ชมกล้าประกาศวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. ด้าน 'อภิสิทธิ์' ชี้กำหนดเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ยืดหยุ่นได้

19 ส.ค. 2561 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงแผนปฎิบัติการเลือกตั้ง ส.ส.ของ กกต.ที่กำหนดวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมของสำนักงานที่ได้กำหนดแผนปฎิบัติการเพื่อให้ผู้ปฎิบัติได้ทำงานไปตามแผน โดยวันดังกล่าว กกต.ไม่ได้กำหนดเร็วหรือช้าไป แต่เป็นไปตามที่รัฐบาลและพรรคการเมืองได้เคยหารือและกำหนดกันไว้แล้วว่าถ้า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ใช้บังคับจะต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ซึ่งวันที่จะจัดการเลือกตั้งเร็วที่สุด คือ 24 ก.พ. 2562 และช้าที่สุด คือวันที่ 5 พ.ค. 2562 โดยทาง กกต.พร้อมตั้งแต่กำหนดแรกอยู่แล้ว ส่วนจะมีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่าไม่ใช่ประเด็นที่ กกต.จะไปพิจารณา สำหรับแผนปฎิบัติการที่ทางสำนักงาน กกต. กำลังดำเนินการยกร่างฯ ในขณะนี้ ทางสำนักงานก็จะเร่งสรุปและเสนอให้ กกต.เห็นชอบโดยเร็ว ซึ่งน่าจะลงนามก่อนกฎหมายลูก 2 ฉบับมีผลบังคับใช้        

นายอิทธิพร ยังชี้แจงเรื่องการสรรหา ส.ว.ว่าไม่ได้ดำเนินการ 3 วัน อย่างที่สังคมอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่เนื่องจาก ส.ว.จะมีต้องการสรรหาในระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ซึ่งในแต่ละระดับจะทำพร้อมกันวันเดียวกันทั้งประเทศ รวมแล้วจะทำไม่เกิน 3 ครั้ง ไม่ใช่ทำ 3 วัน และจากแผนงานเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้ทันแล้วเสร็จตามกฎหมายกำหนดคือก่อนเลือกตั้ง ส.ส. 15 วัน

คาดงบหาเสียงแบ่งเขต 2 ล้าน บัญชีรายชื่อไม่เกิน 70 ล้าน

นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บรรยายตอนหนึ่งในการจัดทำแผนปฎิบัติการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. ถึงการทำไพรมารีโหวตว่าในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง กฎหมายกำหนดให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ต้องมีการทำไพรมารีโหวต ซึ่งไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองอย่างเดียว เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ตรวจสอบให้การทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นผู้ตรวจการเลือกตั้งรวมทั้ง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดจะต้องรู้และเข้าใจเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งมีหลักการส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองเก่าและใหม่ต่างกัน พรรคเก่าจะต้องมีอย่างน้อย 4 สาขา แต่พรรคใหม่ส่งได้เลย ซึ่งปัจจุบันมีพรรคตามกฎหมายเดิม 69 พรรค พรรคที่แจ้งชื่อใหม่ 117 พรรค รับจดทะเบียนไปแล้ว 4 พรรค ซึ่ง กกต.จะต้องพยายามให้พรรคการเมืองใหม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งให้ได้

“ทุกวันนี้ไม่มีพรรคการเมืองใดมีสาขาพรรคเลย เนื่องจากถูกเซ็ตซีโร่หมด แต่ละพรรคจะต้องไปหาสมาชิกเพื่อจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนประจำจังหวัดเพื่อทำไพรมารีโหวต แต่ยังไม่สามารถหาสมาชิกพรรคได้เพราะติดคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 แม้จะมีคำขออนุญาตหาสมาชิกจากพรรคการเมืองกว่า 100 ฉบับ ที่ กกต.ส่งไปยัง คสช. แต่ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.จะพิจารณา" นายแสวง กล่าว

นายแสวงกล่าวอีกว่าการทำไพรมารีโหวตถ้าทำตามมาตรา 145 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มีรูปแบบทั้งหมด 7-9 รูปแบบ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดหัวหน้าพรรคก็จะต้องเป็นคนเซ็นรับรอง หรือถ้าทำแบบภาคกระบวนการทำก็ไม่ได้น้อยลงเลย เพราะกฎหมายกำหนดให้สมาชิกพรรคในเขตนั้นๆต้องมีส่วนร่วม แต่ก็มีอีกรูปแบบคือการรับฟังความเห็น ซึ่งขึ้นอยู่ว่าถ้าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนด กกต.ก็จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่ถ้าให้เป็นไปตามข้อบังคับพรรค กกต.ก็สบาย อย่างไรก็ตาม เรื่องจะมีไพรมารีโหวตหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องของ กกต. เราเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎหมายและเชื่อว่าจะมีไพรมารีโหวต ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน กกต.ก็สามารถทำได้ 

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งนายแสวง กล่าวว่า ครั้งนี้เปลี่ยนไปเยอะ เพราะจะใช้ค่าใช้จ่ายเป็นเครื่องมือทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม โดย กกต.จะออกระเบียบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายกว่า 5 เรื่อง อาทิ การกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรค ซึ่งจากการคำนวนเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งพรรคการเมืองกับ กกต.เคยมีข้อเสนอว่าอาจจะต้องกำหนดค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาทต่อผู้สมัครแต่ละคนในแบบแบ่งเขต แต่สุดท้ายก็จะต้องให้ กกต.หารือกับพรรคการเมืองต่างๆ อีกครั้งก่อนสรุปยอดเงินที่ชัดเจน ส่วนค่าใช้จ่ายการส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะอยู่ตั้งแต่ 20-70 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้สมัครที่แต่ละพรรคส่ง สำหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้ง เฟซบุ๊ก ไลน์ ถือว่าน่ากังวลที่สุด เพราะอาจจะมีปัญหาว่าจะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายส่วนนี้อย่างไร เพราะนอกจากตัวผู้สมัครเอง ยังมีกองเชียร์อีก

'เพื่อไทย' ชมกล้าประกาศวันเลือกตั้ง 24 ก.พ.

นายสามารถ แก้วมีชัย แกนนำพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดกรอบการเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นภายในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ว่าเป็นเรื่องที่น่าดีใจและขอชื่นชม กกต.ชุดใหม่ ที่หลังรับตำแหน่งก็มีการประชุมและประกาศวันเลือกตั้งทันที โดยไม่ต้องรอฟังใคร ทั้งนี้หากไล่ดูเวลาตามที่รัฐธรรมนูญประกาศไว้นั้น วันที่ 24 ก.พ.2562 ถือว่ายังอยู่ในกติกา และแม้ว่าตอนนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมืองทั้งหมด แต่หากย้อนไปดูคำสั่ง คสช.ที่ 53/ 2560 ในข้อที่ 8 ที่เขียนถึง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ก็จะเห็นว่าหากมีการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใดให้ กกต.เสนอต่อ คสช. เพื่อยกเลิกประกาศ หรือ คำสั่งต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของพรรคการเมือง ซึ่งก็ถือว่าเป็นการปลดล็อคพรรคการเมือง ดังนั้นจึงไม่มีอะไรน่าห่วง และถือว่ายังมีเวลาให้พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ได้พอสมควร นั่นก็คือ 90 วันหลังกฎหมายประกาศใช้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอดูรายละเอียดการแก้ไขเรื่องไพรมารีโหวตอีกครั้ง แต่เชื่อว่าคงแก้ไขให้การทำไพรมารีโหวตง่ายขึ้น

'อภิสิทธิ์' ชี้กำหนดเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ยืดหยุ่นได้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดโรดแมป ประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งวันที่  4 มกราคม 2562 และ เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 ว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทั้ง 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะต้องรอให้มีผลบังคับใช้ 90 วัน หลังจากนั้นอีกไม่เกิน 150 วัน  ตนทราบเพียงเท่านี้ ดังนั้นต้องขึ้นอยู่ว่ากฎหมายจะบังคับใช้เมื่อใด และเมื่อบังคับใช้แล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าทางกกต. ชุดใหม่ จะมีนโยบายที่จะกำหนดความชัดเจนในการเลือกตั้งวันใดอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการที่ กกต.กำหนดวันขึ้นมานี้ เป็นการคำนวณตามเวลาที่ระบุไว้ แต่ก็สามารถยืดหยุ่นได้เสมอ จึงเป็นเพียงการวางกำหนดการไว้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่าสิ่งที่สำคัญคือพรรคการเมืองต้องสามารถดำเนินกิจกรรมตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองพ. ศ. 2560 คือ เรื่องการตั้งสาขา การมีสมาชิก การประชุมใหญ่ของพรรค การแก้ข้อบังคับพรรค เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งคิดว่าตรงนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน หลังจากนั้นทุกพรรคก็สามารถลงแข่งขันในการเลือกตั้งได้ ส่วนเรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้งนั้น คิดว่าถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ทำให้เร็วที่สุด เพราะว่าจะเป็นตัวบอกว่าการทำไพรมารีโหวตทำอย่างไร 

เมื่อถามว่า การแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ทาง กกต. เคยระบุว่าควร ใช้ มาตรา 44 นั้นนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าคิดว่าเป็นเรื่องของการแก้ไขกฎหมายมากกว่าส่วนจะใช้วิธีใดก็สุดแล้วแต่ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่า กกต. กังวลใจ ถ้าต้องรอตามกำหนดการเดิม ทุกอย่างก็จะกระชั้นชิด ดังนั้นถ้ายอมคลายเงื่อนไขทางกฎหมายเพื่อให้พรรคการเมืองเดินหน้าแบ่งเขตการเลือกตั้งได้จะดีที่สุด

ส่วนการจัดทำไพมารีโหวต ควรจะเป็นอย่างไรนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ปรากฎอยู่ ทางพรรคไม่ได้วิตกกังวลอะไร ขอเพียงยกเลิกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองให้ก็จะเดินหน้าขับเคลื่อนในเรื่องนี้ตามกฎหมาย และคิดว่าทุกพรรคการเมืองก็มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อกฎหมายบัญญัติมาให้ทำเรื่องนี้ พรรคการเมืองทุกพรรคก็ต้องเตรียมการสำหรับเรื่องนี้ด้วย แต่ทุกอย่างจะง่ายขึ้นถ้าคสช.ปลดล็อคให้แล้วทำกิจกรรมได้ และเมื่อได้รับอนุญาตทุกพรรคก็มีหน้าที่ไปหาสมาชิก แล้วให้สมาชิกมาลงคะแนนก็เท่านั้นเอง

เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตรที่ควบคู่ไปกับรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าทั้งหมดเป็นหน้าที่ของ กกต.และรัฐบาล ในการดำเนินการ แต่สิ่งสำคัญที่สุด ตนคิดว่าต้องไม่มีอะไรที่จะไปกระทบกฎหมาย 

"เราอยากเห็นการเลือกตั้งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ ถ้าจะเป็นแบบนั้นได้ เราต้องทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ และเป็นธรรม ดังนั้นใครที่มีหน้าที่ ต้องช่วยกันดูแล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศให้ได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net