Skip to main content
sharethis

เตรียมขับเคลื่อน 'ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ภาคอีสาน' 22 สิ.ค. 2561 นี้ ที่ มจร.ขอนแก่น สปสช.เขต 7 ขอนแก่น เผยผลสำรวจพระสงฆ์ส่วนหนึ่งยังไม่มีบัตรประชาชน มีเพียงหนังสือสุทธิ จึงยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท แนะยื่นขอทำบัตรประชาชน หลังจากนั้นขอย้ายสิทธิมารักษาที่ รพ.ใกล้วัดได้

16 ส.ค. 2561 รศ.ดร.พระโสภณพัฒนบัณฑิต รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น กล่าวว่าวันที่ 22 ส.ค. 2561 ที่จะถึงนี้ จะมีเวทีเปิดตัวการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติสู่พื้นที่ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตขอนแก่น เพื่อสร้างความเข้าใจ และสื่อสารการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แก่พระสงฆ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในระดับพื้นที่ โดยมี พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธาน ซึ่งในงานจะมีเวทีเสวนา การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์บนแผ่นดินอีสาน นิทรรศการและกิจกรรมการดำเนินงาน เกี่ยวกับสุขภาวะของพระสงฆ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ พระสงฆ์ถือว่าเป็นศาสนบุคคลสำคัญของศาสนาพุทธ ซึ่งมีหน้าทีในการเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้นจึงต้องมีสุขภาพดี แต่ปัจจุบันจากสถิติพบว่าพระสงฆ์ป่วยด้วยโรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคปอด เบาหวาน และโรคหัวใจ จำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการฉันอาหารหวาน มัน เค็ม เกินไป และการบริหารกายน้อย ดังนั้นเมื่อมีธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติพระสงฆ์ปี 2560 ซึ่งมีเนื้อหาหลัก 3 ส่วน คือ การที่ให้พระสงฆ์ดูแลกันเองด้านสุขภาพ ญาติโยมจะเข้ามาดูแลพระสงฆ์ และพระสงฆ์ในฐานะผู้นำชุมชนจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่สุขภาพดี

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. เขต 7 ขอนแก่น ได้ดำเนินการในรูปแบบต่างๆเพื่อให้ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์มีผลในทางปฏิบัติ โดยได้รับฟังความคิดเห็นประเด็นพระสงฆ์กับความมั่นคงทางสุขภาพ ขึ้นเพื่อรวบรวมความคิดเห็นของพระสงฆ์ และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พระสงฆ์มีหลักประกันสุขภาพ และเข้าถึงบริการสุขภาพได้จริง และไม่ขัดต่อหลักพระธรรมวินัย ซึ่งเมื่อได้รับข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นแล้วก็มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยการถวายความรู้ให้กับพระสงฆ์ในเรื่อง สิทธิและหน้าที่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการผลักดันให้เกิดรูปแบบการส่งเสริมสุขภาพ การดูแลสุขภาพพระสงฆ์โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เช่น การตรวจคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์และการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น

นพ.ปรีดา กล่าวว่า เมื่อพระสงฆ์เจ็บป่วยก็ต้องเข้ารับการรักษา การรับรู้สิทธิในการรักษาจึงสำคัญ จากการสำรวจพระสงฆ์ส่วนหนึ่งยังไม่มีบัตรประชาชน มีเพียงหนังสือสุทธิซึ่งใช้แสดงความเป็นพระสงฆ์ แต่การมีบัตรประชาชนแสดงถึงความเป็นคนไทยที่จะได้รับสิทธิตามกฎหมาย เช่น การได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท)  ดังนั้น พระภิกษุ สามเณร จะต้องทำบัตรประชาชน โดยการทำบัตรนั้นขอให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของวัด และจะต้องใช้คำนำหน้านาม หรือวงเล็บชื่อตัวชื่อสกุลต่อท้ายสมณศักดิ์ (กรณีเป็นพระภิกษุที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์) ให้ถูกต้องตรงกันกับรายการที่ระบุในหนังสือสุทธิ โดยสามารถไปยื่นคำขอทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ที่ว่าการอำเภอ ซึ่งเมื่อได้รับบัตรประชาชนมาแล้วก็สามารถไปขอย้ายสิทธิบัตรทองมารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้วัดได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร 1330 ทุกวัน 24 ชั่วโมง

นพ.ปรีดา กล่าวต่อว่า จากข้อมูลจำนวนและอัตราป่วย 10 อันดับโรค ผู้ป่วยใน (พระสงฆ์) ที่มารับบริการในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ  ปี 2559 ในพื้นที่ สปสช. เขต 7 ขอนแก่น 4 จังหวัด คือ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และ ร้อยเอ็ด โรคที่พบมากที่สุด คือ 1.กระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ และลำไส้ใหญ่อักเสบ 2.โรคปอด(หลอดลม)อุดกั้นเรื้อรัง 3.ปอดอักเสบ 4.โรคไตวายเรื้อรัง (ระยะที่5) ที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต 5.โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด 6.โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 7.เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน 8.ต้อกระจก 9.ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และ 10.ผิวหนังอักเสบ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net