Skip to main content
sharethis

กรณีชาวบ้านน้ำจวง จ.พิษณุโลก คืนงบไทยนิยม 2.8 ล้านบาท ชาวบ้านเผยไม่อยากใช้งบดูงานนอกหมู่บ้านเพราะถนนสภาพย่ำแย่เสี่ยงอุบัติเหตุ แถมแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้านยังไม่มีถนนเข้าถึง ดูงานกลับมาก็พัฒนาต่อไม่ได้ ผู้ใหญ่บ้านเสนอให้ประชาคมหมู่บ้านบริหารงบเอง ดีกว่ากำหนดจากส่วนกลางแล้วค่อยมาถามคนในพื้นที่

เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 บ้านน้ำจวง ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ปฏิเสธงบ 2.8 ล้านบาท จากโครงการชุมชนท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถี เนื่องจากงบดังกล่าวเป็นงบสำหรับการอบรมและดูงานนอกสถานที่เพื่อกลับมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ในขณะที่ชาวบ้านต้องการงบเพื่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างชุมชุนกับแหล่งท่องเที่ยวมากกว่า เมื่อเห็นว่างบประมานที่ตั้งมา ไม่สอดคล้องกับความต้องการ ทางประชาคมหมู่บ้านจึงมีมติไม่รับงบดังกล่าว เพื่อให้หมู่บ้านอื่นที่มีความพร้อมมากกว่ารับไป โดยนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาชี้แจงว่าจะนำงบดังกล่าวไปมอบให้กับหมู่บ้านอื่นที่มีความต้องการและความพร้อมมากกว่า

นายหยี  แซ่หย่าง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 บ้านน้ำจวง เปิดเผยว่าจากการทำประชาคมหมู่บ้านเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ชาวบ้านมีมติว่าต้องการงบมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในสามส่วนด้วยกันคือ 1. ตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 2. สร้างถนนเชื่อม ต้องการให้ทำการปรับปรุงถนน โดยซื้อหินคลุกไปพัฒนาตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในทุกฤดูกาล เพราะทุกวันนี้ถนนในช่วงฤดูฝนมาสภาพแย่มาก หากไม่ใส่โซ่ที่ล้อรถจะไม่สามารถวิ่งได้ และ 3 คือ สร้างห้องน้ำตามจุดท่องเที่ยวต่างๆ เช่นเนินสองเต้า ซึ่งเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวหลักของชุมชน อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามไปยังพัฒนาชุมชนอำเภอ ยืนยันว่าไม่สามารถโยกงบ 2.8 ล้านมาสร้างสิ่งที่ชาวบ้านต้องการได้ จึงตัดสินใจไม่รับงบดังกล่าวเพราะไม่อยากใช้ภาษีประชาชนโดยใช้เหตุ

“ที่พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าพวกเราไม่อยากได้งบ ถ้างบมันสามารถเอาไปพัฒนาได้ตรงจุดตามความต้องการของชาวบ้านแบบนั้นเราเอาครับ เท่าไหร่เราก็เอา แต่ถ้าไม่ตรงก็ไม่เอาดีกว่า เพราะเงินตรงนี้มันมาจากภาษีประชาชน คนในหมู่บ้านเลยมองว่าเอาไปให้หมู่บ้านอื่นที่มีความพร้อมดีกว่า ชาวบ้านที่นี่ไม่ได้ติดใจอะไรเลย” ผู้ใหญ่บ้านกล่าว


หยี แซ่หย่าง ผู้ใหญ่บ้านน้ำจวง หมู่ 13 ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก(ที่มา: ประชามติออนไลน์)

ผู้ใหญ่หยีกล่าวว่าหลังเรื่องดังกล่าวกลายเป็นกระแสข่าว ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้บอกให้ทางหมู่บ้านทำหนังสือเขียนโครงการมาของบกับทางจังหวัด ซึ่งทางหมู่บ้านก็ได้ยื่นโครงการของบสร้างถนนกับทางอำเภอไปแล้ว แต่จะได้รับการอนุมัติไหมต้องรอดูต่อไป เขากล่าวต่อว่าถนนมีความสำคัญกับชุมชนมาก ไม่ใช่แค่เรื่องพัฒนาการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ข้าราชการ ครู และหมอ ก็จะสามารถเข้ามาทำงานในชุมชนได้สะดวกขึ้น การขนส่งสินค้าระหว่างตัวอำเภอกับชุนชนก็จะสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วย เพราะตอนนี้ถนนระยะทาง 10 กิโลเมตรภายในหมู่บ้าน ครึ่งหนึ่งยังเป็นถนนลูกรัง มีสภาพทรุดโทรม บางส่วนเป็นหลุมเป็นบ่อ บางสวนก็พังทลายจากน้ำกัดเซาะในฤดูฝน

ผู้ใหญ่หยียังกล่าวอีกด้วยว่าโครงการประชารัฐ และไทยนิยมยั่งยืนที่รัฐบาล คสช. กำลังทำอยู่มีความพยายามที่จะทำให้งบประมาณที่ลงมาตอบสนองต่อความต้องการของคนในพื้นที่ ผ่านการใช้กลไกประชาคมหมู่บ้าน แต่ติดปัญหาคือโครงการดังกล่าวยังมีลักษณะบนลงล่างอยู่ คือฝ่ายข้าราชการจะเป็นคนคิดว่าควรเอางบจากส่วนกลางไปทำโครงการอะไร แล้วจึงมาถามความเห็นชาวบ้านว่าเห็นด้วยหรือไม่ พอชาวบ้านไม่เห็นด้วย ก็ดึงงบกลับไป ทางที่ดีคือรัฐควรจัดสรรงบมาให้กับชุมชนโดยตรง แล้วใช้กลไกประชาคมหมู่บ้านในการตัดสินใจร่วมกันว่าจะเอาเงินดังกล่าวไปพัฒนาด้านใด

ไม่ใช่แค่อำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวเท่านั้น ถนนยังมีผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่อีกด้วย สุขสันต์ แซ่หลอ เจ้าของร้านชำภายในหมู่บ้านที่เข้าร่วมการทำประชาคมหมู่บ้านเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม กล่าวว่า หมู่บ้านของเขาอยู่ห่างจากตัวอำเภอเพียง 45 กิโลเมตร แต่กลับต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 1 ชั่วโมง บางครั้งก็โชคร้ายมีต้นไม้ล้มกลางถนน ก็ต้องเสียเวลาช่วยกันตัด ค่าน้ำมันในการเดินทางเข้าอำเภอแต่ละรอบอยู่ที่ประมาน 300 ถึง 400 บาท ตัวเขาเองอยากออกไปซื้อของทุกวัน แต่ก็ทำไม่ได้เพราะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย หากมีถนนที่ได้มาตรฐานจะใช้เวลาเดินทางเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น และค่าน้ำมันก็จะลดลงเท่าตัว

แผนที่แสดงที่ตั้งบ้านน้ำจวง ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก (ที่มา: Google Maps)

สุขสันต์กล่าวว่าตนรู้สึกเห็นด้วยกับผู้ใหญ่บ้านที่ปฏิเสธงบดังกล่าว เพราะถึงแม้จะได้ออกไปดูงานแต่สภาพถนนยังเป็นแบบเดิม ก็ไม่สามารถเอาความรู้จากการอบรมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้อยู่ดี นอกจากนี้คนที่ต้องออกไปดูงานก็เสี่ยงอันตราย เพราะการจะเดินทางออกจากหมู่บ้านทีละหลายๆ คน จำเป็นต้องใช้รถทัวร์ ซึ่งวิ่งได้ยากในสภาพถนนเช่นนี้ นอกจากนี้เขามองว่า งบ 2.8 ล้านดังกล่าว ตอนลงมาถึงชุมชนจริงๆ อาจจะเหลือไม่ถึงล้าน เพราะเป็นธรรมดาที่ต้องแบ่งไปให้กับหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งตัวเขาไม่ได้มีปัญหากับระบบดังกล่าว แต่เมื่องบดังกล่าวต้องถูกใช้เพื่อการดูงานเท่านั้น จึงรู้สึกเหมือนเป็นโครงการที่ฝ่ายราชการได้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านได้แค่ไปเที่ยว

“ในส่วนของชาวบ้าน เราอยากให้พัฒนาการสัญจรตามจุดท่องเที่ยวให้ดีกว่านี้ อยากให้เทหินคลุกก่อน รถจะได้ไปมาสะดวก ต่อไปจะไปศึกษาดูงานก็ค่อยไปก็ได้ เพราะตอนนี้รถยังไปไม่ถึงจุดท่องเที่ยวเลยด้วยซ้ำ แม้แต่เดินไปยังไม่สะดวก ตอนนี้มันไปไม่ได้เลยเพราะถนนมันมาแค่ถึงหน้าหมู่บ้าน แล้วยังจะเอางบมาให้ไปศึกษาดูงานอีก ทั้งๆที่คนในหมู่บ้านเราแทบไปไหนไม่ได้เลย” สุขสันต์กล่าว “ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา นักท่องเที่ยวเขาก็เสียความรู้สึก แล้วเดี๋ยวนี้มันมีโลกโซเชียล พอเขามาเห็นว่าสภาพหมู่บ้านแย่แล้วเอาไปพูดต่อในโซเชียลมันก็ทำให้คนอื่นไม่อยากมา แบบนี้ชุมชนก็ยิ่งเสียหายใหญ่”

สุขสันต์เปิดเผยว่าทุกวันนี้ชาวบ้านต้องช่วยกันแก้ปัญหาด้วยการระดมอาสาสมัครในชุมชนมาช่วยกันขุดดินไปถมตามถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ช่วยกันตัดต้นไม้ข้างทาง และขุดร่องน้ำป้องกันน้ำกัดเซาะถนนในช่วงฝนตกหนัก เขายังเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเขามาตรวจสอบกระบวนการสร้างถนนให้มากกว่านี้ เพราะทุกวันนี้งบหนึ่งล้านบาททำถนนได้เพียง 500 เมตร ทั้งๆ ที่ควรจะทำได้ 1 กิโลเมตร ผู้รับเหมาบางคนก็ไม่มีความรับผิดชอบ ผสมหินเยอะ แต่ใส่ปูนน้อย พอใช้ไปได้แค่ปีเดียวถนนก็พัง

ชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน คือหมู่ 12 บ้านขุนน้ำคับ หมู่ที่ 13 บ้านน้ำจวง และหมู่ที่ 14 บ้านรักชาติ ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ร่วมกันซ่อมถนนสายบ่อภาค-บ้านน้ำจวง เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ)

ข้อมูลของเว็บไซต์ อบต.บ่อภาค หมู่บ้านน้ำจวงตั้งอยู่ในเขตการปกครองของหมู่ 13 ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ตัวหมู่บ้านอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอชาติตระการ โดยบ้านน้ำจวง หมู่ 13 มีประชากร 1,115 คน 273 หลังคาเรือน บ้านขุนน้ำคับ หมู่ 12 มีประชากร 1,056 คน 255 หลังคาเรือน และบ้านรักชาติ หมู่ 14 มีประชากร 208 คน 51 หลังคาเรือน

สำหรับ ต.บ่อภาค มีทั้งหมด 16 หมู่ มีจำนวนประชากรทั้งหมด 8,535 คน แยกเป็น ชาย จำนวน 4,358 คน หญิง จำนวน 4,177 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 2,220 ครัวเรือน มีพื้นที่ทั้งสิ้น 570 ตารางกิโลเมตร หรือ 365,250 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ภูเมี่ยง – ภูทอง เขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ เขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกภูสอยดาว และป่าสงวนแห่งชาติ ภูมิประเทศของ ต.บ่อภาค เป็นป่าเขาสูงชัน พื้นดินลูกรัง มีที่ราบหุบเขาใช้สำหรับการเกษตร ประมาณ 615 ไร่ มีลำน้ำภาคไหลผ่านบริเวณตอนกลางตามแนวยาวของพื้นที่ตำบล ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำการเพาะปลูกพืชไร่เป็นหลัก รองลงมาคือ ทำนาข้าว ปลูกไม้ผล หาของป่า เลี้ยงสัตว์ และรับราชการตามลำดับ นอกฤดูการเก็บเกี่ยวมีการอพยพแรงงาน ไปประกอบอาชีพรับจ้างในต่างถิ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net