Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ผ่านไปแล้วกับเหตุการณ์เด็กติดถ้ำในประเทศไทย เก้าวันแห่งภารกิจค้นหากับอีกแปดวันแห่งภารกิจกู้ภัย คำถามที่กลายเป็นประเด็นสนใจระดับประเทศก็คือ อะไรทำให้ทั่วโลกสนใจ 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง อะไรทำให้ชาวโลกพุ่งความสนใจมาให้ความช่วยเหลือ 13 ชีวิตนี้ ทั้งๆ ที่โลกใบนี้กลุ่มคนจำนวนมากกว่าที่กำลังเดือดร้อนและใกล้ตาย เพราะภัยธรรมชาติก็ดี หรือเพราะภัยจากน้ำมือมนุษย์ก็ดี ยังมีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง

เมื่อคำตอบคือ “คุณค่า” และ “ความเป็นมนุษย์” ไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์ข้อนี้ เพราะกรณีนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า 13 ชีวิตนี้มีคุณค่าหรือมีความเป็นมนุษย์มากกว่าชีวิตอื่น กลุ่มเด็กๆ ที่กำลังอดตายภายในหลุมหลบภัยในซีเรีย หรือเด็กๆ ที่อพยพหลบซ่อนในเรือประมงกำลังเสี่ยงตายเพราะพายุในทุกขณะ พวกเขาก็มีคุณค่าและความเป็นมนุษย์ไม่แตกต่างกัน

ถ้าคำตอบคือ “ภาพลักษณ์” อันน่ารักน่าเอ็นดูของเด็กติดถ้ำ และคำกล่าวขอบคุณอย่างใสซื่อเป็นภาษาอังกฤษ ที่ถูกแชร์นับแสนครั้งภายในวันเดียว แม้จะฟังน่าสนใจ แต่นั่นเพียงพอที่จะสรุปว่า ที่เขามาช่วยเพราะเด็กไทยน่ารักและอ่อนน้อมกว่าเด็กชาติอื่นอย่างนั้นหรือ   

บทความนี้ขอเสนอ “สมมติฐาน” เพื่อตอบโจทย์ข้างต้น ผู้เขียนมิได้ต้องการนำเสนอ “บทสรุป” ไม่มีเป้าหมายเพื่อความถูกต้องหรือเพื่อสร้างทฤษฎีอะไร มีเพียงความปรารถนาจะ “แบ่งปัน” และ “แลกเปลี่ยน” มุมมองจากมนุษย์คนหนึ่งสู่มนุษย์คนอื่น

ณ จุดเริ่มต้นตั้งแต่การสูญหายกลายเป็นข่าว สื่อมวลชนคือกลุ่มแรกที่จุด “กระแส” ของ “พลังทางจิต” จนติด จากนั้น “กระแส” นี้ก็ถูกโหมพัดให้ขยายวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ เพราะมันได้สร้างมิติใหม่ให้เกิดขึ้นกับ “ตัวตน” ทั้งหลายในโลกออนไลน์ที่ถูกกระแสนี้ดึงดูดเข้ามาเกาะติดพัวพัน ก่อนหน้านี้ “ตัวตน” ทั้งหลายในโลกออนไลน์เป็นเพียงคลื่นพลัง “เฉื่อย” ที่มองอยู่ข้างนอก ครั้งนี้มันถูกปลุกให้มีชีวิตชีวา มีสีสัน และมีอารมณ์ความรู้สึก ผ่าน “การมีส่วนร่วมทางจินตนาการ” ในภารกิจข้างใน

การ “เกาะติด” กระแสครั้งนี้ “ตัวตน” ทั้งหลายในโลกออนไลน์มิได้เป็นเพียงผู้ “ดู” แต่เป็นผู้ “แสดง” หนึ่งในภารกิจการค้นหาและการกู้ภัย แต่ละคนได้ “ปลุก” ชีวิตออนไลน์ของตนขึ้นมา และทำให้มัน “โลดแล่น” ผ่านฉากคิดและจินตนาการของตนเอง เก้าวันแรกแห่งการค้นหานั้น 13 ชีวิตจะเป็นอย่างไร เผชิญชะตากรรมเช่นไร เป็นสิ่งที่ “ตัวตน” ออนไลน์ทั้งหลายได้สร้างทฤษฎีไว้แล้วเพื่อรอเวลาพิสูจน์ ถ้ำหลวงกลายเป็นโลกในตำนานที่ไม่มีใครรู้จักจริง แต่มีอยู่จริง 

หากเปรียบเหตุการณ์เด็กติดถ้ำหลวงเป็นเหมือน “เกมชีวิต” ฉากใหญ่ ผู้คนที่ถูก “กระแส” ดึงดูดเข้ามา กลายเป็นผู้เล่นเกมที่มี 13 ชีวิตในถ้ำเป็น “วัตถุ” ของการค้นหา มีถ้ำหลวงเป็นอีกโลกที่ไม่ใช่ทั้งโลกมายา และไม่ใช่โลกกลมแบบวิทยาศาสตร์ แต่เป็นโลกเสมือนจริงของสื่อออนไลน์ เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยจินตนาการ มีความตื่นเต้นให้ลุ้นระทึกอยู่ตลอดเวลา มีอภินิหาร มีเพื่อนที่ไม่รู้จักเล่นด้วยมากมาย มีความรู้สึกร่วมอยู่ในภารกิจ เกมมือถือทั่วไปสนุกได้เฉพาะคนเล่น ฉากทั้งหลายก็แค่ภาพที่ถูกสร้างขึ้น แต่ถ้ำหลวงคือสถานที่จริง มีพิกัดในทางภูมิศาสตร์ แต่ก็เป็นโลกของจินตนาการ 

ในบรรดา “ตัวตน” ออนไลน์หลักแสนที่ถูกดึงดูดเข้ามาให้เป็นผู้ร่วมแสดง อาจมีเพียงแค่หลักร้อยที่เคยเห็นถ้ำหลวงด้วยตาเนื้อจริงๆ ที่เหลือล้วนสร้างฉากของถ้ำหลวงขึ้นมาจากจินตนาการของตนเองทั้งสิ้น 

จุดสุดยอดของเหตุการณ์คือคืนที่ 13 ชีวิตถูกค้นพบ การค้นพบเด็กทั้งหมดทำให้เป้าหมายของการค้นหามีจุดร่วมที่ “วัตถุ” เดียวกัน เด็กติดถ้ำกลายเป็น “สื่อ” ที่เชื่อมตัวตนทั้งหลายในโลกออนไลน์ ซึ่งถูกปลุกให้ขึ้นมาเป็น “คลื่นเงา” ของผู้มีส่วนร่วมในภารกิจแล้ว จำต้องทำภารกิจนั้นให้เสร็จสิ้น การช่วยเด็กติดถ้ำให้ได้จึงเป็นเป้าหมาย “ร่วม” และเป้าหมาย “หลัก” ของผู้ที่ถูกกระแสเกาะกุมและยึดเหนี่ยวกันไว้แล้วอย่างเหนียวแน่น

จากนั้นอีกแปดวันต่อมา กระแสนี้ก็ถูกโหมกระพือให้แรงจัดจาก “กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ ระดับชาติ” ผ่านทุกช่องทางและเครือข่ายประชาสัมพันธ์ดิจิทัล ภาพของเด็กติดถ้ำและพระเอกนานาชาติที่ถูกแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง สร้างมิติของการมีส่วนร่วมในระดับโลก ซึ่งการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการมีส่วนร่วมในภารกิจจริงๆ แต่เป็นการมีส่วนร่วมในจินตนาการ

ตัวตนในโลกออนไลน์ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาร่วมแสดงอยู่ในฉากแห่งจินตนาการมากขึ้นและมากขึ้น พร้อมๆ กับการชื่นชมพระเอกต่างชาติคนแล้วคนเล่า ตัวตนออนไลน์แต่ละหน่วยถูกเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะโดยไม่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ไปสู่เป้าหมายของภารกิจร่วมกัน ซึ่งเป็นภารกิจที่มีความสำคัญมากกว่าแค่ช่วยชีวิตคน แต่เป็นภารกิจของการสร้างอัตลักษณ์ให้แก่ประเทศชาติ        

ภารกิจคู่ขนานนี้ดำเนินไปตลอดเวลา ด้านนอกเป็นภารกิจของ “มนุษย์” ที่ปฏิบัติการอยู่ตามข่าว ด้านในเป็นภารกิจของ “ตัวตนออนไลน์” ที่ปฏิบัติการอยู่ในโลกจินตนาการของตน โดยอัตลักษณ์ของประเทศชาติ คือ “ความสามัคคี” “ความมีน้ำใจ” และ “ความเป็นมิตร” ถูกสร้างขึ้น ตอกย้ำ และยึดโยงอยู่กับชีวิตของ 13 คนในถ้ำอยู่ตลอดเวลา เป็นทั้งเป้าหมายร่วม เป้าหมายหลัก และเป้าหมายสำคัญ

เพราะเป้าหมายของชาตินั้นยิ่งใหญ่ จินตนาการของตัวตนออนไลน์ที่ถูกเชื่อมต่อกับภารกิจสร้างอัตลักษณ์ของชาติจึงได้รับการปกป้องและประคับประคองอย่างเต็มที่ ในกรณีนี้ “จินตนาการ” จึงไม่เพียงสำคัญกว่า “ความรู้” แต่มันยังทำให้ “ความประมาท” กลายเป็น “เรื่องสุดวิสัย” ทำให้ “เหตุผล” กลายเป็น “เรื่องบังเอิญ” และทำให้ “การคาดคะเน” กลายเป็น “ความรู้” ได้

ยกตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ การยกให้โค้ชหมูป่ากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการทำสมาธิ เพียงเพราะเขาเคยบวชเรียน และ “สมาธิ” ของเขานั้นอยู่ในระดับที่สามารถสื่อออกมาให้โลกภายนอกรับรู้และให้การช่วยเหลือได้ทัน เด็กติดถ้ำเป็นเด็กดีเพราะร่างกายแข็งแรง น่ารัก ดูแล้วมีคุณภาพ หรือบังเอิญที่เหตุการณ์นี้เกิดในประเทศไทย เราจึงรู้จักและรับรู้ว่าถ้ำหลวงสวยงามขนาดไหน      

ในความเป็นจริง เด็กติดถ้ำทั้งหมดไม่ได้รู้เรื่องอะไรในภารกิจที่ “มนุษย์” และ “คลื่นเงาของตัวตนออนไลน์” กระทำอยู่นอกถ้ำหลวงเลย พวกเขาเป็นเพียง “วัตถุ” “สื่อ” หรือ “หมาก” ที่เกมนี้ต้อง “รักษา” ไว้ให้ได้ ในฐานะเป็น “วิถี” ให้ภารกิจนี้บรรลุ “เป้าหมาย” ระดับชาติ ภารกิจของการช่วยเหลือ 13 ชีวิตจึงเป็นภารกิจที่มนุษย์ต้อง “พิชิต” หรือ “เอาชนะ” ธรรมชาติ มากกว่าจะคำนึงถึง “คุณค่า” หรือ “ความเป็นมนุษย์” ของพวกเขา  

ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กติดถ้ำเมื่อออกมาแล้วจะได้รับการชดเชย เยียวยา หรือให้รางวัล ไม่ใช่ในฐานะของ “พระเอก” แต่ในฐานะของ “สื่อ” ที่ทำให้เป้าหมายระดับชาติบรรลุผลสำเร็จ รางวัลที่พวกเขาได้รับไม่ได้ถูกกำหนดจาก “ความต้องการ” ของพวกเขาเอง แต่ถูกกำหนดจาก “ความพอใจ” ของ “ผู้ใหญ่” และ “หน่วยงาน” ที่รับผิดชอบภารกิจ ความดีความน่ารักของพวกเขาก็ถูกกำหนดจากรูปถ่ายที่ถูกเผยไปทั่วโลกโดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าตัว จากนี้ไปชีวิตส่วนตัวของพวกเขาอาจสูญหาย ทั้งความบริสุทธิ์ทางจิตใจก็อาจถูกทำลาย 

ไม่เคยมีของฟรีในโลกใบนี้ บางสิ่งที่ได้รับมาจะต้องมีบางอย่างที่สูญเสียไป ในสายตาของผู้เขียนซึ่งขอมองต่างมุม เด็กกลุ่มนี้อาจน่าสงสารยิ่งกว่าน่าอิจฉา เพราะพวกเขาได้รับการปฏิบัติในฐานะเป็น “วิถี” มากกว่าเป็น “เป้าหมาย” ที่ผ่านมามีใครบ้างที่คำนึงถึงเด็กติดถ้ำกลุ่มนี้ในฐานะเป็น “มนุษย์” ผู้เป็นเป้าหมายสุดท้ายในตัวเอง มีใครบ้างที่สนใจ “ความเป็นมนุษย์” และ “คุณค่า” ของพวกเขาในฐานะเป็นเป้าหมายสูงสุดในตัวพวกเขาเอง

จากสมมติฐานเหล่านี้ ต่อคำถามที่ว่า “อะไรทำให้ทั่วโลกมุ่งความสนใจมาที่เด็กติดถ้ำและให้ความช่วยเหลือพวกเขาอย่างเต็มกำลังยิ่งกว่าเด็กกลุ่มอื่น” ดูเหมือนว่า “ภาพลักษณ์” “คุณค่าแห่งชีวิต” ตลอดจน “ความเป็นมนุษย์” ของพวกเขาไม่น่าจะเป็นคำตอบที่เพียงพอเสียแล้ว 

แต่ “การจุดกระแสพลังจิต” “การมีส่วนร่วมในจินตนาการ” ของ “ตัวตนออนไลน์” หน่วยย่อยต่างๆ และ “กระบวนการสร้างอัตลักษณ์แห่งชาติ” ที่สามารถเชื่อมโยง “ตัวตน” หน่วยย่อยเหล่านั้นไปสู่เป้าหมายของภารกิจเดียวกัน โดยมีเดิมพันของเกมคือชีวิตของมนุษย์จริงๆ เป็นแรงขับเคลื่อนกำลังสูง เพื่อให้งานนี้ถ้า “เล่น” แล้วมนุษย์ทั้งหลายต้องชนะ แพ้ธรรมชาติไม่ได้ มนุษย์ทั้งหลายในที่นี้ไม่ได้หมายเฉพาะคนไทย แต่หมายถึงคนทั้งโลกที่ถูกดึงเข้ามาเพื่อ “ต่อสู้” และ “เอาชนะ” ธรรมชาติไปพร้อมกัน โดยใช้ความเป็นคนไทยใจดี “ร้อยรัด” คนต่างชาติต่างภาษาเข้าด้วยกัน  

ในฐานะที่กำลังสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์เช่นกัน ผู้เขียนเองก็ต้องพิจารณาว่า สิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นี้ เป็นการหลุดเข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจจินตนาการนี้อยู่หรือไม่ และตนเองถูกกระแสนี้เกาะเกี่ยวผูกพันอยู่เพียงไร ซึ่งโจทย์ของการใช้ชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนั้น มีความซับซ้อนและตอบยากขึ้นทุกที 

“สติ” “ความเข้าใจ” และ “การรู้เท่าทัน” โดยไม่ตัดสินอะไรไปก่อนล่วงหน้า จึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ยุคนี้      


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net