Skip to main content
sharethis

เอฟทีเอว็อทช์ซัดกระทรวงพาณิชย์เร่งเข้า CPTPP (หรือ TPP เดิม) ทั้งที่มีประเด็นอ่อนไหวมากมาย ยืนยันไม่ร่วมเวทีปาหี่ฟังความเห็น ชี้ผลกระทบใหญ่ควรให้รัฐบาลเลือกตั้งตัดสินใจ ตอนนี้แม้แต่มาเลเซียยังสั่งทบทวน อีกทั้งข้อตกลงนี้มี 11 ประเทศ ไทยทำเอฟทีเอไปแล้ว กับ 9 ประเทศ ไม่ได้อะไรนอกจากเอาใจญี่ปุ่น

 

12 มิ.ย.2561 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ประชุม 25 หน่วยงานเตรียมความพร้อมเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือ TPP เดิม ซึ่งมีสมาชิก 11 ประเทศ เว้นสหรัฐที่ได้ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2560 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ระบุว่า การเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ถือเป็นนโยบายรัฐบาล ที่ต้องทำให้ได้ภายในปีนี้ และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้การเข้าเป็นสมาชิกได้ประโยชน์กับไทยมากที่สุด

นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์รับนโยบายมาจากรองนายกฯเศรษฐกิจโดยที่ไม่ศึกษาข้อเท็จจริงอย่างถ่องแท้และพยายามพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว ตามที่ระบุว่าประเด็นที่อ่อนไหวถูกตัดออกไปหมดแล้วทั้งที่ไม่เป็นความจริง และยังพยายามอ้างว่า ไทยจะสามารถทำข้อยกเว้นเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกก่อนหน้าซึ่งเป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอย อีกทั้งยังไม่มีความแน่นอนว่าประเด็นอ่อนไหวบางประเด็นที่ถูกตัดออกไปเช่นเรื่องการผูกขาดข้อมูลทางยา การชดเชยความล่าช้าจากการออกสิทธิบัตรจะกลับมาหรือไม่หากสหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วมเจรจา

"น่าสนใจว่า ขณะนี้นายกฯมหาเธร์ โมฮัมหมัด แห่งมาเลเซีย กำลังสั่งทบทวนการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์เช่นนี้ เศรษฐกิจขนาดเล็กกว่าอย่างมาเลเซียจะเสียเปรียบ ขณะที่รัฐบาล คสช.กลับประกาศนโยบายต้องเข้าร่วมให้ได้ปีนี้ โดยใช้ข้อมูลที่ไม่มีความชัดเจน"

"เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มิ.ย. ในการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ ทางฝ่ายเลขาฯซึ่งได้ทำงานวิจัยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากความตกลง TPP ได้แจ้งต่อกระทรวงพาณิชย์ว่า ประเด็นอ่อนไหวไม่ได้มีเพียงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาบางประเด็นที่ถูกละเว้นไว้เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวไปเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องการบังคับนำเข้าพืชและผลิตภัณฑ์ตัดแต่งพันธุกรรม, เครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้ว, การผูกขาดพันธุ์พืชและสมุนไพรไทย โดยบังคับให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืช (UPOV 1991) นอกจากนี้ยังมีประเด็นการห้ามเจรจาต่อรองราคายา และที่น่าเป็นห่วงที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญการฟ้องร้องจากการที่รัฐบาล คสช.ออกมาตรา 44 ยุติการทำเหมืองแร่ แต่สาระการคุ้มครองการลงทุนใน CPTPP มีความเข้มงวดกว่า ทำให้นโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ประชาชนทุกเรื่องสามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีได้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐเรียกค่าชดเชยจากงบประมาณแผ่นดินได้ แต่หน่วยราชการยังไม่มีการประเมินถึงผลกระทบเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นตามที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวหายไปหมดแล้วเป็นเรื่องที่เป็นเท็จทั้งสิ้น"


กรรณิการ์ กิจติเวชกุล (ภาพจากแฟ้ม)

รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ชี้ว่า สิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ไม่พูดให้ชัดเจนว่าใน 11 ประเทศนั้นประเทศไทยมีเอฟทีเอกับทั้งหมด 9 ประเทศแล้วเหลือเม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้น ยิ่งไม่มีสหรัฐฯ ผลได้ที่ไทยคาดจะยิ่งน้อยลง ฉะนั้นการเข้าร่วม ประเทศไทยอาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย นอกจากเป็นการเอาใจญี่ปุ่นเพื่อไม่ให้ความตกลงนี้ตายเท่านั้น

"จากการที่กระทรวงพาณิชย์รับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยอย่างไม่เป็นทางการ 2-3 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากภาคประชาสังคม ภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐ เราพบว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นำข้อมูลที่รับฟังไปพิจารณาอย่างแท้จริง แต่กลับนำมาแถลงข่าวว่าทุกภาคส่วนสนับสนุน ไม่มีเรื่องน่าห่วงใยแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่จะไปเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวที่จะมีการจัดรับฟังแบบพิธีกรรมเช่นนั้นอีก"

ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยและควบคุมการบริโภคยาสูบ มหิดลร่วมกับ ศูนย์วิจัยเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา จุฬาฯ และเอฟทีเอ ว็อทช์ ได้เชิญนักวิชาการที่ทำงานวิจัยจริงจัดวิเคราะห์ CPTPP หลังสหรัฐฯถอนตัว ประเทศไทยควรเข้าร่วมเป็นภาคีหรือไม่ และในการนี้จะมีการแถลงข่าวจุดยืนภาคประชาสังคมต่อ CPTPP ที่ต้องเปิดให้การตัดสินใจเป็นเรื่องของประชาชนและรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

"จากรัฐธรรมนูญ 2560 การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ได้ตัดกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆการทำงานวิชาการที่เป็นพื้นฐานข้อมูลในการเจรจา และการมีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติออกไปเกือบสิ้นเชิง ฉะนั้น เชื่อว่า จะทำให้การเจรจาไม่มีความรอบคอบ ได้แต่ผลประโยชน์ระยะสั้นจะตกอยู่กับผู้ส่งออกและนายทุนที่อยู่ใกล้ชิดกับรัฐบาล ขณะที่ประชาชนรวมทั้งลูกหลานของเราจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบในระยะยาว ดังนั้นจุดยืนของเอฟทีเอ ว็อทช์ และภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศเราเห็นว่าควรเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และควรทำหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเจรจาการค้าระหว่างประเทศกลับไปมีมาตรฐานและกระบวนการที่ดีดังเช่นมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550"

รองประธานเอฟทีเอว็อทช์ ยังกระตุ้นให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แสดงความกล้าหาญที่จะท้วงติงรัฐบาล คสช.ในเรื่องนี้ เพื่อจะได้ทำงานวิจัยศึกษาผลกระทบต่างๆรวมทั้งมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 

"เมื่อ 11 ปีที่แล้ว รัฐบาล คมช.ตัดสินใจเดินหน้าเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) กระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นได้พยายามอย่างเต็มที่ในการทำหน้าที่ท้วงติงผลกระทบที่เกิดจากการอนุญาตให้มีการนำเข้าสารพิษและขยะอันตรายเข้ามาในประเทศไทย แม้การท้วงติงนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ถือได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้วทุกวันนี้มันก็พิสูจน์ว่า ประเทศไทยหลังการเปิดช่องของ เอฟทีเอ ไทย- ญี่ปุ่น วันนี้ประเทศไทยเป็นที่ทิ้งขยะสารพิษของโลกโดยสมบูรณ์แล้ว เราจึงอยากเห็นกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆที่ได้ทำการศึกษา ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้และท้วงติง กระตุกสำนึกรัฐบาล คสช.ให้ได้คิด ก่อนที่คนรุ่นต่อไปต้องมาตามแก้ปัญหาที่รัฐบาลอำนาจนิยมได้ทำไว้"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net