Skip to main content
sharethis

ฝ่ายบริหารเครือโพสต์ เผยสาเหตุปลด บก.บางกอกโพสต์เพราะ เขียนข่าวเลือกตั้งในมาเลเซียเชื่อมโยงกับไทย ในขณะที่ประยุทธ์เตรียมเดินทางมาร่วมงานครบรอบ 72 ปีหนังสือพิมพ์ ด้านประยุทธ์ชี้เป็นเรื่องจรรยาบรรณสื่อที่ต้องดูแลกันเอง หวังเห็นจรรยาบรรณในสื่ออื่นๆ ด้วย

15 พ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงค่ำของเมื่อวาน ในแวดวงสื่อมวลชนได้มีการพูดถึง กรณีการปลด อุเมส ปานเดย์ ออกจากตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กระแสข่าวที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่า สาดเหตุของการปลดเขาออกจากตำหน่งในครั้งนี้การจากการไม่ยอมลดการเสนอข่าวที่มีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร

เมื่อคืนที่ผ่านมา อุเมส ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Umesh Pandey ดยย้ำว่า เขาไม่ยอมปฏิบัติตามคำขอร้องที่ให้ tone down การนำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร เป็นเหตุให้ถูกปลดจากตำแหน่ง ทั้งๆ ที่จะหมดสัญญาจ้างให้เป็น บก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ 2 ปี ในอีก 45 วันข้างหน้า

“When asked to ‘tone down’ I did not budge and was blunt in letting those making the decision that I rather lose my position than to bow my head. The axe finally came down on me just 45-days before my 2-year contract ended.”

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากคนในเครือโพสต์อย่าง ณ กาฬ เลาหะวิไลย รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) เครือโพสต์ กลับได้รับคำชี้แจงไปอีกทางหนึ่ง โดยเขาบอกว่า อุเมสไม่ได้ถูกปลด เพียงแต่ถูกย้ายให้มาเป็นผู้ช่วย COO เครือโพสต์ เนื่องจากปัญหาการบริหารงานในตำแหน่ง บก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ไม่เกี่ยวข้องกับการถูกขอให้ลดโทนการตรวจสอบรัฐบาลทหารแต่อย่างใด

ณ กาฬเล่าว่า เขาเป็นคนขอให้บอร์ดเครือโพสต์ปลดอุเมสตั้งแต่ปลายปีก่อน หลังพบการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไม่ถูกต้อง แต่คนส่วนใหญ่ในบอร์ดกลับเห็นว่าควรจะให้โอกาส เพราะอุเมสเองก็จะหมดสัญญาจ้าง 2 ปี ในเดือน ก.ค.นี้อยู่แล้ว ที่สำคัญในเวลานั้นยังหาคนมาแทนไม่ได้

“เขามีปัญหาในการทำงานมาโดยตลอด ทั้งเสนอโครงการที่รับปากว่าจะทำได้ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ถูกขอให้ลดต้นทุน เช่น เลิกบางเซ็กชั่นใน นสพ.บางกอกโพสต์ แต่ก็ไม่ยอม และอ้างว่าจะหารายได้เพิ่มเข้ามาแทน”ณ กาฬ กล่าว

แต่สิ่งที่เป็นฟางเส้นสุดท้าย คือหน้าหนึ่ง นสพ.บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 11 พ.ค. ที่รายงานผลการเลือกตั้งของมาเลเซียแล้วพาดพิงมาถึงไทย ซึ่ง ณ กาฬ ถามว่า การโยง 2 เหตุการณ์เข้าหากัน “เป็นธรรม” หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่เครือโพสต์จะเชิญนายกรัฐมนตรีไทยมาร่วมงานครบรอบ 72 ปี ของ นสพ.บางกอกโพสต์ แต่เมื่อมีการแจ้งเรื่องนี้ต่ออุเมสในที่ประชุมบอร์ด ก็มีการแสดงท่าทางไม่สมควรออกมา จนไม่น่าจะร่วมงานกันต่อไปได้ จึงเห็นว่าในเมื่อจะหมดสัญญาจ้างอยู่แล้ว ก็ให้เปลี่ยนไปเป็นผู้ช่วย COO เครือโพสต์ โดยระหว่างนี้ จะให้คนอื่นรักษาการ บก.หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ไปก่อน จนกว่าการสรรหาคนที่เหมาะสมจะสิ้นสุด

“จึงไม่ใช่เรื่องทหารแทรกแซง หรือให้งดโจมตีทหาร เรื่องนี้ผมมีพยานมากมาย ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่อยากพูด แต่ในเมื่อคุณพูดมาก่อน เราจึงต้องออกมาพูดบ้าง” ณ กาฬกล่าว

หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์วันที่ 11 พ.ค. 2561 

ขณะที่เฟซบุ๊ควาสนา นาน่วม เผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ระบุว่า ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลดบรรณาธิการในครั้งนี้ พร้อมชี้ว่า เป็นเรื่องของเอกชน เป็นเรื่องของจรรยาบรรณสื่อที่ต้องดูแลกันเอง

"นี่เป็นเรื่องจรรยาบรรณของสื่อ ที่ต้องดูแลกันเอง ผมให้โอกาสในการดูแลกันเอง ก็ไปพิจารณา กันสิว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อย่ามา สร้างความขัดแย้งแบบนี้ สื่อมักจะบอกว่า จะอยู่ตรงกลาง ได้ยังไงอ้างว่า อยู่ตรงกลางเนี่ย แต่พอรัฐบาลทำอะไร ก็ผิดไปหมด ผิดๆ แล้วมันจะอยู่กันได้ยังไง ผมก็หวังในจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นด้วย" ประยุทธ์ กล่าว

 

ที่มาจาก: จุลสารราชดำเนิน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net