Skip to main content
sharethis
กรมคุมประพฤติ นำกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติในคดีเมาแล้วขับในพื้นที่กรุงเทพมหานครพร้อมให้ทำงานเพื่อสังคม สงกรานต์ 11-13 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 1,846 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 1,934 ราย
 
 
14 เม.ย. 2561 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่านายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงมาตรการคุมเข้มผู้เมาแล้วขับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า กรมคุมประพฤติ บูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคัดเลือกผู้ถูกคุมประพฤติ โดยเฉพาะในคดีเมาแล้วขับ ทำกิจกรรมร่วมทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ในจุดให้บริการประชาชน จุดตรวจ จุดเล่นน้ำสงกรานต์ในหลายพื้นที่ ตามเงื่อนไขที่ศาลฯ สั่ง ซึ่งเป็นมาตรการเชิงป้องกัน ส่วนมาตรการฟื้นฟูผู้กระทำผิด จะมีการให้ความรู้ด้านการจราจร การดื่มแอลกอฮอล์ การสร้างจิตสำนึก และการทำงานบริการสังคม เน้นดูแลคนไข้ในโรงพยาบาล ดูแลเหยื่อเมาแล้วขับที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ช่วงนี้เน้นให้ไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรววจ โดยคาดหวังให้คนเหล่านี้ละเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่กลับไปทำซ้ำ เป็นคนดีของสังคมต่อไป
 
ส่วนกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดจ้าง จำนวน 4 พันเครื่อง คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้เดือนกันยายนปีนี้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ กรมคุมประพฤติ ได้หารือร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม ที่มีเครื่อง EM อยู่แล้ว 5 พันเครื่อง เป็นการเช่าใช้ในกรอบกฎหมายของศาลอื่น เพื่อนำมาทดลองนำร่องใช้กับผู้กระทำผิดในคดีเมาแล้วขับ ในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ศาลแขวงดอนเมืองและศาลแขวงพระนครเหนือ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพฯ 2 และกรุงเทพมหานคร 12 แต่อาจจะใช้ได้ไม่เต็มที่ เพราะเครื่องมือของศาลมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ศาลตั้งไว้ โดยจะทดลองใช้จนกว่าเครื่องมือของกรมคุมประพฤติจะสามารถใช้ได้เดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนที่เดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เตรียมร่างกาย เตรียมสภาพรถ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์
 
ทั้งนี้ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน หรือ ศปถ. สรุปสถิติการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำวันที่ 13 เม.ย. 2561 เกิดอุบัติเหตุ 820 ครั้ง เสียชีวิต 86 ศพ บาดเจ็บ 852 ราย สาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 47.56 ขับรถเร็ว ร้อยละ 27.44 ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.66 ขณะที่เหตุสะสมทางถนน 3 วัน ระหว่างวันที่ 11-13 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 1,846 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 1,934 ราย โดยจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 11 จังหวัด ขณะที่จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดและมีผู้ได้รับบาดเจ็บสูงสุด คือจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดคือ นครราชสีมา บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ จังหวัดละ 8 ศพ
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net