Skip to main content
sharethis

ในรัฐแอละแบมา มีกฎหมายแปลกๆ ที่ทำให้วัยรุ่นคนหนึ่งถูกตัดสินความผิดโทษฐานฆาตกรรมถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้สังหารใครด้วยมือตัวเองเลย นั่นคือกรณีของวัยรุ่นที่ออกก่อเหตุชิงทรัพย์กับเพื่อนของเขา พอเพื่อนของเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต ตัวเขาเองกลับต้องมารับโทษข้อหาฆาตกรรมเพื่อนเขาแทน

12 เม.ย. 2561 กรณีที่เกิดขึ้นในแอละแบมาล่าสุดคือคดีของ ลาคีธ สมิทธ์ อายุ 15 ปี เขากับเพื่อนอีก 4 คนออกก่อเหตุชิงทรัพย์จนกระทั่งมีคนในเมืองมิลล์บรูค รัฐแอละแบมา แจ้งความกับตำรวจ ตำรวจเข้าไปในที่เกิดเหตุและเป็นผู้ยิง อะดอนเต วอชิงตัน อายุ 16 ปี หนึ่งในเพื่อนที่ร่วมก่อเหตุเสียชีวิต

ถึงแม้ว่าหลักฐานจากกล้องวิดีโอที่ติดตัวตำรวจอยู่จะบ่งชี้ว่าตำรวจเป็นผู้ยิงวอชิงตันจนเสียชีวิตอย่างชัดเจน แต่ศาลก็ตัดสินว่าการยิงนั้นทำไปโดยชอบธรรม ขณะที่สมิทธ์กลับกลายเป็นผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมแทน และมีการตัดสินเขาให้ต้องจำคุก 65 ปี โดยอ้างกฎหมายความรับผิดในฐานะสมรู้ร่วมคิดตามแบบของแอละแบมา ราวกับว่าสมิทธ์ได้ก่อเหตุยิงเพื่อนเขาด้วยตนเอง

บีบีซีระบุว่ากฎหมายแบบนี้ในแอละแบมาไม่ได้มีอยู่เฉพาะในรัฐนี้เท่านั้นแต่มีอยู่แทบจะทุกรัฐในสหรัฐฯ เว้นอยู่ 7 รัฐที่ไม่มีกฎหมายแบบนี้ กฎหมายเช่นนี้มีชื่อภาษาคนทั่วไปว่ากฎหมายฆาตกรรมที่เกี่ยวกับคดีอาญา (felony-murder) ที่มีการตีความคำว่า "การฆาตกรรม" ในตัวบทข้ามไปถึงการสังหารที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้จงใจในช่วงที่มีการก่อคดีอาญา มีการกวาดรวมเอาผู้สมรู้ร่วมคิดไปด้วยทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นอาจจะไม่ได้ก่อเหตุโดยตรงเพียงแค่อยู่ในกลุ่มที่ก่อคดีอาญาเดียวกันก็ถูกเหมารวมไปด้วยได้

ถึงแม้ว่ากฎหมายพิลึกนี้จะมีรากฐานมาจากกฎหมายอังกฤษ แต่ก็เป็นกฎหมายมีอยู่น้อยมากภายนอกสหรัฐฯ รากฐานที่ว่าหมายถึงกฎหมาย "ร่วมก่อเหตุ" แต่ก็ระบุถึงอาชญากรรมที่มาจากแก็งค์อาชญากรเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งในปี 2559 ศาลสูงสุดของอังกฤษก็ปรับการพิจารณากฎหมายให้แคบลงโดยระบุว่าผู้ที่จะถูกตัดสินว่ามีความผิดต้องมี "การไตร่ตรองไว้ก่อน" และมี "เจตนา" ที่จะก่อเหตุด้วย

กฎหมายนี้ยังมีความน่าประหลาดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ต้องเกิดการฆาตกรรมใดๆ แต่แค่มีคนตายด้วยสาเหตุอื่น เช่น หัวใจวายตายขณะก่อเหตุก็อาจจะทำให้มีคนถูกลงโทษข้อหาฆาตกรรม

ไมเคิล เฮย์แมน ศาสตราจารย์กิตติคุณจากวิทยาลัยกฎหมายจอห์น มาร์แชลล์ ในชิคาโกกล่าวว่ากฎหมายฆาตกรรมที่เกี่ยวกับคดีอาญาเป็นเสมือน "เรื่องกุขึ้นแบบอเมริกัน" ในแง่ที่ว่าคนที่ถูกลงโทษไม่ได้กระทำอะไรให้คนๆ หนึ่งเสียชีวิตเลยก็ได้

ขณะที่กรณีนี้เกิดขึ้นจำนวนมากในสหรัฐฯ กับกรณีของสมิทธ์นั้นมีความต่างออกไปเล็กน้อยตรงที่เขาต่อสู้คดีแทนที่จะรับสารภาพ สก็อต เลอมิวซ์ อาจารย์จากภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน มองว่าปกติแล้วคดีนี้มักจะมีบทลงโทษจำคุกยาวนานกดดันให้ผู้ต้องหารับสารภาพเพราะอาจจะได้ลดโทษและการต่อสู้คดีมีความเสี่ยงมากเกินไป

ขณะที่แรนดี ฮุสตัน อัยการผู้ฟ้องสมิทธ์จะบอกว่าการำเนินคดีสมิทธ์เป็นไปอย่างเหมาะสมโดยอ้างว่าเป็นการ "นำปืนไปร่วมก่อเหตุอาชญากรรมแล้วก็มีคนตาย" ทนายความของสมิทธ์ เจนนิเฟอร์ ฮอลตัน ก็บอกว่าคดีแบบนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะคนที่สังหารเพื่อนของเขาคือเจ้าหน้าที่ทางการ แม้แต่อังเดร วอชิงตัน พ่อของผู้เสียชีวิตเองก็มองว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่กระทำถือเป็นความผิดอย่างแน่นอนและเขารู้สึกว่าสมิทธ์ไม่สมควรจะได้รับโทษนี้เลย

เรียบเรียงจาก

In the US, you don't have to kill to be a murderer, BBC, 09-04-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net