Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เด็กและเยาวชนของชาติเป็นสมาชิกในสังคมที่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเด็กเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ดังนั้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนจึงควรพัฒนาในทุกด้าน ทั้งด้านความรู้  คุณธรรมจริยธรรม สิ่งที่สำคัญคือ สร้างการเป็นพลเมือง ที่จะเห็นได้น้อยมากจากเด็กไทย

พลเมือง คำนี้ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า พลเมืองคืออะไร พลเมืองต่างจาก ประชาชน ราษฎร ฝูงชน ไพร่ฟ้า อย่างไร แม้ว่าในระดับมัธยมจะมีการศึกษาวิชาหน้าที่พลเมือง แต่น้อยคนที่จะทราบว่า พลเมือง คือ สถานภาพของบุคคลที่จารีตประเพณีหรือกฎหมายของรัฐรับรองซึ่งให้แก่สิทธิและหน้าที่แห่งความเป็นพลเมืองแก่บุคคล (เรียก พลเมือง) ซึ่งอาจรวมสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศ สิทธิกลับประเทศ สิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ การคุ้มครองทางกฎหมายต่อรัฐบาลของประเทศ [1]

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ศึกษาวิชาหน้าที่พลเมือง เพราะทางโรงเรียนมีการเปิดรายวิชานี้เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลขณะนั้น (ประมาณ 2 ปีที่แล้ว) แต่วิชานี้ คือ จะมอบหมายให้ทำโครงงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือชุมชน โดยแท้จริงแล้ว ขณะนั้นต้องยอมรับว่า เกิดจากการสร้างภาพ เพื่อให้ได้คะแนน เมื่อลองย้อนดูก็รู้สึกว่า บางครั้งเราในฐานะเด็กไทยคนหนึ่งที่ศึกษาในระบบ ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเกรดมาถึงขนาดนี้ ไม่ใช่เพียงแต่โครงงาน ทางวิชานี้ วิชาพระพุทธศาสนา และหลายๆ วิชา มักจะให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ พิธีทางศาสนา แล้วถ่ายรูปส่งเพื่อได้คะแนนมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ที่ทำให้ได้เข้าร่วมกับกิจกรรมของสังคม หรือ พิธีกรรมทางศาสนา แต่จะรู้สึกดีกว่า ถ้าขณะนั้นเกิดความตระหนักในการเป็นพลเมืองอย่างแท้จริง เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักในความเป็นพลเมืองสักเท่าไร

ด้วยการที่เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยที่จะได้รับการปลูกฝังในความเป็นพลเมือง เนื่องจากผู้ปกครอง ก็ไม่ทราบว่า พลเมืองคืออะไร รู้แต่เพียงว่า ต้องไปเลือกตั้ง จึงสร้างความตระหนักกับเด็กในเรื่องนี้ไม่ได้ และอีกประเด็นที่น่าสนใจในสังคมไทยปัจจุบัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ปกครองส่วนหนึ่งมักเลี้ยงดู บุตรหลานด้วยเทคโนโลยี ให้ลูกอยู่กับโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ทำให้การอบรมเลี้ยงดู ลดน้อยลง ผู้ปกครองสนใจหาเงินมาสร้างความสุขมากกว่าอบรมสั่งสอน ความรู้ คุณธรรม จริยธรรม มารยาททางสังคมให้กับบุตรหลาน ยิ่งนำมาซึ่งปัญหามากขึ้นกว่าในอดีต เช่น สร้างสังคมก้มหน้าตั้งแต่เด็ก เด็กบางคนติดเกมอยู่บ้านกิจกรรมทางสังคมไม่เข้าร่วมไม่พบปะผู้คนในสังคม ไม่ค่อยรับรู้ถึงจารีตประเพณี หรือมารยาททางสังคมที่ประพฤติกันมา  บางคนเสพติดวัฒนธรรม ประเพณีต่างชาติ มากกว่าของไทย  แต่หากมองอีกมุมหนึ่งเทคโนโลยีเหล่านั้นก็ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อไป ถ่ายภาพ เช็คอิน ลงโซเชียลมีเดีย ว่ามาเข้าร่วมกิจกรรม จากนั้นก็กลับบ้านไป ไม่ได้เข้าร่วมเพราะเห็นความสำคัญ ไม่ได้เข้าร่วมเพราะต้องการสืบสานวัฒนธรรมอันดีงานให้คงอยู่สืบต่อไป เป็นต้น

เด็กส่วนหนึ่งมักไม่กล้าแสดงออกในความคิดของตน ไม่กล้าตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ไม่กล้าที่จะคัดค้าน สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูในฉบับสังคมไทย ที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นไม่เต็มศักยภาพ ยกตัวอย่าง การตั้งคำถามในชั้นเรียน สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยไม่กล้าที่จะถามหรือตอบ  คือ เมื่อถาม-ตอบผิด หรือไม่ถูกประเด็นแน่นอนว่าเพื่อนร่วมห้องต้องหัวเราะอย่างไร้มารยาทนี่คือสังคมไทยที่หลายคนคงเคยมีประสบการณ์เช่นนี้ อาจจะหลายครั้งในชีวิตที่ผ่านมา   ครูหรือตำราเรียนถูกเสมอ แท้ที่จริงแล้วถ้าเด็กไทยได้รับโอกาสในการแสดงออกทางความคิด หรือได้อภิปรายโต้แย้งกับผู้สอนจะทำให้ทั้งผู้สอนและเด็ก ได้เปิดโลกทัศน์มากขึ้น แต่สังคมไทยน้อยมากที่จะเห็นภาพเช่นนี้ ทำให้เมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็จะติดนิสัย เป็นกลาง รู้สึกเฉยๆ กับทุกสิ่งที่เกิดในสังคม

ในทางกลับกันเด็กในต่างประเทศถูกปลูกฝังในเรื่องความเป็นพลเมือง หรือมีสำนึกในการเป็นพลเมือง เช่น ประเทศอังกฤษ เด็กหญิงวัยเพียง 9 ขวบ ชื่อ อลิซ ฮายด์ วันหนึ่งเธอได้ยินพ่อแม่ของเธอคุยกันเรื่อง ตัดต้นไม้ริมทางเพื่อขยายถนนในชุมชน ซึ่งพ่อแม่เธอไม่เห็นด้วย อลิซ ฮายด์ จึงเขียนจดหมายถึงพระราชินีเอลิซาเบ็ทที่ 2 คัดค้านการตัดต้นไม้ เธอและเพื่อนอีก 200 คน รวบรวมลายเซ็น คน 1หมื่นคน จนสำเร็จ รัฐบาลอังกฤษจึงตัดสินใจไม่โค่น ต้นไม้บริเวณนั้น ทั้งที่เธอ อายุเพียง 9 ขวบ แต่ทำไมถึงมีอิทธิพลมากขนาดนี้ ทั้งนี้คงด้วยความตระหนักในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมรู้สิทธิ หน้าที่ นั้นเอง ที่ทำให้เธอกล้าที่จะทำสิ่งนี้ขึ้นมา และที่น่าจดจำ อลิซ เชื่อมั่นว่าเด็กสามารถทำอะไรได้ไม่น้อยผู้ใหญ่ เธอพูดว่า “ฉันเชื่อว่าเด็กมีอิทธิพลบางอย่างมากกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ...เวลานักการเมืองเห็นเด็ก รณรงค์อะไรสักอย่างนักการเมืองต้องคิดหนักว่าเขากำลังทำอะไรกัน”[2]

ในสังคมไทยไม่ได้ปลูกฝังเช่นนี้ มีแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีนักเรียน นักศึกษาไทยออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจริง แต่เป็นเพียงบางส่วน และช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่อาจรับรู้ไดว่าแท้ที่จริง อาจจะมีบางคนที่ออกมาด้วยความเต็มใจหรือบางคนอาจมาเพราะกระแสสังคมขณะนั้น เด็กไทยไม่ค่อยกล้า  เช่น การทำอะไรคนเดียว จะกลัวสายตาจากคนในสังคม กลัวการถูกมองแปลกๆ ทำให้ขาดความมั่นใจ แม้จะเข้าห้องน้ำยังไม่กล้าที่จะไปคนเดียวต้องชวนเพื่อนฝูงตามไปด้วย การลงทะเบียนเรียน หรือเลือกเรียนสาขาวิชาต่างๆ เช่นกัน บางคนก็ลงตามเพื่อนเพราะไม่กล้าที่จะเรียนคนเดียว ทั้งๆ ที่ไม่ชอบวิชานั้นก็ตาม ขาดการเป็นตัวของตนเอง ไม่รู้ว่าตนชอบอะไร

นอกจากนี้การประชุมหรือทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้เข้าร่วมด้วยความตระหนัก เต็มใจ แต่เข้าร่วมเพราะถูกการปลูกฝังโดยการบังคับตั้งแต่เด็ก เช่น ทำกิจกรรม อบรม ร่วมประชุมแสดงความคิดต่างๆ มีไม่กี่คนที่จะทำด้วยจิตอาสา ด้วยสำนึก กล้าเสนอความคิด ในขณะที่คนอื่นก็อยู่เงียบๆ เฉยๆ ไม่ได้รู้สิทธิหน้าที่ของตน หรืออาจจะรู้แต่ไม่มีเพื่อน ไม่กล้า จึงเพิกเฉย หากเป็นเช่นนี้ อนาคตการคำนึงใน หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงของสังคมน่าจะหายไป ใครจะทำอะไรก็ทำ  ไม่ชอบไม่พอใจแต่ไม่กล้าคัดค้าน อยู่เฉยๆดีกว่า

จะเห็นว่าปัจจัยหลายอย่างในสังคมไทยไม่ได้สร้างเด็กและเยาวชน ให้มีความกล้าในทางที่ถูกที่ควร ไม่ได้รับการปลูกฝังเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ และการศึกษาไทยที่ค่อนข้างจะมีปัญหา และการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองโดยเฉพาะปัจจุบันที่ไม่ค่อยจะมีเวลาในการปลูกฝังความรู้ คุณธรรมและมารยาทในสังคมให้บุตรหลาน สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เด็กในวันนี้ เป็นผู้ใหญ่ ที่ไม่มีสำนึกการเป็นพลเมืองในวันนี้หรือวันหน้า อย่างแน่นอน

                                                                                                                                                                             

เชิงอรรถ                                                                          

 

[1]https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87

[2] เจริญเมือง, ธ. (2560). In ธ. เจริญเมือง, พลเมืองกับสังคมประชาธิปไตย (p. 264). กรุงเทพ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net