Skip to main content
sharethis

‘นิวกราวด์’ องค์กรวิจัยคุณภาพชีวิตประชากร เผยผลสำรวจจากเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไปกว่า 7,010 ตัวอย่าง ชี้ เด็ก เยาวชนค้นข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ถามผู้ใหญ่น้อยที่สุด แต่ยังมีโอกาสกำหนดชีวิตตัวเอง

ภาพบรรยากาศงาน

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2561 องค์กรนิวกราวด์ องค์กรศึกษา วิจัย และสนับสนุนทางเลือกในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต เผยผลสำรวจรับวันเด็กจากการจัดทำแบบสำรวจออนไลน์เพื่อสำรวจความคิดเห็นเยาวชนไทยต่อประเทศไทย ประจำปี 2560 ณ ร้าน Fathom Bookspace ซอยสวนพลู นำเสนอโดย เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ตัวแทนองค์กรนิวกราวด์ พร้อมด้วยวิภาวรรณ วงษ์สว่าง, วริศ ลิขิตอนุสรณ์ และวรวัส สบายใจ ร่วมเผยผลสำรวจดังกล่าว

เปรมปพัทธ กล่าวถึงผลสำรวจดังกล่าวจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 7,010 ตัวอย่าง จำแนกเป็นเด็กเยาวชน 6,010 คน และประชาชนทั่วไป 1,000 คน โดยสำรวจระหว่างวันที่ 3 - 31 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมาพบว่า ในประเด็นคำถามเกี่ยวกับตัวเองนั้น มีการสะท้อนจากเด็กเยาวชนว่ามีภาระที่ต้องทำอย่างมาก และใช้ประโยชน์จากความรู้ที่เรียนได้น้อย แต่ยังมีโอกาสเลือกวิถีชีวิตด้วยตัวเอง ขณะที่เด็กเยาวชนเป็นตัวของตัวเองน้อยสุดเมื่ออยู่กับผู้ใหญ่แค่ 39 คะแนน แต่ในกลุ่มเพื่อนถึง 83 คะแนน ส่วนคำถามเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่เด็กเยาวชนใช้สืบค้นส่วนใหญ่คือ อินเทอร์เน็ต 82 คะแนน ตามด้วยกลุ่มเพื่อน 62 คะแนน สถานศึกษา 52 คะแนน และผู้ใหญ่ 37 คะแนน

นอกจากนี้ในบอร์ดกระทู้เว็บไซต์ Dek – d จำนวน 500 กระทู้ ในช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค. 2560 พบหัวข้อร้องเรียนที่เด็กเยาวชนตั้งกระทู้มากที่สุดคือการมีปัญหาความสัมพันธ์กับครู 67% ตามด้วยเรื่องทรงผม 8% การรับน้องและถูกลวนลาม อย่างละ 6%

วิภาวรรณ ได้สรุปคำถามปลายเปิดออกมาในประเด็นต่าง ๆ พบว่า งาน เงิน อาชีพ เป็นเรื่องที่ดีในมุมมองเด็ก 17% ตามด้วย การปรับปรุงตัวเองและได้ทำสิ่งใหม่ๆ อยู่ระหว่าง 4-6% ส่วนประเด็นความเห็นเรื่องสื่อพบว่า สื่อขาดเรื่องของเยาวชนในมุมมองของเยาวชน สาระความรู้ที่สร้างสรรค์ และการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง มีการนำเสนอประเด็นข่าวในวงการบันเทิงมากเกินไป

ทั้งนี้ ของขวัญที่เด็กอยากได้จากผู้ใหญ่ คือการรับฟังและความเข้าใจ 25% เงิน 11% ของขวัญ 8% การปรับปรุงตัวอง และระบบการศึกษา อย่างละ 7% ส่วนเรื่องที่เป็นที่ชื่นชอบในประเทศไทย ได้แก่ ความไม่ลำบาก อาหารอร่อย คนไทยน่ารัก และเรื่องที่ควรปรับปรุงคือ การศึกษา อยากให้ลดภาระเรื่องการบ้าน และระบบขนส่งสาธารณะ

ช่วงท้ายของการนำเสนอมีการรายงานถึงการทำความเข้าใจวัฒนธรรมเยาวชนในสังคมไทยว่ายังคงมีการอิงรูปแบบการแบ่งช่วงวัยโดยอาศัยความรู้ทางการแพทย์และแรงงานเป็นตัวชี้วัดว่าช่วงวัยใดที่เด็กทำงานได้หรือไม่ได้ โดยเสนอการแบ่งช่วงวัยโดยอิงมาตรฐานทางวัฒนธรรมดังที่มีการใช้ในต่างประเทศ มีลักษณะการแบ่งเป็น Tween, Teenager, Young adult, Keeper, Adulthood และอื่น ๆ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการแบ่งช่วงวัยในการศึกษาวิจัยเยาวชนที่หลากหลายและมองเห็นถึงความต้องการของเด็กเยาชนได้อย่างถูกจุด

อ่านผลการสำรวจฉบับเต็มได้ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net