Skip to main content
sharethis


 

‘เราสามารถเลือกปฏิบัติกับคนที่เลือกปฏิบัติต่อคนอื่นได้หรือเปล่า’ เป็นประโยคที่ไม่รู้จะตอบได้ง่ายหรือยาก แต่ก็เป็นประโยคที่เมื่อถามแล้วทำให้ต้องหยิบเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมาสร้างเป็นฉากทางแยกเชิงศีลธรรมได้หลายประการ

‘เราจะทำอย่างไรกับกลุ่มชาตินิยมผิวขาวที่ประท้วงรุนแรงจนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเมืองชาร์ล็อตสวิลล์ สหรัฐฯ’

‘เราจะทำอย่างไรกับแกนนำที่บอกว่าการลงคะแนนเสียงของแต่ละคนมีคุณภาพไม่เท่ากัน’

‘เราจะทำอย่างไรกับชาวพุทธที่ต่อต้านการก่อสร้างมัสยิดในพื้นที่ที่พวกเขาอาศัย’

คำถามเช่นว่าอาจนำมาซึ่งการโต้ตอบในแบบที่ไม่เหมือนกันในเวลาและสถานที่ที่แตกต่าง ในรอบนี้หนึ่งฉากที่อาจกลายเป็นหนึ่งภาพประกอบของคำถามดังกล่าวเกิดขึ้นกับบริษัทกูเกิลและนโยบายสร้างความหลากหลายในที่ทำงานที่ถูกกลุ่มอนุรักษ์นิยมมองว่าการสนับสนุนความหลากหลายคือการสร้างอคติในเชิงโครงสร้าง และแนวคิดเสรีนิยมที่ชอบพูดกันว่ายอมรับในความแตกต่างกลับกลายเป็นผู้สร้างกลไกกีดกันความเห็นต่างในองค์กรเสียเอง

เมื่อ 8 ม.ค. 2561 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน รายงานว่า กูเกิล บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต เช่นบริการค้นหาบนเว็บไซต์ บริการแผนที่กูเกิลแมป บริการพื้นที่ข้อมูลออนไลน์กูเกิลไดรฟ์ เป็นต้น ถูกรื้อฟื้นกระแสความขัดแย้งเรื่องท่าทีของบริษัทต่อบุคลากรที่มีแนวคิดขั้วอนุรักษ์นิยมหลังบริษัทถูกฟ้องโดยกลุ่มบุคคลที่นำโดยเจมส์ เดมัวร์ อดีตวิศวกรของกูเกิลที่ถูกไล่ออกในปี 2560 เพราะเขาเขียนบันทึกข้อความ (memo) ในเชิงเหยียดเพศ
 


โน้ตของเจมส์ เดมัวร์

รายละเอียดการฟ้องร้องระบุว่าผู้จัดการของกูเกิลหลายคนยังคงขึ้นบัญชีดำกลุ่มพนักงานที่มีความคิดเป็นอนุรักษ์นิยมในบัญชีเดียวกันกับคนที่ไม่ทำงาน มีบัญชีดำของพนักงานอนุรักษ์นิยมที่ถูกห้ามไม่ให้เข้าพื้นที่บริษัท รวมถึงระบุว่า การที่กูเกิลไล่เดมัวร์ และเดวิด ยูดแมน หนึ่งในโจทก์ร่วมนั้นเป็นการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ โฆษกของกูเกิลระบุในแถลงการณ์ว่าจะสู้คดีนี้ในชั้นศาล

สัดส่วนการจ้างงานของกูเกิลมีลักษณะคล้ายคลึงกับธุรกิจเทคโนโลยีอื่นๆ คือประกอบด้วยคนขาว คนเชื้อสายเอเชียที่เป็นเพศชายจำนวนมากในสัดส่วนที่ล้นหลาม เมื่อปี 2560 กระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ เคยกล่าวหากูเกิลว่าจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานเพศหญิงน้อยกว่าเพศชายอย่างมาก และเคยมีกลุ่มบุคลากรผู้หญิงร่วมกันฟ้องร้องกูเกิลในประเด็นความไม่เท่าเทียมทางรายได้ด้วย

กรณีการฟ้องของเดมัวร์นั้นมุ่งเปิดเผยถึงอคติของวัฒนธรรมการสนับสนุนความหลากหลายและความยุติธรรมทางสังคมที่กูเกิลพยายามทำด้วยการเพิ่มอัตราการจ้างงานผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนหมู่มากโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (illegal discrimination against majority)

สำนวนฟ้องเปิดเผยการข่มขู่อนุรักษ์นิยมในองค์กร

เดอะการ์เดียนรายงานเพิ่มเติมว่า มีภาพการสื่อสารภายในบริษัทกูเกิลที่ถูกจัดเก็บมาแสดงให้เห็นว่าพนักงานจำนวนมากสนับสนุนแนวคิดที่มีลักษณะไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่างในหลายแง่มุม เช่น มีโพสต์หนึ่งที่พูดถึงกรณีโน้ตของเดมัวร์ว่า บริษัทควรอบรมหรือกำจัดคนที่สนับสนุน หรือในบางโพสต์ที่มีเนื้อหาสื่อถึงความพยายามที่จะปิดปากมุมมองที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่รุนแรง ใจความว่า “มีทัศนคติหลายประการ รวมถึงในประเด็นเรื่องการเมืองที่ผมไม่อยากให้คนแสดงออกอย่างสะดวกใจที่นี่… คุณจะเชื่อว่าผู้หญิงหรือชนกลุ่มน้อยนั้นไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ[ที่จะทำงาน] อย่างไรก็ได้...แต่ถ้าคุณพูดออกมาแล้วก็ต้องรับผลการกระทำที่จะตามมา”

ผู้จัดการคนหนึ่งโพสต์ว่า “ฉันยังคงเก็บรายชื่อคนที่ฉันจะไม่มีวันให้เข้ามาใกล้ทีมของฉันโดยพิจารณาจากทัศนคติและท่าทีของเขาต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งในวันนี้ รายชื่อดังกล่าวก็เพิ่มขึ้นมาอีกนิดหน่อย” นอกจากนั้นยังมีโพสต์หนึ่งในการสื่อสารภายในในประเด็นอภิปรายเรื่องความหลากหลายในที่ทำงานใจความว่า “ถ้าอยากเพิ่มความหลากหลายในกูเกิล ให้ไล่พวกคนขาวหัวรั้นออกไป”

การฟ้องร้องครั้งนี้จะเป็นการจุดชนวนสงครามทางวัฒนธรรมในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกครั้งตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ได้โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยกลุ่มเสรีนิยมภายในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นเคยกดดันพนักงานให้แสดงท่าทีต่อต้านนโยบายของทรัมป์หลายประการ เช่นการห้ามชาวมุสลิมบางประเทศเดินทางเข้าประเทศ นอกจากนั้น บริษัทหลายแห่งเองก็มีปัญหาในการหาขอบเขตให้กับการให้กลุ่มชาตินิยมผิวขาวจัดตั้งการเคลื่อนไหวผ่านแพลตฟอร์มของบริษัท

กรณีการไล่เดมัวร์ออกในเดือน ส.ค. ปีที่แล้วถูกสื่อมวลชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมให้ความสนใจอย่างล้นหลามเพื่อพยายามที่จะสื่อว่าซิลิคอนวัลเลย์ (แหล่งรวมบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำหลายแห่ง ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ) มีอคติเอียงไปทางเสรีนิยม เดมัวร์ถูกกลุ่มขวาทางเลือกแปรสภาพเป็นสัญลักษณ์ของการพลีชีพในทางการเมือง

การฟ้องร้องที่นำโดยเดมัวร์ครั้งนี้ยังได้เปิดเผยผลกระทบที่อดีตวิศวกรของกูเกิลได้รับหลังโน้ตและอีเมลถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง หนึ่งตัวอย่างของผลกระทบคืออีเมลจากเพื่อนวิศวกรด้วยกันที่ส่งมายังเดมัวร์ ใจความว่า “ฉันจะตามล่าแกไปจนกว่าคนใดคนหนึ่งในพวกเราจะโดนไล่ออก”

ยูดแมน หนึ่งในโจทก์ที่ฟ้องกูเกิลร่วมกับเดมัวร์ เป็นคนที่ถูกกูเกิลไล่ออกภายหลังที่เขาตั้งคำถามและรายงานฝ่ายบุคคลว่ามีบุคลากรที่เป็นมุสลิมโพสต์แสดงความกังวลต่อการตกเป็นเป้าหมายเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับเอฟบีไอ โดยสำนวนฟ้องระบุว่าฝ่ายบุคคลกล่าวหาว่ายูดแมน “กล่าวหา[พนักงานมุสลิม]ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย”


ผู้ประสานงาน ‘พลเมืองเน็ต’ ชวนตั้งคำถาม องค์กรจะทำอย่างไรกับการเลือกปฏิบัติ ชี้เทคโนโลยีสะท้อนคุณค่าและอคติของผู้สร้าง

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นกับประชาไทว่า ประเด็นคำถามเรื่องการเลือกปฏิบัติในแง่ที่ว่า ‘เราสามารถเลือกปฏิบัติกับคนที่เลือกปฏิบัติต่อคนอื่นได้หรือเปล่า’ เป็นคำถามที่ตอบยากแต่มีความจำเป็นที่ต้องตอบไม่ใช่แต่เพียงในแวดวงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเท่านั้น

ทนายคนดำเปิดใจ-รู้สึกอย่างไรที่ต้องว่าความให้พวกเหยียดผิว

ส่วนกรณีที่บริษัทเทคโนโลยีบางบริษัทมีคุณค่าและความเชื่อบางอย่างเช่น การสนับสนุนการเปิดเสรีข้อมูล การไม่ปิดกั้นการแสดงออกซึ่งตัวตนของแต่ละคน แล้วถ้าบุคลากรไม่สมาทานความคิดนั้นถือว่าทำงานร่วมกันไม่ได้เพราะถือว่าผิดกับวัฒนธรรมขององค์กรนั้น อาทิตย์ตั้งข้อสงสัยว่าจะตั้งคำถามเช่นนั้นได้หรือเปล่า เพราะในทางองค์กรเองก็มีสิทธิบางอย่างที่จะบอกว่าองค์กรมีลักษณะอะไร ซึ่งกูเกิลก็ต้องพิสูจน์ว่าการเลือกปฏิบัติ หรือตามข้อกล่าวหาที่บอกว่าตำแหน่งงานหนึ่งๆ ต้องให้คนประเภท หรือเพศใดเพศหนึ่งทำจึงจะมีประสิทธิภาพจะมีผลกระทบต่อผลงานอย่างไร แต่ก็ต้องถามต่อไปว่า แล้วใครจะมีหน้าที่ตอบคำถามนั้น จะเป็นลูกจ้างหรือนายจ้าง หรือจริงๆ เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ว่า คนอื่นในออฟฟิศเดียวกันอาจกระอักกระอ่วนใจที่มีการทำงานอยู่ด้วยกัน ก็ต้องอธิบายแต่ก็เป็นเรื่องยากอยู่ดีเพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องความคิดความอ่าน

อาทิตย์ชี้ว่า สิ่งที่กรณีกูเกิลสะท้อนในครั้งนี้คือ เทคโนโลยีกับคุณค่าต่างๆ ไม่ว่าในทางการเมือง ศีลธรรมหรือความเป็นมนุษย์นั้นแยกกันลำบาก เพราะสุดท้ายเทคโนโลยีที่ผลิตมาก็ผลิตออกมาจากมนุษย์ที่ยึดติดกับคุณค่าบางอย่าง ซึ่งคุณค่าเหล่านั้นอาจจะส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ที่ออกมา เช่นกรณีที่ระบบต่อพาสปอร์ตออนไลน์ของนิวซีแลนด์ปฏิเสธรูปของริชาร์ด ลี ชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายเอเชียที่ตาตี่ แต่ระบบเข้าใจว่าเขาหลับตา หรือกรณีที่ระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ที่มีระดับความแม่นยำต่ำลงเมื่อนำไปใช้กับคนผิวสี

การต่อสู้ของความเชื่อในโลกที่มีเงินนับเป็นพี่

ต่อคำถามเรื่องผลกระทบจากสภาวะการขัดแย้งกันของคุณค่าของบริษัทและบุคลากรกับคุณค่าของผู้ใช้บริการ อาทิตย์ยกตัวอย่างสองกรณีที่สะท้อนการปะทะกันระหว่างคุณค่าหลายชุดที่ไม่ใช่การต่อสู้กันโดดๆ แต่ทำงานผ่านแรงกดดันทางเศรษฐกิจด้วย กรณีแรกเป็นเรื่องธุรกิจรถรับจ้างชื่อดังอย่างอูเบอร์ที่เมื่อเดือน มิ.ย. 2560 ทราวิส คาลานิค หนึ่งในผู้ก่อตั้งธุรกิจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหาร (ซีอีโอ) ภายหลังจากถูกกดดันจากลูกค้าและกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากสาเหตุหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องการปล่อยโน้ตคำแนะนำพนักงานที่มีเนื้อหาเลือกปฏิบัติทางเพศเรื่องข้อพึงและไม่พึงกระทำในการมีเพศสัมพันธ์ในที่ทำงาน โดยก่อนหน้านี้ก็มีบุคลากรอาวุโสในบริษัทขอลาออกจากบอร์ดบริหารท่ามกลางกระแสกดดัน หลังแสดงความเห็นในเชิงเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ประชุมพนักงาน

กรณีที่สองคือเหตุการณ์เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2560 ที่เวอริซอน บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์รายใหญ่อันดับสองของสหรัฐฯ และวอลมาร์ท เครือข่ายห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ ตัดสินใจถอดโฆษณาของตัวเองออกจากบริการโฆษณาของกูเกิล หรือกูเกิลแอดส์ (Google ads) หลังจากพบว่าโฆษณาของพวกเขาไปปรากฏบนเนื้อหาเข้าข่ายกลุ่มสุดโต่งหรือเนื้อหาที่เป็นการพูดจาเพื่อสร้างความเกลียดชังหรือเฮทสปีชบนยูทูบ ส่งผลให้กูเกิลเสียรายได้หลายล้านดอลลาร์จนทางกูเกิลต้องออกมาขอโทษและสัญญาว่าจะควบคุมการขึ้นโฆษณาให้มากขึ้น


แปลและเรียบเรียงจาก
James Damore sues Google, alleging intolerance of white male conservatives, The Guardian, Jan. 8, 2018
https://www.theguardian.com/technology/2018/jan/08/james-damore-sues-google-discrimination-white-male-conservatives

Uber CEO Travis Kalanick resigns following months of chaos, The Guardian, Jun. 21, 2017
https://www.theguardian.com/technology/2017/jun/20/uber-ceo-travis-kalanick-resigns

Google's bad week: YouTube loses millions as advertising row reaches US, The Guardian, Mar. 17, 2017
https://www.theguardian.com/technology/2017/mar/25/google-youtube-advertising-extremist-content-att-verizon

New Zealand passport robot tells applicant of Asian descent to open eyes, Reuters, Dec. 7, 2016
https://www.reuters.com/article/us-newzealand-passport-error/new-zealand-passport-robot-tells-applicant-of-asian-descent-to-open-eyes-idUSKBN13W0RL?il=0

Google Photos’ ‘racist’ error highlights facial recognition’s limits, Digitaltrends, Jul. 1, 2015
https://www.digitaltrends.com/photography/google-apologizes-for-misidentifying-a-black-couple-as-gorillas-in-photos-app/
 

ขอบคุณภาพต้นฉบับจาก ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net