Skip to main content
sharethis

สื่ออิสระโกลบอลวอยซ์ย้อนรำลึกปี 2560 ว่าเป็นปีที่สำคัญสำหรับการเคลื่อนไหวสตรีนิยม ไม่เพียงแค่การยอมรับจากสื่อกระแสหลักทั้งหลายอย่างการที่ #MeToo ที่ถูกยกให้เป็น "บุคคลแห่งปี" ของนิตยสารไทม์ หรือการที่พจนานุกรมเมอร์เรียม เว็บสเตอร์ จัดให้คำว่า "แนวคิดสตรินิยม" (Feminism) เป็นคำแห่งปีเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจที่น่าสนใจจากสตรีนิยมในภูมิภาคลาตินอเมริกาด้วย

3 ม.ค. 2561 โกลบอลวอยซ์ระบุว่าในปี 2560 มีการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจจากขบวนการสตรีนิยมจำนวนมาก โดยที่ในภูมิภาคลาตินอเมริกาก็มีการเคลื่อนไหวของสตรีตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงปลายปีที่แล้ว เริ่มจากกรณีโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้บ้านเด็กกำพร้าของรัฐในกัวเตมาลาเมื่อเดือน มี.ค. 2560 ที่ส่งผลให้มีเด็กหญิงเสียชีวิต 41 ราย มีการรณรงค์ที่ชื่อว่า #NosDuelen56 ที่ทำให้มีศิลปินมาวาดภาพของเด็กที่เสียชีวิตในเพลิงไหม้เหล่านี้และเรียกร้องความรับผิดชอบจากทางการกัวเตมาลา

ภาพวาดของเด็กที่เสียชีวิต ที่วาดขึ้นโดยศิลปิน(ที่มา:facebook/The Human Rights Defenders Project)

ในเดือน ก.ค. 2560 มีกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลเสรีพยายามทำแผนที่การสังหารผู้หญิงด้วยสาเหตุทางเพศสภาพ (femicide) ในเม็กซิโกโดยมีการให้ข้อมูลทั้งในเชิงภูมิศาสตร์รวมถึงบริบทในการสังหารผู้หญิงที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2559 พวกเขาสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้ 1,824 กรณี

ในเดือน ส.ค. 2560 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาแพทย์มหาวิทยาลัยอัสซุงซิออนในปารากวัยที่เสนอให้เห็นปัญหาการปิดกั้นทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศที่ส่งผลถึงหน้าที่การงานของนักเรียนแพทย์หญิง

ในเดือน ก.ย. 2560 มีกรณีที่สร้างแรงสะเทือนให้กับภูมิภาคคือการสังหารมารา คาสทิลลา ด้วยสาเหตุทางเพศสภาพจนทำให้เกิดการประท้วงใน 11 รัฐของเม็กซิโก โดยที่ผู้ประท้วงวิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐที่ขาดมาตรการรักษาความปลอดภัยและวัฒนธรรมการลอยนวลไม่ต้องรับผิดของคคนที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง ในโลกออนไลน์ก็มีการเชื่อมโยงการเสียชีวิตของคาสทิลลาถึงกรณีความรุนแรงด้วยฐานทางเพศสภาพในกรณีก่อนหน้านี้ เช่น การใช้แฮ็ชแท็ก #IfTheyKillMe (ถ้าพวกเขาสังหารฉัน) โดยมีการรณรงค์ให้มีการดูแลความปลอดภัยต่อผู้หญิงที่ดีขึ้นและหยุดการประณามเหยื่อในโลกออนไลน์

ในปีนี้ยังเป็นปีที่บนเวทีประกวดนางงามจักรวาล มิสเปรูใช้พื้นที่นี้ในการพูดถึงกรณีความรุนแรงต่อผู้หญิง ทำให้เกิดแรงสะเทือนต่อส่อระดับนานาชาติ แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ตว่าตัวเธอเองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ "ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุ" (objectifies women) บนเวทีที่ให้ความสำคัญแต่กับรูปร่างหน้าตาภายนอกที่แทบจะดูเหมือนกันไปหมดคือ ผอม สูง และเธอก็ใช้เวทีที่ให้คุณค่าความงามจากสายตาชาติตะวันตกมานำเสนอในสิ่งที่ผู้คนต้องเผชิญด้วยความเจ็บปวดและน่าเศร้าซึ่งสื่อในบ้านเธอเองควรจะนำเสนออย่างจริงจัง

ในประเทศเอกวาดอร์ก็มีกิจกรรมในเชิงศิลปะจากการจัดแสดงภาพถ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์คลินิคผิดกฎหมายที่อ้างตัวว่าทำการ "แก้ไข" คนที่เป็นหญิงรักหญิง อีกทั้งยังมีงานแสดงภาพถ่ายอื่นๆ ที่ยกย่องเหล่านักวิทยาศาสตร์หญิงลาตินอเมริกันผู้มีคุณูปการต่อสังคม ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนทั้งทางอินเทอร์เน็ตและโลกภายนอกเกี่ยวกับอำนาจทับซ้อนจากเชื้อชาติและเพศสภาพ รวมถึงมีการชี้ให้เห็นว่าปัญหาการเหยียดหรือเลือกปฏิบัติในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมเองก็ควรจะมีการพูดถึง

แอนเดรีย อาร์ซาบา ผู้เขียนรายงานให้โกลบอลวอยซ์ระบุว่าการต่อสู้ของขบวนการผู้หญิงในพื้นที่ลาตินอเมริกาเริ่มยึดกุมพื้นที่ได้มากขึ้นและเริ่มเข้มแข็งขึ้นแต่ก็ยังคงต้องต่อสู้ต่อไปโดยที่ในปี 2561 นี้อาจจะได้เห็นการเติบโตของโครงการอื่นๆ ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโลกที่ปลอดภัยและเป็นธรรมมากขึ้น

เรียบเรียงจาก

2017: Another Year of Feminist Counter-Power in Latin America, Global Voices, Dec. 31, 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net