Skip to main content
sharethis

องค์กรภาคประชาสังคมสหรัฐฯ จำนวนมากออกแถลงการณ์กรณีความขัดแย้งเรื่องผลการเลือกตั้งในฮอนดูรัส ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว ชี้เป็นผลพวงต่อเนื่องจากที่สหรัฐฯ เคยสนับสนุนรัฐประหารในปี 2552 เรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดสนับสนุนฝ่ายความมั่นคงของฮอนดูรัส และให้มีการสืบสวนอย่างอิสระต่อข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้งและความรุนแรงจากรัฐ

ในไม่กี่วันที่ผ่านมา ชาวฮอนดูรัสจำนวนมากออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของรัฐบาลที่พวกเขามองว่าเป็นการพยายาม "ขโมย" การเลือกตั้งจากพวกเขาไปโดยการยืดเยื้อไม่ยอมประกาศผลการเลือกตั้ง หลังจากที่มีการให้ประชาชนไปลงคะแนนมาแล้วตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา

การนับคะแนนที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ทำให้มีประชาชนออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจและถูกปราบปรามอย่างรุนแรงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงกังวลว่าจะมีการโกงผลโหวตโดยฝ่ายพรรคเนชันแนลซึ่งนำโดยฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ พรรคฝ่ายขวาที่มีอำนาจหลังการรัฐประหารที่มีสหรัฐฯ หนุนหลังเมื่อปี 2552 โดยในช่วงหลังเลือกตั้งไม่นาน ผลการนับคะแนนเอียงข้างไปในทางฝ่ายซ้าย (Libre-PINU) นำโดย ซัลวาดอร์ นาสรัลลา

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2560 องค์กรสิทธิมนุษยชน 50 องค์กรในสหรัฐฯ ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ฮอนดูรัสมีความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง

เอลิซ โรเบิร์ตส จากองค์กรผู้ประสานงานประจักษ์พยานแห่งสันติสหรัฐฯ (National Coordinator of Witness for Peace) ระบุว่าหลังจากที่พวกเขาสังเกตการณ์และบันทึกเหตุการณ์การเลือกตั้งในฮอนดูรัสช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาก็มีความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งและการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ รวมถึงการทุจริต ไร้ความโปร่งใสในกระบวนการเลือกตั้ง โดยชี้ว่า สหรัฐฯ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องจากการให้งบแก่หน่วยงานความมั่นคงและให้อาวุธกับทางการฮอนดูรัสในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน มีผู้ร่วมงานของพวกเขาในฮอนดูรัสมองว่านี่เป็น "ช่วงระยะสุดท้ายของการรัฐประหาร" ที่สหรัฐฯ เคยหนุนหลัง

โรเบิร์ตส เรียกร้องให้ประชาชนชาวสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ หันมาสนับสนุนการสืบสวนอย่างอิสระในกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งและความรุนแรงจากรัฐ และเรียกร้องสหรัฐฯ เลิกสนับสนุนกองกำลังความมั่นคงของฮอนดูรัส

เหตุความรุนแรงในฮอนดูรัสส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7 ราย และมากกว่า 20 รายได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในกรณีที่เสียชีวิตเป็นหญิงวัยรุ่นอายุ 19 ปี ที่ถูกสังหารจากเหตุการณ์ที่กองทัพเปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วงที่ไม่มีอาวุธ มีการประกาศเคอร์ฟิวตั้วแต่วันที่ 30 พ.ย. เป็นต้นมา อีกทั้งยังมีรายงานว่ามีการกวาดต้อนจับกุมผู้คนด้วย กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนโต๊ะกลมแห่งฮอนดูรัสระบุว่าการกระทำของรัฐบาลถือเป็น "การก่อการร้ายโดยรัฐต่อประชาชน"

ชุงหวาหง ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรคนรากหญ้านานาชาติ (Grassroots International) กล่าวว่า การรัฐประหารในฮอนดูรัสเมื่อปี 2552 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยนั้นทำให้ 8 ปีของฮอนดูรัสเต็มไปด้วยความรุนแรง ความยากจนแบบดิ่งลงเรื่อยๆ และเกิดการปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างโหดเหี้ยม ในฐานะที่พวกเขาเป็นกลุ่มองค์กรที่มีฐานอยู่ในสหรัฐฯ พวกเขาจะปล่อยให้รัฐบาลสหรัฐฯ และฮอนดูรัสก่อโศกนาฏกรรมซ้ำๆ อย่างการทำลายประชาธิปไตยต่อไปไม่ได้

กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในสหรัฐฯ ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้นอกจากองค์กรคนรากหญ้านานาชาติและองค์กรผู้ประสานงานประจักษ์พยานแห่งสันติสหรัฐฯ แล้ว ยังมีองค์กรอื่นๆ เช่น องค์กรสตรีเพื่อสันติภาพโค้ดพิงค์ (Code Pink) องค์กรสำนักงานมิตรภาพแห่งอเมริกา (The Friendship Office of the Americas) ที่ทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสหรัฐฯ กับนิคารากัว และฮอนดูรัส ฯลฯ

ขณะที่สื่อทั่วโลกรายงานข่าวสถานการณ์ฮอนดูรัสในแบบที่ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อคณะตุลาการศาลว่าด้วยการเลือกตั้งระหว่างประเทศ (TSE) ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยพรรคผู้นำรัฐบาลให้มาดูแลการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม TSE ระบุว่าสาเหตุที่การนับคะแนนในตอนแรกพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายดูจะเป็นคนนำ แต่พอถึงช่วงกลางสัปดาห์พรรคเนชันแนลเหมือนจะตีตื้นขึ้นมาได้นั้นเป็นเพราะว่าในช่วงกลางสัปดาห์มีการนับคะแนนจากกลุ่มพื้นที่ที่สนับสนุนพรรคเนชันแนล พวกเขาเชื่อว่าถ้านับคะแนนจากพื้นที่ที่สนับสนุนนาสรัลลาแห่งพรรคแนวร่วมฝ่ายซ้าย ด้วยแล้วก็อาจจะทำให้พรรคแนวร่วมฝ่ายซ้ายเป็นฝ่ายนำต่อไปได้

ทาง TSE ระบุอีกว่าสาเหตุที่การนับผลคะแนนล่าช้าเป็นเพราะการลงคะแนนในพื้นที่ชนบทมีความล่าช้าและคอมพิวเตอร์ขัดข้อง ทำให้เกิดการหยุดนับคะแนนชั่วคราว 10-12 ชั่วโมง มาริโอ โลโบ หัวหน้าผู้พิพากษาประจำ TSE กล่าวว่าพวกเขาจะต้องทำตามข้อเรียกร้องของฝ่ายค้านในเรื่องความโปร่งใส ไม่เช่นนั้นกระบวนการจะล่าช้าไปอีกและทำให้เกิดข้อกังขาต่อความชอบธรรมของกระบวนการ

ในแถลงการณ์ของกลุ่มภาคประชาสังคมสหรัฐฯ ยังระบุถึงสิทธิของชนพื้นเมืองและเกษตรกรผู้ต่อสู้ปกป้องผืนดินของตัวเองแบบที่เรียกว่าคัมเปซินา โดยที่ซินดี ไวสเนอร์ จากกลุ่มสมาพันธ์เพื่อความเป็นธรรมระดับโลกของชาวรากหญ้า (Grassroots Global Justice Alliance) บอกว่าแม้จะถูกข่มขู่แต่ก็ยังออกมาเลือกตั้งเพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาอยากปกป้องผืนดินของตัวเอง ปกป้องสิทธิมนุษยชนและต้องการความเปลี่ยนแปลง โดยในแถลงการณ์ยังเรียกร้องให้เคารพต่อสิทธิของคนกลุ่มนี้ที่มักจะถูกปราบปรามจากกองทัพรัฐบาลฮอนดูรัสด้วย


เรียบเรียงจาก

Honduras troops shoot dead teenage girl amid election crisis protests, The Guardian, 02-12-2017
https://www.theguardian.com/world/2017/dec/02/honduras-troops-shoot-dead-teenage-girl-curfew-election-crisis-protests

US Outrage Grows at Risk of Honduran Election Theft, 50 Groups Join Call, 02-12-2017
https://www.commondreams.org/news/2017/12/02/us-outrage-grows-risk-honduran-election-theft-50-groups-join-call

Honduras election: Tensions high as vote count delayed, Aljazeera, 01-12-2017
http://www.aljazeera.com/news/2017/11/honduras-election-tensions-high-final-count-delayed-171130130845936.html


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Honduran_general_election,_2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net