Skip to main content
sharethis

เจษฎ์ โทณะวณิก ระบุการตั้งคำถามของ ประยุทธ์ เป็นถามตรงๆ ว่าประชาชนจะเลือกรัฐบาลแบบคสช. หรือนักการเมือง ติงหาก คสช. สนับสนุนพรรคการเมืองจะทำให้การเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ ด้านมีชัย ฤชุพันธุ์ เห็นว่าสนับสนุนได้เพราะเป็นสิทธิ ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเตรียมเปิดให้ประชาชนตอบคำถาม 13 พ.ย.

10 พ.ย. 2560 เจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงนัยทางการเมืองต่อการตั้งคำถาม 6 ข้อของนายกรัฐมนตรี โดยมองว่า เป็นการถามตรง ๆ ว่าประชาชนจะเลือกรัฐบาลในแบบคสช. หรือรัฐบาลแบบนักการเมือง ส่วนเจตนาของการตั้งคำถาม หากประชาชนต้องการรัฐบาลแบบ คสช.จะมีทางเลือกแบบไม่ต้องรัฐประหารและไม่ต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่ แต่อาจจะมาในลักษณะแฝง คือได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก หรือร่วมเป็นคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เจษฎ์ ไม่เห็นด้วยกับคำถามข้อ 2 ที่ระบุว่าหาก คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด เนื่องจากที่ผ่านมาคสช.รับบทบาทในฐานะกรรมการที่ยุติความขัดแย้ง ในการอาสาเข้ามาทำงาน แต่หากจะตัดสินใจเลือกข้าง ในอนาคตใครจะเชื่อมั่นให้เป็นกรรมการ และมั่นใจว่าหากคสช.จะสนับสนุนพรรค ก็น่าจะเป็นพรรคทหารในอนาคต

“ถามง่ายๆ กรรมการตัดสินฟุตบอล ผมเชียร์ทีมนี้ได้ไหม ผมไม่ได้เป็นคนเล่น แล้วถ้ากรรมการออกมาแบบแสดงจุดยืนนี้ ใครจะเชื่อมั่นให้เป็นกรรมการต่อไป ตลอดเวลาที่ผ่านมาบอกเป็นกรรมการ ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เป็นกลาง ต้องการแยกคนเหล่านี้ แต่กลับมาถามว่าจะเชียร์พรรคไหน” เจษฎ์ กล่าว

ด้านมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการตั้งคำถาม 6 ข้อของพลเอกประยุทธ์ ที่ถามว่า หาก คสช. หรือนายกรัฐมนตรีจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดเป็นสิทธิส่วนตัวหรือไม่ เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วยอยู่แล้วว่า คำถามดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีจึงมีเจตนาเพียงแต่ต้องการสอบถามประชาชนว่ามีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไรแต่ไม่ได้ระบุว่าจะสนับสนุนใคร และเมื่อเข้าสู่ช่วงการเลือกตั้ง สื่อโซเชียลมีเดียจะเป็นสื่อที่ชี้นำประชาชนได้มาก เพราะแต่ละคนจะสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยเสรี เช่นเดียวกับการนำเสนอความเห็นของสื่อมวลชน ดังนั้น การที่นายกรัฐมนตรีจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดนั้นเป็นสิทธิที่สามารถทำได้แต่ต้องไม่ครอบงำกิจกรรมของพรรคการเมือง  คำถามทั้ง 6 ข้อ จึงไม่ขัดกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 แต่อย่างใด

ส่วนการที่ คสช. ระบุว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองใดถือเป็นการทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองหรือไม่ ประธาน กรธ. กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรี หรือหัวหน้าพรรคการเมืองแต่ละพรรคสนับสนุนลูกพรรคนั้นก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ที่เป็นรัฐบาลก็จะบอกให้ประชาชนสนับสนุนให้พรรคตนเองทำงานต่อ แต่ผู้ที่เป็นฝ่ายค้านในเชิงการเมืองอาจจะมองว่าเสียเปรียบ

 ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวถึง การตั้งคำถาม 6 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี นั้นมีนัยยะที่สะท้อนสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้หรือไม่ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ตนไม่ทราบความในใจของนายกรัฐมนตรี แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับ นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะดำรงตำแหน่งต่อหรือสืบทอดอำนาจ เพราะหากจะทำเช่นนั้นแล้วก็คงไม่มีการตั้งคำถามดังกล่าวกับประชาชน

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนต่อคำถาม 6 ข้อเกี่ยวกับอนาคตการเมืองไทยว่า กระทรวงมหาดไทยจะเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านศูนย์ดำรงธรรมประจำอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด  ศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไปในวันและเวลาราชการ 

“ประชาชนจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนมายืนยันตัวบุคคล จากนั้นทางเจ้าหน้าที่จะแจกแบบฟอร์มให้ตอบคำถาม ซึ่งจะมีลักษณะเดียวกันกับแบบฟอร์ม 4 คำถามของนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว

ที่มาจาก : สำนักข่าวไทย 1 , 2 , 3

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net