Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ช่วงสองปีที่ผ่านมา ในหน้าสื่อ เราจะพบข่าว “อาทิวราห์ คงมาลัย” ที่รู้จักกันในนาม “ตูน บอดี้แสลม” นักร้องนำวงร็อกที่เรียกได้ว่าเป็นตำนานวงการเพลงร็อกไทยออกมา “วิ่งการกุศล” อยู่เป็นระยะ โดยเป้าหมายคือการระดมเงินให้กับโรงพยาบาลไปซื้อเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น 

ที่ผ่านมา กิจกรรมลักษณะดังกล่าว มีมาแล้ว 3 ครั้งคือ

ครั้งแรก โครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อจัดหางบประมาณให้โรงพยาบาลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเดือนธันวาคม 2559 ระดมเงินได้ 70 ล้านบาท (มติชนออนไลน์ 13 ธันวาคม 2559) โดยวิ่งจากกรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์ เป็นระยะทาง 400 กิโลเมตร

ครั้งที่สอง โครงการ “1 ล้าน 5 แสนก้าว วิ่งเพื่อชีวิต” ระดมทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช โดยวิ่งจากจุดเริ่มต้นคือเชียงใหม่สิ้นสุดที่โรงพยาบาลศิริราชได้เงินบริจาคราว 125 ล้านบาท  (ไทยรัฐออนไลน์ 17 มีนาคม 2560) มีการเปิดรับบริจาคผ่านช่องทางต่างๆ

ครั้งล่าสุด คือในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2560 คือการวิ่งในโครงการ “ก้าวคนละก้าวเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ” โดยจะวิ่งจาก อ.เบตง จ.นราธิวาส ถึง อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นระยะทางร่วม 2,000 กิโลเมตร เพื่อตั้งเป้าให้ได้รับบริจาคราว 700 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยตูนระบุว่า

“ผมอยากได้เงิน 10 บาท จากคนไทยทุกคน 10 บาทอาจซื้ออะไรไม่ได้มาก แต่ถ้าเอามากองรวมกัน เงิน 10 บาท จะสามารถช่วยได้เป็นพันเป็นหมื่นชีวิต”

โดยมีการเปิดรับบริจาคผ่านค่ายมือถือเช่นเดียวกับการวิ่งครั้งที่สองในมูลค่าขั้นต่ำคือ 10 บาท

ในการวิ่งทั้งสามครั้ง สิ่งหนึ่งที่คนจำนวนหนึ่งมีคำถามขึ้นมาคือ งบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเก็บมาจากภาษีประชาชนนั้นไปอยู่ที่ไหน ทำไมจึงไม่เป็นพลังหลักในโครงการเหล่านี้ (จะรับบริจาคนิดหน่อยก็คงไม่มีใครว่า) ด้วยตามหลักการนี่เป็น “บริการพื้นฐาน” เป็น 1 ใน ปัจจัย 4 ที่รัฐมีหน้าที่จัดหาให้กับประชาชนซึ่งทำหน้าที่จ่ายภาษี (ในแง่ของบุคคลนั้นมีทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ)

ไม่ว่าจะบังเอิญหรือไม่ กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ทำให้ “พื้นที่” ที่ที่ภาคประชาชนจะ “ส่งเสียง/ผลักดัน” นโยบาย “โวยวาย” ถึง “ความผิดปรกติในการจัดสรรงบประมาณ” ผ่านระบบรัฐสภาปิดสนิท มิพักต้องพูดถึงการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ไม่มีหลักประกันคุ้มครองแต่อย่างใด ด้วยกฎหมายทั้งหมดสามารถลบล้างได้ด้วยมาตราเดียว (มาตรา 44) คำสั่งเดียว (คำสั่งหัวหน้า คสช.) ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติที่ผ่านรัฐสภาเลือกตั้ง 

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ช่วงที่คุณตูนวิ่งการกุศล ก็เป็นช่วงเดียวกับที่รัฐบาลใช้งบประมาณซื้ออาวุธไปทั้งหมดคิดเป็นเงินร่วมๆ 72,714 ล้านบาท (อ่านว่า “เจ็ดหมื่นสองพันเจ็ดร้อยสิบสี่ล้านบาทถ้วน”) ซึ่งมากกว่าเงินบริจาคที่คุณตูนทำได้จากากรวิ่งการกุศลสองครั้งแรกรวมกันลิบลับ และเชื่อได้ว่าในการวิ่งครั้งล่าสุด ต่อให้ได้ตามเป้า 700 ล้าน งบซื้ออาวุธของรัฐบาลก็ทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่น

นักบริหารภาครัฐที่มีฝีมือย่อมทราบดีว่า ปรากฏการณ์วิ่งการกุศลลักษณะเรี่ยไรเงินไปอุดหนุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องเตรียม เกี่ยวพันกับประสิทธิภาพของรัฐบาลโดยตรงในการจัดสรรงบประมาณ 

ในแง่ของการบริจาค ในโลกตะวันตก การบริจาคลักษณะนี้มักมาจากมหาเศรษฐีที่นำกำไรจากธุรกิจมาคืนให้สังคม (โดยมีผลพลอยได้ทางภาษี) เช่น บิลและเมลินดา เกตส์ สองสามีภรรยาผู้บริหารบริษัทไมโครซอฟต์ตั้งมูลนิธิขึ้นมาทำการกุศล เป็นต้น (แน่นอน รวมถึงประชาชนที่ต้องการแสดงน้ำใจจำนวนมาก) แต่โดยพื้นฐานในประเทศที่เจริญแล้ว การจัดการเรื่องระบบสาธารณสุขเหล่านี้เป็นของรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่จัดหางบประมาณพื้นฐานให้เพียงพอจากเงินภาษีที่เก็บจากประชาชน กรณีการรับบริจาคนั้นมักเป็นไปเพื่อ “แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว” ของคนในชาติในยามเกิดสถานการณ์ร้ายแรง (พายุ น้ำท่วม) มากกว่าจะเป็นช่องทางแก้ปัญหาหลัก

พูดง่ายๆ ว่าการบริจาคนั้นไม่ได้เกิดขึ้นถี่และพร่ำเพรื่อ และการรบกวนสาธารณะจะเป็นวาระเฉพาะจริงๆ  

ผมยังอยากชวนคิดต่อว่า สำหรับสังคมไทย สิ่งที่คนทำบุญหรือผู้ที่มีชื่อรับอุทิศบุญจะได้คือ “สถานะ” บางอย่าง ไม่ว่าจะจารึกลงบนกำแพงวัด ใบอนุโมทนา หรือโพสต์ในเฟซบุ๊ก ฯลฯ แต่อย่าลืมว่า นี่ก็เป็นดาบสองคมทำให้คนทำบุญอิ่มเอมใจ ลืมคิดไปกรณี “บริจาคในกิจการที่เราเสียภาษีบำรุงไปแล้ว”  

ปรากฏการณ์ในบ้านเราตอนนี้คือ มีการ “ขอแล้วขอเล่า” และการใช้ช่องทาง “บริจาค” เป็นทางหลักในการแก้ปัญหาความขาดแคลนของโรงพยาบาล ซึ่งก็แทบจะอ้างไม่ขึ้นในภาวะที่รัฐควักเงินเป็นหมื่นล้านซื้ออาวุธอย่างไร้การทัดทาน ผมเดาว่าเจตนาดีของคุณตูนที่วิ่งบ่อย เลยกลายเป็น “กระแส” กลบปัญหาการจัดสรรงบประมาณและการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายของรัฐบาลทหารชุดนี้ไปเสียเท่านั้น  

มีความพยายามแก้ตัวจากฝ่ายข้าราชการประจำว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ “ความขาดแคลน” ซึ่งดูจะเป็น “ข้อความคนละชุด” กับที่คุณตูนส่งออกมาสู่สาธารณะเสมอในการขอรับบริจาค

ในการวิ่งของคุณตูนครั้งแรก ปลัด สธ. นพ.โสภณ เมฆธน ระบุว่าการซื้อครุภัณฑ์ (เครื่องมือแพทย์) โรงพยาบาลเป็นผู้เสนอเรื่องขึ้นมา แต่ละภูมิภาคจะมีคณะกรรมการกำหนดคุณสมบัติ (สเปก) เฉพาะตามความต้องการของโรงพยาบาล โดยดูความจำเป็น ถ้าเครื่องมืออยู่ในบัญชี ราคาก็จะเป็นไปตามข้อกำหนดเบื้องต้นของสำนักงบประมาณ ท่านปลัดยังบอกว่ามีเงินทั้งหมด 4 กองที่นำมาซื้อ คือ งบประมาณประจำปี งบค่าเสื่อมราคาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เพื่อซื้อทดแทน เงินบำรุงโรงพยาบาลที่เหลือจากหักค่าใช้จ่าย (สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง) กองสุดท้าย คือเงินบริจาค (กรณีการระดมทุนของคุณตูนน่าจะเข้ามาส่วนนี้)

ปลัด สธ. ยังยืนยันว่า “ไม่ได้ขาดแคลนเครื่องมือแพทย์” โดยบอกว่าเครื่องมือขั้นพื้นฐานมีใน รพ. ทุกที่แต่ความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น เครื่องมือเหล่านี้จึงจำเป็นต้องจัดไว้นอกเหนือจากห้องพิเศษที่ดูแลผู้ป่วยหนักด้วย (แต่ท่านก็ไม่ได้บอกว่าทำไมไม่ตั้งงบประมาณส่วนนี้ขึ้นมาถ้ามันสำคัญกับประชาชนผู้รับบริการ)  

ในการวิ่งครั้งที่สองของคุณตูน ปลัดท่านเดิมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าการวิ่งของคุณตูนนั้นเข้ากับนโยบาย “ประชารัฐ” พูดง่ายๆ คือการมีส่วนร่วมของประชาชนช่วยเหลือราชการและส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายป้องกันโรค ส่วนเรื่องระดมทุนนั้น “เป็นอีกส่วนที่อยากช่วย ซึ่งทางคุณตูนก็มีความกังวลว่าจะถูกมองว่าเพราะกระทรวงมีปัญหา ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ของคุณตูนเลย” (ไทยโพสต์ออนไลน์, 23 มิ.ย. 2560)

แต่ที่น่าสงสัยคือสารของคุณตูนที่ส่งออกมาทางสื่อต่างๆ ทุกครั้งเน้นถึง “ความขาดแคลน” ของโรงพยาบาลต่างๆ เป็นเหตุสำคัญ ยิ่ง “ขอคนละ 10 บาท” ในการวิ่ง “รอบที่สาม” ในระยะเวลาห่างกันไม่กี่เดือนก็ยิ่งน่าสงสัยต่อประเด็นการบริหารจัดการของภาครัฐหนักเข้าไปอีก

เรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นเพราะคุณตูน “เจตนาดี” “ไม่ประสีประสา” “ไม่คิดมาก” กระทั่ง “มีวาระวิจารณ์รัฐ” ที่กำลังซื้ออาวุธโครมๆ (ผู้เขียนต้องขอโทษคุณตูน ที่วิจารณ์คุณตูนในสเตตัสบนเฟซบุ๊กส่วนตัวค่อนข้างตรงไปตรงมา ก่อนเขียนบทความนี้ ซึ่งเพจหลักๆ อย่าง “วิวาทะ” แชร์ไปจนมียอดแชร์หลักพัน)  แต่ผู้เขียนก็ยากจะเชื่อว่าคุณตูนจะมิได้เห็นข่าวการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้เลย

เจตนาของผู้เขียนคือ ต้องการชี้ว่าการ “ขอบ่อย” นั้นกลายเป็นการ “ปลุกความสงสัย” ว่าจ่ายภาษีไปแล้วว่ารัฐกำลังทำอะไรอยู่  และบางทีคุณตูนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ผักชี/ตัวช่วย” ของรัฐบาลทหารชุดนี้ไปโดยไม่รู้ตัว

จะไม่ให้เคืองคำกล่าว “ขอ 10 บาท” จาก “คนไทยทุกคน” ของคุณตูนได้อย่างไร ผมอยากให้คุณตูนปลอมตัวไปถามแม่ค้าในตลาด คนขับแท็กซี่ พนักงานออฟฟิศระดับล่าง ฯลฯ ว่าตอนนี้เศรษฐกิจเป็นอย่างไร เชื่อว่าจะได้คำตอบว่าทำไมไม่ควร “รบกวน” พวกเขาทุกคน (ที่จ่ายภาษีไปแล้ว) แม้พวกเขาจะบอกว่าน้อยนิดและเต็มใจในฐานะแฟนเพลงคุณตูนก็ตาม 

ตัวเลขต่อไปนี้หากคุณตูนศึกษาคงสะดุดใจบ้างว่า งบประมาณแผ่นดินปี 2561 จำนวนทั้งหมด 2.9 ล้านล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการได้รับ 5.1 แสนล้านบาท กระทรวงกลาโหม 3.55 แสนล้านบาท กระทรวงการคลัง 2.38 แสนล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 2.22 แสนล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข 1.26 แสนล้านบาท

ส่วนต่างระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงกลาโหม ต่างกันมากกว่าสองแสนล้านบาทในระยะที่เรามิได้มีปัญหาอะไรกับเพื่อนบ้านโดยรอบแต่อย่างใดในแง่การเมืองระหว่างประเทศ

เวลาเซ็นซื้ออาวุธ ซื้อขายกันในหลักหมื่นล้าน ขณะที่คุณตูนวิ่งเป็นพันกิโลเมตรเพื่อเอาเศษเสี้ยวของจำนวนนั้นมาทำภารกิจสาธารณสุขที่รัฐควรทำ ในนามของ “การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า” ที่ “บ่อยขึ้นเรื่อยๆ”

ตอนนี้ สิ่งที่ คสช. ทำสำเร็จคือประชาชนจำนวนมากเลิกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการจัดการงบประมาณ ก้มหน้างุดๆ ช่วยเหลือกันเองตามมีตามเกิดในนามของการ “ทำบุญ” ที่ควรจะเป็นช่องทางเฉพาะกิจตามวาระ คนจำนวนมากลืมสนิทว่า เรามีสิ่งที่เรียกว่ารัฐบาล มีระบบภาษี ซ้ำร้ายยังชี้กันเองว่าหากไม่สนับสนุนป่วยเข้า รพ.ไม่มีเครื่องมือก็อย่าบ่น ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้าในแง่ตรรกะ - - เพราะทุกคนเสียภาษีให้รัฐบาลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ถ้าต้องบริจาคไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นทางหลักในการจัดการระบบสาธารณสุข ยุบเลิกการเก็บภาษีในทุกกิจการ แต่งตั้งคุณตูนเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขน่าจะเหมาะกว่า ?

ตอนนี้ ใครทักขึ้นมาก็จะโดนก่นประณามต่างๆ นาๆ ข้อหา “ขัดขวางการทำบุญ / ชักใบให้เรือเสีย” ซึ่งผมเข้าใจได้ว่าคนจำนวนมาก “หมดหวัง” กับระบบสาธารณสุข หมดหวังกับรัฐบาลทหาร (ที่คนบางส่วนก็ไม่ค่อยอยากจะวิจารณ์ เพราะกลัวนักการเมืองชั่วกลับมาครองอำนาจอีก-แต่ลืมไปว่านักการเมืองเหล่านั้นเราตรวจสอบได้)

ผมรู้หลักรัฐศาสตร์เตาะแตะ แต่อยากชวนคิดว่าตอนนี้ "รัฐไทย" ตัดพันธะผูกพันในแง่หน้าที่ต่อ "พลเมือง" เรื่องการสาธารณสุขไปแล้ว พูดง่ายๆ ว่ามีให้เท่านี้ อยากได้เพิ่มก็ต้องไปหากันเอง จะเรียกร้องมิได้อีก แต่ก็ยังคงรีดภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีทีท่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ (ภาษีมูลค่าเพิ่มกำลังจะขึ้นเป็น 9%) 

พูดง่ายๆ ว่าสังคมไทยถูก "วาร์ป" ย้อนเวลากลับไปในยุคที่รัฐไม่ได้มีพันธะจัดหาบริการพื้นฐานแบบรัฐสมัยใหม่พึงบริการ “ประชาชน” ของตนเองแต่อย่างใด

ยิ่งอีเวนต์วิ่งการกุศลคุณตูนเฟื่องฟูเท่าใด ก็ยิ่งสะท้อนโศกนาฎกรรมว่าในศตวรรษที่ 21 คนไทยหมดหวัง ต้องหาทางช่วยเหลือกันเอง ได้แต่กระเหม็ดกระแหม่ สละเงินน้อยนิดในกระเป๋าทำบุญแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเยียวยาจิตใจตัวเองไปวันๆ โดยพึ่งไอดอลอย่างคุณตูนเป็นแม่เหล็ก แต่ก็ต้องจ่ายภาษีโดยที่ไม่มีสิทธิจะไปตรวจสอบ

ถ้าสังคมไทยเลือกไม่คิด สมาทานวิธีแบบนี้ต่อไป ไม่ตั้งคำถามกับรัฐบาลทหาร ผมหวังว่าอีก 20 ปีข้างหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ คุณตูนจะยังสุขภาพดี มีแรงวิ่ง (ผมคงอดฟังเพลงใหม่ เพราะคุณตูนไม่มีเวลาแต่งเพลงแน่ๆ)

คุณตูนคงต้องวิ่งอีกหลายรอบ คนไทยก็คงต้องบริจาคอีกหลายครั้ง

พร้อมกับ “ยุคภาษีอาน” ที่จะมาเยือนเราอย่างแท้จริง
 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net