Skip to main content
sharethis

การปรับความเชื่อพราหมณ์-ฮินดูเมื่อมาถึงไทย ให้สอดคล้องกับความเชื่อและความนิยมของท้องถิ่น ตั้งแต่การตั้งศาลพระพรหมเมื่อก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ การตั้งศาล "พระตรีมูรติ" แต่ต้นแบบการปั้นมาจาก "พระสทาศิวะ" แล้วกลายเป็นเทพเจ้าแห่งความรัก รวมทั้งพระพิฆเนศที่กลายเป็นเทพแห่งศิลปะ ฯลฯ

หมายเหตุประเพทไทยสัปดาห์นี้ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ และชานันท์ ยอดหงษ์ พูดคุยกับ สฏฐภูมิ บุญมา ผู้ศึกษาเรื่อง "คติการนับถือพระสทาศิวะในชุมชนเขมรโบราณและอิทธิพลสืบเนื่องที่มีต่อกรุงศรีอยุธยา" เล่าถึงการปรับความเชื่อพราหมณ์-ฮินดูเมื่อมาถึงไทย ให้สอดคล้องกับความเชื่อและความนิยมของท้องถิ่น ตั้งแต่การสร้างโรงแรมเอราวัณ แยกราชประสงค์์ แล้วเกิดอุปสรรคระหว่างการก่อสร้าง ด้วยชื่อว่าชื่อเอราวัณเป็นชื่อช้างทรงของพระอินทร์ จึงมีการแก้ไขด้วยการประดิษฐานพระพรหม เมื่อ พ.ศ. 2499 และเป็นตัวแบบของตั้งศาลพระพรหมทั่วประเทศในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกันบริเวณที่ดินตรงกันข้ามซึ่งเดิมเป็นที่ดินของวังเพ็ชรบูรณ์ เมื่อจะตั้งศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และต่อมาเปลี่ยนเป็นเซ็นทรัลเวิลด์ จึงมีการประดิษฐานเทวรูป "พระตรีมูรติ" ซึ่งเป็นภาคอวตารรวมกันของเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูคือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ อย่างไรก็ตามที่มาของตัวแบบในการปั้นพระเทวรูปกลับเป็น "พระสทาศิวะ" ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระศิวะ โดยเทวรูปพระสทาศิวะต้นแบบนั้นเป็นศิลปะอยุธยา จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเมื่อกลายเป็นเทวรูป "พระตรีมูรติ" ที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิล์ดก็ได้กลายเป็น เทพเจ้าแห่งความรัก ซึ่งไม่เคยปรากฏความเชื่อนี้มาก่อน โดยทุกคืนวันพฤหัสบดีเวลา 21.30 น. จะมีผู้มาอธิษฐานเพื่อให้ความรักสมปรารถนา

ทั้งนี้การปรับปรุงประยุกต์ความเชื่อถือต่อเทพเจ้าฮินดูเกิดขึ้นทั่วไป โดยก่อนหน้านี้กรณีของพระพิฆเนศ ซึ่งในคติเดิมเชื่อถือว่าเป็นเทพแห่งการพิชิตอุปสรรค ขณะที่ในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีการยกย่องพระพิฆเนศในฐานะผู้เป็นใหญ่ในวงการศิลปะ-วิทยาการ แต่กรณีเช่นนี้ก็เกิดขึ้นในโลกตะวันตกเช่นกัน เช่น เซนต์วาเลนไทน์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของวันแห่งความรัก หรือ เซนต์นิโคลาส กลายเป็นต้นแบบของซานตาคลอสในวันคริสต์มาส

ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่  https://www.facebook.com/maihetpraphetthai
หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net