Skip to main content
sharethis

บุษยรัตน์ ตั้งข้อสังเกต ก.ม.คุ้มครองแรงงาน ฉ.แก้ไขบังคับใช้ ชี้ยังคงเป็นดุลยพินิจนายจ้างกำหนดค่าจ้างตามใจชอบ พร้อมตั้งคำถามรัฐจะตรวจสอบข้อบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย-ไม่เป็นธรรมด้วยกลไกหรือเครื่องมืออะไร หากนายจ้างมีการเปลี่ยนเองและลูกจ้างไม่ทราบ 

7 ก.ย. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับ หลังผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้ได้เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการค่าจ้างกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือ บางประเภท เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับ นักเรียน นักศึกษา คนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถทำงานได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่ม ที่อาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ เมื่อนายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปให้จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดบางรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยประกาศอย่างเปิดเผยและจัดเก็บสำเนาไว้ ณ สถานประกอบกิจการนั้น ทั้งนี้ไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับฯ ให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อลดภาระของนายจ้าง ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยในการลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจ

สุเมธ กล่าวต่อไปว่า กฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ สร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างหลังเกษียณอายุและเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีนายจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ ซึ่งข้อกำหนดในกฎหมายนี้ต่างกับข้อกำหนดในกฎหมายประกันสังคม กฎหมายนี้ กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เกษียณอายุ โดยลูกจ้างอายุ 60 ปี จะทำงานต่อไปก็ได้ หรือสามารถแจ้งขอเกษียณตามกฎหมายนี้เพื่อขอรับสิทธิค่าชดเชยได้ ซึ่งนายจ้างจะต้องดำเนินการจ่าย ภายใน 30 วัน เมื่อลูกจ้างขอใช้สิทธิ  ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถรับสิทธิประโยชน์ ได้ทั้งตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายฉบับนี้

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงาน 

นักวิจัยไฮไลท์ 3 จุดเด่น พ.ร.บ.นี้

ด้าน บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไท ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีจุดเด่น 3 เรื่องหลักๆ คือ

(1) กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่ม บางประเภท เช่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงาน

(2) เพิ่มบทบัญญัติการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง จากเดิมการเกษียณอายุขึ้นอยู่กับข้อบังคับของสถานประกอบการ แต่ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดการเกษียณอายุไว้ที่ 60 ปี

(3) สถานประกอบการมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและประกาศให้ลูกจ้างทราบภายใน 15 วัน แต่ไม่ต้องส่งข้อบังคับให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ลดเวลาในการเริ่มธุรกิจ

ชี้ยังคงเป็นดุลยพินิจนายจ้างในการกำหนดค่าจ้างตามใจชอบ

บุษยรัตน์ ต้องข้อสังเกต 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ อัตราค่าจ้างและเรื่องการไม่ส่งสำเนาข้อบังคับ ไว้ว่า ต้องพึงตระหนักไว้เสมอว่า นี้คือ พ.ร.บ.แก้ไขฉบับเดิม ซึ่งกฎหมายนี้ยังกำหนดไว้ว่า ให้ยกเว้นบังคับกับนายจ้างในกิจการราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น, รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ รวมถึงมีกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยกเว้นแก่นายจ้างในบางกิจการด้วยที่ไม่ต้องใช้บังคับ เช่น ครูโรงเรียนเอกชน, ลูกจ้างทำงานบ้าน, ลูกจ้างที่ทำงานในองค์กรที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ เช่น องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ (NGOs), ลูกจ้างภาคเกษตรกรรมที่ไม่ได้ทำงานตลอดปี นี้ไม่นับในกฎหมายอื่นอีกจำนวนไม่น้อย เช่น องค์กรอิสระ องค์การมหาชนต่างๆ หรือกระทั่งมหาวิทยาลัยของรัฐในกำกับ มักบัญญัติไว้ว่า กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงาน กล่าวด้วยว่า มักพบว่าในกิจการต่างๆเหล่านี้ จำนวนไม่น้อยมีการจ้าง นักเรียน นิสิต นักศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุ กฎหมายฉบับนี้จึงดูเหมือนจะดี แต่สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็ย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายใหม่นี้แต่อย่างใดเลย ยังคงเป็นดุลยพินิจของนายจ้างในการกำหนดค่าจ้างตามใจชอบ ไม่เกิดประโยชน์ต่อการเข้าถึงสิทธิตามเจตนารมณ์กฎหมาย ที่ต้องการขยายการจ้างงานและให้ได้รับความคุ้มครอง ถ้าจะแก้ไขเรื่องค่าจ้างนี้ ควรแก้ไขเรื่องความครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในการบังคับใช้ ตาม พ.ร.บ.นี้ เช่น ลูกจ้างในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และกิจการที่ยังยกเว้นอยู่จะเป็นเรื่องที่พึงกระทำมากกว่า และในเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม มากกว่าการแก้ไขเชิงปลีกย่อยแต่ยังซ่อนความไม่ชอบธรรมในการไม่คุ้มครองคนงานอีกจำนวนมากไว้อยู่ดี

บุษยรัตน์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การกำหนดค่าจ้างแบบนี้ จะเป็นการทำลายองค์กรสหภาพแรงงานหรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นที่ทราบดีว่า ปัจจุบันในหลายกิจการยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ โดยเฉพาะในปริมณฑลและภาคตะวันออก มีการจ้างงานนักศึกษาระบบทวิภาคีอย่างมาก หลายบริษัททำ MOU กับวิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวะโดยตรงโดยเฉพาะจากวิทยาลัยในภาคอีสาน นักศึกษาจำนวนไม่น้อยมีการทำงานแบบคนงานประจำในไลน์ผลิต แต่ได้รับค่าแรงน้อยกว่าขั้นต่ำ  ในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้ามีนักศึกษาฝึกงานเกินครึ่งของลูกจ้างที่ทำงานประจำในโรงงาน และบางคนทำงานเป็นปี แค่หยุดไม่กี่เดือนแล้วทำต่อเนื่อง  แน่นอนการกำหนดแบบนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก พี่เห็นด้วย แต่จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่บริษัทจ้างนักศึกษามาทำงานเป็นหลักหรือไม่ อย่างไร เพราะรับผิดชอบแต่ค่าจ้างเท่านั้น แต่ไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการอื่นใดทั้งสิ้น เช่น โบนัส สวัสดิการอื่นๆนอกเหนือจากที่กฎหมายด้านแรงงานกำหนดไว้ เป็นต้น เหมือนพนักงานประจำ ซึ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการเรียกร้องของสหภาพแรงงานทั้งสิ้น ซึ่งด้วยข้อจำกัดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ปัจจุบัน นักศึกษาฝึกงานก็เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในโรงงานแห่งนั้นๆไม่ได้อยู่แล้ว

ปมไม่ส่งสำเนาข้อบังคับ

ต่อกรณีเรื่องไม่ส่งสำเนาข้อบังคับ นั้น บุษยรัตน์ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐจะตรวจสอบระเบียบหรือข้อบังคับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นธรรมด้วยกลไกหรือเครื่องมืออะไร และอย่างไร หากนายจ้างมีการเปลี่ยนข้อบังคับเองและลูกจ้างไม่ทราบ แม้จะระบุเรื่องปิดประกาศ แต่ลูกจ้างจำนวนมากทำงานเป็นกะและอยู่แต่ในไลน์ผลิต เพราะที่ผ่านมาสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ในแต่ละจังหวัด จะเป็นคนแจ้งสหภาพแรงงานเวลานายจ้างเปลี่ยนข้อบังคับเอง และไม่ได้ปรึกษาสหภาพแรงงานหรือลูกจ้างก่อน อีกทั้งเจ้าพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างแก้ไขให้ถูกต้องตามในเวลาที่กำหนดไว้ด้วย

นักวิจัยประเด็นสิทธิแรงงาน กล่าวอีกว่า การปรับเปลี่ยนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน มักจะส่งผลกระทบต่อลูกจ้างเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง แล้วอ้างถึงการกระทำการผิดข้อบังคับอันนี้ และลูกจ้างก็อาจไม่ได้ติดตามหรือทวงถามการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวนั้น จะป้องกันในเรื่องนี้ได้อย่างไร ถ้าบริษัทที่มีสหภาพแรงงานก็ยังอาจกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านบ้าง แล้วบริษัทที่ไม่มีสหภาพแรงงาน จะมีคนงานที่ไหนกล้าลุกขึ้นมาคัดค้านสิ่งที่นายจ้างทำ ถ้าทำก็โดนหมายหัวอนาคตในที่ทำงานไม่มั่นคงแน่ และเจ้าหน้าที่รัฐก็ลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆในการแก้ไขแบบเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว ขนาดปัจจุบันกฎหมายเขียนว่าให้นายจ้างต้องส่งสำเนาให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วถ้าไม่ส่งจะเกิดปัญหาขึ้นขนาดไหน จะมีใครจะลงมาตรวจสอบว่าสถานประกอบการไหนปฏิบัติตามกฎหมายครบถ้วนแท้จริงบ้าง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net