Skip to main content
sharethis

แนะทบทวนกระบวนการจัดหาที่ดิน ปรับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด กำหนดแนวทางและมาตรการในการเยียวยาผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ

25 ส.ค.2560 รายงานข่าวจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่า ตามที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวน 13 คำร้อง โดยคำร้องส่วนใหญ่ ร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เช่น กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม และเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา รวมถึงกรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย และเขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย  เป็นกรณีการใช้พื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรในชุมชนได้ร่วมกันดูแลรักษาไว้มาใช้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ คาดว่าจะมีราษฎรที่ได้รับผลกระทบต้องอพยพโยกย้ายออกจากที่ดินทำกินและอยู่อาศัย ถูกดำเนินคดีหรือเสี่ยงต่อถูกดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 300 ครอบครัว จากนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว

คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ใน กสม. ยืนยันว่า ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชน จึงได้จัดการสัมมนาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายและการปรับปรุงกฎหมาย กรณีนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อวันที่ 24 – 25 ส.ค. 60 ณ ห้องเสวนา ชั้น 6 สำนักงาน กสม. และ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์  โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย ตัวแทนกลุ่มผู้ร้อง 7 พื้นที่ ได้แก่ ผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (จ.ตาก จ.เชียงราย จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.สระแก้ว จ.สงขลา) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  หน่วยงานรัฐ  ภาคเอกชน  องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และนักวิชาการ จำนวน 150  คน

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่าจากการสัมมนาดังกล่าวมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ดังนี้

1.  ให้ทบทวนกระบวนการจัดหาที่ดิน ไม่ควรนำที่ดินของเกษตรกร  ที่ดินของรัฐ  หรือที่ดินที่สำคัญกับระบบนิเวศ หรือ วัฒนธรรม ไปใช้  โดยให้เอกชนจัดซื้อเอง

2. ควรปรับแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด โดยร่วมกันคัดเลือกกิจการที่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์จังหวัด หรือ พื้นที่

3. ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และ คณะรัฐมนตรีกำหนดแนวทางและมาตรการในการเยียวยาผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ

4. ให้มีนโยบายของแต่ละจังหวัด ทบทวนและปรับปรุง พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ กิจการที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้คนท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากการดำเนินกิจการ และ อยู่ร่วมกันได้กับการพัฒนาในพื้นที่

5.  ให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ  แจ้งยืนยัน การใช้พื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ / เขตนิคมอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร  

6. ให้มีช่องทางการสื่อสาร การมีส่วนร่วม บนพื้นฐานของการไว้วางใจกัน โดยปราศจากการข่มขู่คุกคาม

7. ให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานของรัฐ นำหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาดำเนินการ อันประกอบด้วย การเคารพ  การคุ้มครอง  การเยียวยา ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ

8. ขอให้มีท่าทีการทำงานระหว่างรัฐกับชุมชนเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เปิดช่องให้จังหวัดมีอำนาจดำเนินการในการกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการเยียวยาอีกด้วย

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรจะนำข้อเสนอที่ได้จากเวทีสัมมนาในครั้งนี้ไปประกอบการพิจารณาตามคำร้องเรียน  และจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอย่างเป็นทางการต่อไป

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net