Skip to main content
sharethis

วัฒนา เผยเหตุถูกทหารเชอญไปคุยเพราะ ปฎิเสธเข้าร่วมพูดคุยปรองดอง โดยเจ้าหน้าได้ถามสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง และแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง วัฒนาชี้ปัญหาอยู่ที่ การปฏิบัติสองมาตรฐานของหน่วยงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรม

แฟ้มภาพประชาไท

27 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวานนี้ วัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารจากกรมทหารราบที่ 21 เชิญไปพบเนื่องจากต้องการขอข้อมมูลบางประการ(อ่านข่าวที่นี่)

ล่าสุดวันนี้ วัฒนา ได้เดินทางมาที่กองทัพภาคที่ 1 ตามคำเชิญของพ.ท.ไชยปราการ  พิมพ์จินดา ผู้บังคับการกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ เพื่อให้ข้อมูลกับทางราชการ โดยได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ทางการต้องการข้อมูลจากตนและขอเชิญไปพบที่กองทัพภาคที่ 1 ตามวันเวลาที่สะดวก และตนเห็นว่าเป็นการเชิญมาด้วยไมตรีจึงได้ตอบตกลง จึงนัดเป็นวันนี้เวลา 10.00 น. โดยผู้บังคับกองพันนายดังกล่าวแจ้งว่าตามขั้นตอนจะมีหนังสือเชิญให้ตน จึงได้นัดให้นำหนังสือมาให้บริเวณปั๊ม ปตท.ในสนามเสือป่า ส่วนในรายละเอียดการพูดคุยนั้นตนยังไม่ทราบ ทราบเเต่เพียงว่าผู้บังคับบัญชาต้องการพูดคุย ส่วนจะเกี่ยวกับการแสดงความเห็นหรือไม่ก็คงไม่พ้นเรื่องเหล่านี้ เพราะตนทำอยู่เรื่องเดียว จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสดงความเกี่ยววัดพระธรรมกาย หรือไม่ตนไม่ทราบ เพราะได้แสดงความเห็นไว้หลายเรื่อง หากให้ตนคาดเดาก็คงเป็นเรื่องที่แสดงความคิดเห็น เพราะกิจกรรมการเมืองด้านอื่นๆ ตนไม่ได้ทำ     

“ช่วงนี้เป็นบรรยากาศของความปรองดอง มีการเชิญมาอย่างสุภาพก็ต้องมา เพราะหากไม่มาก็หาว่าไม่ปรองดอง มาในครั้งนี้ผมไม่กังวลว่าจะมีการกักตัว เพราะท่านที่เชิญผมมาบอกว่าจะเชิญมาให้ข้อมูลเท่านั้น หากมีการกักตัว ผมขอพูดแบบตรงๆ ว่าเป็นการเจ้าเล่ห์เพทุบาย จะจับก็จับเลย ไม่ต้องใช้วิธีให้มาแล้วกักตัว หากเป็นแบบนี้พี่น้องประชาชนไม่ต้องเชื่ออะไรกองทัพไทยอีกแล้ว มาอ้างบรรยากาศความปรองดอง แปลว่าโกหก หลอกต้ม ผมยังถูกต้ม คนไทยไม่ต้องห่วง และไม่ต้องสงสัยเลยว่าในเรื่องวัดพระธรรมกายคนถึงไม่เชื่อ เชื่อว่าวันนี้การพูดคุยคงเป็นไปได้ด้วยดี และคงใช้เวลาไม่นาน คาดว่า 12.00-13.00 น. คงพูดคุยกันจบ หากเกินเลยไปกว่านี้ ผมก็คงไม่มีอะไรตอบ” วัฒนากล่าว

วัฒนายังกล่าวถึงกรณีที่ทางคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองเชิญพรรคเพื่อไทยเข้าให้ความคิดเห็นในวันที่ 8 มี.ค.ว่า ตนคงไม่ได้เข้าไปกับพรรค แต่ตนมองว่าจากการศึกษาในข้อเสนอเเนวทางในการสร้างความปรองดอง ควรจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เพราะคำว่าปรองดองไม่ใช่เพียงแค่แยกนักเรียนช่างกลที่ตีกัน มาจับมือกันทำเอ็มโอยู แต่รายละเอียดเยอะกว่านั้น ทางพรรคเพื่อไทยคงมาด้วยข้อเสนอ ซึ่งทางคณะกรรมการของพรรคมาสรุปให้ฟัง ตนจึงไม่อยากมา เพราะไม่อยากให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยความกระอักกระอ่วมใจ หากตนเข้าไปคงเป็นการทำลายบรรยากาศมากกว่า

วัฒนากล่าวต่อว่า ตนมีความเชื่อว่าทุกคนอยากให้บ้านเมืองสงบ แต่วิธีการที่ทำจะนำไปสู่ความสงบที่นั่งยืนหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง เพราะคำว่าปรองดองหมายถึงการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น ให้คนคิดไม่เหมือนกัน อยู่ร่วมกันได้ในสังคมก็ต้องมีการกำหนดกติการอยู่ร่วมกันใหม่ ขณะนี้กติกาในการอยู่ร่วมกันคือรัฐธรรมนูญได้ถูกร่างขึ้นมาแล้ว และตนมองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งได้ เพราะความขัดแย้งมาจากการเมือง จะเห็นได้ว่าในระหว่างการทำประชามติก็เกิดความขัดแย้ง ไม่ให้คนเห็นต่างแสดงความเห็น ตนถูกขังเพราะเเสดงความเห็นในเรื่องรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ตนขอพูดเลยว่าบั้นปลายของรัฐธรรมนูญ ไม่เกิดความปรองดองแน่นอน เว้นแต่คนที่มีอำนาจเข้าใจบริบทของคำว่าปรองดอง แต่เท่าที่คนฟังผู้ที่มีอำนาจพูดนั้น ไม่เข้าใจคำว่าปรองดอง คำพูดที่ทำให้ตนรู้ว่าผู้มีอำนาจไม่เข้าใจนั้น คือทหารไม่ใช่ผู้ขัดแย้ง ทั้งๆ ที่ผู้ที่เป็นคู่กรณี ต้องได้รับการได้เกียรติ
       
“ใครก็แล้วแต่ที่เขามีความเชื่อด้านการเมือง ยอมเสียสละความเป็นส่วนตัว เข้ามาต่อสู้เพื่อความเชื่อของเขา คนคนนั้นก็เป็นคนที่มีอุดมการณ์ เช่น ม็อบสีเสื้อต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวแล้วเชื่อว่าบ้านเมืองจะดีขึ้น หรือ ทหารที่เข้ามาปฏิวัติ เขาก็มีความเชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองดีและสงบขึ้น ทุกคนเข้ามาด้วยเจตนาที่ดี แต่วิธีการจะถูกต้องหรือไม่ ต้องมาคุยกัน แล้วการที่ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แสดงว่ายังไม่เข้าใจบริบทของคำว่าปรองดอง” วัฒนากล่าว
       
วัฒนากล่าวอีกว่า ความปรองดองไม่ได้แปลว่าทำให้คนรักกัน ในโลกนี้ไม่มีเครื่องมือที่ทำให้คนรักกันแต่มีเครื่องมือที่ทำให้คนที่คิดไม่เหมือนกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข นั่นคือประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรม เพราะเรื่องดังกล่าวมีเส้นของความถูกต้องขีดเอาไว้ คนเราหันหลังให้ความถูกต้อง ต่างคนต่างไม่กลัว ถ้าถามตนว่ากลัวทหารไหม ตนไม่กลัว และมาด้วยไมตรีจิตที่ดี เขายื่นมือมา ตนก็ต้องยื่นมือไปจับด้วยมารยาท ถ้าเราเห็นว่าสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นมาไม่ใช่ความถูกต้องเราก็ไม่ยอม ดังนั้นกติกาที่อยู่ร่วมกันเราต้องร่วมกันกำหนด ถ้าให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ เขาจะยอมรับมากกว่านี้ นี่คือหัวใจของความปรองดอง แต่นี่กติกาถูกร่างขึ้นแล้วแต่ไม่รับฟังความเห็นต่างเลยจะมีประโยชน์อะไร
       
จากนั้นเวลา 09.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 1 ได้เข้านำหนังสือเชิญมาให้วัฒนา โดยวัฒนาได้พิจารณาหนังสือประมาณ 5 นาที จากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ขับรถนำเข้าไปในกองทัพภาคที่ 1

ต่อมาเวลา 12.50 น. หลังจากนายทหารจากกองทัพภาคที่ 1 นำนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เข้าไปในกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เพื่อเข้าหารือกับ พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในห้องรับรองชั้น 3 เป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง

โดยได้มีประเด็นการพูดคุยกันถึงแนวทางการสร้างความปรองดองสามัคคีเป็นหลัก เนื่องจากวัฒนามักแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่เสมอ และปฏิเสธจะเข้าร่วมพูดคุยในกระบวนการปรองดองในส่วนของพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ พล.ท.อภิรัชต์จึงสอบถามความคิดเห็นของนายวัฒนาเกี่ยวกับสาเหตุของความขัดแย้งทางการเมือง และแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะ ประเด็นปัญหาการปฏิบัติสองมาตรฐานของหน่วยงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งวัฒนาตอบว่า ทุกองค์กรของรัฐควรต้องถูกตรวจสอบได้ จะได้หมดปัญหาการใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือการยอมให้องค์กรถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ทั้งนี้วัฒนา ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กด้วยว่า “ผมจะยังคงแสดงความเห็นทางการเมืองต่อไปเพราะไม่มีใครมาขอร้อง จึงขอขอบคุณทุกท่านที่แสดงความเป็นห่วงและให้กำลังใจ ผมออกมาอย่างปลอดภัยและพร้อมจะสู้ต่อไปจนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรมครับ”

เรียบเรียงจาก : ผู้จัดการออนไลน์1, 2

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net